category คุยแบบไม่เถื่อนของเบื้องหลัง 'เถื่อน Travel' กับ 'วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล'

Writer : Sam Ponsan

: 30 มิถุนายน 2560

คุยแบบไม่เถื่อนของเบื้องหลัง ‘เถื่อน Travel’

กับ ‘วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล’

ก่อนหน้านั้นหลายคนอาจมีภาพจำของ ‘วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล’ ในฐานะนักคิด นักเขียน และพิธีกรรายการสารคดีต่างๆ เช่นพื้นที่ชีวิต กระทั่งวันที่สารคดีท่องเที่ยวพื้นที่สุดเถื่อน ‘เถื่อน Travel’ ถูกปล่อยออกอากาศ เราก็รู้จักภาพลักษณ์ของวรรณสิงห์ อีกหนึ่งบทบาทในฐานะ One Man Journalism ที่ลุยเดียวไปยังพื้นที่ Grey Zone ทำงานคนเดียวเพื่อสร้างสารคดีท่องเที่ยวที่ไม่เคยมีใครในประเทศทำมาก่อน

การทำงานของเขาถือว่าใหม่มาก และไม่เพียงแต่สร้างความแปลกใหม่ในวงการคนทำคอนเทนต์ในไทยเท่านั้น แต่ยังสร้างบรรทัดฐานใหม่ในฐานะคนทำสื่อยุคใหม่ให้เห็นว่าคนเดียวก็สามารถสร้างงานที่ได้คุณภาพระดับงานโปรดัคชั่นทีมใหญ่ได้เลย

ระหว่างที่เขากำลังเตรียมตัวที่จะทำโปรเจคต์ ‘เถื่อน Travel’ ซีซั่น 2 เรามีโอกาสได้เจอกับวรรณสิงห์ ที่บ้าน เราชวนเขาคุยถึงเรื่องโปรเจคต์เถื่อนที่ผ่านมา และเรื่องของการเปลี่ยนผ่านของสื่อยุคใหม่ ที่นับวันการแข่งขันจะ ดุเดือดขึ้น สนุกขึ้น และเถื่อนขึ้นในเชิงสร้างสรรค์

เถื่อน Travel เริ่มต้นจากอะไร

วรรณสิงห์ : เริ่มจากเราอยากทำสารคดีผจญภัยไปยังที่แปลกๆ เป็นพื้นที่สีเทาบนโลกนี้ เพราะเรื่องเหล่านี้น่าสนใจ และเราอยากเล่าอย่างเป็นกลาง เข้าอกเข้าใจ เรามีความฝันมานานมากที่อยากทำสารคดีแนวนี้เพราะชอบดู VICE Channel เห็นคอนเทนต์สารคดีของ VICE แล้วในฐานะคนทำสารคดีเลือดมันสูบฉีดมากๆ

ก่อนหน้านั้นเราพยายามจะทำสารคดีแนวที่เราสนใจหลายรอบมีพาร์ทเนอร์ด้วย แต่ความคิดไม่ตรงกัน รวมถึงจังหวะไม่เหมาะสม ช่วงนั้นตั้งบริษัทขึ้นมาแล้วด้วย แต่เราปลีกออกมาเพราะคิดไม่เหมือนกัน บวกกับชีวิตส่วนตัวมีปัญหาดาวน์มากๆ เลยอยากได้อะไรมาบำบัดตัวเอง

ทั้งหมดทั้งมวลเราเลยผลักตัวเองให้ซื้อตั๋วไปแอฟริกา โดยที่เรายังไม่รู้เลยว่าจะได้ไปถ่ายรายการมาทำอะไร แต่นิสัยคนทำรายการก็อยากถ่ายทอดเรื่องราวที่เห็น แล้วเราไปคนเดียวเลยอยากลองว่าถ่ายทำรายการคนเดียวทำได้ไหม มันเป็น Test Project ล้วนๆ เลย

เราไม่เคยเรียนรู้เรื่องอุปกรณ์การถ่ายทำ ไม่เคยจับกล้องมาก่อนก็ลองถ่ายทำเอง อัดเสียงเอง สุดท้ายก็กลายเป็น ‘เถื่อน Travel ตอนนามิเบีย’ โดยที่เราไปอย่างไม่รู้ว่าจะเจออะไร เรียกว่าเป็น Passion Project 100% ก็ได้ เราดีใจมากเพราะรายการนี้เริ่มจากทำโดยไม่คิดเรื่องคนดูเลย คิดอยากจะทำเฉยๆ และเป็นรายการที่เป็นตัวของตัวเองที่สุดแล้ว

