“สวัสดีค่ะพี่แจ็ค เรื่องราวมันเริ่มต้นจาก หนูนอนอยู่ดีๆก็รู้สึกว่าขยับตัวไม่ได้ อึดอัดเหมือนมีคนมานอนทับ รู้สึกเหมือนร่างกายของเราไม่ใช่ของเราอีกต่อไป แบบนี้มัน โกสปะคะ !?” หลายๆ คนคงเคยได้ยินมาบ้างกับสิ่งที่เรียกว่า “ผีอำ” และมีคนจำนวนไม่น้อยที่เคยพบเจอกับอาการนอนหลับอยู่ดีๆ แล้วรู้สึกอึดอัดแน่นหน้าอก ลุกไม่ขึ้น ตื่นไม่ได้ จนกลายเป็นความเชื่อที่ว่า ผีกำลังมายึดร่างหรือโดนผีหลอก ! แต่จริงๆ แล้วอาการเหล่านี้มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็นความผิดปกติจากการนอนหลับที่ทางการแพทย์เรียกกันว่า “Sleep Paralysis” ใครที่เคยพบเจออาการแบบนี้หรือสงสัยว่าจริงๆ แล้วมันคืออะไร ลองมาอ่านบทความนี้กันดูแล้วจะได้รู้ว่าสรุปแล้วมันใช่ โกสปะคะ ~? อาการทั่วไปของ Sleep Paralysis ร่างกายจะรู้สึกตัวแต่ไม่สามารถขยับได้ เปล่งเสียงไม่ออก ส่วนใหญ่มักมีอาการกึ่งหลับกึ่งตื่น ซึ่งทางการแพทย์ได้แบ่งประเภทการเกิดออกเป็น 2 ประเภท คือ เกิดขึ้นในช่วงใกล้หลับ (Predormital Sleep Paralysis) โดยปกติแล้วคนเราจะต้องใช้เวลาก่อนที่จะนอนหลับสนิท บางครั้งก็คิดทบทวนเรื่องราวต่างๆ หรือพลิกไปมาหาท่านอนที่สบายที่สุด เมื่อร่างกายผ่อนคลาย เข้าสู่ภาวะการนอนหลับและไม่รู้สึกตัวไป แต่ถ้าหากบางครั้งยังรู้สึกตัวอยู่ ก็จะเริ่มเกิดอาการขยับตัวไม่ได้ พูดไม่ออก ซึ่งลักษณะนี้ส่วนใหญ่เราจะไม่ค่อยรู้ตัวสุดท้ายจะลืมไปเองหลังจากนอนหลับ เกิดขึ้นในช่วงใกล้ตื่น (Postdormital Sleep Paralysis) ในประเภทนี้จะเกิดจากกลไกของร่างกายที่เริ่มเปลี่ยนจากช่วงหลับลึก เข้าสู่ช่วงหลับตื้น และจะกลายเป็นการหลับฝัน ที่เราจะฝันถึงเรื่องราวต่างๆ เมื่อเกิดการรู้สึกตัวในขณะที่ยังฝันอยู่ ก็จะเริ่มเข้าสู่อาการข้างต้น ซึ่ง 75 % ของอาการ Sleep Paralysis จะเกิดในช่วงนี้ และจะอยู่ประมาณ 5 – 10 นาที ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะมาพร้อมกับอาการอื่นๆ รวมไปถึงการเกิดภาพหลอนจนทำให้หลายๆ คนเข้าใจว่าอาการเหล่านี้มันคือ โกสปะคะ ??? สาเหตุหลักของภาวะผีอำ (Sleep Paralysis) ภาวะผิดปกติจากการนอนหลับนี้สามารถเกิดได้กับคนทั่วไป ส่วนใหญ่มักมาจาก การนอนหลับไม่พอ หรือนอนไม่หลับ เมื่อร่างกายไม่ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ เหนื่อยล้า ก็จะทำให้เกิดภาวะผีอำขึ้นได้ ปัญหาสุขภาพ ทั้งสุขภาพจิตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความเครียด หรือผู้ป่วยอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder) และปัญหาสุขภาพทางการนอนหลับโดยตรง เช่น โรคลมหลับ หรือ ตะคริว การใช้ยารักษาโรค ยารักษาโรคบางตัวก็ส่งผลกับภาวะนี้เช่นกัน เช่น ยาโรคสมาธิสั้น ยานอนหลับ การเปลี่ยนแปลงเวลานอนบ่อยๆ การนอนไม่เป็นเวลา การเปลี่ยนกะงาน หรือแม้แต่ภาวะ jet lag ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ภาวะผีอำเกิดขึ้นได้ การป้องกัน เลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ พักผ่อนให้เพียงพอ ควรนอนหลับให้ครบ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน นอนให้เป็นเวลา สร้างวินัยในการนอนหลับทั้งเวลาตื่นและเวลานอน หากิจกรรมผ่อนคลายก่อนนอน ลดความเครียดหรือวิตกก่อนนอนช่วยให้การนอนหลับดียิ่งขึ้น การจัดห้องให้อากาศถ่ายเทและมีบรรยกาศผ่อนคลายจะช่วยให้นอนหลับสบายมากขึ้นอีกทั้งช่วยลดภาวะการเกิดปัญหาทางการนอนหลับได้ด้วย ข้อควรรู้ หลีกเลี่ยงท่านอนหงาย ท่านอนก็ส่งผลต่ออาการ Sleep Paralysis ดังนั้นการเปลี่ยนเป็นท่านอนคว่ำ หรือนอนตะแคงเป็นอีกหนึ่งวิธีช่วยลดอาการผีอำได้ ปรึกษาแพทย์ หากเริ่มรู้สึกว่าอาการ Sleep Paralysis รุนแรงและส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันมากจนเกินไปควรได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ Sleep Test Sleep Test หรือ Sleep Study เป็นเครื่องมือที่ใช้วิเคราะห์อาการนอนหลับแบบเฉพาะเจาะจง เพื่อตรวจหาปัญหาหรือความผิดปกติของการนอนหลับ หากรู้สึกผิดปกติในการนอนหลับสามารถเข้ารับการตรวจรักษาได้ สรุปแล้วอาการเหล่าก็มีข้อสรุปทางการแพทย์ที่แน่ชัด ไม่ใช่โกสนะ แต่ต้องยอมรับว่า เมื่อเกิดอาการผิดปกติกับร่างกายของเราก็จะทำให้เกิดความเครียดและความวิตกกังวลขึ้นมา จนทำให้อาจเกิดการกลัวที่จะนอนหลับหรือทำให้นอนไม่หลับได้ ซึ่งก็จะวนลูปทำให้เกิดภาวะผีอำ (Sleep Paralysis) ขึ้นอีก ดังนั้นเราควรจัดการความเครียดและหมั่นสำรวจความผิดปกติของร่างกายอยู่เสมอ เพื่อสุขภาพการนอนที่เต็มอิ่มไร้โกสกวนใจ ! ที่มา : Pobpad VITAL SLEEP BKK Sleep center ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา