รู้จักกับ โรค PTSD อาการหลังเจอเหตุการณ์ร้ายแรงสะเทือนใจ

Writer : nardpradabt

: 3 กรกฏาคม 2561

จากเหตุการณ์ที่สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั้ง 13 คนออกจาก ถ้ำหลวงนางนอน ได้นั้น อาจทำให้เด็กๆ เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา นั้นก็คือ ภาวะจิตใจผิดปกติหลังจากเกิดความเครียด หรือ เหตุการณ์สะเทือนใจ ที่เรียกว่า โรค PTSD (Post-traumatic Stress Disorder) ตามมาดูกันว่า โรคนี้คืออะไร ใครมีความเสี่ยงเป็นโรคนี้ได้บ้าง มีอาการ และ การรักษาได้อย่างไร

โรค PTSD คืออะไร

โรค PTSD คือ “ความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ” มีชื่อย่ออย่างเป็นสากลว่า PTSD (Post-traumatic Stress Disorder) เป็นภาวะความผิดปกติทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังพบเหตุการณ์ความรุนแรงซึ่งส่งผลต่อการดำเนินชีวิต เช่น อยู่ในเหตุการณ์ภัยพิบัติ (ไฟไหม้ ,สึนามิ ,น้ำท่วม , แผ่นดินไหว หรือ ติดในถ้ำ เป็นต้น) อยู่ในเหตุการณ์วินาศกรรม จลาจล โดนทำร้าย โดนปล้น หรือ พบเห็นเหตุการณ์ร้ายแรงไม่คาดฝันต่างๆ รวมถึงบางคนอาจจะไม่ได้ประสบพบเหตุด้วยตัวเอง แต่อาจเห็นจากข่าวหรือได้ฟังคำบอกเล่ามา แล้วรู้สึกกลัว จนเกิดความเครียดและมีพฤติกรรมที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิต

อาการของโรค

สำหรับอาการของ PTSD นั้นจะแสดงออกมาเป็น 2 ระยะ

  • ระยะ 1 เดือนแรก หลังจากเกิดเหตุ เรียกว่า Acute Stress Disorder (ASD) หรือ โรคเครียดฉับพลัน
  • จากนั้นจะเข้าสู่ระยะที่ 2 คือหลังเกิดเหตุการณ์มาแล้ว 1 เดือนที่เรียกว่า PTSD

การแสดงอาการแบ่งออกมา 3 กลุ่ม ดังนี้

  • อาการตกใจและหวาดกลัว (Hyperarousal) คือ ยังคงรู้สึกกระวนกระวาย ใจสั่น ตกใจง่าย ไม่มีสมาธิ เครียดง่ายกับเรื่องธรรมดา วิตกกังวล ย้ำคิดย้ำทำ โดยเฉพาะเมื่อมีอะไรมาทำให้นึกถึงเหตุการณ์นั้น แม้ว่าเหตุการณ์นั้นจะผ่านไปแล้วก็ตาม บางรายอาจจะเป็นแบบคอยระแวดระวังตัวเกินกว่าเหตุ ส่งผลให้นอนไม่หลับ และมีอาการอื่นๆ ตามมา เช่น ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็ว มีความตึงกล้ามเนื้อสูง คลื่นไส้ ท้องร่วง เป็นต้น
  • อาการคิดว่าอยู่ในเหตุการณ์นั้น (Re-experiencing) คือ ยังรู้สึกว่าเหตุการณ์นั้นกำลังจะเกิดขึ้นอีก รู้สึกมีภาพเหตุกาณ์ซ้ำๆ มาตลอด (Flash back)  เช่น ถ้าเคยถูกติดอยู่ในที่แคบ ก็จะรู้สึกกลัวที่แคบ กลัวความมืด หรืออาจฝันร้ายถึงเหตุการณ์นั้นซ้ำๆ
  • อาการกลัวและหลีกเลี่ยง (Avoidance) คือ กลัวเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นมาซ้ำอีก  ทำให้หวาดกลัวต่อเหตุการณ์และสถานที่เกิดเหตุ หวาดกลัวสิ่งที่ข้องเกี่ยวกับเหตุการณ์  และหลีกเลี่ยงไม่กล้าเผชิญกับสิ่งนั้นๆ เช่น กลัวที่แคบ  กลัวน้ำ กลัวความมืด หรือ กลัวสิ่งเร้าที่ทำให้เกิดสิ่งนั้น ยกตัวอย่างเช่น สถานการณ์ติดในลิฟท์ ทำให้ไม่สามารถขึ้นลิฟท์ได้ และ กลัวที่แคบ เป็นต้น     