ไม่เคยจับกล้องแล้วต้องทำงานคนเดียวคุณเตรียมตัวอย่างไร

วรรณสิงห์ : เราค่อยๆ เรียนรู้เลยว่าช็อตไหนควรจะทำอย่างไร เล่าเรื่องยังไง ค่อยๆ เรียนรู้ว่าอุปกรณ์ใช้อย่างไร เป็นการทำงานไปด้วยเรียนรู้ไปด้วย อย่างที่บอกว่ามันเป็นการ Test Project  ไม่คิดว่าจะเป็น Finish Project ได้จริงๆ วิธีเรียนรู้อย่างเดียวคือทำไปเรื่อยๆ ซึ่งมันมีทั้งฟุตเทจเสีย เสียงเสียก็เยอะแล้วบางทีเราเสียดายฉิบหายเลยนะ กว่าจะถ่ายมาได้ (หัวเราะ)

อย่างรายการ EP สุดท้าย เราจบที่ทริปถ้ำซัน ดอง เวียดนาม ซึ่งมันถ่ายยากมาก ยากบัดซบเลย (หัวเราะ) ถ้าไม่ได้ฝึกฝีมือมาก่อนก็คงไม่สามารถทำงานในถ้ำนั้นได้เพราะมันมืดมาก และต้องถ่ายให้สวย ทริปอื่นไม่สวยไม่เป็นไรเพราะเราเน้นเนื้อหามากกว่า แต่ทริปนี้มันไม่สวยไม่ได้ทิวทัศน์คือพระเอก

บางพื้นที่มีความเสี่ยงสูงอย่างอัฟกานิสถาน แต่ทำไมคุณถึงไม่กลัวแล้วยังไปคนเดียว

วรรณสิงห์ : ตอนแรกก็ไม่ได้ตั้งใจจะเดินทางคนเดียวหรอก แต่เงินก็ไม่มี รายการก็ไม่มี ไม่รู้จะเอาเงินจากไหนชวนคนอื่นไป (หัวเราะ) เลยไปคนเดียวก่อน ส่วนอัฟกานิสถานนั้นก่อนไปก็ไม่ได้กลัวอะไร กระทั่งมองเห็นอัฟกานิสถาน จากบนฟ้าก่อนเครื่องลงบรรยากาศมันเหมือนหนังเรื่อง Black Hawk Down

เลย เริ่มคิดแล้วว่ามึงเอาจริงเหรอ (หัวเราะ) นั่นเท้าจะแตะพื้นแล้วนะ กระทั่งพอเท้าแตะพื้นเราเอาเรื่องงานมาแทนความกลัว จากนั้นเราก็รู้สึกตื่นเต้นมหัศจรรย์กับทุกสิ่งที่ได้ถ่าย มันเลยค่อยๆ ลืมความกลัว แล้วแทนที่ด้วยความตั้งใจ

ทำไมถึงทำใจนิ่งได้ขนาดนั้นทั้งที่พื้นที่นั้นก็อันตราย

วรรณสิงห์ : รอบตัวเกิดเหตุการณ์น่ากลัวเหมือนกันทั้งมีการลักพาตัว มีการยิงกัน บางที่เราเพิ่งเฉียดผ่านไป แต่อัฟกานิสถาน มีคนอยู่หลายสิบล้านคน คนตายอาทิตย์ละหลักร้อยคน เราต้องโคตรซวยขนาดไหนในการโดนยิงตรงนั้น พอดีโอกาสมันน้อยกว่า 1%

คำนวนแล้วคงยาก ต้องโคตรซวยจริง ดวงถึงฆาตจริงๆ (หัวเราะเลยคิดว่าจะตายอยู่ที่ไหนก็ตายได้ แต่ขอตายโดยที่เราใช้ชีวิตเต็มที่แล้วกัน ความกลัวจึงค่อยๆ หายไป แต่ประเทศอื่นที่คนกลัวกันอย่างแอฟฟริกา หรือเกาหลีเหนือ มันไม่ค่อยมีอะไรไม่น่ากลัว

ทำไมถึงทำใจนิ่งได้ขนาดนั้นทั้งทีพื้นที่นั้นก็อันตราย

วรรณสิงห์ : รอบตัวเกิดเหตุการณ์น่ากลัวเหมือนกันทั้งมีการลักพาตัว มีการยิงกัน บางที่เราเพิ่งเฉียดผ่านไป แต่อัฟกานิสถาน มีคนอยู่หลายสิบล้านคน คนตายอาทิตย์ละหลักร้อยคน เราต้องโคตรซวยขนาดไหนในการโดนยิงตรงนั้น พอดีโอกาสมันน้อยกว่า 1%

คำนวนแล้วคงยาก ต้องโคตรซวยจริง ดวงถึงฆาตจริงๆ (หัวเราะเลยคิดว่าจะตายอยู่ที่ไหนก็ตายได้ แต่ขอตายโดยที่เราใช้ชีวิตเต็มที่แล้วกัน ความกลัวจึงค่อยๆ หายไป แต่ประเทศอื่นที่คนกลัวกันอย่างแอฟฟริกา หรือเกาหลีเหนือ มันไม่ค่อยมีอะไรไม่น่ากลัว

