ท่ามกลางความรำคาญใจของผู้ใช้งานทางเท้า และยังรวมไปถึงความเสี่ยงอุบัติเหตุที่เพิ่มขึ้น เหล่าผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ก็ยังคงใช้ทางเท้าเป็นอีกหนึ่งเลนในการสัญจร อาจจะเพราะความรวดเร็ว ความสะดวกสบายในการขับขี่ในช่วงที่ท้องถนนมีแต่รถติด แล้วคนใช้ทางเท้าทั่วไปอย่างเราทำอะไรกันได้บ้างนะ โดยปกติ ปัญหาการสัญจรบนทางเท้าจะมีกฎหมายควบคุมอยู่แล้ว คือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 17 ห้ามมิให้ผู้ใด (2) จอด หรือ ขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือล้อเลื่อน บนทางเท้า เว้นแต่เป็นการจอดหรือขับขี่เพื่อเข้าไปในอาคารหรือมีประกาศของเจ้าพนักงานจราจรผ่อนผันให้จอดหรือขับขี่ได้และมีบทกำหนดโทษอยู่ในมาตรา 56 ที่ว่า ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 17 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ทั้งนี้ ทางกทม. ได้แจ้งว่าจะปรับเป็นขั้นบันได เช่น พบเห็นครั้งแรกตักเตือน ครั้งที่ 2 เปรียบเทียบปรับ 500 บาท ครั้งที่ 3 เปรียบเทียบปรับ 1,000 บาท โดยมีโทษปรับสูงสุดที่ 5,000 บาท นอกจากนี้คนใช้ทางเท้าอย่างพวกเราก็ยังสามารถเป็นหูเป็นตาได้ด้วย โดยถ้าพบเห็นผู้จอดหรือขับขี่ยานพาหนะบนทางเท้า ก็สามารถแจ้งส่งเบาะแสไปที่เจ้าหน้าที่เทศกิจในท้องที่ หรือโทร. ไปที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน 1555 ได้เลย โดยแนบหลักฐาน รูปถ่ายหรือวิดิโอที่มีเลขทะเบียนรถ และเลขเสื้อวินมอเตอร์ไซค์ ในกรณีที่เป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้าง โดยผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับรางวัลนำจับครึ่งหนึ่งของค่าปรับด้วย ที่มา : ไทยรัฐ, มติชน