เอ้ย! เอ้ย! โอ่ยยยยยยยยย! ไทกะ ไฟยะ ไซบะ ไฟบะ ไดบะ ไบบะ จ้าจ้า! คุ้นหูกันบ้างไหมนะเสียงนี้ ใครต่อใครที่เดินเฉียดไปในงานไอดอลคงมีตกใจกันบ้างล่ะกับพลังเสียงโอตะดังกระหึ่ม หรือแม้แต่ท่าทางแปลกตาชวนงง จนต้องเกาหัวแกร่กๆ ว่า “แฮะๆ พี่ๆ เขาทำอะไรกันเหรอครับเนี่ย!?” MangoZero ขอเสนออ การ์ตูนโอตะวิทยาฉบับเฮฮามีสาระ ชวนมารู้จักวัฒนธรรมการเชียร์ไอดอลสไตล์ญี่ปุ่นกันแบบคร่าวๆ เล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย คำศัพท์หน้ารู้บริเวณเวทีไลฟ์ รวมถึงข้อควรระวังที่ควรจำให้ขึ้นใจเพื่อความสุขของทุกๆ คน ถ้าพร้อมแล้วก็คว้าแท่งไฟ จับผ้าเชียร์กันให้แน่น เราจะพุ่งตัวเข้าไปคลุกวงมิกซ์ บุกสมรภูมิกันโอตะสายเชียร์กันอย่างแล้ววว เลทโกววว!! รู้จักวิธีเชียร์ไอดอล : เสียงต้องมา ไฮเซย์โนะ!! เอ้ย! เอ้ย! มาเริ่มกันที่การใช้เสียงก่อน กระหึ่มดุดันไม่เกรงใจใคร ยังไงก็ต้องพากันนึกถึง “การยิงมิกซ์” เป็นอย่างแรก! “ยิงมิกซ์” เป็นการเชียร์รูปแบบหนึ่งในวัฒนธรรมการติดตามไอดอลญี่ปุ่นเทียบกับฝั่งเกาหลีก็คือแฟนชานท์นั่นเองกล่าวคือการยิงมิกซ์นั้นเป็นการส่งเสียงร้องเชียร์ตามจังหวะของเพลงอย่างพร้อมเพรียงเพื่อกระตุ้นให้เกิดความฮึกเหิมเพิ่มความคึกคักนิยมใช้ในเพลงเร็วจังหวะมันส์ๆ โดยส่วนมากก็จะมีแพทเทิร์นเบสิคที่ใช้อยู่หลักๆ 3 อย่างได้แก่ มิกซ์มาตรฐาน (The Standard Mix) ร้องว่า “ไทกะ ไฟยะ ไซบะ ไฟบะ ไดบะ ไบบะ จ้าจ้า!” มิกซ์ญี่ปุ่น (The Japanese Mix) “โทระ ฮิ จินโซว เซนิ อามะ ชินโดว คะเซน ( โทบิ โจวเคียว )” มิกซ์ไอนุ (Ainu Mix) ร้องว่า ชาเปะ อาเปะ คาระ คิระ รารา ทุสเกะ (ไวสุเปะ เคสิ สุสปะ) / (เมียวฮอนทุสเกะ) แต่ละเพลงก็จะมีรูปแบบการยิงมิกซ์ที่ไม่เหมือนกัน อาจมีการใส่ชื่อเมมเบอร์ (Name Calls) หรือร่ายบทกาจิโค่ยบอกรัก ทั้งยังมีการใช้เสียงร้องโอ่ยยย อู้ว เอ้ย หวูหวู! ในเพลงด้วย ก่อนจะไปงานของวงไหนๆ ก็สามารถศึกษาการมิกซ์ของวงนั้นๆ ไว้ก่อนเพื่อความพร้อม ความเป๊ะ ร่วมกับคนอื่นๆ รู้จักวิธีเชียร์ไอดอล : ท่าต้องมี ไขข้อข้องใจกระจ่างแจ้งเรื่องเสียงกันไปแล้วทีนี้มาดูฝั่งท่าทางกันบ้างมีตั้งแต่ระดับเบสิคเบาๆจนถึงระดับเหนื่อยหอบท่าออกกำลังกายสลายไขมันกันเลยทีเดียว