ชอบอะไรที่อัฟกานิสถาน

วรรณสิงห์ : ถ้านับแค่ผู้คน ผมบอกเลยว่าคนที่นั้นน่ารักมาก ผมรักคนตะวันออกกลางนะ ไม่ว่าจะไปอิหร่าน อัฟกานิสถาน ปากีสถาน คนโคตรน่ารัก ไปไหนชวนกินข้าว กินน้ำชา ต้อนรับขับสู้ตลอด ความรุนแรงมีอยู่จริง ผู้ก่อการร้ายมีอยู่จริง แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของพื้นที่

ทว่าสื่อนานาชาติกลับนำเสนอให้ทั้งหมดทั้งมวลของทั้งประเทศอัฟกานิสถาน เป็นพื้นที่ของการก่อการร้าย เรารู้สึกไม่แฟร์กับพวกเขา เราเจอคนที่มีจิตใจดีมากๆ ในทุกที่ที่เราไป ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่ทำให้เราหายกลัวได้ก็คือมิตรภาพของคนเหล่านั้นนี่แหละ

One Man Journalism แบบคุณทำงานอย่างไรเพื่อให้ได้งาน

วรรณสิงห์ : ก่อนเดินทางเราใช้เวลาหาข้อมูล และประสานงาน 2 – 3 เดือน ระหว่างการประสานงานก็จะคิดเรื่องงานสองอย่างคือคอนเทนต์หลัก หัวข้อในที่นี้คือหัวทางประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม หรืออะไรก็ตามที่เราต้องการจะสื่อ กับคิดวางแผนเรื่องเหตุการณ์ว่าเราจะไปถ่ายทำที่ไหนเพื่อเล่าเรื่องเหล่านั้น

เสร็จแล้วก็นำมาสู่การประสานงานว่าพื้นที่เหล่านั้นจะติดต่อใคร หรือจะลุยเดี่ยวไปเลย ถ้าลุยเดี่ยวเราจะมีวิธีการทำอะไรได้บ้าง มันต้องเป็นส่วนผสมกันระหว่างการเตรียมการ กับการไม่ได้เตรียมห่าอะไรเลย (หัวเราะมันถึงเป็นรายการนี้

เมื่อถึงพื้นที่เราทำทุกอย่างมาพอแล้วก็ Let it go ให้หมด ทำตามสิ่งคิดไว้ แล้วมีความสุขกับมันคือซึมทุกอย่างเข้าไป แล้วสรุปมาให้คนอื่นฟัง ถ้าเจออะไรที่สนใจกว่าที่ตัวเองวางไว้ก็ยินดีที่จะเปลี่ยนเป้าไปเรื่อยๆ อะไรที่ตั้งใจไว้แล้วไม่ได้ทำก็เลิกหงุดหงิดภายในสามวินาที และหันไปโฟกัสกับสิ่งใหม่ที่ได้มาแทน

อย่างที่อัฟกานิสถาน เราจะไปถ่ายที่หนึ่งแต่โดนห้ามถ่าย คุยกับตำรวจสองชั่วโมงเพื่อเคลียร์ปัญหา แต่ เนื้อหาตอนนั้นที่ได้มากลับเป็นกระบวนการของการห้ามถ่ายของที่นี่ว่ามันคืออะไร

ตำรวจที่ห้ามเราถ่ายพอคุยกันรู้เรื่องก็มาตามแอดเฟสบุ๊คเรา กลายเป็นเนื้อหาในตอนนี้ดีกว่าเดิมอีก น่าสนใจกว่าเดิม ยินดีที่ให้มันไหลไปเรื่อยๆ เพราะสุดท้ายมันไม่ใช่รายการสารคดีจ๋า แต่มันคือเรียลลิตี้ผจญภัย และสารคดี

ตอนถ่ายที่ถ้ำชัน ดอง นั่นก็น่าจะยากไม่น้อยแต่คุณผ่านมาได้อย่างไรด้วยตัวคนเดียว

วรรณสิงห์ : นั่นเป็น EP ปิดท้ายที่ถ่ายยากมาก ต้องปีนไปด้วยถ่ายไปด้วยพร้อมกันแบกกล้องไปหลายตัว กล้องGoPro ตัวนึงติดตรงไหล่ ส่วนกล้องใหญ่ห้อยตรงหน้าอก ถุงมือก็ติด GoPro ด้วยซึ่งมีไฟ LED ตรงถุงมือช่วยถ่าย

เนื่องจากมันเป็นถุงมือก็ปีนไปด้วยถ่ายไปด้วย ตรงไหนที่เราหยุดยืนได้ก็หันไปหาคนอื่น เพื่อถ่ายในสิ่งที่เขาทำ หรือสิ่งที่เรากำลังจะทำ มันก็เลยได้แอคชั่นซีเควนมา เราต้องคิดตั้งแต่ในถ้ำว่าจะตัดยังไง ถึงจะถ่ายในสิ่งที่อยากได้

โชคดีที่เราไปทริป Photography Tour ดังนั้นเขายินดีจัดให้เราได้อยู่แล้วถ้าได้ภาพงามๆ ก็บรีฟให้เขาช่วยบ้าง บางอย่างเขารู้มุมอยู่แล้วก็ง่าย เราใช้เวลานานมากนะในการถ่ายช้อตที่ต้องปั้นขึ้นมาทั้งหลาย อุปกรณ์ก็โดนความชื้น ทำกล้องหล่น ขนของไปหนัก สารพัดอุปสรรค

แต่มันทดสอบร่างกายเรามากๆ แล้วมันต้องฝึกคิดว่าจะถ่ายช้อตอะไร ไม่ใช่ถ่ายแค่ภาพ แต่ต้องคิดว่าจะพูดอะไร เพราะเราเป็นพิธีกรด้วย โดยรวมมันสนุก และท้าทายได้พัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ได้หาโจทย์ยากๆ ให้ตัวเองไปเรื่อยๆ

‘เถื่อน Travel’ ตอนเจาะลึกเบื้องหลังวงการ AV ญี่ปุ่นน่าจะเป็นตอนที่คนดูเยอะที่สุด เพราะเป็นครั้งแรกที่รายการสารคดีของไทยสามารถบุกไปถึงเบื้องหลังได้แล้วคุณชอบไหม

วรรณสิงห์ : ตอนที่เราถ่ายตอนเบื้องหลังวงการเอวี เรามั่นใจว่าฮิตแน่นอน แล้วกะว่าให้อยู่ตอนแรกของซีซั่นด้วยเพื่อการเปิดอย่างปัง (หัวเราะ) เทียบกับตอนอื่นถ้าไปดูยอดวิวตอนนี้ก็มากกว่าสองสามเท่าซึ่งเราไม่แปลกใจ แต่ถามว่าเรามีความสุขกับตอนนี้ไหม บอกเลยว่าไม่

แต่ก็ไม่ปฏิเสธว่าเราอยากจะรู้เบื้องหลังของวงการนี้ ตอนที่เราถ่ายตอนนี้ผมคิดเรื่องมาร์เก็ตติ้งเยอะที่สุด ขณะเดียวกันเราไม่ได้มีความสุขเท่ากับที่ไปอยู่อัฟกานิสถาน นามิเบีย หรือเข้าถ้ำที่ซัน ดอง เพราะว่าพวกนั้นสำหรับเรานั่นคือตัวตน

แต่สิ่งที่อยากจะสื่อในตอน AV คือเราอยากให้เขาเกิดความเคารพในผู้หญิงที่เป็นนักแสดง AV หรือคนที่ทำงานในวงการนี้ อยากให้เห็นว่านี่คืองานจริงๆ แน่นอนว่าแต่ละคนดูแล้วได้อะไรไม่เหมือนกัน บางคนได้เปลี่ยนมุมมองจริงๆ ซึ่งเราดีใจนะ บางคนก็ยังขอวาร์ปหน่อยก็ยังเป็นเรื่องธรรมดา (หัวเราะ)

แต่ตอนกลับมาไทย บางคนผมไม่เข้าใจว่าบางคนที่มาถามว่า “เป็นไงล่ะ ได้หรือเปล่า” ตอนที่เราไปถ่ายรายการเรารู้สึกเคารพพวกเธอมาก นับถือในความเป็นมืออาชีพ พวกเธอทำงานแล้วจบคือจบ ไม่ได้สำส่อนอย่างภาพที่บางคนคิด

เราอยากนำเสนอสิ่งนั้นให้คนเคารพเธอในมุมนั้น เราอยากทำรายการให้คนเคารพกันมากขึ้น เข้าใจมากขึ้น ฉะนั้นเวลามีใครมาถามเราด้วยคำถามนั้น เราเสียความเคารพคนแบบนั้นไปประมาณหนึ่งเลย ผู้หญิงมีมากกว่าที่เขาคิดนะ

คุ้มค่าไหมกับสิ่งที่ทำลงไป

วรรณสิงห์ : ทำ ‘เถื่อน Travel’ ถ้านับเรื่องเงินไม่คุ้มอยู่แล้ว (หัวเราะ) แต่ถ้านับเรื่องประสบการณ์คุ้มมาก เราไม่ได้แยกงานออกจากชีวิตไม่ใช่ทำงานหาเงินแล้วเที่ยวแต่เผอิญเราใช้ชีวิตอย่างเต็มที่แล้วหาเงินได้ ซึ่งเป็นโชคดี 