ประเภทของ PTSD

  • เฉียบพลัน Acute คือ อาการน้อยกว่า 3 เดือน
  • เรื้อรัง Chronic คือ อาการมากกว่า 3 เดือน
  • อาการเกิดช้า With delayed onset  คือ การเกิดอาการหลังเหตุภัยพิบัติ มากกว่า 6 เดือน

การรักษา

โรค PTSD มักจะรักษาด้วยการให้ยา และ การทำจิตบำบัด หรือการทำทั้งสองอย่างควบคู่กัน ผู้ป่วยโรค PTSD หายจากโรคนี้หลังได้รับการรักษาเพียง 6 เดือน ในขณะที่บางคนจะมีอาการของโรคนี้ไปตลอดชีวิต

โดยทั่วไปโรค PTSD สามารถรักษาได้ 2 วิธี คือ

การรักษาทางจิตวิทยา  

คือการทำพฤติกรรมบำบัดให้ผู้ป่วยสงบลง รักษาด้วยการให้ผู้ป่วยเข้าหาและเผชิญหน้า (exposure therapy) กับเหตุร้ายและกระตุ้นซ้ำๆ โดยทำแบบค่อยเป็นค่อยไป การเข้าใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การให้กำลังใจอยู่เสมอ ป้องกันสิ่งที่มากระทบต่อจิตใจ ซึ่งบางรายอาจจะยังคงกลัว หวาดระแวง รู้สึกผิด จึงก็ต้องใช้วิธีจิตบำบัด (psychotherapy) ร่วมด้วย เพื่อรักษาสภาพจิตใจให้อยู่ในภาวะคงที่

สำหรับในเด็ก สิ่งที่สามารถทำได้คือ ต้องให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย เผชิญกับความกลัวนั้น ปรับเปลี่ยนความคิด การรับมือกับอารมณ์นั้น อาจจะเล่าเหตุกาณ์ วาดภาพ โดยมีผู้ปกครองเข้าร่วมด้วยเพื่อสร้างความเข้าใจ ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ และ เกิดการบำบัดไปในทางเดียวกันกับแพทย์ เพราะ ครอบครัวเป็นส่วนสำคัญมากที่จะทำให้เด็กหายจากโรคนี้ได้

การรักษาด้วยยา

การรักษาด้วยยาร่วมด้วย จิตแพทย์อาจให้ยาในกลุ่มยาแก้ซึมเศร้า เช่น fluoxetine, escitalopram, sertraline ร่วมด้วย โดยยากลุ่มนี้ต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ จึงจะเริ่มออกฤทธิ์ แต่หากผู้ป่วยรายใดมีอาการใจสั่น ตกใจง่าย กระวนกระวาย แพทย์จะให้ยารักษาอาการเหล่านี้ร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแพทย์มักจะหลีกเลี่ยงยาคลายกังวลในกลุ่ม diazepam หรือ alprazolam แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้แพทย์จะพยายามให้ผู้ป่วยใช้ในระยะสั้น ๆ เพื่อป้องกันการเสพติด

นอกจากนี้ยังมีการรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น จิตบำบัด หรือ Group therapy การพูดคุย โดยรู้จักกับคนอื่นๆ ที่มีประสบการณ์ หรือ พบเจอกับเหตุการณ์ใกล้เคียง เพื่อแลกเปลี่ยน บำบัดซึ่งกันและกัน , รักษาสุขภาพตัวเองให้ดี พักผ่อน กินอาหารที่ดี หลีกเลี่ยงสารเสพติด เป็นต้น

