ถ้าพูดถึงเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมาหลายคนอาจจะถอนหายใจเฮือกใหญ่ แต่เรามีข่าวดีมาบอกให้ฟังว่ารู้ไหมเศรษฐกิจไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้า(พ.ค. – ก.ค.) กำลังจะดีขึ้นนะ เพราะรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทยบอกไว้ว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน(KR-ECI) มีแนวโน้มเป็นบวกขึ้น ถ้าฟังถึงตรงนี้แล้วสงสัยว่าจะเป็นไปได้อย่างไรก็ลองมาดูเหตุผลที่ทำให้เรารู้สึกชุ่มฉ่ำหัวใจกันดีกว่า 1. รายจ่ายก้อนโตผ่านไปแล้ว ตอนนี้ก็ผ่านช่วงเดือนเมษายนเป็นเดือนของ “สงกรานต์” ที่เป็นเทศกาลความสุขของพี่น้องชาวไทย ที่แน่นอนว่ามาพร้อมค่าใช้จ่ายมากมายทั้ง การกินเลี้ยงสังสรรค์ ท่องเที่ยว ทำบุญ เดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด และจ่ายค่าเทอม อุปกรณ์การเรียนลูก ก่อนช่วงเปิดเทอมในเดือนพฤษภาคม พอรายจ่ายหนักผ่านไปแล้วก็เริ่มสบายตัวขึ้นหน่อย 2. ค่าแรงขั้นต่ำปรับเพิ่มขึ้น ดัชนีคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ยังบอกด้วยว่าครัวเรือนบางส่วนได้รับอานิสงส์ดีๆ จากการปรับค่าแรงขั้นต่ำอัตราใหม่ให้ขึ้นไปที่ 308-330 บาทต่อวัน (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2561) 3. สินค้าเกษตรราคาดีขึ้น ราคาสินค้าเกษตรหลายอย่างก็มีการปรับตัวเพิ่มมากขึ้น เช่น ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย เนื้อหมู เนื้อไก่ ทำให้ดัชนีโดยรวมดีขึ้น เพราะประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นครัวเรือนเกษตร หลายๆ บ้านเลยได้รายได้จากจุดนี้เพิ่มขึ้นกันไป 4. ฟรีค่าธรรมเนียม หลังจากที่ธนาคารหลายๆ เจ้าประกาศฟรีค่าธรรมเนียมในการโอนเงิน (ช่องทางทำธุรกรรมออนไลน์) ก็ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งตัวเลขจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยก็บอกว่าช่วยจูงใจให้ครัวเรือนในการซื้อสินค้าออนไลน์ขึ้น 12.3% ส่งผลทำให้การซื้อขายในช่องทางออนไลน์กันอย่างคึกคักคึกครื้นกัน พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ก็ได้รับทรัพย์กันมากขึ้นด้วย 5. สิ่งที่ต้องติดตาม ถึงแนวโน้มของดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) จะมีแนวโน้มดีขึ้นจากเดือนก่อนๆ แต่ก็มีหลายจุดที่อาจกระทบเศรษฐกิจและน่าจับตามองไว้ ไม่ว่าจะเป็นราคาสินค้าและบริการภายใประเทศ ที่อาจจะเพิ่มขึ้นจากต้นทุนราคาพลังงานที่อาจจะปรับเพิ่มตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ขึ้นราคา นอกจากนั้นยังมีเรื่องราคาสินค้าเกษตรที่ไม่แน่นอนตอนเข้าฤดูฝนที่ครัวเรือนเกษตรต้องเฝ้าระวังไว้ด้วย ทั้งหมดนี้มาจากดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) จากการรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ซึ่งป็นเครื่องมือบอกรายได้ รายจ่าย ความเป็นอยู่ของครัวเรือนในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด ช่วยสะท้อนให้เห็นค่าใช้จ่ายครัวเรือนไทยที่เปลี่ยนแปลงไปในเทศกาลต่างๆ และบอกเราว่าก่อนหน้านี้แม้จะมีความยากลำบากบ้าง แต่อีก 3 เดือนข้างหน้านี้หลายๆ ครอบครัวจะรู้สึกผ่อนคลายขึ้นแน่นอนค่ะ 😀 ขอบคุณข้อมูลจาก – ศูนย์วิจัยกสิกรไทย