คิดมาก่อนบ้างไหมว่าสิ่งที่คุณทำจะพามาได้ไกลขนาดนี้ 

วรรณสิงห์ :  เราคิดว่า ‘เถื่อน Travel’ คงไม่สามารถหาเงินได้ในตอนแรก แต่สิ่งที่ตามมาและได้มาอย่างไม่คาดคิดคือเราเป็นที่สนใจในตลาด Online Influencers มีลูกค้าอยากให้เราไปพรีเซ็นแบรนด์ต่างๆ เพราะว่าเราทำรายการนี้เยอะมาก

แอดเวนเจอร์แบรดน์ต่างๆ ที่เน้นความลุยเห็นความโหดก็สนใจผมมากขึ้นเพราะคาแรคเตอร์แบบนี้มันคงหาได้ลำบาก  ผมคิดว่ามันมีตลาดสำหรับสิ่งพวกนี้อยู่ แม้ว่ามันจะไม่ใช่ Mass Market ก็ตาม แต่เราก็ค่อยๆ ได้คอนเนคชั่น คนที่สนใจภาพลักษณ์ลุยๆ มากขึ้น ต่อไปเราคงเอาคอนเนคชั่นเหล่านี้มาสร้างให้เป็นธุรกิจได้

คุณบริหารจัดการอย่างไรในแง่ของการทำธุรกิจ

วรรณสิงห์ : เถื่อน Travel เราทำคนเดียวเฉพาะขั้นตอนการโปรดัคชั่นเท่านั้น แต่หลังบ้านก็มีคนช่วยอยู่พอสมควร การทำธุรกิจมันต้องมีด้านบริหาร และต้องพูดคุย ซึ่งเราเบื่อ เราขี้เกียจ และไม่มีความสุขในการทำธุรกิจเลย

ถ้าต่อไปเราไม่หาคนมาทำแทนได้ ก็จะรอจนกว่าเราจะโตจนถึงจุดที่อยากนั่งอยู่เฉยๆ แล้วนั่งบริหาร แต่ถ้ายังไม่ถึงจุดนั้นจริงๆ เราไม่ขยายการทำงานให้เป็นภาระตัวเอง เพราะเรามีความสุขกับการทำงานคนเดียว ถ้าหาคนอื่นมาทำแทนได้ก็ดีนะ (หัวเราะ) 

ส่วนการหาเงินของรายการนี้เราใช้วิธีขายรายการกับช่องรอบเดียวเลยจบ แต่ก็มีคนช่วยดีลให้ระหว่างที่เราไม่อยู่ ถ้าเราต้องตัดสินใจเรื่องไหนเขาจะถามเรา ถ้ามีไวไฟ ก็จะรีบตอบไป ระหว่างเดินทางหากมีเรื่องด่วนต้องมีคนคอยจัดการที่เมืองไทย  

มีโอกาสที่จะทำอะไรมากกว่า ‘เถื่อน Travel’ ไหมหลังจากนี้

วรรณสิงห์ :  ก่อนหน้านั้นเราเขียนหนังสือชื่อ ‘เถื่อนเจ็ด’  มาแล้ว ซึ่งคำว่า ‘เถื่อน’ มันสามารถขยายแบรนด์ได้ เราอยากจะทำสื่อจากคาแรคเตอร์ของคำว่า ‘เถื่อน’ ต่อไปเราอาจขยายทีมภายใต้ร่มนี้ แต่หลักๆ งานที่จะทำเป็น Short Docmumentary สำหรับคนรุ่นใหม่ คิดเล่นๆ อาจตั้งชื่อว่า ‘เถื่อนกัมปะนี’ (หัวเราะ)

แต่ยังคงไม่ทำในเร็วๆ นี้หรอก เพราะเราอยู่ในขั้นที่มีความสุขกับการทำงานคนเดียว แต่ในอนาคตอาจจะมี ‘เถื่อนชาแนล’ เกิดในยูทูบก็ได้

ทำไมชอบทำงานคนเดียว

วรรณสิงห์ : เรารู้นิสัยตัวเองอย่างหนึ่งว่าเป็นคนที่ใครทำงานด้วยจะกดดันฉิบหายเลย (หัวเราะ)  นั่นอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราอยากทำงานคนเดียวด้วย เพราะว่าเราไม่อยากไปทำร้ายคนอื่นเขามาก เราเป็นคนที่มีความต้องการที่เยอะ และมาตรฐานสูงมากถ้าเป็นเพื่อนจะชิลๆ แต่ถ้าเป็นเรื่องงานเราไม่ปล่อยผ่านเท่าไหร่ กำลังดูตัวเองอยู่ว่าพร้อมไหมที่จะเริ่มขยายไปถึงคนอื่น 

เพราะถ้าเรารับอะไรเข้ามาก็แปลว่าเรายินดีที่จะให้แบรนด์ ‘เถื่อน’ ไปเติบโตในคนอื่นในแบบที่เขาเป็น ไม่ใช่ว่าทุกอย่างต้องตามในสิ่งที่เราคิดอย่างเดียว ไม่ใช่ว่ารับเขาเข้ามาเป็นแขน เป็นขาอย่างเดียว เราอยากได้คนที่มีความเห็น มีมุมมองคล้ายกัน แต่ว่าไม่ต้องทำแบบเดียวกันก็ได้ แล้วเอามันไปขยายต่อในแบบที่เขาเป็น

สมมติถ้าจะขยายสเกลโปรเจ็คเถื่อนจริงๆ คุณจะเทรนด์คนให้ทำงานได้อย่างคุณเรื่องไหน

วรรณสิงห์ : เราคงจะเทรนด์เรื่องมุมมอง เรื่องความคิดมากกว่าวิธีตั้งคำถาม การเล่าเรื่องควรจะเป็นยังไง อยากเล่าเรื่องอะไร อยากถามในแบบไหนก็แล้วแต่เขา อีกสิ่งที่เราเทรนด์ได้คือการเป็น One Man Jouraiism ทำอย่างไรซึ่งนี่คือสกิลที่โหดมากหลังจากลองมาก็เหนื่อยลากไส้เหมือนกัน (หัวเราะ) แต่ในเชิงเทคนิคเราก็ค่อยๆ เรียนรู้และส่งต่อ ส่วนเรื่องมุมมองมันมาพร้อมกันอยู่แล้วระหว่างทำงาน

การทำงานของคุณที่แบกเป้ใบเดียวก็ถ่ายทำสารคดีได้นั้นมันสะท้อนให้เห็นปรากฎการณ์อะไรของการทำสื่อยุคใหม่

วรรณสิงห์ : สิ่งที่เห็นชัดเจนคือสื่อต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเป็นอย่างมาก ทั้งสเกลของโปรดัคชั่น และช่องทางที่คนเสพสื่อ ตอนนี้คนหนึ่งคนกับเป้หนึ่งใบสามารถแข่งกับบริษัทที่มีคนร้อยคนแล้วทำโปรดัคที่เหมือนกันในสายตาคนดูได้

วันนี้เราแข่งกันที่คอนเทนต์เพราะคนดูเขาดูเพราะมันสนุก กล้องใหญ่ๆ งานสเกลใหญ่ๆ มันมีควาหมายอยู่ในงานโฆษณา งานภาพยนตร์ แต่รายการสารคดี หรือรายการท่องเที่ยวมันแทบจะไม่เหลือความหมายเท่าไหร่แล้ว

มันเป็นปัญหากับบริษัทใหญ่ๆ ที่เขาลงทุนลงแรงกับสื่อแขนงเก่าไปเยอะเป็นพันล้านบาทกับทีวีดิจิทัล ที่มาช้าไปในยุคที่คนไม่ดูที วีแต่เขาก็ยังต้องอยู่เพราะลงทุนไป แล้วทางรอดคือเขาก็ต้องทำสื่อใหม่ด้วยเพราะไม่มีใครสามารถอยู่กับซิงเกิ้ลแพลตฟอร์มได้ เขาต้องอยู่กับมัลติแฟลตฟอร์มตลอดเวลา

ในแง่ของการแข่งขันทางธุรกิจ ตัวผมเองที่มีคนๆ เดียว ผมหั่นราคาได้กระจายเลยเพราะผมเลี้ยงตัวเองคนเดียว ต้นทุนผมก็คนเดียว ค่าแรง ค่าอุปกรณ์ ถ้าผมไม่หั่นราคา ผมชาร์จราคาเดียวกับที่บริษัทใหญ่รับงาน กำไรผมมากกว่าไม่รู้กี่เท่าโดยที่เราสามารถทำงานได้ในสเกลเดียวกัน ผมไม่ได้ตั้งใจตัดราคา แค่เพราะทุนผมมีน้อย แค่นี้จริงๆ ก็บวกกำไรไปแล้วมันต้นทุนได้แค่นี้

แต่การทำงานคนเดียวมันทำงานไม่ได้ทุกสเกล  งานโฆษณา หรืองานภาพยนตร์มันทำคนเดียวไม่ได้และไม่มีทางทำได้คนเดียวเลย กระนั้นความเป็นไปได้ในการทำงานคนเดียวมันกว้างขึ้นเยอะ แค่ไม่ได้ครอบคลุมทุกอย่า

ทว่าสิ่งที่ผมสนใจ หรือกำลังทำอยู่หากทำคนเดียวมันสะดวกกว่า บางพื้นที่พอมีเป้ใบเดียวก็จะพอเนียนๆ ได้เหมือนนักท่องเที่ยวธรรมดา แต่ถ้าไปเป็นทีมนี่ไก่ตื่น ประสบการณ์ที่ทำรายการดินทางมานานก็สอนเราจุดนี้เหมือนกัน

