สัมภาษณ์พิเศษ : 7 คำถามกับทีมบรรณาธิการ 'The Standard' สำนักข่าวออนไลน์ใหม่ของ 'โหน่ง - วงศ์ทนง'

Writer : Sam Ponsan

: 8 มิถุนายน 2560

 

interview-the-editor-of-the-standard-cover

5 มิถุนายนที่ผ่านมาคือวันเกิดของสำนักข่าวหน้าใหม่ ‘The Standard’ ของ ‘โหน่ง – วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์’ ซึ่งเขาก่อตั้งขึ้นมาหลังลาออกจาก a day ได้ 4 เดือนโดยมีทีมงานเก่าจาก The Momentum สำนักพิมพ์ a book ทีมงานจากนิตยสาร Hamburger และบริษัทเดย์โพเอทส์  ตามมาอยู่กับเขาด้วยกว่า 80 ชีวิต

The Standard ไม่ใช่แค่สำนักข่าวออนไลน์ แต่เป็นสำนักข่าวที่ครอบคลุมทุกพื้นที่สื่อทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ ภายใต้แนวคิด ‘One Brand One Standard’ หมายถึงมีหลายมีเดียภายใต้แบรนด์เดียวซึ่งก็คือThe Standard พวกเขามีทีมคณะบรรณาธิการ 7 คนคือ

  • วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ (โหน่ง) – Chief Executive Officer
  • นิติพัฒน์ สุขสวย (ปิงปอง) – Managing Director
  • นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ (เคน) – Editor-in-Chief
  • เจิมสิริ เหลืองศุภภรณ์ (จิมมี่) – Editor-in-Chief
  • ภูมิชาย บุญสินสุข (บิ๊กบุญ) – Editor-in-Chief
  • วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม (ตุ๊ก) – Editor-in-Chief
  • ยศยอด คลังสมบัติ (โจ) – Editor

ในวันเปิดตัวเรามีโอกาสได้สัมภาษณ์คณะทีมบรรณาธิการทั้ง 7 คน จากทั้งหมดกว่าหลายสิบคำถามในวันนั้นเราได้คัดคำตอบที่สนุกๆ และตอบข้อสงสัยออกมาได้ทั้งสิ้น 7 คำถามที่คิดว่าน่าสนใจสำหรับผู้ที่ติดตามวงการสื่อมวลชนไทยยุคใหม่

interview-the-editor-of-the-standard-nong-2

1. ทำไมคุณวินิจ ถึงตกลงร่วมทำ The Standard ด้วย

วงศ์ทนง : ผมรู้จักกับคุณวินิจ (วินิจ เลิศรัตนชัย) มานานเกือบ 20 ปี พอเกิดเหตุการณ์ที่ผมลาออกจากบริษัทเดย์โพเอท พี่วินิจ ก็เรียกมาคุยด้วย ถามว่าผมจะทำอะไรต่อ ผมบอกว่าอยากทำสื่อต่อนั่นแหละเพราะรัก และชอบทำ แต่ผมอยากตั้งบริษัทเล็กๆ ที่เราเป็นอิสระอย่างแท้จริง ซึ่งเขาสนใจ

เบื้องต้นก็เลยยื่นข้อเสนอของผมไปซื่อๆ ตรงๆ คือผมขอถือหุ้นใหญ่นะ แต่พี่ช่วยลงเงินมากหน่อย เพราะผมกับปิงปองไม่มีเงิน (หัวเราะ) เขาก็ยินรับขอเสนออย่างง่ายดาย ผมคุยกับเขาครึ่งชั่วโมงตัดสินใจตั้งบริษัทเลย

2. มีนักการเมือง หรือแบรนด์สินค้า เป็นหุ้นส่วนใหญ่อย่างที่เป็นข่าวหรือเปล่า

วงศ์ทนง :  ข้อแม้นิดนึงของการตั้งบริษัทที่ผมบอกคุณวินิจ คือผมเพิ่งโดนเรื่องการเป็นหุ้นส่วนซับซ้อน ดังนั้นบริษัท The Standard ต้องโปร่งใส ผมบอกเขาว่าผมไม่รู้ว่าพี่เอาเงินจากไหนมาร่วมลงทุน แต่ขอเอาชื่อพี่เป็นผู้ถือหุ้นคนเดียวซึ่งก็คือ 45%

ผมไม่เอานายทุนที่เป็นนักการเมือง ไม่เอานายทุนที่เป็นเจ้าของสินค้า ตามที่เป็นข่าวว่ามีคุณเนวิน (เนวิน ชิดชอบ) เป็นนายทุนด้วย

ที่ผมบอกได้คือไม่มีคุณเนวิน (เนวิน ชิดชอบ)  เป็นหุ้นส่วนยืนยันได้เลย เพราะว่าเราทำสื่อมันไม่เป็นเรื่องดีหรอกที่คนทำสื่อจะผูกติดกับสินค้าหรือกลุ่มองค์กรใด

