“หู” นับเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกายของเรา เพราะแทบจะทุกกิจกรรมในชีวิตประจำวัน มักจะมี “เสียง” เข้ามาเกี่ยวข้อง นั่นทำให้แต่ละวัน หูของเราจะถูกใช้งานอย่างสารพัด วันนี้เราเลยพามารู้จักกับ “ระดับความดังของเสียง” หรือ “เดซิเบล” ที่ถูกใช้เป็นตัวกำหนดว่าเสียงที่เราเจอในชีวิตประจำวันควรดังประมาณไหน หรือดังแค่ไหนจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย โดยปกติแล้ว เสียงมีหน่วยวัดอยู่หลายหน่วย แต่เดซิเบล (dB) คือหน่วยการวัดระดับความดังเสียงที่เข้าใจง่ายและนิยมในปัจจุบัน โดยการวัดความดังเสียงในหน่วยเดซิเบล (เอ) จะถูกแบ่งออกเป็นระดับเทียบกับเสียงที่พบบ่อยในชีวิตประจำวันได้ ดังนี้ ระดับเบามาก (0-20 dB) เช่น เสียงหายใจ เสียงกระซิบ นั่นแปลว่าเสียงที่มนุษย์เริ่มได้ยินก็คือตั้งแต่ 0 dB เลย ระดับเบา (30-40 dB)ช่น เสียงในห้องสมุด เสียงห้องนอนตอนกลางคืน ระดับปานกลาง (50-60 dB) เช่น เสียงฝนตกเบาๆ เสียงพูดคุยทั่วไป ระดับดัง (70-80 dB) เช่น เสียงเครื่องดูดฝุ่น เสียงนกหวีด และไม่ควรฟังเสียงที่ดังตั้งแต่ 85 dB ขึ้นไปเป็นเวลานานๆ เพราะอาจสูญเสียการได้ยิน ระดับดังมาก (90-100 dB) เช่น เสียงเครื่องตัดหญ้า เสียงโรงงาน ระดับดังสุดๆ (110-140 dB) เช่น เสียงเพลงแดนซ์ในผับ เสียงคอนเสิร์ตร็อค เสียงเครื่องบินเจ็ต โดยไม่ควรได้รับเสียงตั้งแต่ 100-120 dB เกิน 1-2 ชม. และเมื่อเสียงดังถึง 130 dB จะเริ่มมีอาการปวดหู เมื่อทราบกันแล้ว ใครที่รู้ตัวว่าอยู่ในสถานการณ์ที่มีเสียงดังบ่อยๆ เมื่อมีโอกาสก็ควรหลีกเลี่ยงนะ โดยสามารถดำเนินการทางกฎหมายได้ ในกรณีที่มีการใช้เสียงดังบริเวณใกล้เคียง ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 15 (2540) ซึ่งกำหนดมาตรฐานความดังเสียงทั่วไปสูงสุดไม่เกิน 115 dB นอกจากนี้ บริเวณที่มีการก่อเสียงดังรบกวน เช่น การตั้งวงเหล้า จัดปาร์ตี้ เปิดเพลงเสียงดัง ข้างบ้านตะโกนไฟไหม้ แต่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง สุนัขเห่า เปิดทีวีเสียงดัง เสียงคนทะเลาะกัน ขนของเสียงดัง เสียงก่อสร้างต่อเติมบ้าน ถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาม.370 ผู้ใดส่งเสียง ทำให้เกิดเสียงหรือกระทำความอื้ออึง โดยไม่มีเหตุอันสมควร จนทำให้ประชาชนตกใจหรือเดือดร้อน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท ส่วนเสียงสุนัขเห่า อาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.397 ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ ต่อผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ที่มา : zen acoustic , geo noise