วันนี้เป็นวันลอยกระทง ซึ่งทุกพื้นที่ทั่วประเทศก็เตรียมตัวจัดงานอย่างคึกคัก แต่อย่างไรก็ตามปีนี้กระทรวงมหาดไทย ได้เข้ามากำกับดูแลการจัดงานลอยกระทงเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและไม่เดือดร้อนประชาชนคนอื่นๆ ซึ่งมีมาตราการกำหนดออกเป็น 9 สิ่งที่ไม่ควรทำในลอยกระทงปีนี้ ก่อนจะออกไปลอยกระทง มาดูกันว่ามีข้อห้ามใดบ้างที่ไม่ควรทำปีนี้ เกิดเผลอไปทำผิดขึ้นมานอกจากจะไม่ได้ลอยกระทงแล้ว ยังได้ความผิดติดตัวมาอีกกระทง สองกระทงก็เป็นได้ ข้อห้ามที่อย่าทำเด็ดขาด ห้ามเล่นดอกไม้ไฟ จุดพลุ หรือลอยโคม : สำหรับคนที่ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยการจุดพลุไฟ ไปจนถึงการปล่อยโคมลอยนั้นมีโอกาสที่จะทำให้เกิดเพลิงไหม้สูงมาก โดยเฉพาะโคมลอย มีความเชื่อผิดๆ ว่าการปล่อยโคมลอย คือการลอยทุกข์ ลอยโศก ทว่าจริงๆ แล้วอันตรายของโคมลอยคือตกใส่หลังคาบ้านใคร โอกาสไฟไหม้สูงมาก นี่มันการวางเพลิงแบบ Random ชัดๆ ห้ามยิงปืนขึ้นฟ้าโดยไม่มีเหตุอันควร : การยิงปืนขึ้นฟ้านั้นใครที่บอกว่าไม่อันตรายต้องบอกว่าคิดผิด เนื่องจากหัวกระสุนที่ถูกยิงขึ้นไปบนฟ้าสามารถทำอันตรายแก่คนให้ถึงชีวิตได้ ถ้าหัวกระสุนย้อยตกลงมาโดนคนยังไงก็สาหัส หรืออาจถึงตาย ดังนั้นหากใครยิงปืนขึ้นฟ้า จะโดนทั้งโทษจำคุกและปรับ ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขณะขับขี่หรือโดยสาร : บทลงโทษคือจำคุก 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ โดยนี่คือข้อห้ามที่ถูกนำมาใช้ทุกหน้าเทศกาลอยู่แล้ว และหวังว่าจะเป็นการลดการเกิดอุบัติเหตุได้จากการเมาแล้วขับ ข้อควรระวังเพื่อความปลอดภัย ควรระมัดระวังการใช้บริการโป๊ะท่าเทียบเรือ : ลอยกระทงทุกปีท่าเรือ หรือโป๊ะ จะเป็นจุดที่คนเข้าไปแออัดกันสูงมาก เราก็ต้องประเมินว่าพื้นที่นั้นปลอดภัยหรือไม่ อย่าอยากลอยกระทงจนเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยง ควรกำชับบุตรหลานให้ระมัดระวังการถูกหลอกไปทางมิชอบ : ทุกปีจะมีเด็กที่หายในคืนวันลอยกระทงจำนวนมาก ดังนั้นผู้ปกครองจำเป็นต้องควบคุมดูแล หรือกำชับบุตรหลานให้ดีว่าอย่าวางใจคนแปลกหน้าเด็ดขาด ควรรื่นเริงบนพื้นฐานของการสืบสานประเพณีไทย : ข้อนี้ลุงตู่บอกว่าปีนี้ขอให้ลดๆ ความสนุกลงหน่อย อย่าสนุกแบบหลุดโลก หรืออธิบายง่ายๆ คือนี่เป็นประเพณีลอยกระทง ไม่ใช่ประเพณีที่อนุญาตให้ใครทำอะไรที่เดือดร้อนคนอื่นได้นั่นเอง ข้อที่ไม่ควรทำในคืนวันลอยกระทง ไม่ควรแต่งกายล่อแหลม : เพื่อความปลอดภัยของประชาชนเองโดยเฉพาะผู้หญิง ไม่ควรปล่อยให้เด็กไปเที่ยวงานตามลำพัง : อันตรายจากงานลอยกระทงที่เกิดขึ้นกับเด็กมีทุกปี รวมไปถึงอุบัติเหตุเช่นจมน้ำเนื่องจากว่ายน้ำไปเก็บเงินในกระทง ดังนั้นผู้ปกครองต้องดูแลควบคุมอย่าปล่อยให้บุตรหลานออกไปเที่ยวตามลำพัง ไม่ควรไปเที่ยวในสถานที่อโคจร มั่วสุม : หากพบเห็นการมั่วสุมจับกลุ่มทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสม ประชาชนที่พบเห็นแหล่งมั่วสุมสามารถแจ้งตำรวจได้ทันที การปล่อยโคมลอย สำหรับเรื่องการปล่อยโคมลอยนั้นอนุโลมเพียงสองจังหวัดเท่านั้นคือเชียงใหม่และเชียงราย โดยที่ผ่านมาทางจังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย เป็นพื้นที่ห้ามปล่อยโคมลอย โคมควัน ในเขตพื้นที่ความปลอดภัยในการเดินอากาศเด็ดขาด แต่ประเพณียี่เป็งระหว่างวันที่ 2 – 4 พฤศจิกายนมีการอนุโลมเป็นกรณีพิเศษให้ลอยได้ภายใต้กฏข้อบังคับที่ควบคุม พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังในพื้นที่ปลอดภัยในการเดินอากาศตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีข้อกำหนดดังนี้ เชียงใหม่ ปล่อยโคมลอย – โคมไฟ ในวันที่ 3 – 4 พ.ย.ระหว่างเวลา 19.00 – 01.00 น. และปล่อยโคมควัน ได้ในวันที่ 3 พ.ย. ระหว่างเวลา 10.00 – 12.00 น. เชียงราย ปล่อยโคมลอย – โคมไฟ ในวันที่ 2 – 4 พ.ย. ระหว่างเวลา 21.00 – 01.00 น. และปล่อยโคมควันระหว่างเวลา10.00-12.00 น. ที่มา – ThaiPBS