สร้างความสงสัยกันมาทุกยุคทุกสมัยกับอาหารไทยที่ทำไม๊..ทำไมมีชื่อเป็นต่างประเทศซะได้ วันนี้เราจะพามาไขข้อข้องใจกัน ว่าเมนูเหล่านี้มีที่มาจากไหนกันบ้าง แต่อย่างไรก็ตามที่มาของอาหารบางชนิดก็เป็นความเชื่อที่พูดกันต่อมาเป็นเวลานาน เอาล่ะมาดูกันเล้ยย 1. ขนมโตเกียว ขนมโตเกียวเป็นขนมไทยที่คล้ายกับขนมโดรายากิของญี่ปุ่น (ในการ์ตูนโดราเอมอนนั่นแหละ) โดยจะมีลักษณะเป็นแป้งแพนเค้กชิ้นบางๆ ที่ทำให้สุกด้วยกระทะแบน แล้วจึงม้วนห่อไส้นานาชนิด เช่น ไส้กรอก, ไข่นกกระทา, ไส้ครีม เป็นต้น สำหรับคนไทยเราจะคุ้นเคยกับขนมนี้เป็นอย่างดีตั้งแต่ที่ยืนรอต่อคิวหน้าโรงเรียน จนมาถึงปัจจุบันขนมโตเกียวก็กลายร่างออกมาเป็นเมนูสร้างสรรค์ต่างๆ มากมาย พบเห็นได้ตามรีวิวบนหน้าอินเทอร์เน็ต สำหรับที่มาของขนมโตเกียวนั้นไม่เป็นที่แน่ชัดนักแต่ที่น่าเชื่อถือมากที่สุด คือเชื่อว่าประมาณปีพ.ศ.2510 ที่ห้างสรรพสินค้าไดมารู (ห้างของญี่ปุ่น) ได้มาเปิดกิจการครั้งแรกในไทย และเชื่อว่าจุดกำเนิดของขนมโตเกียวมาจากที่มีคนขายโตเกียวอยู่ในห้างนี้ โดยดัดแปลงมาจากขนมโดรายากิของญี่ปุ่นนั่นเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นเลยจ้า 2. ลอดช่องสิงคโปร์ แน่นอนว่าลอดช่องเป็นขนมไทยที่มีวัตถุดิบเป็นแป้งข้าวเจ้า แต่..ลอดช่องสิงคโปร์ล่ะ? เป็นที่สงสัยกันมาเนิ่นนานว่าสรุปแล้วลอดช่องสิงคโปร์นั้นมาจากไหนกันแน่ จริงๆ แล้วลอดช่องเป็นขนมพื้นบ้านเป็นที่นิยมแพร่หลาย และมีจุดกำเนิดร่วมกันทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั่นแหละ (เชื่อว่าต้นกำเนินมาจากประเทศอินโดนีเซีย) และต่อมาในไทย ช่วงปีพ.ศ.2504 ก็ได้เกิดขนมลอดช่องที่แตกแขนงขึ้นมา นั่นก็คือ ‘ลอดช่องสิงคโปร์’ ซึ่งทำด้วยแป้งมันสำปะหลังแทนแป้งข้าวเจ้า และชื่อนี้ก็ได้มาเพราะว่าเป็นเมนูที่คิดค้นโดยร้าน ‘สิงคโปร์โภชนา’ ซึ่งเป็นร้านอาหารที่ตั้งอยู่หน้าโรงภาพยนตร์สิงคโปร์บนถนนเยาวราชนั่นเอง 3. ขนมโมจินครสวรรค์ ของดีของงาม ของฝากเมืองนครสวรรค์ ก็ต้องขนมโมจิ นี่แหละ! แต่เวลาไปเที่ยวญี่ปุ่น ทำไมโมจิที่นู่นมันไม่เหมือนบ้านเรา? โดยขนมโมจิของญี่ปุ่นจะทำจากข้าวเหนียวนึ่งโขลก แต่ของนครสวรรค์คือการนำแป้งห่อไส้แล้วเอาไปอบ ที่มาของขนมโมจินครสวรรค์นั้นเชื่อกันว่า คนไทยได้ไปเท่ียวญี่ปุ่นแล้วซื้อขนมโมจิกลับมาเป็นของฝาก พอทานก็คิดว่ารสชาติไม่ถูกปากคนไทยเลยได้ดัดแปลงออกมาเป็นขนมโมจิแบบไทยๆ ซึ่งถือกำเนิดครั้งแรกที่จังหวัดนครสวรรค์นั่นเอง ขนมโมจิแบบไทยๆ จึงกลายเป็นของฝากประจำจังหวัด และเรียกกันปากต่อปากว่า ขนมโมจินครสวรรค์ ส่วนอีกความเชื่อกล่าวไว้ว่า ขนมโมจินครสวรรค์คิดค้นและก่อตั้งโดย พีระยา ตรีศักดิ์วัฒนพร