ใครๆ ก็อยากมีเงินเก็บทั้งนั้น และเราเชื่อว่าทุกคนมีความสามารถในการออมเงินอยู่แล้ว แต่ว่าบางทีการเก็บเงินของเรามันเบสิคมากไปจนนำมาซึ่งความไม่สม่ำเสมอในการเก็บออม หรือบางคนก็มีวิธีการออมเงินแบบผิดๆ พอไม่เห็นเงินเก็บงอกเงยก็พาลเลิกเก็บเงินไปเลย ก่อนหน้านั้นเราเคยแนะนำเรื่องการวางแผนการเงินไปแล้วซึ่งสำคัญมากเพราะก่อนจะเก็บเงินได้คุณต้องวางแผนการเงินก่อนจะได้เห็นว่าเราพร้อมแค่ไหนในการเก็บเงิน ดังนั้นไปอ่านเรื่อง 7 วิธีวางแผนการเงินสำหรับคนที่เริ่มต้นอยากมีเงินเก็บ ก่อนแล้วค่อยมาดูวิธีออมเงินในแบบต่างๆ ส่วนใครที่พร้อมจะเก็บเงินแล้ว มาดูเทคนิคการเก็บเงินให้ได้ผลกันรับรองเดือนเดียวรู้เรื่อง หักดิบ 10% ทุกครั้งที่เงินเดือนเข้าบัญชี คนส่วนใหญ่ที่เก็บเงินไม่ได้เลยคือคนที่คิดว่าใช้ไปก่อน แล้วค่อยเก็บทีหลัง ซึ่งความคิดนี้ผิด กว่าจะถึงสิ้นเดือนเงินหมดแล้ว หรืออาจจะหมดตอนสิ้นเดือนพอดีเพราะใช้เพลินขาดความยับยั้งชั่งใจ คิดแต่ว่า “เดือนหน้าค่อยเก็บ” ถ้าอยากจะมีเงินเก็บต้องเปลี่ยนวิธีใหม่ด้วยการ ‘หักดิบ’ บีบคอบังคับให้ตัวเองฝากเงินสม่ำเสมอ ด้วยการเปิดบัญชีเงินฝากอีกบัญชี แล้วสั่งให้ธนาคารตัดเงินจากบัญชีเงินเดือนเข้าบัญชีเงินฝากอย่างน้อย 10% ของเงินเดือน สมมติคุณมีเงินเดือน 30,000 บาท คุณก็จะมีเงินนอนอยู่ในบัญชีแล้วแน่ๆ 3,000 บาท ส่วนเงินที่เหลือจากการตัดฝากก็ค่อยเอามาบริหารที่หลัง ช่วงแรกอาจจะอึดอัดสักหน่อย แต่ถ้าวางแผนดีๆ คุณจะมีเงินเก็บอย่างไม่น่าเชื่อ เก็บแบงค์เอาไว้ คุณอาจจะตั้งกฎกับตัวเองสนุกๆ ว่าเราจะเก็บเงินที่เป็นแบงค์ชนิดนี้ใส่กระปุกเงินออมของตัวเองอย่างไม่มีเงื่อนไขเช่น เก็บแบงค์ห้าสิบ หรือเก็บแบงค์ยี่สิบเท่านั้น อย่างอแงกำหนดเงื่อนไขใหม่ให้ตัวเองไม่งั้นไม่ได้เก็บเงินสักที บางคนที่รายได้เยอะหน่อยแต่ควบคุมการเงินไม่ได้ก็ออกกฎกับตัวเองว่าจะเก็บแบงค์ร้อย แบงค์ห้าร้อย หรือแบงค์พันไปเลย ซึ่งก็ดูตามกำลังและศักยภาพของตัวเอง ถ้าตั้งกฎสูงไปว่าเน้นแต่แบงค์ใหญ่คุณจะไม่เหลือเงินเก็บตั้งแต่อาทิตย์แรกแน่นอนและคุณจะล้มเลิกไปในที่สุด ถ้าไม่ไหวอย่าฝืนค่อยๆ ลดลงได้ไม่ผิดกฎหมาย พอครบหนึ่งเดือนลองมานับดู