หลังจากที่ธนาคารกสิกรไทยจัดการแข่งขันที่หาขุนพลแห่งอนาคตที่มีความสามารถในด้านเทคโนโลยีและการออกแบบที่หลากหลาย ทั้งการเขียนโปรแกรม การวิเคราะห์ข้อมูล และการดีไซน์ เป็นปีที่ 2 ติดต่อกันในชื่องาน TechJam หลังจากแข่งขันกันมาตั้งแต่เดือนกรกฏาคม การแข่งขันครั้งนี้ก็จบลงแล้วพร้อมกับได้ทีมผู้ชนะแล้ว 3 ทีมจากผู้เข้าสมัครกว่าพันสี่ร้อยทีม สำหรับการแข่งขันครั้งนี้มีรายละเอียดเป็นอย่างไร ใครได้แชมป์ แล้วต่างกับปีก่อนแค่ไหน เราจะมาสรุปให้อ่านกันว่ามีเรื่องใดบ้างที่น่าสนใจ แม้ว่าเราจะไม่ได้ลงแข่ง แต่ถ้าคุณเป็นคนที่สนใจด้านเทคโนโลยีและการออกแบบ ควรต้องอ่านเพราะปีต่อๆ ไปคุณอาจจะได้เข้ามาร่วมแข่งขันในเวทีที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยที่มี KBTG เป็นผู้จัด ย้อนรอย TechJam เวทีแรกของเหล่าคนเทคและนักออกแบบไทย ก่อนจะไปดูเรื่องราวของปีนี้ เราจะพาไปย้อนอดีตเมื่อหนึ่งปีที่แล้วก่อนว่า TechJam ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ปีที่แล้ว TechJam จัดการแข่งขันเป็นครั้งแรกเพื่อหาคนที่มีความเชี่ยวชาญในสายงานด้านเทคและการออกแบบ กลุ่มคือ Code Track, Data Track และ Design Track ปีแรกนั้นมีทีมที่ลงสมัครแข่งขันทั้งหมด 421 ทีมจากทั้งสามกลุ่ม และทีมที่ได้ที่ 1 ก็ได้รางวัลใหญ่เป็นการดูงานที่ Silicon valley ซึ่ง TechJam ก็ได้สร้างเครือข่ายคนสายเทคให้ได้รู้จักกันและบางทีมก็ต่อยอดความสัมพันธ์และทำงานดีๆ ออกมาด้วยกัน ในปีที่สอง KBTG ก็หวังว่าจะสร้างเครือข่ายดังกล่าวให้แข็งแรงขึ้นโดยที่ผู้เข้าแข่งขันทุกคนไม่จำเป็นต้องทำงาน หรือมีความเกี่ยวข้องกับ KBTG ก็ได้ ถ้าคุยกันถูกคอก็โอเค แน่นอนว่าปีแรกก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจนต้องจัดขึ้นอีกปี **อ่านเรื่องราวของ TechJam ปี 2017 ได้ที่นี่ บทสรุป ‘TechJam by KBTG 2017’ TechJam 2018 ตามหาสุดยอดขุนพลเทคโนโลยีแห่งอนาคต เมื่อได้รับการตอบรับดี และมองเห็นอนาคตของการเปลี่ยนประเทศไทยที่ต้องการบุคลากรทางด้านนี้จำนวนมากเพื่อพัฒนาประเทศ KBTG จึงจัดงาน TechJam ครั้งที่ 2 ขึ้นด้วยจุดประสงค์หลักสองเรื่องคือ หาสุดยอดขุนพลด้านเทคโนโลยีและการออกแบบที่จะมีส่วนช่วยผลักดันวงการเทคโนโลยีของไทยในสายงาน Coding, Data Science และ Customer Experience Design ให้เติบโตต่อสู้กับโลกอนาคตที่กำลังต้องการคนที่มีความเชี่ยวชาญทั้ง 3 สายนี้มาสร้างนวัตกรรมแห่งอนาคต อีกจุดประสงค์หนึ่งการให้เหล่าขุนพลแห่งโลกอนาคตทั้งหลาย