หนึ่งในข่าวที่เป็นประเด็นบนโลกออนไลน์มากที่สุดในช่วงนี้คือข่าวเจ้าของบ้านใช้ขวานทุบรถที่มาจอดขวางหน้าบ้าน ซึ่งภาพที่ปรากฎเป็นคลิปหญิงสูงวัยจะขับรถออกมาจากบ้าน แต่ไม่สามารถนำรถออกได้เพราะมีกระบะจอดขวางอยู่ จึงบันดาลโทสะนำขวานไปจามรถจนเกิดข่าว ‘ป้าทุบรถ’ ออกมา เมื่อสืบสาวราวเรื่องจึงได้ทราบความจริงว่าทำไมเจ้าของบ้านถึงต้องหัวร้อนระดับเอาขวานไปจามรถเนื่องจากว่าก่อนหน้านั้นหน้าบ้านของป้ามีรถที่มาตลาดตรงข้ามบ้านจอดขวางตลอดและมีปัญหายามต้องขับรถออกจากบ้าน เพื่อความเข้าใจถึงปัญหาของป้าทุบรถ เราจะมาสรุปให้ฟังว่าเพราะอะไร ทำไมเราถึงเป็น #ทีมป้า 1. หมู่บ้านแห่งนี้ไม่ได้มีตลาดมาตั้งแต่แรก ในอดีตหมู่บ้านเสรี ไม่ได้มีตลาดมาตั้งแต่แรก แต่ตลาดเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านช่วงราวๆ ปี 2546 มีตลาดขึ้นขนาบข้างบ้านป้า และช่วงปลายปี 2551 ตลาดก็ได้ขยายออกมาจนเต้นท์ของตลาดชิดกับรั้วบ้านของคุณรัตนฉัตร แสงหยกตระการ และคุณราณี แสงหยกตระการ ทางเจ้าของบ้านรู้สึกว่าตัวเองถูกละเมิดสิทธิ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เจ้าของบ้านได้มีการร้องเรียนไปทางเขตให้มีการจัดการแต่ไม่เป็นผลใดๆ รวมถึงเจ้าของบ้านเองยังบอกว่าตัวเองเคยโดนข่มขู่ด้วย 2. บริเวณนั้นเป็นหมู่บ้านไม่เหมาะกับการทำตลาด เนื่องจากพื้นที่ยังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัย จึงไม่ได้มีที่จอดรถเพียงพอสำหรับรองรับรถจำนวนมหาศาลที่มุ่งหน้ามาที่ตลาดแห่งนี้ในช่วงที่ตลาดทำการ รวมไปถึงนอกเวลาตลาดทำการ ก็ยังมีรถมาส่งสินค้าเกือบตลอด และความเป็นจริงตลาดไม่สามารถตั้งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวได้อยู่แล้วเนื่องจากไม่มีใบอนุญาต แม้จะมีลานจอดรถแบบเสียเงินอยู่โดยรอบ กับลานจอดรถของสวนหลวง ร.9 แต่ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้หลายคันเลือกที่จะกระทำความมักง่าย จอดรถไว้แล้วลงไปซื้อของเลย แม้จะมีกฎจราจรมาบังคับว่าสองข้างทางไม่สามารถจอดรถได้ในช่วงเวลา 05.00 – 10.00 น. และ 16.00 – 20.00 น. แต่ก็ไม่มีใครเชื่อฟัง 3. ตลาดล้อมบ้านป้าและสร้างความวุ่นวายให้ พอตลาดมาถึงบ้านของป้าก็ถูกล้อมไปด้วยตลาดทันทีโดยเริ่มจากปี 2546 และหากมองจากแผนที่มุมสูงจะเห็นว่าบ้านของป้าล้อมรอบไปด้วยตลาด 4-5 แห่ง ซึ่งในช่วงเช้าบริเวณนี้จะพลุกพล่านไปด้วยผู้คนและรถยนต์ที่จอดริมสองข้างทางเพื่อเข้าไปซื้อของในตลาด เมื่อที่จอดรถไม่พอ รถบางคันจึงเลือกที่จะจอดขวางหน้าบ้านคนอื่นรวมไปถึงบ้านป้า ซึ่งจริงๆ แล้วนอกจากจะผิดกฎหมายจราจรแล้ว ยังผิดมารยาทสังคมด้วยเพราะบางคันเล่นจอดขวางประตู! นอกจากนี้ยังมีเสียงดังจากตลาด มีขยะเกิดขึ้น มีมลพิษทางเสียงเกิดตลอดเวลาจนสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น 4. เคยฟ้องศาลขอให้ปิดตลาด แต่ตลาดก็ไม่ปิด ป้าเจ้าของบ้านเองได้มีการฟ้องศาล ให้รื้อตลาดด้วยหลายเหตุผลทั้งก่อให้ความเดือดร้อนรำคาญ เป็นแหล่งสะสมของสิ่งสกปรก รวมไปถึงไม่มีใบอนุญาตเปิดตลาด และก่อสร้างอาคารเพื่อทำตลาดโดยไม่มีใบอนุญาต รวมถึงฟ้องผู้ว่า กทม. ในยุคนั้นที่อนุญาตให้ทำตลาด รวมถึงฟ้องร้องเขตด้วย ที่ไม่มีการจัดการตลาดที่ตั้งอยู่เต็มหมู่บ้านทั้งที่ไม่มีใบอนุญาต แต่ ผอ.เขต ประเวศ คนล่าสุดระบุว่าไม่สามารถทำได้เนื่องจากเจ้าของตลาดยื่นเรื่องต่อศาลปกครองให้คุ้มครองคำร้องขอรื้อตลาดชั่วคราว ทำให้ตลาดนี้ยังคงตั้งอยู่จนถึงวันนี้ ส่วนคดียังอยู่ในชั้นศาล ด้านสำนักงานเขตทำได้แค่เพียงเข้ามาควบคุมเรื่องความสะอาดเท่านั้น 5. แม้ติดป้ายคำสั่งศาลและห้ามจอดรถแต่ไม่เป็นผล แม้ว่าเจ้าของบ้านจะมีการนำคำสั่งศาลมาขยายจนใหญ่แล้วติดอยู่บริเวณหน้าบ้านเพื่อบอกแก่คนรอบตลาดว่า ศาลสั่งให้ผู้ว่าฯ กทม. และผอ. เขตประเวศ ไม่ให้ทำความเดือดร้อนต่อผู้ฟ้อง และประชาชนในหมู่บ้านซึ่งต้นเหตุมาจากตลาด พร้อมป้ายห้ามจอดรถมาติด แต่ก็ยังไม่ได้รับการคุ้มครองตามคำสั่งศาล สุดท้ายปัญหาก็ยังคงเกิดเรื่อยมา และตลาดก็ยังขายสินค้าอยู่แม้ไม่ได้รับใบอนุญาต (อ้างอิงจากบทสัมภาษณ์ ผอ. เขตประเวศ ที่อ้างว่าตลาดยังไม่ได้รับใบอนุญาต และยังอยู่ระหว่างดำเนินคดี) ทั้งหมดนี้เจ้าของบ้านต้องต่อสู้มายาวนานกว่า 10 ปีโดยไม่มีทางออกให้เธอ สรุป 7 ความเดือดร้อนที่ป้าต่อสู้กับมาร่วม 10 ปี สำหรับคนที่สงสัยว่าทำไมเจ้าของบ้านถึงเหลืออดกับตลาดและคนที่มาจอดรถหน้าบ้านเราได้สรุปความเดือดร้อนของเจ้าของบ้านที่ต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิ์ตัวเองมาอย่างยาวนานดังนี้ บ้านโดนล้อมด้วยตลาด และเบียดบังพื้นที่หน้าบ้าน ทั้งที่เดิมทีพื้นที่หมู่บ้านเสรี เป็นหมู่บ้านเพื่ออยู่อาศัยแต่ไม่สามารถตั้งตลาดได้ มีรถจอดมาขวางหน้าบ้านหลังมีตลาดเกือบตลอดทุกวัน มีเสียงจากตลาดรบกวนชาวบ้านตลอดทั้งวัน หลังจากที่เธอร้องเรียน บ้านของเธอเคยโดนลอบวางเพลิง ใส่ร้ายป้ายสีเรื่องค้าประเวณี ใส่ร้ายเรื่องค้ายาเสพติด และรบกวนความเป็นอยู่ตลอดเวลา โดนคนในตลาดด่าทอให้ได้รับความเสียหายเสมอ มีรถมาจอดขนถ่ายสินค้าหน้าบ้านแบบไม่เกรงใจ มีความสกปรกเกิดขึ้นตลอดบริเวณโดยรอบบ้าน และพื้นที่พิพาท