สถานการณ์แบบนี้อนาคตทีวีจะหมดความสำคัญลงเลยไหม

วรรณสิงห์ : เราไม่ได้มองว่าทีวีคือทีวี ทีวีเองก็ไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นทีวี ทีวีมองตัวเองว่าเป็นสำนักสื่อ ซึ่งสำนักสื่อจะปล่อยของทางไหนก็ได้หมด และสปอนเซอร์ไม่ได้ซื้อแค่ในทีวี แต่ซื้อในออนไลน์ด้วย คำว่าทีวีในฐานะสื่อจะหมดความหมายในอนาคต

แต่สำนักสื่อซึ่งเคยทำทีวีมาก่อนก็ไม่ใช่เรื่องยากที่เขาจะแปลตัวเองจากคนทำทีวีมาทำสื่อชนิดอื่น เพราะว่าเขามีทักษะในการทำสื่ออยู่แล้ว เพียงแต่เขาต้องเข้าใจว่าคนดูออนไลน์สมาธิสั้นลงขนาดไหน หรือคนดูมีพฤติกรรมอย่างไรต้องเปลี่ยนแปลง ผมเชื่อว่าตัวเลขเรตติ้งจะน้อยลงเรื่อยๆ มีความหมายน้อยลงเรื่อยๆ เพราะเขาวัดผลด้วยวิธีเดิมมาเป็นสิบๆ ปีแล้วก็จะวัดต่อไป ในขณะที่การเสพสื่อไม่เหมือนเดิมเลย

คุณเชื่อว่าสื่อเก่าอย่างทีวีจะไม่ได้หายไปไหน

วรรณสิงห์ : เราว่าทีวี ปรับตัวได้อยู่แล้ว ถ้าใครไม่ปรับก็ตายไปเหมือนที่เห็นนิตยสาร หลายเจ้าตายไปนั่นแหละ โลกออนไลน์อาจจะโหดกับทีวี แต่จริงๆ มันโหดกับนิตยสารมากกว่า ฉะนั้นการปรับตัวเกิดขึ้นแน่นอน

สื่อเก่ามีอะไรที่ได้เปรียบกว่าคนทำสื่อใหม่ หรือคนทำงานด้วยกำลังโปรดัคชั่นน้อย แต่ได้งานที่ดีแบบคุณบ้าง

วรรณสิงห์ : ผมทำงานกับช่องอยู่อย่าง GMM25 ช่วยผมหลายทางมากที่ไม่ใช่เรื่อง Outlet เขาช่วยในเชิงควบคุมคุณภาพ เพราะสุดท้ายผู้เชี่ยวชาญก็คือผู้เชี่ยวชาญ เขามีทักษะ และความเข้าใจในการทำสื่อที่มากกว่ามือสมัครเล่นทั่วไป การมีมือโปรมาช่วยคุมงานอีกทีก็ทำให้งานเรามีคุณภาพ

อีกสิ่งหนึ่งคือช่วยในเรื่องการทำธุรกิจ เพราะการหาสปอร์นเซอร์ และปิดดีลไม่ใช่เรื่องง่าย มันยากถ้าผมมีบริษัทของผมเองแล้วมีทีมงานด้านนี้ ผมสามารถทำช่องบนยูทูปของตัวเองได้เลย แต่ผมต้องมีหลายรายการมากๆ แล้วการที่ผมจ้างคนมาอีก 5 คนเพื่อหาสปอนเซอร์ให้เถื่อน Travel รายการเดียวมันก็ไม่พอจะเลี้ยงบริษัท หรือถ้าจะอยู่ได้ก็ต้องรับโฆษณาเยอะรายการคงเป็นเฟสติวัลของการขายโฆษณาไปเลย

การที่ช่องมาช่วยสนับสนุนรายการขนาดเล็กของเรา ใช้คอนเนคชั่นขนาดใหญ่ในการเอาเงินบางส่วนมาจุนเจือรายการขนาดเล็กได้โดยที่เราไม่ต้องสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมาเองเป็นเรื่องที่ทำให้เราทำงานง่ายขึ้น ถามว่าทำเองได้ไหม ทำได้ แต่เหนื่อยและต้องใช้เวลามาก ต้องมีคอนเนคชั่นพอสมควร ดังนั้นจุดแข็งของสถานีโทรทัศน์ก็คือความเป็นมืออาชีพ และเป็นนักธุรกิจนี่แหละ

เราน่าจะมีโอกาสเห็น One ManJournalism แบบคุณมากขึ้นไหม

วรรณสิงห์ : คนทำสื่อแบบ  One Man Journalism มีเยอะพอสมควร แต่เรารู้จักเขาในฐานะบล็อคเกอร์ ซึ่งบล็อคเกอร์อาจจะใช้เวลาในการทำงานที่เร็ว ได้เนื้อหาฉับไว ซึ่งทำงานเร็วไม่ได้แปลว่าไม่ดี แต่สิ่งที่ผมทำเพิ่มในเชิงคนทำงานแบบ One Man Journalism  คือเราใช้อุปกรณ์เดียวกัน แต่ใช้เวลากับงานนานมากกว่า