เคฉะ (Kecak) คือการปรบมือ และยื่นมือ ผายมือไปที่เวที เพื่อเป็นการส่งพลังให้กับไอดอลผู้เป็นที่รัก ถ้ามีแท่งไฟติดไม้ติดมืออยู่ด้วย ก็จะชูแท่งไฟไปข้างหน้าตามจังหวะเพลง โดยมักจะทำในช่วง Chorus ช่วงสุดท้ายหรือในท่อนที่คล้ายๆกันจังหวะช้าลงกว่าปกติ โอชิจัมพ์ (Oshi Jump) ท่ามกลางฝูงชนมากมายอยากให้เธอรู้จังว่าเชียร์อยู่น้าาเข้าใจง่ายตรงตัวคือการกระโดดเพื่อโอชินั่นเองส่วนใหญ่มักจะทำในช่วงท่อนร้องของเมมเบอร์ที่ชื่นชอบโดดให้สูงเท่าขนาดความรักที่มีให้เมมกันไปเลย ฟุริก็อปปี้ สายแด๊นซ์มาโชว์สเต็ปกันสักหน่อย ก็ “เต้นตาม” ไปเลยสิครับเธอเต้นยังไงเราก็เต้นด้วย เป็นการเลียนแบบท่าทางบางส่วนของไอดอล (มักจะเป็นท่อนฮุก) ซึ่งสามารถซักซ้อมกันไปจากบ้านเพื่อความเป๊ะได้แต่ส่วนใหญ่แล้วก็เน้นความสนุกสนาน ยิ่งได้เต้นไปด้วยกันหลายๆคนยิ่งสนุก โอตาเกะ (Wotagei) ย่อมาจากคำที่ฟังดูทางการสุดๆ อย่าง “ศิลปะแห่งโอตาคุ” การยิงโอตาเกะเป็นการเต้นด้วยท่าทางแปลกๆ แบบจัดใหญ่ ฉีกขา แกว่งแขน เหวี่ยงแขน หมุนไปหมุนมาประกอบการส่งเสียงเชียร์ ตอนกลางวันก็เต้นกันมือเปล่า ถ้ากลางคืนมืดเข้าหน่อยก็จะมีแท่งไฟประกอบด้วย ซึ่งความจริงจังของการเชียร์นี้ก็ระดับการจัดประกวดแข่งขันระดับโลก Cyalume Dance World Battle มาแล้ว รู้จักวิธีเชียร์ไอดอล : จัดเต็มเป็นหมู่คณะ มารวมตัวกันแล้วจะไม่จอยกันหน่อยคงไม่ได้ เพราะคนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย วงเล็กๆ ไม่ วงใหญ่ๆ สิชอบ! คนเดียวว่าไปสุดแล้วยังมีกิจกรรมเชียร์ที่จะต้องแท็กทีมพึ่งพากันด้วยซึ่งท่าที่เราจะเห็นตามงานกันอยู่บ่อยๆได้แก่ ลิฟต์ (Lift) เรียกง่ายๆ ว่าเป็นการต่อตัวกันนั่นแหละ โดยมีหนึ่งคนเป็นฐานยกตัวอีกคนให้สูงขึ้นไปในระดับพอๆ กับเวที เพื่อให้คนที่ถูกลิฟต์โดดเด่นเป็นที่สังเกต มีความใกล้ชิดกับไอดอลมากขึ้น บางคนก็จะมีการเคฉะไปด้วย ชูแท่งไฟ โบกธง โชว์เสื้อโชว์โปสเตอร์ระหว่างลิฟต์ และอาจแอดวานซ์ยกระดับเป็นอะไรแปลกๆ เพี้ยนๆ แบบสุดโต่งก็ตามแต่ผู้ถูกลิฟต์จะเลือกสรร ทั้งนี้ทั้งนั้น การลิฟต์ค่อนข้างอันตราย