ใครเป็นกลุ่มเสี่ยงเป็น PTSD ได้บ้าง

ผู้ที่ประสบเหตุการณ์ร้ายแรง อาจจะไม่ได้เป็นโรคนี้ทุกคน โดยทั่วไปมีโอกาสเป็นโรคนี้ราว 20 % หากบางคนฟื้นฟูสภาพจิตใจได้เร็ว ก็อาจจะมีอาการผิดปกติทางจิตใจในระยะสั้นๆ ไม่นับว่าเป็น PTSD แต่ถ้าใครเป็นลักษณธของอาการเกิน 1 เดือน อาจจะมีแนวโน้มที่จะเป็น

  • ผู้ที่ประสบเหตุการณ์ร้ายมา หรือ ได้รับประสลการณ์มาจากอดีต
  • ผู้หญิงมีแนวโน้มเป็นโรคนี้ได้มากกว่าผู้ชาย โดยผู้หญิงมีแนวโน้ม 18.3 % ส่วนผู้ชาย 10.3 % (ข้อมูลจาก สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ)
  • ผู้ที่มีเรื่องเครียดและกังวลใจ และ เจอเหตุการณ์ร้ายบ่อยครั้ง
  • ผู้ที่มีอายุน้อย และ อายุมาก
  • ผู้ที่ไม่ชอบเข้าสังคม เพื่อนน้อย และ ไม่มีครอบครัวมาช่วยเหลือ

จะทำอย่างไรถ้าเราเป็นโรค PTSD

  • ต้องเข้าใจก่อนว่าเราไม่ได้เป็นโรคจิต เราเพียงพบเจอกับเหตุการณ์ร้าายแรงต่างหาก จึงส่งผลให้เราเครียด หากเรายอมรับและเข้าใจ ทำให้เราสามารถรับมือต่อสิ่งที่เกิดกับเราได้ พยายามคิดว่าสิ่งนั้นเป็นเรื่องที่ผ่านไปแล้ว เมื่อเวลาผ่านไปอาการจะดีขึ้น
  • อย่าแยกตัวอยู่คนเดียว เมื่อเกิดเหตุกาณ์ อย่าอยู่คนเดียว ทำแบบนั้นแล้วอาการจะหนักขึ้น ก่อนอื่นต้องปรับตัวให้กลับไปใช้ชีวิตประจำวันแบบเดิมมากที่สุด ทำกิจกรรมกับคนรอบข้าง เพื่อน ครอบครัว เช่น ทำกิจกรรมที่ชอบ ดูหนัง ออกกำลังกาย เลี้ยงสัตว์ จะทำให้เราออกจากสภาวะนั้นมาได้
  • ขอรับการช่วยเหลือ กล้าที่จะรับการบำบัด เพื่อให้อาการที่มีอยู่นั้นหมดไป และ ดียิ่งขึ้น
  • ต้องดูแลตัวเอง พักผ่อนให้มาก กินอาหารให้ได้ ยอมรับและเข้าใจต่อเหตุการณ์ หากิจกรรมอย่างอื่นทำ ก็จะช่วยให้ผ่านเหตุการณ์นี้ไปได้

นอกจากตัวเราเองรู้ว่าเป็นโรคนี้ การปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรค ภาวะเสี่ยงต่างๆ คนรอบข้างของผู้ป่วยก็ต้องมีความรู้ปละความเข้าใจต่อโรค และ ตัวผู้ป่วยด้วย การรับฟังปัญหา สอบถามอาการสม่ำเสมอ ดูแลให้กำลังใจ ช่วยเหลือที่สามารถช่วยได้ หรือ พาผู้ป่วยไปพบแพทย์เพื่อให้ผู้ป่วยบำบัดต่อสภาวะจิตใจไม่ปกติดังกล่าว

 

 

 

 

 

ประวัติเลือกตั้ง AKB48 (ฉบับย่อ)


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save