ความใหม่ของผมไม่ใช่เรื่อง One Man Journalism  แต่ความใหม่คือเราเป็น One Man Documentary ซึ่งไม่ค่อยมีใครทำเท่าไหร่ ในเมืองนอกน่ะมีแน่นอน แต่ในเมืองไทยผมยังไม่เคยเห็นใครทำเท่าไหร่ เลยนำมาซึ่งความโดดเด่น

ในมุมมองของคุณเราจะเห็นวงการสื่อยุคใหม่เป็นอย่างไรต่อ

วรรณสิงห์ : หลังจากนี้คนที่ทำอะไรแล้วโดดเด่นจะยากมากๆ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมีคนทำมาก่อนแล้ว สมมติว่าเราทำสิ่งที่ยังไม่มีคนทำมาก่อน เราก็จะไปบล็อคทางสิ่งที่คนอยากจะทำในอนาคตแน่นอน ถ้าเขาทำเมื่อไหร่กลายเป็นก็อปเราแน่นอน ผมว่าต้องมีคนที่เห็น ‘เถื่อน Travel’ แล้วตบเข่าฉาดว่า “เหี้ยเอ้ย แม่งแย่งกูทำ” (หัวเราะ) แน่ๆ เราก็โล่งใจเหมือนกันที่ปล่อยออกมาแล้วยังไม่มีใครตัดหน้า

ยุคนี้จะมีอะไรใหม่ๆ โผล่มาตลอดเวลาแล้วความครีเอทีฟจะยิ่งยากเข้าไปใหญ่ มันท้าทายในมุมคนทำสื่อ ขณะเดียวกันมันก็ยากมากๆ รายได้ก็กระจายมากขึ้นอีกเยอะ การซื้อโฆษณาในราคาไม่กี่หมื่นบนเฟสบุ๊คอาจมีผลเท่ากับจ่ายค่าโฆษณาเป็นแสนๆ บนทีวีก็ได้ 

คนที่ปรับตัวก็คือลูกค้าทั้งหลายที่ต้องปรับทัศนคติในการซื้อสื่อ การนำเสนอแบรนด์ตัวเอง เอเจนซีก็ต้องปรับตัวในการขาย เราก็ปรับตัวในฐานะคนทำสื่อ เมื่อก่อนทำชั่วโมงเดียวว่ายาวแล้วตอนนี้ 5 นาทีก็ยาวเกิน อย่าลืมว่าเราอยุ่กับเฟสบุ๊คมาสิบปีกว่าๆ โลกออนไลน์ไม่ใช่สิ่งใหม่แล้ว ซึ่งอาจจะมีสิ่งใหม่กว่านี้ก็ได้

ส่วนเฟสบุ๊คจะโดนแซงอย่างไรเรายังจิตนาการไม่ออก แต่ iPhone มันคือสิ่งที่ทำให้ทุกวงการต้องปรับตัว ถ้ามองทุกอย่างย้อนไปย้อนมา คือ iPhone นี่แหละที่ทำให้จออยู่กับตัวคนตลอด หากสิ่งที่จะเป็น iPhone ชิ้นต่อไปมานี่แหละจะส่งผลให้คนทำสื่อปรับตัวกันอีก 

จากการพูดคุยกับเขา เรามองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตหลายเรื่อง โดยเฉพาะการยืนยันว่าคนตัวเล็กๆ ก็สามารถสร้างสารคดีให้คนอีกจำนวนมากติดตามได้ และจะทรงอิทธิพลไม่ต่างอะไรกับสื่อหัวใหญ่ ขอแค่มี Content ที่ดีเป็นตัวเชื่อมต่อ ซึ่งวรรณสิงห์ และ ‘เถื่อน Travel’ คือหนึ่งในกรณีศึกษาของคนทำสื่อใหม่ ที่ทำสื่อเพื่อเสิร์ฟให้ถูกปากคนยุคนี้

แต่นี่ไม่ใช่การปิดประตูโอกาส ทุกคนสามารถเลือกเส้นทางของตัวเองได้ ส่วนคุณอยากจะเป็น One Man Journalism แบบไหนทุกอย่างอยู่ที่คุณเริ่มต้นทำ แล้วเป็น

 

Writer Profile : Sam Ponsan
นักเขียนหนุ่มสุดเท่ที่ชื่นชอบการขี่มอเตอร์ไซค์เป็นชีวิตจิตใจ ขนาดฝนตกยังยอมขี่รถตากฝนเลยเพราะคิดว่าทำแล้วเท่ งานอดิเรกของเขาคือการไปออกกำลังกายเพราะเชื่อว่าทำแล้วเท่ ปัจจุบันก็ยังชอบทำ Content อะไรเท่ๆ ลงเว็บ Mango Zero ด้วย แหม่...เท่จริงๆ
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save