Priceza ผู้ให้บริการแอป และเว็บไซต์ค้นหาสินค้าและเปรียบเทียบราคา จัดงาน ‘Priceza E-Commerce Awards 2017’ ปีที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งงานนี้เป็นงานมอบรางวัลให้กับอีคอมเมิร์ช ที่ประสบความสำเร็จในรอบปี อีกทั้งยังจัดงานเสวนาอัปเดทสิ่งที่คนทำอีคอมเมิร์ชต้องรู้ ซึ่งเราได้สรุปสิ่งที่สำคัญในงานนี้ไว้แล้วโดยเฉพาะสิ่งสำคัญที่อีคอมเมิร์ช ควรรู้จากสามเวทีเสวนาเรื่อง อีคอมเมิร์ช, อีลอจิสติกส์ และอีเพย์เมนต์ การเติบโตของ Priceza ในรอบปี ในช่วงแรกของงาน ‘Priceza E-Commerce Awards 2017’ นั้น Priceza ในฐานะผู้ที่ให้บริการเว็บไซต์และแอปสำหรับเปลี่ยนเทียบข้อมูลสินค้าและราคาบนออนไลน์ของร้านค้าต่างๆ ใน Priceza ซึ่งมีข้อมูลสินค้าอยู่ในเว็บหลายล้านรายการให้ลูกค้าได้เลือก และแต่ล่ะวันมีจำนวนคนเข้ามาใช้งานหลายแสนคนในไทย มีการซื้อขายเกิดขึ้นทุกวันบนออนไลน์จากการตรวจสอบข้อมูลผ่าน Priceza ทำให้ Priceza มองเห็นการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันของแวดวงอีคอมเมิร์ชมาตลอดทุกปีในไทย จึงได้สรุปการเติบโตของ Priceza ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงมอบรางวัล และงานเสวนาในครั้งนี้ โดยมี ‘ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด มาสรุปเรื่องการเติบโตของ Priceza ที่สะท้อนให้เห็นถึงวงการอีคอมเมิร์ชไทย ทุกวันนี้มีนักช้อปออนไลน์สูงถึง 12.1 ล้านคน จากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วประเทศ 38 ล้านคน สืบเนื่องมาจากเทคโนโลยีที่พัฒนา และนโยบายจากภาครัฐที่ผลักดันในเรื่องการชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้เกิดการจับจ่ายที่ง่ายขึ้น ข้อมูลล่าสุดจาก ETDA ได้สรุปพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยที่ซื้อสินค้าออนไลน์เมื่อปี 2016 พบว่าเติบโตขึ้นมาก โดย 4 ช่องทางที่คนไทยใช้ในการซื้อสินค้ามากที่สุดก็คือ โซเชียลมีเดีย 40% E-Marketplace 29% Online Retail – Brand.com 27% และ Cross Border 4% Top 5 ช่องทางในการที่พาลูกค้าเข้าสู่เว็บอีคอมเมิร์ช ในประเทศคือ Google, เว็บโดยตรงของแบรนด์, อีเมลล์, โซเชียลเน็ตเวิร์ค และ Priceza ซึ่ง Priceze ถือเป็นสื่อไทยสื่อเดียวที่ติดอันดับ อัตราเติบโตของผู้ใช้งานใน Priceza เติบโตขึ้น 50% จากปีที่แล้ว โดยปีก่อนมีคนใช้งาน 84 ล้านครั้ง ส่วนปี 2016 มีผู้ใช้งาน 124 ล้านครั้ง เฉลี่ยต่อวัน 4 แสนคน มากกว่าจำนวนคนที่เข้าห้างสรรพสินค้าอย่างสยามพารากอน ต่อวันถึงเท่าตัว ปัจจุบันผู้ใช้งาน Priceza 70% เข้าผ่านสมาร์ทโฟน เทียบตามระบบปฏิบัติการณ์แล้วผู้ใช้ Android อยู่ที่ 60% ส่วน iOS อยู่ที่ 30% หมวดสินค้าที่คนไทยนิยมที่สุด 5 อันดับใน Priceza คือ สินค้าแฟชั่น, เครื่องสำอาง, Gadget, สมาร์ทโฟน, รถและยานพาหนะ จำนวนเงินที่ใช้ช็อปปิ้งออนไลน์ ผ่านเดสท็อป หรือโน้ตบุ๊คอยู่ที่ 2,008 บาทต่อออเดอร์ ส่วนการตัดสินใจซื้อสินค้าผ่านสมาร์ทโฟนอยู่ที่ 1,177 บาทต่อออเดอร์ sale conversion rate หรือจำนวนคนที่ตัดสินใจซื้อสินค้าบนออนไลน์เฉลี่ยอยู่ที่ 2.81% ขณะที่ปีที่แล้วเติบโตเพียง 1.72% เป้าหมายของ Priceza ในปี 2017 คือจะผลักดันให้ผู้ประกอบการร้านค้าออนไลน์ 1 ล้านเจ้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 6 ประเทศที่ Priceza ให้บริการทำกำไร ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และ ฟิลิปปินส์ โดยเชื่อว่าถ้า 1 ร้านค้าทำกำไร จะเกิดการจ้างงานขึ้น 10 ตำแหน่ง ถ้าช่วยได้ 1 ล้านเจ้าตามเป้าจะเกิดการจ้างงานขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 10 ล้านตำแหน่ง ปีหน้า Priceza ตั้งเป้าจะสร้างลูกค้าในไทยที่เข้าใช้งานเว็บ 18 ล้านคนต่อเดือน 20 สิ่งที่คนทำอีคอมเมิร์ช ต้องรู้ปีหน้ามีอะไรที่ต้องปรับตัว จากภาพรวมทั้งหมดที่ได้ฟังมาพบว่าตอนนี้ สงครามการแข่งขันของร้านค้าต่างๆ ในโลกออนไลน์สูงมาก ขณะเดียวกันก็มีการปรับตัวที่ผันผวนไปตามเทคโนโลยีโดยเฉพาะเรื่องความสะดวกสบายทั้งในมุมของผู้ขาย และผู้ซื้อ อนาคตเทรนด์ของอีคอมเมิร์ช จะมีสิ่งใดที่จะเปลี่ยนไปบ้าง ทั้งในเรื่องการค้าขายออนไลน์, การขนส่งสินค้า และระบบจ่ายเงิน เราสรุปมาให้อ่าน 20 ประเด็นจาก 3 เซคชั่นดังนี้ E-Commerce and The Future of Retail 2018 ช่วงแรกเป็นการพูดถึงอนาคตของ ‘คนขาย’ ซึ่งก็มีผู้ที่มากประสบการณ์ในแวดวงอีคอมเมิร์ช มาแลกเปลี่ยนความเห็น และแชร์ความรู้ได้แก่ ‘ศิวัตร เชาวรียวงษ์’ ประธานกรรมการบริหาร กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย), ‘ผรินทร์ สงฆ์ประชา’ ผู้ก่อตั้ง และประธานบริหาร บริษัท นาสเก็ต รีเทล จำกัด, ‘ศิวกร สิริวงศ์ภาณุพงศ์’ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ช้อปปี้ ประเทศไทย, ‘ยุทธนา จิตจรุงพร’ VP-ecommerce online business เทสโก้ โลตัส และ ‘ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด สาระสำคัญในช่วงนี้คือเทรนด์ที่คนทำอีคอมเมิร์ชไทย จะไปในทิศทางไหนบ้าง คนไทยซื้อของผ่านออนไลน์มากขึ้นในทุกมิติ ไม่ว่าจะทาง Market Place รวมถึง IG Facebook Line เราเห็นความนิยมในการใช้บริการผ่านแอปของคนไทยเยอะขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อีคอมเมิร์ชแบบ C2C (Customer to Customer) หรือการซื้อขายกันเองของลูกค้าจะเกิดขึ้น ความสำคัญของการเติบโตของการขายของแบบ C2C จะทำให้ผู้บริโภคคุ้นเคยกับการจ่ายเงินผ่านช่องทางออนไลน์ หลังจากนั้นการขายของแบบ B2C (Business-to-Consumer) จะตามมาเอง Market Place Online เจ้าใหญ่เข้ามาแข่งขันกับเจ้าเดิมในปีหน้า