ถึงจะจริงอยู่ที่ว่าการมีโต๊ะทำงานที่เป็นระเบียบเรียบร้อยสะอาดสะอ้านนั้นจะทำให้หยิบจับอะไรก็สะดวก ทำให้ทำงานได้ง่ายไปหมด แต่ใครสักคนก็เคยบอกไว้ว่าคนสร้างสรรค์นั้นโต๊ะมักจะรกเช่นกัน วันนี้เราจึงจะมาดูกันว่า โต๊ะของบรรดานักสร้างสรรค์การ์ตูนญี่ปุ่นสุดสนุกที่เราอ่านกันจนติดงอมแงมนั้น เป็นอย่างไรกันบ้าง.. เทะสึกะ โอซามุ (เจ้าหนูปรมาณู, แบล็คเจ็ค) ปรมาจารยืผู้บุกเบิกโลกของมังงะ และเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดนักเขียนยุคหลังๆ ขึ้นมามากมายผู้นี้ ถึงจะมีโต๊ะ แต่เขาทำงานได้ทุกที่ ไม่ว่าจะในห้องนอนโรงแรมหรือบนเครื่องบิน หากอยากจะรู้จักบิดาแห่งการ์ตูนญี่ปุ่นคนนี้เพิ่มเติม ขอแนะนำให้อ่านเรื่อง “ในวันที่ข้าพเจ้าเขียนแบล็คแจ็ค” โดยสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ (ภาพ – tezukaosamu.net) นางาอิ โก (มาซินเกอร์ แซด) ตำนานที่ยังมีชีวิตอยู่ของวงการการ์ตูนอีกหนึ่งท่าน อ.นากาอินั้นได้ชื่อว่าไม่เคยทำให้ผู้ดูแลต้นฉบับต้องบ่นเลย เพราะว่าทำงานได้เรียบร้อยและส่งต้นฉบับไม่เคยเลยเวลา เห็นแบบนี้แล้วก็ไม่แปลกใจ โต๊ะทำงานที่เรียบร้อยของเขาบ่งบอกความมีวินัยมากจริงๆ มิสึกิ ชิเงรุ (อสูรน้อยคิทาโร่) โต๊ะทำงานจำลองของอ.มิสึกิ ผู้สร้างผลงานอสูรน้อยที่ทุกคนรัก จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ของเขาเองในเมืองซาคาอิมินาโตะ จังหวัดทตโตริ บ้านเกิดของเขา สถานที่ที่เขาเริ่มสนใจเรื่องภูตผีวิญญาณในตำนานพื้นบ้านญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก (ภาพ – kten2016 ผ่าน tripadvisor.com) ฟูจิโกะ เอฟ. ฟูจิโอะ (โดราเอมอน) แบบจำลองโต๊ะทำงานของอ.ฟูจิโมโตะ ที่พิพิธภัณฑ์ที่เก็บรวบรวมผลงานของเขาในเมืองคาวาซากิ จังหวัดคานางาวะ ห้องของอาจารย์ขึ้นชื่อในเรื่องหนังสืออ้างอิงข้อมูลจำนวนมหาศาล นอกจากนั้นก็ยังว่ากันว่า สถานที่ที่อาจารย์เสียชีวิต ก็คือบนโต๊ะตัวนี้ (ของจริง) นี่แหละ (ภาพ – Hideyama Amano) ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ เอ. (นินจาฮาโตริ) แบบจำลองโต๊ะทำงานของ อ.อาบิโกะ อดีตคู่หูที่ร่วมสร้างผลงานในยุคแรกขึ้นมากับอ.ฟูจิโมโตะ ถึงในเรื่องชื่อเสียงจะไม่โด่งดังเท่า แต่ก็มีพิพิธภัณฑ์เป็นของตัวเองเหมือนกัน ตั้งอยู่ที่ชิโอคาเสะแกลเลอรี่ เมืองฮิมิ จังหวัดโทยามะ ฮาระ เท็ตสึโอะ (ฤทธิ์หมัดดาวเหนือ) สมกับเป็นโต๊ะทำงานของผู้ให้กำเนิดตัวละครเคนชิโร่จริงๆ แค่มองเห็นแว้บแรกก็สัมผัสได้ถึงความเป็นลูกผู้ชายเลือดร้อนปะทุเข้ามาเลย การทำหน้าเครียดแบบนี้เวลาเขียนงานคือเคล็ดลับที่ทำให้งานออกมาจริงจังหรือเปล่านะ? อารากิ ฮิโรฮิโกะ (โจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ) ห้องทำงานของอ.อารากิ และทีมงาน แบ่งสัดส่วนได้แอ่นเอวเอสสมกับเป็นทีมผู้สร้างโจโจ้ แฟนตัวจริงอาจจะพอจำได้ว่า อาจารย์เคยเขียนเรื่องเกี่ยวกับปฏิทินสาวสวยในห้องทำงานไว้ในช่วงโน้ตจากผู้เขียนด้วย (ภาพ – Shueisha) ทาคาฮาชิ รูมิโกะ (รันม่า ½, อินุยาฉะ เทพอสูรจิ้งจอกเงิน) ถึงจะเป็นผู้หญิง แต่ระดับเจ้าแม่อย่างอ.