ไม่ว่าจะสายไหนก็ตามได้สร้างเครือข่ายกันต่อ เพื่อต่อยอด แน่นอนว่า KBTG ไม่ได้จะมาควบคุมไอเดียหรือเรื่องใดเลย และไม่จำกัดว่าจะนำไอเดียมาสร้างให้ KBTG ถ้าทุกคนมีไอเดียอยากทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำโดยใช้คอนเนคชั่นจากเครือข่ายที่เจอใน TechJam เงื่อนไขของ TechJam ที่เปิดกว้างมากขึ้น ปีที่แล้ว TechJam มีการแข่งขันกันแค่ในวงจำกัด และรู้ข่าวไม่แพร่หลาย แต่ในปีนี้ TechJam ตัดสินใจที่จะขยายเวทีออกยังต่างจังหวัดเพื่อให้คนที่มีความสามารถแต่ไม่มีโอกาสให้แสดงความสามารถได้ร่วมลงสนามประลองฝีมือโดยเงื่อนไขในปีนี้ที่เปิดกว้างขึ้นก็คือ ผู้เข้าแข่งขันสามารถลงแข่งได้ตั้งแต่อายุ 15 – 60 ปี ไม่จำกัดสัญชาติ ขอแค่รวมทีมกันมาไม่เกิน 2 คนก็แข่งได้ ไม่จำกัดระดับการศึกษา หรือไม่ได้เรียนมา แต่เซียนมากก็สมัครได้ มีการแข่งขันในระดับภูมิภาคคือภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสาน และภาคกลาง ซึ่งแต่ละภาคจะแข่งกันแล้วหาตัวแทนมาดวลกันในวันสุดท้ายที่ KBTG เพราะการที่เปิดกว้างในการให้โอกาสคนเก่งจากทั่วประเทศนี่เองทำให้มีทีมที่ส่งรายชื่อเข้าแข่งขันถึง1,476 ทีม เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 250% ซึ่งการที่จัดแข่งหาตัวแทนแบบออนทัวร์ไปถึงที่นี่แหละ ทำให้ช้างเผือกออกมาแสดงออร่าความเทพให้คนในประเทศเห็นถึงพลังที่เก็บซ่อนไว้ โดยการคัดเลือกจาก 1,476 ทีมนั้นแบ่งออกเป็น Code Squad 758 ทีม คัดเหลือ 20 ทีม Data Squad 496 ทีม คัดเหลือ 22 ทีม Design Squad 222 ทีม คัดเหลือ 20 ทีม บทสรุปการแข่งขันเพื่อหาสุดยอดขุนพลแห่งอนาคต สำหรับโจทย์ที่ใช้ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศระดับประเทศนั้น ต้องบอกเลยว่ายากกว่าปีที่แล้ว และเป็นโจทย์ที่สังเคราะห์มาจากสิ่งที่ KBTG เคยทำรวมไปถึงแก้ไขปัญหาให้กับธนาคารกสิกรไทยจริงๆ ซึ่งโจทย์แต่ละ Squad คือ… Code Squad : วัดความสามารถด้านอัลกอริธึมและการเขียนโปรแกรมเพื่อแก้ปัญหาด้วยโจทย์ที่มีมาตรฐานระดับโลก คนที่จะชนะนั้นต้องแก้ปัญหาเป็น มีความสามารถด้านการแก้ปัญหารวมถึงทำงานภายใต้ความกดดันได้ดี และเร็ว! โดยหัวหน้า Judge ที่ดูแลคือ ‘จิรัฏฐ์ ศรีสวัสดิ์‘ Senior Visionary Architect KASIKORN Labs Data Squad : ผู้เข้าแข่งขันนำชุดข้อมูลเสมือนจริงมาสร้างโมเดลเพื่อการทำนายผล โดยโมเดลที่ให้ผลแม่นยำและความสามารถในการนำเสนอได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดก็ได้รับชัยชนะไป โดยหัวหน้า Judge ที่ดูแลคือ ‘ดร. ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล‘ Principal Visionary Architect KASIKORN Labs Design Squad : ผู้เข้าแข่งขันต้องสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ของ KBank ที่ช่วยดูแลชีวิตลูกค้าได้มากขึ้น โดยการประยุกต์ใช้ Touch Point ต่างๆทั้ง Offline และ Online ที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์สูงสุด สำหรับการตัดสินนั้นประเมินจากความคิดสร้างสรรค์ ความเข้าใจโจทย์ และนำเสนอได้ดี หัวหน้า Judge ที่ดูแลการคือ ‘อภิรัตน์ หวานชะเอม’ Principal Visionary Architect KASIKORN Labs และ Managing Director, Beacon Interface เปิดใจผู้ชนะทั้ง 3 ทีม ชัยชนะครั้งนี้มีที่มา หลังจากที่มีการแข่งขันกันตลอดทั้งวันตั้งแต่เช้ายันเย็น ในที่สุดแล้วก็ได้ผู้ชนะใน TechJam ประจำปี 2018 ซึ่งแต่ละทีมก็เก่ง มีความสามารถที่เหมาะสม กับการที่ฝ่าฟันมาจนกลายเป็นแชมป์ของ TechJam ประจำปี 2018 อย่างไร้ข้อกังขา Code Squad : กิตติภณ พละการ และ กิตติภพ พละการ ฝาแฝดจากทีมชื่อน่ารัก MEOW MEOW :3 ทีมนี้ป็นทีมม้ามืดที่คณะกรรมการเองก็ไม่คิดว่าพวกเขาจะสามารถทำคะแนนแซงชนะทีมอื่นมาได้ เพราะการแข่งขันตลอดทั้งวันนั้น คะแนนของพวกเขาอยู่นอกสายตาสุดๆ แต่ในช่วงสุดท้ายพวกเขาค่อยๆ ทำคะแนนตีตื้นมา และสามารถเขียนโค้ดเพื่อแก้ปัญหาได้ตามโจทย์ที่ Judge ต้องการได้สำเร็จ ในเวลาที่กำหนด ซึ่งวิธีการที่พวกเขาเลือกทำคือการคิดวิธีการแก้ปัญหาได้แม่นยำกว่าและชัดเจนกว่าทุกทีมเลยได้แชมป์ไปครอง Data Squad : ชวาล เพียรสัตยานนท์ และ พิสิษฐ์ วจนสาระ สองนิสิตปริญญาตรีจากจุฬาฯ แห่งทีม TEMP การแข่งขันของฝั่ง Data Squad นั้นผลแพ้ชนะแทบจะไม่ต่างกันมาก ทุกทีมคะแนนสูสีกันโดยเฉพาะอันดับที่ 1 – 3 เมื่อผลคะแนนออกมาแล้วห่างกันไม่มากเลย แต่ว่าทีม TEMP นั้นเป็นม้ามืดที่ไม่โดดเด่นเลยในทุกการแข่งขัน แต่ในช่วงหลังพวกเขาค่อยๆ ตีตื้นขึ้นมาเรื่อยๆ จนมาอยู่ท็อป 1 ใน 5 ซึ่งจุดเปลี่ยนที่ทำให้ชนะคู่แข่งทีมอื่นคือวิธีการแก้ปัญหาต่างจากทีมอื่นชัดเจน เพราะพวกเขาเลือกวิธีการที่ยาก ทว่าสามารถทำได้ในเวลาที่จำกัด ผลลัพธ์ก็แม่นกว่าทีมอื่นมาก จึงทำให้ชนะไป Design Squad : ชิตวีร์ จงเรียน และ จักรพงษ์ สารครศรี สองหนุ่มจากขอนแก่น แห่งทีม TREXCODE Jr. ทีมนี้ทาง Judge อภิรัตน์ บอกว่าชนะตั้งแต่นำเสนอ เพราะทั้งคู่ทำพรีเซนต์ออกมาได้ดีมากที่สุด และตอบโจทย์มากที่สุด รวมถึงการทำโมเดลสำหรับนำเสนออกมาได้ดีมากจนถูกแซวว่านี่เตรียมออกมาจากที่บ้านเลยหรือเปล่า ทั้งที่จริงๆ แล้วผู้เข้าแข่งขันทุกคนได้รับโจทย์พร้อมกัน แต่ด้วยความที่ทั้งสองคนตีโจทย์แตก และทำงานเข้าขาเลยทำงานออกมาได้อย่างดีและโดดเด่นเหนือทุกทีม ผลชนะจึงเป็นเอกฉันท์ เสียงจากกรรมการ TechJam ปีที่ 2 ปีนี้ TechJam ถือว่าจัดงานในระดับที่ใหญ่กว่าปีก่อนมากทั้งจำนวนของผู้เข้าแข่งขัน และวิธีการคัดเลือกซึ่งเมื่อจำนวนคนมากขึ้นโจทย์ก็ยากขึ้น และมีโอกาสได้เจอทีมที่เก่งๆ มากขึ้นนั่นทำให้ TechJam ปีนี้ Judge ทุกคนบอกว่า TechJam เติบโตขึ้นมาก และเห็นคนเก่งมากขึ้น คุณทัดพงศ์ Judge ของ Data Squad เล่าว่าความแตกต่างของปีนี้กับปีที่แล้วคือรูปแบบของโจทย์ยากขึ้นตามจำนวนผู้เข้าแข่งขันโดยหัวใจหลักของโจทย์คือปริมาณข้อมูลที่มากขึ้นในเวลาที่น้อยลง ทำให้การแข่งขันยิ่งเข้มข้นสนุก ผู้ชนะปีที่แล้วก็แข็งแกร่งมากเหมือนกันแต่ปีนี้ต้องยอมรับว่าโจทย์แข็งกว่ามาก หลายคนก็เป๋บ้างกับโจทย์ไปเหมือนกันแต่ก็ผ่านมาได้ แสดงให้เห็นว่าคนที่เข้าแข่งขันในปีนี้ก็ไม่ธรรมดา ส่วนคุณอภิรัตน์เล่าความรู้สึกของ TechJam ปีนี้ว่า “ผมรู้สึกเหมือน…เราโตไปด้วยกัน” เขาเล่าย้อนไปว่าปีที่แล้ว KBTG เพิ่งจะอายุได้ปีกว่าทำงานสั่งสมประสบการณ์ในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับ KBank ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก เมื่อมีประสบการณ์ในการทำงานมากก็สามารถเอามาออกโจทย์ให้ผู้เข้าแข่งขันในปีนี้ได้แก้ไขได้ อีกหนึ่งเหตุผลที่ TechJam ปีนี้เติบโตคือการที่เดินสายไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ทำให้มีโอกาสได้เห็นความแตกต่างของความสามารถและความสนใจของคนในแต่ละพื้นที่และนำมาใช้วางแผนในการเสริมความรู้ให้ผู้เข้าแข่งขันให้ทุกคนพร้อมลุยกับโจทย์ระดับมืออาชีพได้เต็มที่ “ถ้าเทียบกับปีที่แล้วคือโจทย์ปีนี้ยากระดับโลกจริงๆ” คุณจิรัฏฐ์ เสริมก่อนจะเล่าต่อว่าก่อนหน้านี้เป็นโจทย์ที่ยากคนละระดับกัน การแข่งขันของ KBTG ก็โตขึ้นมากและความละเอียดของโจทย์ การเลือกคน และการตัดสินก็ระดับโลก เพราะคุณภาพของคนในรอบนี้เก่งกันมากซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนเก่งจากทั่วประเทศยังมีอยู่มากมายจริงๆ โดยสรุปคือคนที่เข้าแข่งในปีนี้เป็นขุนพลทางเทคโนโลยีและการออกแบบจากทั่วประเทศ ที่ได้โอกาสแสดงความสามารถและศักยภาพให้เห็นว่าทุกคนจะเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญในการสร้างอนาคตของไทยให้เกิดขึ้นได้ผ่านเครือข่ายของ TechJam มาดูกันว่า TechJam ปีหน้าจะดุเดือดแค่ไหน