พลัดตกหัวแตกกันมาไม่น้อย ไหนจะหลายวงหลายงานก็มีกฎการห้ามลิฟต์อย่างจริงจัง ลิฟต์สุ่มสี่สุ่มห้าอาจโดนลากออกจากงานได้เหมือนกัน มอชพิต (Mosh Pit) สายดุเดือดฮาร์ดคอร์ถูกใจสิ่งนี้ แต่คนที่พบเห็นอาจจะตกใจว่า เฮ้ย มันมีคนยกพวกตีกันหรือเปล่า!? เพราะมีทั้งการวิ่งวนไปมากระโจนโลดโผนผลักกันกระแทกกันถกแขนเสื้อหาเรื่องชกต่อยสุดๆ การมอชพิตมีประวัติมาช้านานตั้งแต่ยุค 80s จากวัฒนธรรมดนตรีสายฮาร์ดคอร์พังก์ ก่อนขยายไปสู่แนวดนตรีอื่นๆ อย่างร็อก เมทัล รวมถึงการเชียร์ไอดอลแนวญี่ปุ่นด้วย ทั้งบ้าพลัง ปลดปล่อยพลังถึงขีดสุด แต่แฝงมิตรภาพแน่นแฟ้นในหมู่แฟนๆ ใครล้มใครเซก็พร้อมฉุดให้ยืนขึ้นได้เสมอ ไม่ต่างอะไรกับการเต้นรำสำหรับสาวกเมทัล อย่างไรก็ตามคงต้องดอกจันทร์ตัวแดงใหญ่ๆ ไว้ว่าเป็นการละเล่นที่อันตราย เสี่ยงต่อการปวดจริง เจ็บจริง แบบไม่ใช่สแตนอินละนะ ระวังกันด้วย แท่งไฟไฮ! ไฮ! อาวุธคู่ใจ นักรบมีดาบไว้ข้างกายฉันใด โอตะจะขาดแท่งไฟก็กระไรอยู่ แท่งไฟเรืองแสง หรือไซรูม (Cyalume) เป็นอุปกรณ์เชียร์ที่มักจะใช้ในงานคอนเสิร์ตไอดอล หรืออนิเมะ โดยไซรูมจะมีหลากหลายสีมากกกก โอชิใคร จะไปหาวงไหนอย่าลืมเช็กให้ชัวร์ว่าเมมเบอร์ที่เราชอบมีสีประจำตัวสีอะไร หักปุ๊บหลอดแก้วข้างในแตกปั๊บ เขย่าเล็กน้อยก็ใช้โบกได้เลย การใช้ไซรูม นอกจากจะใช้ถือประกอบการเชียร์ทั่วไป ใช้เคฉะ หรือยิงโอตาเกะแล้ว ยังสามารถประยุกต์ใช้ได้หลากหลายรูปแบบ อย่างเช่นนำมาสอดระหว่างนิ้วมือเป็นวูฟเวอร์รีนเหมือนอย่างใน X-MEN พอพลาดทำตกลงมาก็จะกลายเป็น Stardust มองไกลๆ เหมือนดาวตกสวยไม่หยอก แต่ถ้าคนเยอะๆ จะโยนไซรูมสู่ความเวิ้งว้างอันไกลโพ้นพร้อมกันก็อย่าลืมห่วงสวัสดิภาพหัวของทุกคนด้วยจ้า โตไปไม่ “พินจิเกะ” ? : ว่าด้วยตำนานเกรียนตั๋วชมพู พินจิเกะคืออะไร ทำไมถึงเรียกพินจิเกะ ? คำว่า “พินจิเกะ” (Pinchike) หมายถึง โอตะที่ทำตัวไม่น่ารัก มิกซ์มั่วๆ ตะโกนไม่รู้เวลา โยนของขึ้นเวที และการกระทำอื่นๆ อีกสารพัดที่รบกวนคนอื่นๆ ขณะดูการแสดงไลฟ์ของไอดอล ทำตัวเด่นแล้วคิดว่าตัวเองเจ๋งแจ๋วเป็นที่สุด ว่าง่ายๆ ก็คือ “พวกเกรียน” ! ที่มาที่ไปของคำนี้มาจากราคาตั๋ว