ซึ่งได้แนวความคิดมาจากภาพยนตร์การ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง เณรน้อยเจ้าปัญญา หรือ อิคคิวซัง นั่นเอง 4. กล้วยแขก กล้วยแขกหรือกล้วยทอด คือขนมไทยที่จะนำกล้วยมาตัดเป็นแผ่นหรือหั่นครึ่งแล้วมาชุบน้ำแป้ง ที่มีส่วนผสมของแป้งข้าวเจ้ามะพร้าวขูดขาว งาคั่ว น้ำตาลและกะทิ แล้วจึงนำไปทอดในน้ำมันร้อนๆ เวลากินเราก็จะฟินกันจนลืมคิดถึงความอ้วน ที่มาของกล้วยแขกทอดนั้นไม่ทราบเป็นที่แน่ชัด แต่จากที่หามาตามแหล่งข้อมูล พบว่าน่าจะมาจากวัฒนธรรมการปรุงอาหารของชาวอินเดีย ที่มักจะใช้วิธีการทอดเหมือนกับถั่วทอด ซึ่งจะแตกต่างกับการปรุงอาหารของไทยที่มักใช้วิธีการต้ม ปิ้ง และย่างเป็นหลัก 5. ข้าวผัดอเมริกัน ข้าวผัดอเมริกัน เป็นข้าวผัดด้วยซอสมะเขือเทศ ใส่ลูกเกดใส่ถั่วลันเตา หัวหอม แฮม ผัดรวมกัน แล้วก็จะมีไก่ทอด ไส้กรอก ไข่ดาว วางอยู่เป็นอาหารเคียง ถือเป็นการจบกระบวนข้าวผัดอเมริกัน เมนูอิ่มท้องมื้อกลางวันของคนไทย คุณหญิงสุรีพันธ์ มณีวัต เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับที่มาของข้าวผัดอเมริกันว่าเป็นอาหารที่คุณหญิงสุรีพันธ์ ได้ประยุกต์ขึ้นเอง ขณะที่ทำงานเป็นผู้จัดการาชธานีภัตตาคารของกรมรถไฟในสนามบินดอนเมือง ตอนนั้นมีสายการบินสั่งจองอาหารเช้าแบบอเมริกันไว้ แต่ได้ยกเลิกเที่ยวบินไป ทำให้อาหารเหลือจำนวนมาก คุณหญิงจึงได้นำข้าวผัดที่มีมาประกอบกับอาหารเช้าแบบอเมริกัน เมื่อทหารอเมริกันถามชื่อเมนู จึงตั้งว่า ‘ข้าวผัดอเมริกัน’ ขณะเดียวกัน อีกข้อมูลหนึ่งบอกไว้ว่า ข้าวผัดอเมริกันเกิดจากพ่อครัวชื่อ ‘โกเจ๊ก’ ที่คิดค้นเพื่อให้ทหารอเมริกันที่อยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา กิน ในช่วงที่ไทยยังเป็นที่ตั้งฐานทัพอเมริกาในสงครามเวียดนาม 6. ขนมจีน ขนมจีนเป็นอาหารคาวชนิดหนึ่งที่ทำด้วยแป้งออกมาเป็นเส้นกลมๆ คล้ายเส้นหมี่ มักรับประทานกับน้ำยา น้ำพริก เป็นต้น ถ้าไปเที่ยวภาคเหนือในโซนนั้นจะเรียกกันว่า ‘ขนมเส้น’ หรือถ้าภาคอีสานก็จะเป็น ‘ข้าวปุ้น’ และภาคใต้เรียก ‘โหน้มจีน’ (ลองใส่อินเนอร์กันดู) ถามว่าขนมจีนเป็นอาหารจากประเทศจีนไหม? หลังจากที่เรากินกับน้ำพริกแล้วก็คงคิดได้ว่าไม่น่าจะใช่.. โดยจริงๆ แล้ว ขนมจีนเป็นอาหารมอญ คำว่า ‘ขนมจีน’ มาจากภาษามอญว่า ‘ขฺนํจินฺ’ [คะ -นอม-จีน] คำว่า ‘คะนอม’ มีความหมายอย่างหนึ่งว่าเส้นขนมจีน คำว่า ‘จีน’ มีความหมายว่า ‘สุก’ 7. คุกกี้สิงคโปร์ คุกกี้สิงคโปร์ถือเป็นขนมไทยชนิดหนึ่ง แต่ที่มาของชื่อสิงคโปร์นั้น เชื่อว่ามาจากการที่สมัยก่อน แป้งที่ใช้ทำคุกกี้ชนิดนี้ต้องนำเข้ามาจากประเทศสิงคโปร์ เลยติดเรียกคุกกี้ขนิดนี้กันว่า คุกกี้สิงคโปร์นั่นเอง ขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี