เราอาจจะได้ยินเรื่องเกี่ยวกับสตาร์ทอัพมาแล้วมากมาย แต่การได้ยินมามากก็ไม่ใช่ว่าเราจะเข้าใจว่าแท้ที่จริงแล้วสตาร์ทอัพคืออะไร กระทั่งมีรายการเกมโชว์หนึ่งมาย่อยเรื่องสตาร์ทอัพ ในสายเทคสตาร์ทอัพ ให้เข้าใจง่ายขึ้นไปอีก และยังมีความบันเทิงด้วย ทำให้เรื่องที่ดูเหมือนจะยากกลายเป็นความสนุกและได้ความรู้ รายการนั้นคือ ‘The Unicorn สตาร์ทอัพพันล้าน’ ปัจจุบัน ‘The Unicorn สตาร์ทอัพพันล้าน’ จบซีซั่นและได้แชมป์สตาร์ทอัพ ที่มีโอกาสเติบโตมากที่สุดของไทยไปแล้วเรียบร้อย แต่สำหรับคนที่ยังไม่เคยดูเลยสักตอน หรือเคยดูแต่อาจจะลืมไปแล้วเราได้สรุปมหากาพย์สงครามยูนิคอร์นมาให้แล้วในโพสต์เดียวรู้เรื่อง ‘The Unicorn สตาร์ทอัพพันล้าน’ คืออะไรเป็นรายการที่มียูนิคอร์นออกมาเหรอ สำหรับคนที่เข้ามาอ่านจนถึงบรรทัดนี้อาจจะงงว่า The Unicorn คือรายการอะไร ม้ามีเขามาเกี่ยวอะไรกับรายการ อธิบายอย่างรวบรัดเข้าใจง่ายๆ จะได้ใช้โควต้าในการอ่านไม่เยอะมาก ‘The Unicorn สตาร์ทอัพพันล้าน’ เป็นรายการบันเทิงเชิงธุรกิจที่นำ ‘สตาร์ทอัพ’ ในไทยมาพรีเซนต์แอปฯ ซึ่งเป็นธุรกิจของพวกเขา รายการนี้แตกต่างจากรายการสัมภาษณ์สตาร์ทอัพ รายการอื่นอย่างสิ้นเชิงตรงที่ไม่ใช่การสัมภาษณ์แต่เป็นการแข่งขัน!! กติกาของรายการคือนำผู้ผลิตแอปพลิเคชัน12 แอปฯ ที่ดำเนินธุรกิจจริงๆ และมีโอกาสจะเป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นที่มีรายได้เกินพันล้านต่อปีในอนาคต โดยพวกเขามานำเสนอแอปพลิเคชันของตัวเอง และฟาดฟันกับคณะกรรมการที่พร้อมจะหาจุดตำหนิทั้งในเชิงธุรกิจและโปรดักส์ รวมถึงให้คนในห้องส่งทดลองโหลดแอปพลิเคชัน มาใช้แล้ววัดกันไปเลยว่าน่าโหลด หรือน่าลบ เมื่อพรีเซนต์จบกรรมการก็ให้คะแนนและคอมเมนต์ ครบ 12 สัปดาห์ก็จะมาหาแอปพลิเคชันที่เจ๋งที่สุดในสัปดาห์ที่ 13 อย่างไรก็ตามความมันไม่ใช่แค่สิ่งเดียวที่ได้รับจากรายการนี้ แต่สำหรับคนที่มีความฝันคล้ายๆ กันก็ยังสามารถเก็บเกี่ยวความรู้ที่ได้ทั้งจากตัวสตาร์ทอัพเอง รวมไปถึงกรรมการเอาไปปรับใช้เพื่อพัฒนาสตาร์ทอัพของตัวเอง หรือสร้างในสิ่งที่อยากจะทำต่อไปในอนาคตด้วย รวม ‘ว่าที่ Unicorn’ หน้าใหม่เยอะที่สุดในประเทศ ไม่บ่อยนักที่จะได้เห็นเหล่าสตาร์ทอัพหน้าใหม่มารวมกันในรายการเดียว อุปมาก็เหมือนเห็นเหล่า Avengers รวมตัวกัน เปิดตัวมาด้วยความอลังการโดย 1 ใน 12 แอปฯ นั้นเชื่อว่าหลายคนน่าจะมีแอปฯ ของพวกเขาอยู่ในสมาร์ทโฟนของคุณแน่ๆ ดังนี้ QueQ : แอปฯ จองคิวอะไรก็ได้ที่มีให้บริการในรัศมี 1 กิโลเมตรรอบตัวโดยที่ไม่ต้องไปเสียเวลายืนรอ และเมื่อใกล้ถึงเวลาแอปฯก็จะเตือนว่าไปรอหน้าร้านได้แล้ว Health at Home : แอปฯ ที่ให้บริการหาผู้ดูแลผู้ป่วยสูงอายุมืออาชีพแค่ปลายนิ้วสั่ง นอกจากจะการันตีเรื่องประสบการณ์ของผู้ดูแลแล้ว ยังการันตีเรื่องความปลอดภัยไว้ใจได้ด้วย iTAX : การจ่ายภาษีอาจจะเป็นเรื่องซับซ้อนสำหรับบางคน แต่แอปฯ นี้จะมาช่วยให้ความรู้ และสอนวิธีการคิดคำนวนภาษีอย่างง่ายที่สุดจะได้รู้ว่าปีนี้เราเสียภาษีเท่าไหร่ และควรจะซื้อกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษีดีไหม Seekster : แอปฯ ที่ให้บริการหาแม่บ้าน และสารพัดช่าง ถ้าคุณต้องการงานช่าง ไม่ว่าจะเป็นช่างซ่อมบ้าน ช่างประปา–ไฟฟ้า หากช่างที่ใช้งานประจำไม่ว่างการันตีว่า แอปฯนี้ช่วยให้ได้คนดีมีคุณภาพมาดูแลแน่นอนในราคาที่เป็นกลาง Figtionlog : ว่าที่ยูนิคอร์นรายเดียวที่ต่อสู้กับผู้เข้าแข่งขันคนอื่นๆ ด้วยการนำเสนอแอปฯที่ให้บริการนิยายออนไลน์สำหรับคนที่อยากจะมีนิยายเป็นของตัวเอง หรืออยากจะเข้าสู่วงการนักเขียนนิยายออนไลน์ Piggipo : แอปฯ ที่เข้ามาช่วยบริหารการใช้จ่ายบัตรเครดิตทุกใบของคุณแบบเรียลไทม์ซึ่งหากซิงค์แอปฯ กับบัตรเครดิตปุ๊บก็จะรู้ได้ทันทีว่าเดือนนี้ต้องบริหารชีวิตและรายจ่ายอย่างไรทำให้โอกาสเป็นหนี้น้อยลง Plan for Fit : หลายคนอยากจะฟิตเนส แต่ไม่รู้วิธีการออกกำลังกาย การควบคุมอาหารที่ถูกต้องและไม่สะดวกจ้างเทรนเนอร์แต่แอปฯ นี้จะให้บริการข้อมูลทุกสิ่งที่คุณต้องการเพื่อนำไปสู่ความฟิตแม้จะอยู่ที่บ้าน Liluna : แอปฯ ที่นำเสนอบริการแชร์รถส่วนตัวในคอนเซปต์ ‘ทางเดียวกันไปด้วยกัน’ โดยคนที่มีรถก็ได้คนช่วยหารค่าน้ำมันตามราคาที่ตนเองกำหนด คนที่ไม่มีรถก็ได้เดินทางง่ายๆ ไม่ต้องง้อแท็กซี่ Hungry Hub : คนรักบุฟเฟต์ต้องโหลดเพราะแอปฯ นี้เพราะช่วยเปลี่ยนการทานอาหารร้าน A La Carte เป็นร้านอาหารบุฟเฟต์ในคอนเซ็ปต์ All You Can Eat Indie Dish : ศูนย์กลางของการสั่งอาหารคลีนที่ครบ จบง่ายในแอปฯ เดียว ใครที่กำลังลดน้ำหนักแล้วอยากจะหาเมนูอาหารคลีนอร่อยๆ ดีๆ สั่งผ่านแอปฯ นี้ได้เลย Cookly : แอปฯ เอาใจนักท่องเที่ยวแนวใหม่ที่ต้องการสัมผัสวัฒนธรรมของประเทศที่ไปเยือนแถมยังได้เรียนรู้การทำอาหารท้องถิ่นของประเทศนั้นๆ Fungjai : แอปฯ ที่ให้บริการมิวสิคสตรีมมิ่งเพลงนอกกระแสที่ไม่มีให้บริการในสตรีมมิ่งอื่นๆ และยังเป็นคอมมูนิตี้ของคนที่ชอบฟังเพลงนอกกระแส หรือมองหาเทศกาลดนตรีนอกกระแส และยังเปิดพื้นที่ให้นักร้องหน้าใหม่ ไร้สังกัดดังได้มีส่วนในการนำเสนอผลงานของตัวเองให้เป็นที่รู้จักอีกด้วย 3 แอปที่เข้ารอบเป็นใคร ทำไมกรรมการถึงถูกใจ เลิฟเลยยย จากทั้งหมด 12 แอปฯ ที่เข้าแข่งขัน กรรมการได้คัดเลือก 3 แอปฯ ที่มีคะแนนพุ่งสูงที่สุดมาวัดกันในสัปดาห์สุดท้ายว่าใครคือสุดยอดสตาร์ทอัพแห่งปี การตัดสินคือทั้ง 3 แอปฯ ต้องตอบคำถามจากกรรมการ 5 คน เพื่อแสดงถึงทัศนคติ และการแก้ไขปัญหาให้แอปฯตัวเองเติบโตได้ในอนาคต คำถามก็จัดว่าโหดหินได้ยินแล้วสะดุ้ง ส่วน 3 แอปที่เข้ารอบได้แก่ Seekster : แอปฯ นี้เข้ารอบมาเป็นอันดับ 3 ด้วยคะแนน 89 คะแนน สาเหตุที่กรรมการเลือก Seekster เข้ามาก็เพราะว่าตอบโจทย์ความจำเป็นของชีวิตขั้นพื้นฐาน ทว่าแอปนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและห่างไกลจากการเป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นอย่างมากทั้งผู้ใช้และกำไรน้อยเกินกว่าจะก้าวสู่จุดนั้น ในรอบสุดท้ายกรรมการจึงอัดคำถามใส่ไม่ยั้ง เพื่อวัดกึ๋นกันไปเลย iTAX : ตามเข้ารอบติดๆ ด้วยอันดับที่ 2 กับคะแนน 90 คะแนน iTAX โดดเด่นตรงที่การเลือกเอาประเด็นของการคำนวณภาษี และวางแผนภาษีมานำเสนอให้เข้าใจง่ายๆ ซึ่งการเสียภาษีเป็นหน้าที่ของทุกคน แต่การพยายามที่จะให้ทุกคนมาเสียภาษีนั้นค่อนข้างยาก ดังนั้นแอปฯนี้ต้องพยายามตอบกรรมการให้ได้ว่า iTAX จะจูงใจให้คนมาเสียภาษีได้อย่างไร และปีต่อๆ ไป iTAX จะเติบโตอย่างไรในเชิงของการบริการและรายได้ Hungry Hub : เข้ามาในฐานะแชมป์ที่ทำคะแนนสูงสุดถึง 106 คะแนนคอนเซปต์ของแอปฯดูน่าสนใจอย่างมาก และพวกเขาเริ่มต้นจากศูนย์ ล้มลุกคลุกคลานอย่างแท้จริง แต่ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพวกเขาทำได้ ทว่าหลังจากนี้ไปธุรกิจของเขาจะพาไปสู่การเป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นได้จริงหรือ นี่คือคำถามจากกรรมการ iTAX คว้าแชมป์ในฐานะสตาร์ทอัพแห่งปีรายแรก หลังจากแข่งกันอย่างดุเดือด ในที่สุด iTAX แอปฯของ ‘เรือบิน – ดร. ธรรม์ธีร์ สุกโชติรัตน์’ ก็คว้าแชมป์ไปครองเนื่องจากตอบคำถามได้อย่างเคลียร์ และถ้าใครได้ดูรายการนี้มาโดยตลอดจะเห็นว่า ดร.เรือบิน มีทักษะในการนำเสนอแอปฯ ของตัวเอง ตอบคำถามของกรรมการได้อย่างมีปฎิภาณ ไหวพริบ และดูเหมือนว่าวิสัยทัศน์ของเขามีโอกาสที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตไปได้ไกลที่สุด และนี่คือสิ่งที่เราสรุปได้จากการตอบคำถามที่คมกริบ ดร.เรือบิน ตอบคำถามถึงที่มาของรายได้ iTAX ว่ารายได้มาจากสองทางคือ ได้จากค่าแนะนำการซื้อกองทุนผ่านแอปฯสำหรับคนที่อยากลดหย่อนภาษี และอีกหนึ่งรายได้ช่องทางใหญ่คือเป็นที่ปรึกษาด้านภาษีให้กับองค์กรใหญ่ๆ รวมถึงรายย่อยด้วยในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนภาษี พร้อมให้บริการด้านซอร์ฟแวร์เพื่อคำนวณภาษี ดังนั้น iTAX จึงมีรายได้สองทางใหญ่ๆ คือให้บริการรายบุคคล และให้บริการระดับองค์กร อีกหนึ่งคำถามคือจะทำอย่างไรให้คนใช้งานอย่างต่อเนื่อง ดร.เรือบิน บอกว่า iTAX ทำให้คนใช้แอปฯอย่างต่อเนื่องได้แน่นอน หากคนๆ นั้นจำเป็นต้องบริหารภาษีทุกปี ด้วยฟังก์ชั่นการแจ้งเตือนเมื่อถึงเวลาที่ต้องซื้อกองทุน สาเหตุที่ต้องซื้อกองทุนก่อนจะสิ้นปีเพราะซื้อก่อนราคาก็จะถูกกว่าซื้อช่วงใกล้สิ้นปี อีกสิ่งหนึ่งที่ดึงดูดให้คนใช้งานคือถ้าวางแผนภาษีด้วย iTAX ตลอดทั้งปีจะสามารถลดภาษีที่ต้องจ่ายได้ 5 – 10% เลยทีเดียว ถ้ากรมสรรพากร ทำแอปฯ นี้มาสู้กับ iTAX ดร.เรือบิน บอกว่ากรณีนี้ถือว่าเป็นคนละบริการ สรรพากรทำหน้าที่ให้คำแนะนำด้านการยื่นภาษี แต่ไม่ได้มีหน้าที่ในการแนะนำเรื่องการวางแผนภาษี ดังนั้นไม่ใช่ปัญหาที่ iTAX ต้องกังวล ส่วนเหตุผลที่กรรมการเลือก iTAX เพราะเรื่องการเสียภาษีเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคน การเสียภาษีก็ได้ประโยชน์ทั้งประชาชน และภาครัฐ อีกมุมนึงผู้ก่อตั้งตอบคำถามได้ดี และเห็นภาพว่าจะปรับปรุงอะไร ขยายผลไปอย่างไรต่อ เห็นแผนการทำธุรกิจที่มั่นใจว่าจะไปต่อได้ด้วยดี สตาร์ทอัพไทยจะไปทางไหน แน่นอนว่าธนาคารกสิกรไทย ในฐานะผู้ผลิตรายการนี้ขึ้นมาก็ไม่ได้มีเหตุผลเพื่อที่จะสร้างความบันเทิงอย่างเดียว แต่รายการนี้คือหนึ่งในวิธีการที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพของสตาร์ทอัพไทยให้เติบโตไปไกลมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะเทคสตาร์ทอัพ ธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารที่เล็งเห็นว่าแอปพลิชัน ไม่ว่าจะเกิดมาเพื่ออะไรก็ล้วนแล้วแต่มีผลให้ก่อเกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจทั้งนั้น และธนาคารกสิกรไทย ก็ยังมี KBTG หน่วยงานที่ดูแลเรื่อง FinTech ซึ่งสักวันก็อาจจะได้มาร่วมมือกับแอปฯเหล่านี้ และ KBTG ยังช่วยสนับสนุนเทคสตาร์ทอัพไทย และผลักดันให้คิดค้นแอปพลิเคชันที่สามารถอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันต่อไปในอนาคตอีกด้วย รวมถึงหวังว่า The Unicorn สตาร์ทอัพพันล้านจะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนลุกขึ้นมาแล้วสร้างความฝันของตัวเองให้เกิดขึ้น ไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่อนาคตแอปฯของคนๆ นั้นอาจจะมีส่วนช่วยผลักดันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปก็เป็นได้