เมื่อมีการแข่งขันกันของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์แล้วมีการอัดโปรโมชั่น ให้ระวังพฤติกรรมของผู้บริโภคที่อาจเปลี่ยนไปตามโปรโมชั่นที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด เช่นส่งฟรี หรือส่วนลด หากผู้บริโภคยึดกับโปรโมชั่นนั้น อาจจะเกิดปัญหาในมุมของผู้ประกอบการที่ไม่มีโปรที่ลูกค้าคุ้นชินได้ ผู้บริโภคจะเกิดอาการ Price Sensitive แบรนด์เล็กหากอยู่รอดต้องใช้พื้นที่ออนไลน์เพื่อโปรโมทตัวเองให้เป็น แล้วเลือกเจาะในพื้นที่ที่ตัวเองอยู่ ถ้าทำดีๆ รักษาลูกค้าและพื้นที่ของตัวเองได้ แบรนด์ใหญ่ก็เจาะไม่เข้า อีคอมเมิร์ช เติบโตขึ้นมาก แต่ไม่กระทบในตลาดออฟไลน์ อีคอมเมิร์ชก็คือช่องทางเสริมที่ช่วยให้ลูกค้าซื้อของได้มากขึ้น สุดท้ายสิ่งที่ลูกค้าต้องการก็คือความสะดวกไม่ใช่ช่องทางการขาย ช่องทางไหนสะดวกก็เลือกทางนั้น หากทำให้ลูกค้าไม่สะดุดในการซื้อสินค้าหรือ Seemless Experience ลูกค้าจะไม่หนีไปไหน ทุกธุรกิจต้องเก็บ Data ของลูกค้า เนื่องจากปัจจัยในการแข่งขันบนตลาด E-Commerce คือราคา จะลดราคาได้ต่ำกำไรอาจน้อย ถ้ากำไรน้อยจะอยู่ได้ก็ต้องลดต้นทุน ถ้าลดต้นทุนก็ต้องทำงานให้ฉลาด ถ้าจะทำงานให้ฉลาดก็ต้องใช้ Data มาวิเคราะห์ เช่นการลงโฆษณาให้ถูกจุดจริงๆ อีคอมเมิร์ช ต้องรู้จักกับคำว่า PPC มาจากคำว่า Platform จะเป็นช่องทางในการสร้างคอมมูนิตี้ของตัวเองเพื่อสร้างฐานลูกค้าของตัวเองให้เกิดขึ้นไม่ใช่แค่เรื่องไอทีเท่านั้น แต่อาจจะหมายถึงองค์ความรู้ที่มี หรือคิดธุรกิจอะไรได้ก็นับเป็นแพลตฟอร์ม ส่วน Partner หากคุณมีแพลตฟอร์มที่แข็งแรงแล้วต้องหาพาร์ทเนอร์มาช่วยสร้างความแข็งแกร่ง และ Customer ต้องรู้จักลูกค้าและขีดวงให้แม่นว่าจะเจาะลูกค้ากลุ่มไหน E–Logistics : Trends to Follow เวทีเสวนาที่ 2 ว่าด้วยเรื่องอีลอจิสติกส์ หรือ ‘ผู้ส่งสินค้า’ ซึ่งถือว่าเป็นจุดที่สำคัญไม่แพ้กันเพราะเมื่อลูกค้าสั่งของแล้วจะทำอย่างไรให้สินค้าไปถึงมือลูกค้าให้ไว้ที่สุด ก็ต้องพึ่งระบบขนส่ง แต่ในอนาคต ระบบขนส่งในยุคออนไลน์จะพัฒนาตัวเองอย่างไรให้ทันการเติบโตของอีคอมเมิร์ช นี่คือมุมมองจาก ‘สุทธิเกียรติ จันทรชัยโรจน์’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชิปป๊อป จำกัด, ‘สันทิต จีรวงศ์ไกรสร’ ผู้อำนวยการประจำภูมิภาค ฝ่ายดำเนินงาน บริษัท ลาล่ามูฟ (ประเทศไทย) จำกัด และ ‘โยจิ ฮามานิชิ’ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอสซีจี ยามาโตะ เอ็กซ์เพรส ลอจิสติกส์ มีความสำคัญในการส่งของถึงมือผู้บริโภค ตอนนี้มีอีคอมเมิร์ช หลายเจ้าทั้งเจ้าเล็ก เจ้าใหญ่ ต่อสู้กับคู่แข่งด้วยการส่งเร็ว เพราะนี่คือส่วนหนึ่งที่ทำให้ได้ลูกค้ากลับมาใช้บริการอีก ดังนั้นต้องเลือกพาร์ทเนอร์ที่ช่วยเหลือด้านการขนส่งให้ถูก อีคอมเมิร์ช ไม่จำเป็นต้องมีลอจิสติกส์ของตัวเอง