AKB48 Theater ที่มีส่วนลด 1,000 เยน สำหรับผู้หญิงหรือเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งเจ้าตั๋วราคาอ่อนโยนนี้เป็นตั๋วสีชมพู! Pink Ticket ( ピンクチケット) กลายมาเป็น Pinchike ในที่สุด ด้วยความที่ตั๋วราคาถูก ทำให้เหล่าเด็กเกรียนแวะเวียนเข้าไปปั่นป่วน ต่อมาคำนี้ก็ใช้เป็นที่แพร่หลายจนไม่ได้จำกัดเฉพาะว่าจะต้องเป็นเกรียนโอตะฝั่ง 48 เสมอแต่พูดถึงเปรียบเปรยโอตะที่ทำตัวไม่โตไม่มีสามัญสำนึกหรือความรู้สึกผิดกับการกระทำแย่ๆแต่กลับภูมิอกภูมิใจซะอย่างนั้น แค่ฟังคำอธิบายก็รู้แล้วว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี ไม่น่าเอาเยี่ยงอย่าง สร้างความรำคาญ และลำบากใจ ไม่ว่าจะเป็นในหมู่แฟนคลับด้วยกันเอง หรือคนทั่วไปก็จะมีความรู้สึกแย่กับวัฒนธรรมการเชียร์ หรือมองเหมารวมโอตะในแง่ลบยิ่งกว่าเดิม เผลอๆ ก็พาลไปถึงไอดอลที่เรารักด้วยนะ ไม่เอาไม่ดี โตไปไม่เป็นพินจิเกะกันนะทุกคนนน รู้ก่อนลิฟต์ ยั้งก่อนมอช คิดก่อนมันส์ อะไรที่มากเกินไปก็ไม่ดีวัฒนธรรมการเชียร์สนุกสนานเกินห้ามใจหากไม่ทันระวังอยู่ผิดที่ผิดทางบางครั้งก็นำมาซึ่งผลเสียหรือผลกระทบต่อคนรอบข้างอย่างที่บอกไปก่อนหน้าว่าการเชียร์บางประเภทนั้นมีความเสี่ยงและอาจเกิดอันตรายได้เช่นการลิฟต์การมอชพิตหรือแม้แต่การยิงโอตาเกะรัวๆ ฉะนั้น ก่อนที่จะไปเชียร์กันขอนำเสนอข้อควรระวังที่ต้องชะงักยั้งคิดคำนึงกันสักหน่อย ปลอดภัยไว้ก่อน : ไม่ว่าเมื่อไรก็ต้องยกให้ความปลอดภัยมาเป็นอันดับหนึ่ง คิดจะสนุกกันอย่างเดียวไม่ได้หัวร้างข้างแตกบาดเจ็บกันมานัดต่อนัดแล้ว คิดจะเชียร์ท่าไหนอย่างไร ก็อย่าลืมสำรวจสุขภาพกายตัวเอง จะขึ้นจะลงจะกระโดดแบบไหนก็ระมัดระวังทุกครั้ง กระดูกหัก หลังกร๊อบแกร๊บ เจ็บนี้อีกนานนน สนุกวันเดียวปวดทั้งสัปดาห์ โฮ ใส่ใจทุกคนรอบข้าง : พูดถึงความปลอดภัยของตัวเองแล้ว ความปลอดภัยของผู้คนรอบข้างก็สำคัญพอๆ กัน ก่อนความสนุกสนานจะเริ่มต้นขึ้น อย่าลืมสังเกตรอบข้างให้ดีว่ามีใครอยู่ใกล้ๆ บ้างอยู่ในรัศมีที่เราอาจพลาดพลั้งไปทำใครเขาบาดเจ็บหรือไม่เรากำลังทำให้ใครหมดสนุกหรือเปล่า หากทำให้รู้สึกไม่ดีขุ่นเคืองหมองใจกัน