ในทุกๆ เดือนที่เงินเดือนเข้าบัญชี สิ่งหนึ่งที่เราน่าจะคุ้นเคยกันดีก็คือตัวเลขภาษีเงินได้ที่หักจากเงินเดือนออกไปส่วนหนึ่ง ซึ่งพอถึงช่วงยื่นภาษีตัวเลขเหล่านี้ก็จะถูกนำไปคำนวณการเสียภาษีเงินได้ของเราว่าเราจะต้องเสียภาษีเพิ่มหรือได้เงินภาษีคืนเป็นจำนวนเท่าไหร่ แต่นอกจากคำว่า “เสียภาษี” แล้ว อีกหนึ่งคำที่มักจะมาคู่กันก็คือ “ค่าลดหย่อนภาษี” หรือจำนวนเงินที่สามารถนำไปช่วยลดการเสียภาษีของเราซึ่งอาจมาจากการจ่ายเงินซื้อกองทุนต่างๆ ประกันชีวิต หรือจากการซื้อของตามเงื่อนไขที่ภาครัฐกำหนด วันนี้ Mango Zero ขอชวนเหล่าคนทำงานทุกคนมาดูกันว่าเราจะทำอย่างไรเพื่อช่วยลดหย่อนภาษีได้บ้าง ไปดูกัน! ใครบ้างได้ค่าลดหย่อนภาษี? คนที่มีรายได้ทุกคนจะได้ค่าลดหย่อนภาษีอยู่แล้วตั้งแต่เริ่มต้น 60,000 บาท เรียกว่า “ค่าลดหย่อนส่วนตัว” แต่สำหรับคนที่มีรายได้เฉลี่ยเดือนละไม่เกิน 26,833.33 บาท เมื่อได้ค่าลดหย่อนส่วนตัว ลดหย่อนประกันสังคม และหักค่าใช้จ่ายออกไป 50% ตามที่รัฐกำหนด ก็มีเกณฑ์ให้ไม่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีค่าลดหย่อนในส่วนอื่นๆ อีก ดูเกณฑ์คนที่ต้องเสียภาษีเพิ่มเติมได้ที่นี่ และสำหรับคนที่ต้องมีเกณฑ์ต้องเสียภาษีก็ไปดูกันว่าในช่วงนี้เราสามารถได้รับค่าลดหย่อนภาษีอย่างไรบ้าง เที่ยวทั่วไทย เราสามารถเอาค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยวประเทศไทยมาเป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ โดยคนที่เดินทางในช่วง 30 เมษายน ถึง 30 มิถุนายน 2562 สามารถนำค่าบริการท่องเที่ยวต่างๆ มาเป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ เช่น ค่าโรงแรม ค่าที่พัก ค่าจ้างไกด์นำเที่ยว ค่าทัวร์ ตามที่จ่ายจริง เมืองหลัก 22 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่, ขอนแก่น, นครราชสีมา, กาญจนบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, เพชรบุรี, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง, กระบี่, พังงา, ภูเก็ต, สุราษฎร์ธานี, สงขลา, กรุงเทพมหานคร, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, พระนครศรีอยุธยา, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร และสระบุรี สามารถลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุด 15,000 บาท เมืองรอง 55 จังหวัด เช่น เชียงราย, กำแพงเพชร, กาฬสินธุ์, ตาก, แพร่, แม่ฮ่องสอน, สุโขทัย, นครพนม, สุรินทร์, บุรีรัมย์, หนองคาย, อุบลราชธานี, อุดรธานี, มุกดาหาร, ราชบุรี, ลพบุรี, ชัยนาท, อ่างทอง, สมุทรสงคราม, ชุมพร, ตรัง, พัทลุง, ยะลา, สตูล, จันทบุรี, ตราด, ปราจีนบุรี, สระแก้ว, นครนายก สามารถลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุด 20,000 บาท โดยทั้ง 2 ส่วนรวมกันต้องไม่เกิน 20,000 บาท และไม่นับรวมค่าน้ำมัน ค่ารถ หรือค่าเครื่องบินนะ เอกสารที่ต้องใช้ : ใบกำกับภาษี ใบเสร็จจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ระบุวันที่และจำนวนเงิน (ไม่สามารถใช้ใบเสร็จจาก OTA เช่น Agoda, Booking, Airbnb ได้) ซื้อหนังสือ สำหรับคนที่ซื้อหนังสือและอีบุ๊คตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2562 ก็เก็บใบเสร็จกันไว้ดีๆ เพราะว่าสามารถนำมารวมกันแล้วลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดถึง 15,000 บาทเลย เอกสารที่ต้องใช้ : ใบกำกับภาษีแบบเต็มที่ระบุข้อมูลการซื้อ ข้อมูลผู้ขาย วันที่ และจำนวนเงินชัดเจน ซื้อสินค้าเพื่อการศึกษาและกีฬา ข้อนี้คุณพ่อคุณแม่น่าจะยิ้มรับช่วงเปิดเทอมกันไปเลย เพราะว่าค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าที่เกี่ยวกับการศึกษาหรืออุปกรณ์กีฬา (ไม่รวมสินค้าอิเล็กทรอนิกส์) ระหว่าง 1 พฤษภาคม ถึง 30 มิถุนายน 2562 ก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ โดยสามารถลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท เอกสารที่ต้องใช้ : ใบกำกับภาษีแบบเต็มที่ระบุข้อมูลการซื้อ ข้อมูลผู้ขาย วันที่ และจำนวนเงินชัดเจน ช็อปปิ้งสินค้าโอทอป เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย แน่นอนว่าสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ต้องติดโผสินค้าที่ได้ค่าลดหย่อนภาษีแน่นอน โดยระหว่าง 30 เมษายน ถึง 30 มิถุนายน 2562 ใครที่ช็อปปิ้งสินค้าโอทอปที่ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชน และเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% อยู่แล้ว ก็สามารถเก็บใบเสร็จไว้ยืนเป็นค่าลดหย่อนตอนยื่นภาษีได้สูงสุดถึง 15,000 บาท เอกสารที่ต้องใช้ : ใบกำกับภาษีแบบเต็มที่ระบุข้อมูลการซื้อ ข้อมูลผู้ขาย วันที่ และจำนวนเงินชัดเจน โดยผู้ขายต้องอยู่ในเงื่อนไขข้างต้น บ้าน คอนโดหลังแรก สำหรับคนที่วางแผนจะซื้อบ้านหรือคอนโดครั้งแรก ในช่วง 30 เมษายน ถึง 31 ธันวาคม 2562 เมื่อซื้อบ้าน คอนโด หรือห้องชุดที่ราคาไม่เกิน 5,000,000 บาท สามารถยื่นเป็นค่าลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 200,000 บาท เอกสารที่ต้องใช้ : หลักฐานการซื้อบ้าน คอนโด ค่าลดหย่อนที่มีทุกปี โดยปกติแล้ว นอกเหนือจากการซื้อของอย่างที่ได้บอกไปข้างต้น ทุกคนยังสามารถได้ค่าลดหย่อนภาษีจากหลายรายการ เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท ทุกคนที่มีรายได้จะได้อยู่แล้ว เบี้ยประกันสังคม ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 9,000 บาท ประกันชีวิต ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 100,000 บาท ประกันสุขภาพ ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุน LTF RMF ตามที่จ่ายจริง รวมแล้วไม่เกิน 500,000 บาท การเลี้ยงดูบุตร คนละ 30,000 – 60,000 บาท การเลี้ยงดูบิดา มารดา คนละ 30,000 บาท การมีคู่สมรส คนละ 60,000 บาท ไม่เกิน 1 คน การลงทุนธุรกิจสตาร์ทอัพ ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 100,000 บาท ดอกเบี้ยซื้อบ้าน ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 100,000 บาท นี่เป็นเพียงแค่บางส่วนเท่านั้น ยังมีรายการค่าลดหย่อนภาษีอีกหลายรายการ โดยสามารถเข้าไปดูเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากรเลย!! ขอบคุณข้อมูลจาก iTax, Money.kapook, Estropolis, Krungsri