คุณจะอึ้งกับจำนวนเงินเก็บที่มีและกำลังใจในการเก็บเงินจะมาเต็ม! เหรียญไม่ได้มีไว้ใช้ บางทีการเก็บเป็นแบงค์มันก็โหดไปสำหรับหลายคนที่พยายามจะใช้เงินแบบไม่เดือนชนเดือน แม้จะเก็บแบงค์ 20 ก็เถอะยังยากเล้ยยยย ไม่เป็นไร การเก็บเงินจะเก็บเท่าไหร่สุดท้ายเราก็จะเหลือเงินให้เก็บอยู่ดี ก็เปลี่ยนจากเก็บแบงค์มาเป็นเก็บเหรียญแทน แต่ต้องใจสู้หน่อยเก็บแค่เหรียญบาทมันไม่เท่ เป้าหมายเล็กไป มาตั้งเป้าเป็นเก็บเหรียญทุกชนิดที่เหลือกลับบ้านในแต่ล่ะวัน การเก็บเหรียญจะไม่ค่อยส่งผลต่อจิตใจเท่าไหร่ เพราะเรามองว่าก็แค่ไม่กี่บาทมีเท่าไหร่ก็เก็บไปเถอะ แต่พอสิ้นเดือนลองมาเปิดกระปุกดูอย่างน้อยๆ คุณจะมีเงินเก็บไม่ต่ำกว่า 300 – 500 บาทแน่ๆ ไม่เชื่อลอง! หักภาษีตัวเองทุกการจับจ่าย บางคนบอกว่าไม่สะดวกเก็บเงินเท่าไหร่เพราะชีวิตก็ยังต้องใช้ ของบางอย่างมันก็ต้องมี เมื่อหักห้ามไม่ให้ตัวเองหยุดซื้อของได้ก็เพิ่มกฎให้ตัวเองเข้าไปเลยว่า ทุกครั้งที่ซื้อของที่เรางอแงอยากจะได้ให้บวกภาษีเพิ่มไปด้วยแล้วเอาภาษีนั้นมาเป็นเงินเก็บ เช่น ซื้อ Nike React 5,500 บาท ก็ต้องหักภาษี 10% จากมูลค่าของที่ซื้อมา (หักภาษีเท่าไหร่เอาที่เราสบายใจ) แล้วเอา 550 บาทนั้นแหละเก็บเข้ากระปุก ซื้อเยอะบริโภคเยอะก็โดนภาษีเยอะหน่อยแฟร์ๆ วิธีนี้นอกจากจะทำให้เรามีเงินเก็บมากขึ้นแล้วยังเป็นการควบคุมไม่ให้ตัวเองซื้อของเยอะ เมื่อไม่ซื้อของเยอะ เงินก็เหลือเยอะเก็บด้วย เห็นไหมล่ะนี่แหละวิธีบังคับตัวเองให้เก็บเงินที่ได้ผล ใช้เท่าไหร่เก็บเท่านั้น เรียกได้ว่าเป็นวิธีฮาร์ดคอร์ขั้นสุดของคนที่อยากจะสร้างโอกาสให้ตัวเองสามารถเก็บเงินได้ไว และระงับการใช้จ่ายได้อย่างชะงัก วิธีการคือไม่ว่าเราจะซื้อของอะไรในชีวิตประจำวันที่ไม่เกี่ยวกับอาหารการกิน หรือของใช้จำเป็น เช่นไปซื้อเสื้อผ้ายูนิโคล่มา 1,500 บาท เราก็นำเงินอีก 1,500 บาทมาเก็บไว้ใส่กระปุกออมเงินของเรา นอกจากเราจะมีเงินเก็บจำนวนมหาศาลในเวลาอันสั้นแล้ว เงินที่เราจะเหลือใช้ก็ลงน้อยลงอย่างไว ทำให้ครั้งต่อไปไม่ว่าจะซื้ออะไรต้องคิดมากขึ้น ซื้อของหนึ่งครั้งสยองไปเลย แต่ข้อดีคือสิ้นเดือนคุณจะเหลือเงินเก็บเยอะมาก เพราะนอกจากของจะไม่ต้องซื้อแล้ว เงินเก็บก็ยังเหลือด้วย โคตรเถื่อน!