เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมเมืองไทย การนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนา หรือพระพุทธเจ้าถึงกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีใครนิยมทำกัน หรืออาจจะเป็นเพราะทุกครั้งที่ทำมักจะถูกมองว่าลบหลู่ดูหมิ่น บ้างก็ถูกคำด่าสาดเสีย เรียกได้ว่า “น้อยคนทำ หลายคนติ” จริงๆ ในทางกลับกันหากพูดถึงการวาดการ์ตูน การสร้างหนัง รวมไปถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวของกับศาสนา ประเทศที่มักจะเห็นบ่อยๆ ก็คงหนีไม่พ้น “ญี่ปุ่น” ยิ่งถ้าคุณเป็นแฟนตัวยงอนิเมะ หรือมังงะจากญี่ปุ่น คงเห็นการสร้างสรรค์เนื้อหาเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าออกมาไม่น้อย ทั้งๆ ที่คนในประเทศก็มีชาวพุทธอาศัยอยู่ นั่นก็เป็นเพราะว่าที่ญี่ปุ่นนั้นนับถือศาสนาพุทธคนละนิกายกัน ซึ่งนับถือนิกายมหายานเป็นหลักควบคู่ไปกับลัทธิชินโต ส่งผลให้หลักการความคิดต่างจากของไทยเป็นอย่างมาก รวมไปถึงหลักการออกแบบของชาวญี่ปุ่นนั้นให้ความสำคัญกับความกลมกลืน และการเป็นส่วนหนึ่งกับสิ่งรอบๆ ตัว จึงทำให้สามารถผลิตผลงานออกมาได้โดยไม่มีใครด่าทอ และเมื่อของไทยมันหาดูยากนัก! ชาวแมงโก้ก็เลยอยากพาทุกคนมาธุจ้ากับเหล่า “พระพุทธเจ้าในโลกอนิเมะ” กัน เรียกได้ว่าเตรียมท่องนะโมตัสสะ หรือจะอะนาตาปัต ชะเย อะปัตติเถ เถมา ชึ้ยย!! ในแบบฉบับญี่ปุ่นได้ แต่ละเรื่องจะมีการออกแบบ หรือนำเสนอความครีเอทีฟกันยังไงบ้าง ก่อนจะไปอ่านกัน…อย่าลืมพูดบุดด้าาาสาธุ 🙏🏼 กันก่อนนะทุกคน 🙏🏼 Saint Young Men (2012) หนังเรื่องนี้ถือเป็นอันดับต้นๆ ที่หลายคนนึกถึงหากจะพูดถึงอนิเมะเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ศาสดาลาพักร้อน หรือ Saint Young Men เล่าเรื่องราวพระพุทธเจ้า และพระเยซูที่ขอลาพักจากภารกิจอันยิ่งใหญ่ เพื่อพักร้อนหย่อนกายสบายใจ ซึ่งขณะมาพักผ่อนบนโลกทั้งสองพยายามปิดบังตัวตน ใช้ชีวิตให้เหมือนคนธรรมดามากที่สุด ไม่ว่าจะท่องเที่ยว ซื้อของ ดื่มเบียร์ หรือเล่นวิดีโอเกมก็ตาม แน่นอนว่าผู้เขียนเรื่องนี้ “อาจารย์ฮิคารุ” ไม่ได้นำเสนอแค่ด้านความสนุก ตลกโบ๊ะบ๊ะอย่างเดียวเท่านั้น เพราะเนื้อหายังแฝงไปด้วยเรื่องราวของศาสนา คำสอน และประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่ให้ประโยชน์แก่ผู้รับชม จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างดีๆ ที่ทำให้เห็นชัดว่า “การออกแบบศิลปะของญี่ปุ่นสามารถผสมผสานสิ่งรอบตัวได้อย่างกลมกลืน” จริงๆ 🙏🏼 Record of Ragnarok (2021) ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “Record of Ragnarok” กลายเป็นอนิเมะเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ที่หลายคนกำลังให้ความสนใจอยู่ตอนนี้ นำเสนอเรื่องราว 7,000 ปีหลังของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ โดยเหล่าเทพที่ดูแลโลกนี้ได้ตัดสินร่วมกันว่า “มนุษย์นั้นเกินเยียวยา และจำเป็นต้องสูญพันธุ์สักที” แต่แล้วก็มีเทพธิดาองค์หนึ่งได้เสนอให้มนุษยชาติมีโอกาสสุดท้าย ด้วยการพิสูจน์คุณค่าผ่านการจัดศึกแร็กนาร็อก