category งีบอย่างไรให้อยู่ต่อได้อีกยาวววว

Writer : Patta.pond

: 21 มิถุนายน 2562

หลายคนสงสัย ทำไมบางครั้งตื่นมาแล้วสดชื่นทั้งที่ไม่ได้นอนครบ 8 ชั่วโมง ขณะที่บางคนนอนเกือบ 10 ชั่วโมง แต่ตื่นมาแล้วรู้สึกอึนๆ พองีบ 10นาทีแล้วดันรู้สึกดีกว่านอน30 นาทีซะงั้น วันนี้ Mango Zero จะพาไปไขความลับของการนอนกัน

การนอนก็มีวงจรนะ

ร่างกายของเรามีนาฬิกาชีวภาพตลอด 24 ชั่วโมง และอ้างอิงเวลากลางวันกลางคืนด้วยแสงอาทิตย์ ดังนั้นคนที่ตื่นโดยเห็นแสงอาทิตย์(ผ่านม่านที่แง้มไว้) จึงมีแนวโน้มว่าจะตื่นอย่างสดชื่นกว่าคนที่ห้องมืดไม่เห็นแสง

ซึ่งในการนอนหลับแต่ละครั้งของเราเกิดขึ้นเป็นวงจร หนึ่งวงจรประกอบไปด้วยสองส่วน คือ Non- REM ตั้งแต่เริ่มหลับไปจนถึงหลับลึก และ REM ส่วนที่กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ คลายตัวหยุดทำงาน ยกเว้นหัวใจ,กระบังลม, กล้ามเนื้อตา และเกิดการฝัน

ในหนึ่งวงจรใช้เวลาประมาณ 90 – 120 นาที ถ้าตื่นในช่วงครบวงจรก็จะสดชื่นและไม่รู้สึกง่วง ในทางกลับกัน หากตื่นช่วงที่กำลังหลับลึก ก็จะรู้สึกมึนงง และอ่อนเพลีย ในหนึ่งคืนของผู้ใหญ่มักเกิดเป็นวงจรทั้งหมด 4-6 วงจรต่อ 8 ชั่วโมง

งีบอย่างไรให้อยู่ยาวได้ทั้งวัน

หากจะนอนไม่ให้ครบวงจรแต่ยังต้องการตื่นมาสดชื่นอยู่ เคล็ดลับก็คือนอนให้นานพอที่ยังอยู่ในช่วงต้นๆของ Non-REM แต่ต้องตื่นก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงหลับลึก (Slow wave Non-REM) หรือพูดง่ายๆก็คือ ต้องงีบให้ถูกเวลานั่นเอง

10-20 นาที งีบสั้นๆ เพิ่มพลัง

การงีบ 10 – 20 นาทีช่วยลดอาการเหนื่อยล้าและทำให้สดชื่นขึ้นได้ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีในการงีบหลังจากการประชุมอันดุเดือด หรือแวะจอดรถงีบในทริปทางไกล

30 นาที งีบแล้วมึนงง

หากนอนเลยเถิดกลายเป็น 30 นาที เมื่อตื่นมาจะรู้สึกมึนงง อาจจะปวดหัวมากกว่าก่อนงีบ และยังทำให้หงุดหงิดง่ายหลังตื่นอีกด้วย นั่นเป็นเพราะร่างกายได้เริ่มเข้าสู่สภาวะพักผ่อนหลับลึก สมองบางส่วนยังไม่ตื่นตัว

60 นาที งีบเพิ่มความจำ

หลังนาทีที่ 30 เป็นต้นไป ร่างกายจะเข้าสู่ช่วงหลับลึก และหากนอนครบหนึ่งชั่วโมงก็จะช่วยเพิ่มความจำให้กับเราได้ เพราะการงีบหลับจะผลักดันความทรงจำต่างๆไปยังส่วน Neocortex หรือส่วนที่เก็บความทรงจำถาวรนั่นเอง แต่ข้อเสียก็คือจะทำให้มึนงงเล็กน้อย เพราะร่างกายเข้าสู่ช่วงหลับลึกไปแล้ว

90 นาที นอนครบวงจร

ฮูเร่! ในที่สุดก็ได้นอนครบวงจรแล้ว ถ้าสามารถงีบแบบครบวงจรการนอนได้(โดยที่เจ้านายไม่ว่าและงานเสร็จ)จะเป็นเรื่องที่ดีมากๆ เมื่อตื่นมาจะอารมณ์แจ่มใส สมองพร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ๆ การงีบในช่วง 90 นาที จึงช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ เหมาะกับการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เป็นอย่างมาก

ทริคเล็กๆ น้อยๆ ก่อนงีบ

  • ช่วงเวลา13 .00 น. และ 16.00 น. เป็นช่วงที่ควรงีบ เพราะอุณหภูมิภายในร่างกายลดลง ทำให้สมองสร้างเมลาโทนิน สามารถหลับได้ง่ายขึ้น
  • การงีบควรเกิดขึ้นห่างจากเวลาเข้านอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง ไม่อย่างนั้นอาจเกิดปัญหาในการนอนได้
  • หากฝันระหว่างที่งีบ แปลว่าเรากำลังอดนอน อาจะต้องปรับตารางเวลานอนใหม่นะ
  • สภาพแวดล้อมที่ดีที่สุดสำหรับการนอน คือ ห้องมืด อุณหภูมิประมาณ 19 – 21 องศาเซลเซียส

การงีบหลับเป็นตัวเลือกที่ดีในการเพิ่มพลังระหว่างวัน แต่ก็ต้องดูบรรยากาศรอบข้างว่าสามารถทำได้หรือไม่ รวมไปถึงอย่าลืมนอนตอนกลางคืนให้เพียงพอ และดูแลร่างกายตัวเองควบคู่กันไปด้วย เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงและการทำงานที่เป็นปกติของร่างกาย

เลือกซื้อนาฬิกาปลุกทรงประสิทธิภาพ เพื่อการนอนหลับที่ดีมากยิ่งขึ้น ที่นี่

ที่มา: Tuck, Scienceofpeople

TAG : nap , sleep
Writer Profile : Patta.pond
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post

มีอะไรใหม่ใน WWDC 2021


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save