ทาคาฮาชิแล้ว โต๊ะก็เยอะไม่แพ้ผู้ชายคนไหนเหมือนกัน ห้องที่อัดแน่นไปด้วยทั้งหนังสือและหนังแบบนี้น่ะอยากมีเหมือนกันนะ (ภาพ – Maniado.jp) อาโอยามะ โกโช (ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน) โต๊ะทำงานตัวนี้เป็นของจำลองที่ตั้งอยู่ที่พิพิธภัณฑ์อาโอยามะ โกโช ที่จังหวัดทตโตริ บ้านเกิดของเขา ช่างเป็นโต๊ะและห้องทำงานที่บรรยากาศลึกลับ น่าค้นหา ไม่แปลกใจเลยที่คดีฆาตกรรมมากมายจะเกิดขึ้นจากโต๊ะตัวนี้ (ภาพ – 讃岐屋が行くわよっ) โทริยามะ อากิระ (ดรากอนบอล, ดร.สลัมป์กับหนูน้อยอาราเล่) อ.โทริยามะสมัยยังหนุ่มๆ ในห้องทำงานคู่ใจ มุมขวาล่างคือแผนผังห้องซึ่งอาจารย์วาดเอง สำหรับแฟนคลับดรากอนบอลและอาราเล่น่าจะเคยเห็นแผนผังนี้กันดีอยู่แล้ว เป็นห้องเล็กๆ ที่ใช้ประโยชน์ได้มหาศาลทีเดียว (ภาพ – Reddit) โอดะ เออิจิโระ (วันพีซ) ทุกสัปดาห์ต้นฉบับที่คนทั้งโลกรอคอยจะถูกวาดขึ้นที่นี่ ไม่แปลกที่โต๊ะจะรกรุงรังขนาดนี้ เพราะเขาเป็นหนึ่งในนักเขียนการ์ตูนที่ยุ่งที่สุดในประเทศญี่ปุ่น แต่ก็เพราะความยุ่งนี้เองที่ทำให้เขามีรายได้ปีละกว่า 3 พันล้านเยน ด้านขวาเป็นแบบจำลองโต๊ะของเขาซึ่งจัดแสดงในนิทรรศการวันพีซฟิล์มแซด (ภาพ – Asahi, Crunchyroll) โซราจิ ฮิเดอากิ (กินทามะ) โต๊ะธรรมดาและเก้าอี้เบาะปะผุพังซอมซ่อเหมือนคุณกินแห่งร้านรับจ้างสารพัดเลย แอบมีตุ๊กตาซาดะฮารุวางอยู่ใกล้ๆ เพิ่มความมุ้งมิ้งด้วย ว่าแต่โต๊ะทำงานของอาจารย์ไม่ใช่ยางรถยนต์ห้อยเชือกหรอกเหรอครับ อาคามัตสึ เคน (คุณครูจอมเวท เนกิมะ, บ้านพักอลเวง) บรรยากาศดูจืดชืดเกินกว่าจะเป็นห้องทำงานที่ผลิตสาวน้อยน่ารักมาป้อนผู้อ่านแล้วนับร้อยยังไงก็ไม่รู้ แต่ก็พอจะเห็นภาพสาวๆ วับๆ แวมๆ อยู่ในห้องบ้างล่ะนะ ไรกุ มาโกโตะ (กัชเบล) ไม่รู้คุณลืมชื่อการ์ตูนแอคชันคอเมดี้โหดมันฮาเรื่องนี้กันไปแล้วหรือยัง บอกไปใครจะไปเชื่อว่าทีมงานที่เขียนการ์ตูนได้ติงต๊องขนาดนั้น จะมีห้องทำงานที่สะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อยได้ขนาดนี้ คิชิโมโตะ มาซาชิ (นารุโตะ นินจาคาถาโอ้โฮเฮะ) สิ่งที่น่าอิจฉาที่สุดในห้องทำงานของผู้ให้กำเนิดโลกนินจายุคใหม่คนนี้มี 2 อย่าง 1.คือกล่องใส่ปากกาโคปิคนับร้อยด้ามที่วางอยู่บนโต๊ะ ซึ่งเขาใช้ในการลงสีเสมอ คิดเป็นเงินไทยก็คงเป็นหมื่น และ 2.คือฟิกเกอร์ขนาดยักษ์ของตัวละครฟรีเซอร์จากเรื่องดรากอนบอลที่ตั้งตระหง่านอยู่ในห้อง ที่ประเมินค่าเป็นตัวเงินคงมิได้ อิซายามะ ฮาจิเมะ (ผ่าพิภพไททัน) เห็นหน้าใสๆ แบบนี้แต่ปีนี้อ.อิซายามะ ผู้เขียนไททัน อายุครบ 30 เข้าไปแล้วนะจ๊ะ เป็นโต๊ะทำงานที่ดูเบียดๆ แคบๆ พิกล แล้วทำไมแล็ปท็อปถึงขั้นไปอยู่ข้างบนนั้นได้นะ ปริศนาธรรมมากมายจริงๆ คุโบะ ไทต์ (บลีช เทพมรณะ) โต๊ะทำงานที่ดูธรรมดาเกินคาดของอ.คุโบะ เจ้าของผลงานฮิตที่อวสานลงแล้วในปีนี้ หลังจากปล่อยให้แฟนๆ ถามว่าเมื่อไหร่จะจบมายาวนานถึง 74 เล่ม โต๊ะดูไม่น่าจะนั่งวาดได้นานโดยไม่ปวดหลังเลยนะ.. ปิดท้ายด้วยโต๊ะทำงานของ โทงาชิ โยชิฮิโระ (คนเก่งฟ้าประทาน, ฮันเตอร์ x ฮันเตอร์) ไม่มีใครสงสัยแล้วใช่ไหม ว่าทำไมการ์ตูนของเขาถึงมีเหตุให้หยุดพักบ่อยๆ แบบนั้น ที่มา – Kotaku, Kotaku, Rocketnews