ถึงจุดนี้ผมยืนยันว่าบริษัทเรามีความอิสระอย่างแท้จริงในการทำงาน รวมถึงเรื่องนิติกรรม ทุนก้อนแรกคือ 30 ล้านบาท ฝั่ง The Standard ถือ 55% อย่างที่ผมต้องการ

interview-the-editor-of-the-standard-tuk

3. เห็นชัดว่าสื่อนิตยสารจะทรงอิทธิพลน้อยลง แต่ทำไมถึงยังเชื่อในนิตยสารอยู่

วิไลรัตน์ : เรามองเห็นว่าคนที่อ่านนิตยสารเขาอยากอ่านอะไร แต่ทุกวันนี้นิตยสารอาจจะทำออกมาแมสเกินไปจนเขารู้สึกว่าไม่รู้จะอ่านอะไร ดังนั้นในฐานะที่เราป็นบรรณาธิการถ้ารู้ว่าเขาอยากจะอ่านอะไร หรือควรได้อ่านอะไร ทำรูปเล่มให้ดีถึงจะเหมาะกับคนอ่านกลุ่มที่เขาอยากจะอ่านจริงๆ

ถ้าทำได้ถึงขั้นตอน เชื่อว่าน่าจะทำให้คนอยากอ่านได้อยู่ ส่วนเรื่องของธุรกิจสื่อนั้นถ้าทำสิ่งพิมพ์อย่างเดียวมันอยู่ลำบาก แต่การรวมกันทุกสื่อมันก็น่าจะเป็นคำตอบหนึ่งที่ทำให้ในแง่ของธุรกิจนิตยสารยังไปได้

วงศ์ทนง : มุมมองของผมอย่างตรงไปตรงมานิตยสาร และหนังสือพิมพ์ที่ต้องควักเงินซื้อตายแน่ๆ ตายแบบใบไม้ร่วมเลย สภาพที่ผ่านมาเราก็เห็นว่าต้องปิดตัวเพราะโมเดลทางธุรกิจผิดพลาด

 แต่สื่อสิ่งพิมพ์ที่อยู่ได้ผมมองว่ามีสองอย่างคือนิตยสารแจกฟรี สองพ็อคเก็ตบุ๊ค เพราะยังตอบโจทย์กับผู้คนที่ยังต้องการสื่อในลักษณะนี้อยู่

ผมว่าคำพูดเหมารวมที่ว่า ‘นิตยสารตายแล้ว’ มันพูดแบบรีบร้อนเหมารวมไปนิดนึง ผมคิดว่านิตยสารที่ตายแล้วคือนิตยสารที่คนทำไม่เก่งพอ

ซึ่งจากประสบการณ์ทำงานวงการสื่อมา 20 ปีของผมอย่างหนึ่งพิสูจน์แล้วว่าเราได้ทั้งเงินทั้งกล่อง ผมจึงเชื่อว่า The Standard magazine จะไปได้ และไปได้ดี

ยศยอด : สิ่งพิมพ์ในเมืองไทยยังไม่ได้ล้มหายตายจาก เราเชื่อว่ายังมีคนที่ชอบอารมณ์ของการพลิกหน้านิตยสาร หนังสือพิมพ์ พ็อคเกตบุ๊ค อยู่เยอะ

บางคนไม่ได้ชอบใช้เวลาอ่านข่าวนานๆ บนเว็บ เราเชื่อว่ายังมีคนที่ชอบเสพข่าวด้วยแบบเดิมที่มีความสร้างสรรค์ในการนำเสนอเนื้อหา 

interview-the-editor-of-the-standard-jo

4. พอดแคสต์เป็นสื่อใหม่ในสายตาคนไทย โมเดลธุรกิจก็ไม่มี แต่ทำไมถึงคิดที่จะทำ

ภูมิชาย : นี่ก็เป็นโจทย์ยากเลย คือต้องทำให้ลูกค้าเข้าใจ และรู้ว่าเขาจะทำเงินจากสื่อใหม่นี้อย่างไร พอดแคสต์ในต่างประเทศมีวิธีการดำเนินการทางธุรกิจอยู่ 4 แบบ ง่ายสุดก็คือคนฟังชอบก็บริจาค, สองขายพิเศษ เราทำให้ฟังฟรี แต่มีเด็ดกว่านี้ ลึกกว่านี้ถ้าอยากฟังให้กดสมัครสมาชิกจ่ายรายปี, 

สามอยากจะซื้อทรานสคริปไหม เช่นพอดแคสต์สอนภาษาอังกฤษ ถ้าคนสนใจอยากซื้อบทเรียนเพิ่มก็จ่ายไป และสี่ โมเดลที่น่าจะทำเงินได้มากที่สุดคือการขายโฆษณา