พลาดไปทำคนอื่นบาดเจ็บแม้จะเล็กน้อยแค่ไหน เชื่อเถอะว่าการกล่าวคำขอโทษจากใจจริงไม่ได้ยากเย็นอะไรขนาดนั้น ถ้อยทีถ้อยอาศัยพึ่งพากัน แฮปปี้กันทุกคนทุกฝ่ายนะฮะ เคารพกฎ–กติกางาน : ท่องพร้อมกันนะ กฎกติกาคือข้อตกลงที่ทุกงานทุกถิ่นกำหนดร่วมกัน เพื่อให้งานของทุกฝ่ายดำเนินไปได้ด้วยดี อย่าลืมเช็กกันไปก่อนจะเริ่มงานใดใดว่ามีข้อบังคับอะไรบ้าง ห้ามนำป้ายเชียร์ใหญ่กว่า A4 เข้าไป ห้ามลิฟต์ ห้ามมอชพิตหรือเปล่า แต่ถ้างานไหนชี้แจงชัดว่าไม่ได้ห้าม ก็ปล่อยจอยได้เต้มที่เท่าที่แฮปปี้ได้เลย (แต่อย่าลืมย้อนกลับไปที่ข้อ 1 และ 2 อีกครั้ง) รวมถึงการรู้จักกาลเทศะ อ่านบรรยากาศให้เป็น เวลาไหนควรทำอะไรหรือไม่ทำอะไรพื้นที่ไหนที่สามารถทำได้หรือไม่ได้และช่วยกันรักษาความสะอาดไม่เพลินเกินจนเผลอทำลายข้าวของสาธารณะด้วยนะทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อความสุขในการรับชมไลฟ์ร่วมกันของโอตะทุกสาย ไม่ยิงมิกซ์ผิดไหม? ไม่อยากออกท่าทางเชียร์ เรายืนยิ้มกุมใจมองไอดอลอย่างเดียวได้หรือเปล่า? คำตอบก็คือ “ได้แน่นอนอยู่แล้ว! ไม่ผิดเลย!” ในขณะเดียวกันถ้าจะถามว่าวัฒนธรรมการเชียร์แบบฮาร์ดคอร์ผิดไหมอันที่จริงก็ “ไม่ผิดเช่นเดียวกัน” เพราะคนเรามีวิธีการแสดงความรักและสนับสนุนไอดอลที่ชอบไม่เหมือนกัน บางคนรักที่จะร้องตะโกนยิงมิกซ์ให้ดังสะใจ ทุ่มเทแบบสุดตัว บางคนอยากจะเต้นให้สุด ใส่เต็มร้อย ให้โลกรู้ บ้างชอบที่จะบันทึกรอยยิ้มความน่ารักสดใสผ่านกล้องมือถือหรือเลนส์ตัวโปรด หรือแม้แต่บางคนที่อยากจะยืนยิ้มชื่นชมมองความสำเร็จไอดอลในมุมของตัวเองอย่างสงบ สิ่งสำคัญ คือการเคารพในความแตกต่างของแต่ละคน นึกถึงใจเขาใจเรา รู้จักเกรงใจ ไม่เบียดเบียนสร้างความเดือดร้อนให้กันและกัน นอกเหนือไปจากนี้ คือการให้ความเคารพเมมเบอร์ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่กำลังพยายามทำตามความฝันของตัวเองอย่างสุดความสามารถ ไม่คุกคาม ไม่สร้างความลำบากใจให้น้องๆ ด้วยน้า สุดท้ายนี้ ขอให้ทุกคนตามไอดอลอย่างมีความสุข และสบายใจกันถ้วนหน้านะฮะ! ที่มา : blockdit yeahthaiger unlockmen fungjaizine fun-japan.jp asianbeat ineungs.blogspot