“ทำไมน้ำถึงท่วมภาคใต้?” น่าจะเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย กระทั่งคนในพื้นที่เองก็น่าจะสงสัยกับภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นว่าเพราะอะไร ทีมงาน Mango Zero ก็สงสัยกับปรากฎการณ์น้ำท่วมที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งของภาคใต้ว่าเกิดจากอะไรเช่นกัน ทั้งที่พื้นที่ภาคใต้ติดทะเล ป่าไม้ก็อุดมสมบูรณ์ เราจึงติดต่อไปยัง ‘ดร.วัฒนา กันบัว’ ผอ.ศูนย์อุตุนิยมวิทยาทะเล กรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อข้อความรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ในครั้งนี้ ซึ่งนี่คือ 5 เหตุผลที่จะอธิบายว่าเพราะอะไรทำไมน้ำถึงท่วมภาคใต้ได้โหดขนาดนี้ 1.ฝนตกหนักสองครั้ง น้ำท่วมภาคใต้นั้นสาเหตุมาจากฝนตกหนักถึงสองครั้งในเวลาไล่เลี่ยกัน ครั้งแรกเมื่อธันวาคมปีที่ผ่านมาภาคใต้ฝั่งตะวันออกได้รับอิทธิพลจากหย่อมความกดอากาศต่ำที่กำลังจะพัฒนาตัวเป็นไซโคลนเคลื่อนผ่านไปยังอินเดีย แม้ไทยจะไม่ได้โดนพายุโดยตรง แต่โดนอิทธิพลบางส่วนของพายุที่บังเอิญพาดผ่านฟาดงวงฟาดงามาโดนภาคใต้ฝั่งตะวันออกพอดีจนทำให้ฝนตกต่อเนื่องหนัก และเบาสลับกันไป Photo : DDPM / ภาพจาก floodlist ครั้งที่สองเกิดฝนตกหนักบริเวณพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออกเช่นเดิมในช่วงต้นปี โดยครั้งนี้เกิดจากมีพายุเกิดขึ้นจุดศูนย์กลางอยู่ที่ช่องแคบมะละกา อิทธิพลของพายุทำให้เกิดหย่อมความกดอากาศต่ำกึ่งพายุดีเปรสชั่นเกิดขึ้นในจังหวะที่พายุกำลังเคลื่อนตัวไปเมียนมาร์ ก็เกิดฝนตกหนักสลับเบาอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จนน้ำเยอะเกินกว่าจะระบาย 2.ดินอิ่มตัวจนอุ้มน้ำไม่ไหว จากการที่ฝนตกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ครั้งแรก ส่งผลให้ดินที่เคยอุ้มน้ำได้อิ่มตัวเกินกว่าจะอุ้มน้ำไหวถึงขั้นไม่สามารถเก็บน้ำได้จนเกินพิกัดทำให้น้ำล้นออกมา ประกอบกับแก้มลิงตามธรรมชาติก็ไม่สามารถเก็บน้ำได้เช่นกันเนื่องจากน้ำมีมากเกินไป ส่งผลให้น้ำล้นทะลักเข้าท่วมพื้นที่ภาคใต้อย่างหนัก Photo : DDPM / ภาพจาก Floodlis 3.ทางระบายน้ำทางธรรมชาติถูกสิ่งก่อสร้างปลูกขวาง ในอดีตพื้นที่ภาคใต้ยังไม่ได้มีการขยายของเมืองมากเท่าปัจจุบัน ทำให้น้ำท่วมขังที่เกิดขึ้นในช่วงหน้าฝนถูกระบายลงทะเลได้อย่างเร็ว แม้จะมีน้ำท่วมทว่าก็เป็นเพียงแค่ท่วมที่ระบายได้อย่างรวดเร็ว แต่ปัจจุบันสิ่งก่อสร้างของคนไปขวางทางน้ำไหลตามธรรมชาติอาทิ หมู่บ้านจัดสรร การถมพื้นที่เพื่อเตรียมก่อสร้างทำทางระบายน้ำถูกตัดขาด หรือการสร้างถนนเรียบริมทะเลที่สูงเกินก็ยิ่งทำให้ถนนมีสภาพไม่ต่างอะไรกับสันเขื่อนที่ปิดกั้นทางน้ำไหล ส่งผลให้น้ำไม่ได้รับการระบายอย่างรวดเร็วเหมือนในอดีต แม้สิ่งก่อสร้างอาจสร้างได้ถูกกฎหมาย แต่ไม่ถูกกฎของธรรมชาติ ปัจจัยหลักคือฝน และคนสร้างสิ่งกีดขวางขวางทางน้ำไหลที่ทำให้น้ำท่วม – ดร.วัฒนา กันบัว ภาพจาก Thai PBS 4.มีขยะกีดขวางทางน้ำไหล แม้บางพื้นที่จะมีทางระบายน้ำ แต่ก็ใช่ว่าจะระบายได้สะดวกเนื่องจากท่อระบายน้ำมีขยะอุดตันกีดขวางการระบายน้ำประกอบกับบ้านพื้นที่คลองส่งน้ำถูกถมทำให้น้ำไม่มีที่ระบาย จนก่อให้เกิดน้ำท่วม ขึ้นในเขตเมืองและพื้นที่โดยรอบ …ท่วมขนาดนักท่องเที่ยวหันมาชิลๆกับมันได้เลยนะ หาดเชิงมน สมุย pic.twitter.com/Q0Spw3smef — T u A L a X ?♩ (@TuaLax) January 5, 2017 Midnight dip in Samui A photo posted by James Gilbody (@jamesgilbody) on Jan 5, 2017 at 7:39am PST 5.ภาคใต้เข้าสู่ช่วงฤดูฝน ภาคอื่นช่วงนี้อาจจะเป็นฤดูหนาว แต่สำหรับภาคใต้ช่วงนี้คือฤดูฝน ฝนจะตกต้องตามอยู่แล้ว แต่โดยปกติจะไม่ได้ตกในระดับที่น้ำท่วมขนาดนี้ ทว่าหากมองย้อนไปยังจุดเริ่มต้น แม้ฝนตกหนักขนาดทำให้น้ำท่วม แต่ถ้าทางระบายน้ำตามธรรมชาติไม่โดนสิ่งก่อสร้างของมนุษย์กีดขวาง ถึงจะท่วมก็เพียงแค่ชั่วคราว พร้อมจะระบายลงทะเลอย่างรวดเร็ว มองในแง่ดีปีนี้ภาคใต้จะไม่แล้งน้ำแล้วแต่เรามีจนล้นอ่างเก็บน้ำเลย ในสถานการณ์เช่นนี้อย่างน้อยต้องคิดบวกไว้ก่อนอย่ามองแง่ลบอย่างเดียว – ดร.วัฒนา กันบัว ภาพโดย : Reuters / ภาพจาก Aljazeera นี่คือเหตุผลที่อธิบายได้ง่ายๆ ถึงสาเหตุที่ทำไมปีนี้ภาคใต้จึงน้ำท่วมหนัก อย่างไรก็ตามหากไม่มีการบริหารจัดการปัญหาได้อย่างดีพอ ดร.วัฒนา ก็แสดงทัศนะว่าปีหน้าก็อาจจะท่วมอีก สิ่งที่เราทำได้ไม่ใช่การห้ามฟ้า ห้ามฝน แต่เป็นการห้ามไม่ให้มนุษย์ไปเปลี่ยนธรรมชาติต่างหาก ___________ รายงานโดย ทีมงาน MangoZero