ผมว่ายากที่สุดอันหนึ่งคือการ Educate ตลาด แต่ก่อนจะ Educate ตลาดเราต้อง Educat กันเองก่อน (หัวเราะ) ตอนนี้เราอยู่ในขั้นตอนของการเรียนรู้กันเอง คิดว่าเราจะให้ตลาดรู้จักเราอย่างไร หลายๆ คนยังบอกว่าพอดแคสต์คืออะไรวะ (หัวเราะ)

ผมคิดว่าพอดแคสต์เหมือนกับบล็อคยุคแรกๆ ที่คนไม่เข้าใจว่าบล็อคคืออะไร ต่างกับไดอารี่ออนไลน์ยังไง เหมือนกับที่คนที่รู้ว่าวิทยุคืออะไร  แต่มันต่างจากพอดแคสต์ยังไง ก็ต้องทำให้เขาเข้าใจ

เคยได้ยินคำที่จำกัดความของพอดแคสต์คือ  Audio content on demand คือเนื้อหารูปแบบเสียงที่เรียกฟังเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่เหมือนวิทยุที่ต้องฟังเฉพาะวันที่มีรายการนั้นๆ พอดแคสต์เหมือนหนังสือเล่มมากที่สุด

เพราะคุณสมบัติที่สำคัญของพอดแคสต์คือหน้าตาเป็นเสียง และนิสัยมัน Evergreen หมายถึงฟังเมื่อไหร่ก็ได้ไม่เชย เหมือนกับหนังสือเล่มที่มีอายุบนชั้นวางหนังสือมากกว่านิตยสาร หรือหนังสือพิมพ์รายวัน

5. สโลแกนที่ว่า ‘Stand up for the people’ มีที่มาอย่างไร

นครินทร์ : ผมคิดสโลแกนนี้เอง ตอนแรกมีหลายชื่อซึ่งมีความหยิ่งผยอง (หัวเราะ) ผมเลยลองเล่นคำที่คล้องกับ  ‘Standard’ ปรากฎมีคำว่า ‘Stand up for’ มันคือการ ‘ลุกขึ้นยืนหยัด’ ผมก็คิดต่อว่าถ้าเราเป็นสำนักข่าวเราจะ Stand up for อะไร

Stand up for  peac, Stand up for democracy หรือ Standup for trust ซึ่งมันได้ทั้งหมด แต่รู้สึกว่าถ้าเลือกอันใดอันหนึ่งเป็นตัวแทนเราไม่ได้เพราะมันจะบอกภาพรวมการเป็นสำนักข่าวเราทั้งหมด

คิดไปคิดมาได้คำว่า ‘Stand up for the people’ มันเป็นคำที่ผมชอบมาก ตอนนั้นไม่รู้สึกว่าเป็นการเมือง จนคนอื่นมาทักก็เข้าใจได้ แต่ผมก็มาคิดว่าเราทำสื่อเพื่ออะไร ผมคิดแค่ว่าเราทำสื่อไปทำไม  เราไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง

เราทำ The Standard เพื่อให้คนรู้สึกว่าเรามีฟังก์ชั่นอะไรแก่สังคม สุดท้ายก็ได้ความคิดว่าสื่อต้องยืนข้างประชาชน ถ้าสื่อที่ยืนข้างรัฐบาลนั่นเรียกประชาสัมพันธ์ นั่นคือการทำหน้าที่ของเขา แต่เราไม่ใช่

เราเป็นสื่อที่ไม่ได้กระบอกเสียงของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ได้เป็นกระบอกเสียงของชนชั้นกลางอย่างเดียว ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปเข้าข้างใคร คำว่า The People มันเป็นคำที่กลางมากๆ แต่พอพูดออกมาในกองบรรณาธิการ ทำที่ทำสายการเมืองจะเริ่มรู้สึว่ามันดูการเมือง

แต่จริงๆ แล้วเนื้อหาที่เราทำนั้นไม่ว่าจะข่าวอะไรก็มีประโยชน์ต่อผู้อ่าน ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องการเมือง ทำข่าวแนะนำร้านกินดื่มเที่ยวที่ดี

แนะนำให้เขาไปมีความสุขกับชีวิตผมก็ว่านี่คือการ Stand up for the people ได้เช่นกัน ดังนั้น Stand up for the people หมายถึงการทำคอนเทนท์ที่ดี มีสาระประโยชน์แก่คนอ่านทุกคน 

interview-the-editor-of-the-standard-big-2

6. ก่อนหน้าจะเปิดตัว The Standard พวกคุณโดนวิจารณ์มาหนักอยู่ รับมืออย่างไร

วงศ์ทนง  ผมบอกให้น้องๆ “ช่างมัน เดี๋ยวก็ผ่านไป” แต่คำว่า ‘ช่างมัน’ สำหรับผม มันไม่ได้หมายความว่าอย่าไปแคร์ หรือปล่อยผ่านมองข้ามหรอกครับ ในเมื่อเราวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นได้