แต่ควรไปเน้นกับธุรกิจแล้วใช้ผู้เชี่ยวชาญจะดีกว่าเนื่องจากธุรกิจลอจิสติกส์ นั้นต้องใช้ความเชียวชาญและลงทุนสูง การส่งแบบ Same Day Delivery เป็นตลาดใหม่ของธุรกิจลอจิสติกส์ ที่เติบโตตามความต้องการของอีคอมเมิร์ช ปัจจุบันร้านไหนมี Same Day Delivery ลูกค้าก็ชอบ ซึ่งสิ่งนี้กำลังมีความต้องการเยอะในหมู่อีคอมเมิร์ช อนาคตอาจจะเห็นการพัฒนาด้านการการส่งสินค้าด้วย Drone ในเมืองไทย แต่จะเป็นการส่งไปยังพื้นที่ที่เข้าถึงยาก และหากส่งแบบปกติจะสิ้นเปลืองกว่า แต่ในเมืองไทยยังติดกฎหมายเรื่องการใช้ Drone ดังนั้นต้องรอเรื่องความชัดเจนของกฎหมายก่อน ที่ญี่ปุ่นมีการจัดส่งแบบพิเศษซึ่งเป็นการส่งสินค้าที่ต้องรักษาอุณหภูมิ ทำให้ตลาดสินค้าของสดเติบโต แต่เมืองไทยไม่มีการขนส่งลักษณะนี้ หากระบบขนส่งในเมืองไทยเปิดบริการแบบนี้อาจจะทำให้อีคอมเมิร์ช ที่ขายสินค้าที่จำเป็นต้องรักษาอุณหภูมิเติบโตได้ อนาคตสิ่งที่ลอจิสติกส์ ต้องคิดคือจะทำบริการอย่างไรให้ตอบโจทย์ลูกค้า อันหมายถึงผู้ประกอบกิจการอีคอมเมิร์ช ที่อยากได้การบริการที่เร็วขึ้น แต่ราคาถูกลง สิ่งนี้คือการบ้านที่ผู้ให้บริการลอจิสติกส์ ต้องคิดต่อ ตลาดลอจิสติกส์ ไทยยังโตได้อีก เนื่องจากไทยมีพัสดุที่ต้องส่งต่อวัน 1.5 ล้านชิ้น แต่ที่ญี่ปุ่นส่งกันวันล่ะ 10 ล้านชิ้น หากเปรียบเทียบปริมาณกันโอกาสที่ไทย จะเติบโตในธุรกิจขนส่งมีอีกมากมาย ดังนั้นต้องคิดเรื่องรูปแบบการขนส่งใหม่ๆ ขึ้นมาซึ่งไม่ใช่แค่ทำให้ธุรกิจขนส่งเติบโต แต่อีคอมเมิร์ชยังเติบโตตามไปด้วย E–Payment : The Present & Future เวทีเสวนาสุดท้ายของวันนี้คือการพูดถึงระบบปลายทางที่สำคัญที่สุดของอีคอมเมิร์ช ซึ่งก็คือการ ‘ชำระเงินออนไลน์’ ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ช่วยในการเชื่อมระหว่างการจ่ายเงินของผู้ซื้อและผู้ขายหลายช่องทาง ซึ่งเจ้าของเทคโนโลยีก็มีทั้ง Bank และ Non-Bank ยิ่งรัฐบาลไทยพยายามทำให้ไทยเป็นสังคมไร้เงินสดเพื่อความสะดวกหลายอย่าง การมาถึงของระบบ E-Payment ที่เสถียร และสะดวกสบายจึงสำคัญ เวทีนี้เราจะได้เห็นว่าเทคโนโลยี E-Payment ในอนาคตจะทำอะไรได้บ้าง ผ่านสายตาของ ‘สมคิด จิรานันตรัตน์’ รองประธาน บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป จำกัด, ‘ศุภวิทย์ หงส์อมรสิน’ ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ประจำประเทศไทย บริษัท แอร์เพย์ (ประเทศไทย) จำกัด, ‘กิติพงศ์ มุตตามระ’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอดวานซ์ เอ็มเปย์ จำกัด และ ‘สมหวัง เหลืองไพบูลย์ศรี’ ผู้จัดการ PayPal ประจำประเทศไทย รอบปีที่ผ่านมา COD หรือ Cash on Delivery (จ่ายเงินสดตอนรับสินค้า) ในเมืองไทยเติบโตแบบก้าวกระโดดซึ่งช่วยให้การเติบโตของอีคอมเมิร์ชสูงมาก ผู้ให้บริการ E-Payment และร้านค้าไม่ค่อยชอบ COD เพราะระบบนี้ตอบโจทย์ในบางเรื่องเท่านั้นเช่นเรื่องความมั่นใจในการซื้อสินค้าออนไลน์ ถ้าคนซื้อสินค้าออนไลน์ไม่มั่นใจอยากเห็นสินค้าก่อนค่อยจ่าย COD เลยเติบโต แต่ปีต่อไป COD จะลดน้อยลง เนื่องจากต้นทุนแพง และจะผลักดันให้เกิดการจ่ายเงินแบบ E-Payment ผู้ค้ารายย่อยจะมีปัญหามากที่สุดหากต้องใช้ระบบเก็บเงินปลายทางเพราะมีค่าใช้จ่ายในการส่งเพิ่มขึ้น ขณะที่รายใหญ่อาจไม่ใช่ปัญหา แต่ก็ไม่ชอบ COD เช่นกัน ผู้ค้ารายย่อยจึงพยายามหาแพลตฟอร์ตให้เกิดการชำระเงินก่อนแล้วค่อยส่งของมาช่วยในการขาย และปัจจุบันก็มีหลายแพลตฟอร์มที่เข้ามาช่วยตรงจุดนี้ ไทยมีการจ่ายเงินผ่านออนไลน์เพื่อซื้อของสัดส่วนที่ 30% ส่วนจ่ายเงินสดอยู่ที่ 70% ปีหน้าคาดว่าการจ่ายเงินผ่านออนไลน์จะโตขึ้น E-Wallet กำลังเติบโตขึ้นในเมืองไทยโดยมีหลายเจ้าเข้ามานำเสนอบริการของตัวเอง และมีบทบาทมากในชีวิตประจำวันเนื่องจากการมีพร้อมเพย์ ทำให้การทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ข้ามธนาคาร หรือข้ามแพลตฟอร์มง่ายขึ้น อนาคตเมืองไทยจะมี QR Code มาตรฐานที่แบงก์ชาติระบุให้สามารถใช้ได้ในทุกบริการ ซึ่งใน QR Code นี้สามารถใส่รูปแบบการโอนเงินได้อย่างไม่จำกัด โดยลูกค้าเพียงแค่สแกน QR Code ของร้านค้า หรือบริการนั้นๆ แล้วระบบการโอนเงินจะเกิดขึ้นทันทีโดยที่ไม่เกี่ยงวิธีการว่าจะโอนผ่านเบอร์โทรศัพท์, โอนเงินผ่านเลขบัตรประชาชน, โอนเงินผ่านเลขบัญชี, หักผ่านบัตรเครดิต หรือโอนงานเข้า E-Wallet บทสรุปรางวัล Priceza E-Commerce Awards 2017 ช่วงสุดท้ายในฐานะที่ Priceza เป็น Shopping Search Engine หนึ่งในฟันเฟืองหลักของวงการอีคอมเมิร์ช และมองเห็นการเติบโตของอีคอมเมิร์ชไทย จึงมอบรางวัล ‘Priceza E-Commerce Awards 2017‘ ขึ้นเพื่อเป็นสื่อกลางในการสนับสนุนร้านค้า และ Market Place ที่ดี โดยไม่แบ่งว่าเป็นแบรนด์เล็ก หรือแบรนด์ใหญ่ การมอบรางวัลนั้นผ่านการประมวลผลข้อมูลกว่า 55 ล้านคลิกที่ Priceza เก็บข้อมูลตลอดทั้งปี และการตอบแบบสอบถามของผู้ใช้บริการกว่าหมื่นคน Priceza นำข้อมูลสองส่วนนี้มาร่วมกันเพื่อหาว่าร้านค้าไหนที่อยู่ในใจของผู้บริโภคจนได้ออกมาเป็นผลรางวัล 10 สาขา 18 รางวัล ดังนี้ รางวัล Most Trusted Brand ได้แก่ Apple รางวัล Most Popular Brand ได้แก่ Samsung รางวัล Top Retailer ได้แก่ ShopAt24 และ Central รางวัล Top Marketplace ได้แก่ Lazada และ Shopee รางวัล Top Car Insurance ได้แก่ Frank และ ANC Broker รางวัล Top – E Commerce Fashion & Beauty ได้แก่ LookSi และ Konvy รางวัล Top – E Commerce IT & Electronics ได้แก่ SuperTstore และ Advice รางวัล Top – E Commerce Home & Decor ได้แก่ HomePro และ DoHome รางวัล Top – E Commerce Grocery Retailer ได้แก่ Tops และ TESCO LOTUS รางวัล Top – E Commerce Book Seller ได้แก่ Kinokuniya และ SE-ED