ยืมเงินไปเราก็ต้องคืน นี่คือสัจธรรมของโลกใบนี้ และตอนนี้ปัญหายืมเงินไปแล้วไม่คืนระดับชาติก็คือคนที่กู้ทุนเรียน กยศ. ของกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ที่มีคนกู้เยอะมาก และก็ไม่คืนเยอะเหมือนกันจนทำให้ กยศ. ต้องเดือดร้อน อย่างไรก็ตามสาเหตุที่คนเบี้ยวหนี้ กยศ. เยอะมาก อาจจะเพราะหลงลืม ตกงาน ไม่รู้ว่าถึงเวลาต้องใช้หนี้แล้ว หรือจงใจเบี้ยว สำหรับคนที่หลงเดินทางผิด เป็นหนี้ กยศ. แต่ไม่ยอมใช้ เราจะพามาดูสิ่งที่จะตามมา หากคุณไม่ยอมจ่ายหนี้ กยศ. จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เผื่อจะกลับตัวกลับใจไปจ่ายเสียเดี๋ยวนี้ จดหมายเตือนให้ไปชำระหนี้ หนี้ กยศ. นั้นจะให้ผู้กู้ผ่อนชำระในระยะเวลา 15 ปี ซึ่งจ่ายแค่ปีละ 1 ครั้งเท่านั้น ย้ำว่าปีละ 1 ครั้งเท่านั้นคือชำระเงินก่อนวันที่ 5 กรกฎาคมของทุกปี และรอให้ผู้กู้ทำงานไปแล้ว 2 ปีถึงจะเริ่มให้มาชำระหนี้ ส่วนอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 1 เท่านั้น ถึงเริ่มให้จ่ายหนี้ โอโห้! ช่วยกันมากขนาดนี้ แต่ก็ยังไม่มีคนจ่ายเลย ทาง กยศ.เลยต้องมีการเตือนสติขั้นต้นสำหรับคนที่ไม่จ่ายหนี้ทั้งหมด 4 งวดขึ้นไป (ก็คือ 4 ปี) ด้วยการส่งจดหมายไปเตือนก่อนว่า เธอๆ กู้ยืมเงินเราไปก็ต้องใช้แล้วเนอะ จบมาแล้วมีงานทำก็ต้องใช้หนี้น้าา แต่ยังไม่ใช่การฟ้องร้อง ใครที่ได้จดหมายเตือนก็ไปจ่ายหนี้เถอะ ปีละครั้งเอง ซื้อ iPhone ผ่อน 0% 10 เดือนยังทำได้เลย เรียกมาเจรจาตกลงการชำระหนี้ อ่ะ…กยศ. ก็ยังไม่โหดร้ายขนาดนั้น ถึงน้องยังไม่จ่าย เขาก็จะออกหนังสือเชิญมาเจรจากันหน่อยสิว่าทำไมถึงยังไม่จ่าย ติดปัญหาอะไรตรงไหนหรือเปล่าบอกกันได้นะ ยังไม่มีงานทำ หรือมีหนี้ล้นมือเกินกว่าจะจ่ายได้ก็มาเจรจากันหน่อยว่าจะตกลงกันแบบนี้ ซึ่งเงื่อนไขก็อยู่ที่จะคุยกับทาง กยศ. เองว่าไหวไหมจ่ายเมื่อไหร่ดี และไม่ได้หนีเนอะ ขั้นตอนนี้จะยังไม่ถึงขั้นการฟ้องร้องดำเนินคดี แต่อยู่ในช่วงเจรจากันก่อน ตอนมากู้ยังมาคุยได้เลยเนอะ เขาเรียกให้มาเจรจาก็มาเถอะเนอะ ถ้ายังเบี้ยวอีกเตรียมเจอดอกเบี้ยบาน ส่งจดหมายไปเตือนแล้ว เรียกมาเจรจาแล้วก็ยังเฉยอยู่จากนี้ไป กยศ. จะไม่ทนและเริ่มใช้ไม้แข็งดังนี้ ส่งฟ้องศาลก่อนพร้อมยกเลิกสัญญาเงินก฿้ฉบับเดิมที่คดดอกเบี้ยแค่ร้อยละ 1 เมื่อถูกฟ้องศาล ผู้กู้จะต้องถูกบังคับให้ปิดหนี้ภายใน 9 ปี หรือ 108 งวด แต่ถ้าไม่ไปขึ้นศาล ผู้กู้จะโดนคำสั่งศาลให้จ่ายหนี้ครั้งเดียวจนหมด การชำระหนี้โดยคิดเป็น เงินต้นที่ค้างชำระ x ดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปี x ดอกเบี้ยค่าปรับร้อยละ 18 ต่อเดือน = หนี้ทั้งหมดที่ต้องจ่าย ระหว่างนั้นจะเสียเบี้ยปรับค้างชำระ ซึ่งคิดดอกเบี้ยค่าปรับคิดเป็นรายวัน และจะคิดไปเรื่อยๆ จนกว่าผู้กู้จะชำระค่าปรับหมด หรือจ่ายครบตามจำนวนดอกเบี้ยค่าปรับ เช่นสมมติว่าไม่ได้จ่ายเงินไป 4 ปี โดนค่าปรับไปทั้งหมด 40,000 บาท เงินที่จ่ายมาจะไปหักลบกับค่าปรับก่อน จากนั้นจึงไปลบกับดอกเบี้ย เหลือเท่าไหร่ถึงมาหักเงินต้น ซึ่งก็เริ่มต้นจากการหักเงินต้นที่ค้างนานที่สุดก่อน ถ้าอยากจะกลับเข้าสู่การผ่อนแบบปกติต้องเคลียร์ค่าปรับก่อนนะ หนี้ กยศ. ไม่สามารถเจรจาลดดอกเบี้ยได้ เพราะ กยศ. ไม่ใช่หน่วยงานรัฐ แต่เป็นของรัฐบาลซึ่งทำตามกฎหมาย ดังนั้นทางที่ดีที่สุดอย่าเบี้ยวถ้าไม่อยากเจอดอกโหด ผู้ค้ำประกันโดนทวงหนี้ด้วย ผู้กู้ทุกคนมีคนค้ำประกันให้เพราะตอนกู้ยังเป็นนักเรียน และถ้าผู้กู้คนนั้นเบี้ยวหนี้ใช้วิธีนินจาหายไป คนที่ซวยเสมือนเป็นผู้กู้ด้วยก็คือผู้คำประกัน ซึ่งในสัญญาระบุไว้ว่า ผู้ค้ำประกันจะต้องชดใช้ให้กับ กยศ. ประหนึ่งเป็นผู้กู้เงินไปใช้เอง ซึ่ง…ถ้าตามผู้กู้ไม่เจอ คนค้ำก็ซวยสถานเดียวชดใช้ไปเต็มๆ ยกเว้นคนที่ค้ำประกันตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2558 ขึ้นไป มีกฎหมายฉบับใหม่ที่คุ้มครองผู้ค้ำประกันออกมาคือผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดชอบเสมือนผู้ค้ำ และผู้ให้กู้ต้องไปตามลูกหนี้ให้เจอก่อนอย่างสุดความสามารถ ถึงค่อยมาไล่บี้กับผู้ค้ำประกันอีกที อย่างไรก็ตามคนที่ค้ำประกันเขาก็อยากจะให้คนกู้เรียนไปจนจบ และมีงานทำ มีชีวิตที่ดี ไม่ได้หวังว่าจะมีส่วนได้ส่วนเสียกับเงินของท่าน ดังนั้นถ้าไม่อยากให้คนค้ำประกันเดือดร้อนก็ ไปจ่ายเถอะ ช่องทางการจ่ายหนี้ กยศ. และตรวจสอบยอดหนี้ล่าสุด สำหรับคนที่เป็นหนี้ กยศ. และอยากจะรู้ว่าตอนนี้สถานะเป็นอย่างไร มียอดเงินคงเหลือเท่าไหร่ โดนค่าปรับไปเท่าไหร่ และจ่ายเงินยังไงบ้างสามารถทำได้สองวิธีคือ ติดต่อไปที่ธนาคารที่เรากู้ซึ่งก็คือธนาคารกรุงไทย หรือธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย แล้วแจ้งว่าจะชำระเงินกู้ กยศ. ถ้าไม่มีใบแจ้งหนี้ก็ยื่นบัตรประชาชนไปเท่านั้น จบเลย เข้าไปที่เว็บ กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา แล้วสมัครสมาชิกตามขั้นตอนของผู้กู้แล้วสามารถเช็คยอดเงินคงค้างได้ว่าเหลือเท่าไหร่ งวดตอ่ไปจ่ายอีกเท่าไหร่ และสามารถสแกน QR Code เพื่อจ่ายผ่านโมบายแบงก์กิ้งได้เลยอย่างง่าย ข้อมูลจาก – การฟ้องคดี กยศ.