คนทุกคนก็มีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเราได้ ข้อดีคือทำให้เราได้ระวัง คิดหน้าคิดหลังเวลาทำอะไร แต่บางเรื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในโซเชียลเน็ตเวิร์คเราก็รู้ว่ามันมีคนที่หลากหลายประเภทมาก

คนที่ตำหนิติเตียนด้วยเหตุผลมีครับ ดีมากขอบคุณมากเลย แต่ก็มีคนอีกจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นจำนวนมากด้วยที่เอาแต่ด่าแบบสาดเสียเทเสีย พูดง่ายๆ คือด่าเอามัน คนกลุ่มนี้มากกว่าที่ผมพยายามจะบอกกับคนทำงานของผมว่าอย่าไปซีเรียสมาก อย่าไปแคร์มาก

แต่การที่มีคนพูดถึงเราขนาดนี้ในฐานะสื่อใหม่ผมว่ามันเป็นเรื่องที่ดี  มันหมายความว่า คนรอคอยเรา จับตามองเรา คนใส่ใจเรา มันดีจะตายที่ทำสื่อแล้วไม่เงียบ ที่ผ่านมามีสื่อใหม่เกิดเยอะแต่ไม่เห็นมีใครพูดถึงอะไรเลย

แม้ The Standard จะถูกพูดถึงด้วยประเด็นดราม่า แต่ผมบอกเคน ไปว่า เดี๋ยวอีกสองสามวันคุณฟีดข่าวไปเรื่อยๆ ซึ่งแต่ละข่าวดีมากๆ ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวสังคม ข่าววัฒนธรรม ข่าวการเมือง ข่าวแฟชั่น คนมันจะลืมไปเองแล้วคนจะรู้ไปเองว่าการเมืองมันเป็นแค่พาร์ทนึงเท่านั้นเองที่เราทำ

interview-the-editor-of-the-standard-ken

7.โดนแปะป้ายว่าเป็นสื่อ ‘ลิเบอร์รัล’ มาตั้งแต่ทำที่เดิม ซีเรียสไหม

นครินทร์ : ที่ผ่านมาผมถูกด่าจากทุกฝั่ง ผมไม่ค่อยสนใจนะว่าใครจะแปะป้ายอะไรเพราะเรารู้จุดยืนตัวเอง เราเป็นพิธีกร Voice TV  เขียนคอลัมน์ในมติชนสุดสัปดาห์ด้วย ลิเบอร์รัลเต็มขั้น (หัวเราะ) พอล่าสุดเรามีประเด็นว่าเราอวยคุณคนนั้น ก็โจมตีเรา อ้าว…สรุปผมเป็นใคร ฝั่งไหนกันแน่ แต่จุดยืนผมคือไม่สนใจว่าใครจะแปะป้ายว่าเราเป็นอะไร แต่สำคัญที่สุดคือเราจะทำไปเพื่ออะไรมากกว่า

ยืนยันว่าเราไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ผมไม่มีความจำเป็นต้องไปถือหางใคร ผมอยากให้ความรู้กับคน และเราเป็นประชาชนคนหนึ่งที่ไมพอใจรัฐบาลที่ทำไม่ดี ไม่พอใจพรรคการเมืองที่ทำไม่ดี อะไรมีปัญหาว่าไปตามประเด็น

คนนี้ทำไม่ดีเราวิจารณ์ด้วยเหตุด้วยผล ถ้าทำดีเราก็ชม ผมไม่ได้คิดว่าต้องไปวิพากย์วิจารณ์ใครในเชิงบุคคล ทุกคนมีสิ่งดี สิ่งไม่ดี เราก็ยอมรับเสมอว่าสื่ออย่างเราก็ต้องพัฒนา เลยไม่ใส่ใจว่าต้องคิดยังไง ถามกี่ครั้งว่าอยู่ฝั่งไหน ผมตอบเลยว่าเราอยู่ข้างความถูกต้อง ข้างสิทธิมนุษยชน

Writer Profile : Sam Ponsan
นักเขียนหนุ่มสุดเท่ที่ชื่นชอบการขี่มอเตอร์ไซค์เป็นชีวิตจิตใจ ขนาดฝนตกยังยอมขี่รถตากฝนเลยเพราะคิดว่าทำแล้วเท่ งานอดิเรกของเขาคือการไปออกกำลังกายเพราะเชื่อว่าทำแล้วเท่ ปัจจุบันก็ยังชอบทำ Content อะไรเท่ๆ ลงเว็บ Mango Zero ด้วย แหม่...เท่จริงๆ
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save