มันฝรั่งทอดนับว่าเป็นขนมยอดฮิตที่ไม่ว่าใครๆ ก็ต้องเคยทาน เพราะเป็นขนมที่ทานง่าย และทานได้แทบจะทุกโอกาส เมื่อพูดถึงขนมมันฝรั่งทอดกรอบ แน่นอนว่าชื่อที่เรานึกถึงจะต้องมี ‘เลย์’ แบรนด์ขนมที่เราคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็กจนโต วันนี้เรามีเรื่องราวเกี่ยวกับมันฝรั่งเลย์ที่หลายๆ คนอาจจะต้องร้องว้าว เพราะยังไม่เคยรู้มาก่อน มาฝากกันด้วย! อยู่คู่คนไทยมามากกว่า 20 ปี มันฝรั่งเลย์ เป็นของบริษัท เป๊ปซี่-โคล่า ไทยเทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งเข้ามาสร้างฐานการผลิตและเริ่มทำการตลาดขนมขบเคี้ยวเมื่อปี 2538 ซึ่งเมื่อนับถึงปัจจุบันก็เป็นเวลาประมาณ 20 ปี นอกจากมันฝรั่งเลย์แล้ว ยังมีขนมอื่นๆ ที่เราก็คุ้นเคยไม่แพ้กัน เช่น ชีโตส ทวิสตี้ ตะวัน และซันไบท์ ซึ่งแต่ละแบรนด์ขนมก็จะใช้วัตถุดิบที่แตกต่างกันออกไปด้วย เช่น ข้าว ข้าวโพด ธัญพืช 3 รสชาติยอดฮิตตลอดกาล ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ให้ทายว่ารสชาติไหนของเลย์ขายดีที่สุด? สำหรับบางคนอาจจะเดาไม่ยาก เพราะน่าจะเป็นหนึ่งในเลย์รสโปรดกันอยู่แล้ว สำหรับรสชาติที่ครองแชมป์ขายดีที่สุดมาตลอดก็คือ รสมันฝรั่งแท้ ทั้งแผ่นเรียบและแผ่นหยัก,รสโนริสาหร่าย และกลิ่นเอ็กซ์ตร้าบาร์บีคิว เลย์มีรสชาติหลักอยู่ทั้งหมด 8 รสชาติ และในทุกๆ ปีจะมีรสออกใหม่อีกประมาณ 3-4 รส เรียกได้ว่าไม่มีคำว่าซ้ำซาก หรือจำเจกันเลย มีส่วนแบ่งการตลาดถึง 75% ในตลาดขนมขบเคี้ยว นับเป็นระยะเวลามากกว่า 10 ปีแล้วที่เลย์เข้าครองส่วนแบ่งทางการตลาดมากถึง 75% หรือ 3 ใน 4 ของตลาดขนมขบเคี้ยว ซึ่งตลาดขนมขบเคี้ยวในไทยนั้นมีมูลค่ามากถึง 3.6 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ เลย์ยังเป็นผู้นำอันดับ 1 ในตลาดมันฝรั่งทอดกรอบอีกด้วยนะ มันฝรั่งเลย์ไม่ได้ปลูกกันง่ายๆ รู้หรือไม่ว่ากว่าจะออกมาเป็นมันฝรั่งทอดกรอบแผ่นๆ นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เริ่มตั้งแต่ความท้าทายในการปลูกมันฝรั่ง เนื่องจากมันฝรั่งเป็นพืชที่เติบโตได้ดีในสภาพอากาศเย็น ตั้งแต่ 14-18 องศาเซลเซียสในตอนกลางคืน และ 24-26 องศาเซลเซียสในตอนกลางวัน ในไทยจึงปลูกได้แค่เฉพาะในบริเวณภาคเหนือและบางส่วนของภาคอีสาน และนอกจากสภาพอากาศแล้ว ยังต้องมีการคัดเลือกสายพันธุ์มันฝรั่งอีกด้วย เพราะมันฝรั่งที่สามารถนำมาทอดกรอบได้ จะต้องเป็นสายพันธุ์โรงงานเท่านั้น ส่วนฤดูกาลในการปลูกมันฝรั่งในประเทศไทย โดยหลักๆ จะเป็นช่วงฤดูแล้ง คือตั้งแต่เดือน พ.ย.- ธ.ค. และเก็บเกี่ยวในเดือน ก.พ. – มี.ค. ส่วนฤดูรองจะเป็นช่วง พ.ค. – ก.ค. และเก็บเกี่ยวในเดือน ส.ค. – ต.ค. ของทุกปี ในกระบวนการปลูกมันฝรั่งนั้น เกษตรกรจะต้องใส่ใจรายละเอียดตั้งแต่เริ่มเตรียมไถหน้าดิน เอาหัวเมล็ดพันธุ์ลงดิน การรดน้ำ ใส่ปุ๋ย การใช้เทคโนโลยีทางการเกษตร เช่น การขุดร่องน้ำ การทำระบบน้ำหยด เพื่อให้ได้มันฝรั่งที่คุณภาพดี ในระยะเวลาประมาณ 90 วัน ก่อนเก็บเกี่ยวและส่งต่อไปยังโรงงานแปรรูป มันฝรั่งเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจของเกษตรกรไทย ในแต่ละปี ตลาดมันฝรั่งแปรรูปมีความต้องการมันฝรั่งถึง 1.5 แสนตัน และภาคเกษตรกรรมของไทยก็สามารถปลูกมันฝรั่งได้มากถึงปีละ 1 แสนตัน คิดเป็น 75% ของทั้งหมด นั่นทำให้มันฝรั่งกลายเป็นอีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้เกษตรกรไทยอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว ในทุกๆ ปี เลย์จะมีการรับซื้อมันฝรั่งจากเกษตรกรไทยไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นตัน และยังส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกมันฝรั่งกว่า 3,500 ราย ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 22,000 ไร่ ใน 6 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา และตาก รวมถึงอีก 2 จังหวัดในภาคอีสาน ได้แก่ สกลนคร และนครพนม กว่าจะเป็นเลย์ ผ่านมาแล้วกว่า 10 ขั้นตอน ปัจจุบันเลย์มีฐานการผลิตมันฝรั่งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ และโรงงานที่จังหวัดลำพูน โดยกว่าจะออกมาเป็นเลย์แต่ละซองที่เราได้ทานกันนั้น หลังจากเก็บมันฝรั่งมาจากไร่แล้ว จะต้องผ่านอีกประมาณ 10 ขั้นตอนก่อนจะส่งออกไปยังร้านค้าปลีก-ส่ง และห้างสรรพสินค้า เริ่มแรกคือการนำมันฝรั่งจากไร่มาโหลดลงในเครื่องจักร ล้างให้สะอาด ปอกด้วยเครื่องขัดผิวมันฝรั่ง จากนั้นนำไปผ่านการตัดแต่งโดยใช้คน ต่อด้วยการนำไปเข้าเครื่องฝานเพื่อให้ออกมาเป็นแผ่น ตรงนี้ถ้าเป็นแผ่นเรียบกับแผ่นหยัก จะใช้เครื่องฝานที่ไม่เหมือนกันด้วยนะ ต่อมามันฝรั่งที่ได้จะถูกนำไปทอด ซึ่งในขั้นตอนการทอด เลย์ได้เปลี่ยนจากน้ำมันปาล์มมาใช้น้ำมันรำข้าวตั้งแต่ประมาณ 5 ปีที่แล้ว เพื่อขจัดไขมันทรานส์ และลดปริมาณคอเลสเตอรอลลงด้วย ต่อจากการทอด มันฝรั่งที่ได้จะถูกนำไปคัดแยกตำหนิอีกครั้ง ก่อนนำไปใส่เครื่องปรุงรส และบรรจุลงซองเตรียมนำไปขายต่อจากนี้จ้า จากที่เราได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมกระบวนการผลิตเลย์ในโรงงานมานั้น ต้องบอกเลยว่ากว่าจะออกมาเป็นเลย์ 1 ซอง เขาเข้มงวดในทุกขั้นตอนจริงๆ ตั้งแต่วัตถุดิบ กระบวนการผลิตและแปรรูป และยังรวมไปถึงสุขอนามัยภายในโรงงานอีกด้วย อ่านมาถึงตรงนี้ต้องมีหิวเลย์กันบ้าง สั่งซื้อมากินให้ฟินกันไปเลย -> เลย์หลากหลายรสชาติ