เป็นการแข่งขันต่อสู้ตัวต่อตัวระหว่างมนุษย์ที่เก่งกาจ 13 คน โดยจะได้รับพลังความช่วยเหลือจากเทพธิดา เผชิญหน้ากับเหล่าเทพที่มีแสนยานุภาพสูง 13 คน โดยถ้ามนุษย์สามารถชนะ 7 ครั้งในการประลองก็จะละเว้นโทษได้ ในส่วนของบุดด้าเรื่องนี้ หรือศากยะมุณีชีวิตของท่านก็สุขสบายไม่ได้เดือดร้อนอะไร แต่จุดที่ทำให้หลายคนต่างให้ความสนใจ และเป็นแฟนคลับท่านโดยไม่รู้ตัว ก็มาจากความเก่งขั้นเทพตอนต่อสู้ที่ดุเดือด มันส์มาก จนกลายเป็นซีนตราตรึงใจ รวมไปถึงประโยคเด็ดมากมายที่คารมคมคายสุดๆ ทำให้ศากยะมุณีผู้นี้โด่งดัง ถูกพูดถึงอย่างมากจากเหล่าแฟนอนิเมะ จนมีช่วงหนึ่งที่ไถฟีดเฟซบุ๊คก็จะเจอแต่หน้าท่าน อีกทั้งยังมีแฟนอาร์ตมากมายพากันวาดรูปในบุคลิก ซีนต่างๆ ที่โปรดปรานกันออกมาเรื่อยๆ เรื่องราวเหล่านี้จึงเป็นที่มาของการแปลชื่ออนิเมะภาษาไทยว่า “มหาศึกคนชนเทพ” นั่นเอง 🙏🏼 Buddha : The Great Departure (2011) ในอินเดียโบราณชีวิตของผู้คนจำนวนมากถูกความแห้งแล้ง ความอดอยาก สงครามถาโถมอย่างต่อเนื่อง และความอยุติธรรมในระบบวรรณะ ทำให้เหล่าดวงวิญญาณที่ไม่มีความสุขทั้งหลายถูกดึงดูดมารวมกันโดยการประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะพระพุทธเจ้า “ผู้รู้แจ้ง” และพยายามที่จะสร้างจิตวิญญาณใหม่ของผู้คนในยุคที่สิ้นหวังนี้ โดยเขาได้ทำสงครามกับอาณาจักรโกศลที่มีอำนาจมากกว่าอยู่ตลอดเวลา แต่แล้วก็มีเหตุการณ์ให้เขาได้สัมผัสความรักเป็นครั้งแรก จึงทำให้เขาต้องตัดสินใจทบทวนความคิดตัวเองอีกครั้งว่าจะเลือกเดินเส้นทางไหนกันแน่ 🙏🏼 Saint Seiya (1986) หนึ่งในการ์ตูนที่โด่งดังตลอดกาล “Saint Seiya” เนื้อเรื่องจะเป็นการผสมผสานระหว่างความเชื่อของหลายศาสนาที่เป็นที่รู้จักในญี่ปุ่น เล่าถึงเทพีอาธรน่าที่ได้รับการปรนนิบัตจากนักสู้ว่า “นักบุญ” (Saint) ซึ่งเป็นผู้ถ่ายทอดพลังแห่งจักรวาลในตัวพวกเขา ในขณะเดียวกันก็มีเยาวชนชื่อ Seiya ที่กำลังฝึกฝนเพื่อเป็น Saint ด้วยตัวเอง จากการรับอาวุธสุดลึกลับของ Pegasus เขาได้เข้าร่วมกับนักบุญคนอื่นๆ ด้วยวิธีของพวกเขาเองเพื่อต่อสู้กับเทพีอาธีน่า โดยตัวเด่นในเรื่องนี้อย่าง “เวอร์โก้ ซากะ” พระพุทธเจ้าผู้ปกป้องเทพีอาธีน่า มีลักษณะของพุทธศาสนาอย่างชัดเจน ซึ่งซากะมักจะหลับตาอยู่ตลอดเพื่อปิดประสาทสัมผัสทั้ง 5 และเพิ่มพลังให้ประสาทสัมผัสที่ 6 กับ 7 สอดคล้องกับแนวทางของพุทธศาสนาที่ให้ลด ละ เลิก จากกิเลสทั้งปวง เรียกได้ว่าอย่าให้ชากะลืมตา เพราะไม่แหลกสลายพังทลายไปให้หมด ก็อาจจะเป็นการแสดงถึงพลังอย่างเต็มแม็กแล้วก็ได้ ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมอนิเมะเรื่องนี้ถึงยังเป็นตำนานในใจของหลายๆ คน ด้วยการหยิบประเด็นน่าสนใจจากมุมมองต่างๆ มานำเสนอผ่านอนิเมะที่สร้างความสนุกได้ขนาดนี้ 🙏🏼 Pom Poko (1994) ภาพยนตร์อะนิเมชันที่ได้รับการยกย่องว่าเซอร์ไพร์สผู้ชมสุดๆ (แต่ในแง่ลบนะ) เกิดขึ้นในช่วงปี 1960-1969 ฝูงทานุกิถูกรุกรานจากการขยายที่ทำกินแถบเนินเขา Tama ทำให้พวกมันต้องต่อสู้รักษาบ้านของตนเองไว้ จึงได้ริเริ่มกระบวกการต่อต้านมนุษย์ทันที ผ่านการใช้ความสามารถที่มีอยู่คือ การแปลงร่างปลอมตัว เพื่อหาทางยุติการแปรรูปที่ดินเหล่านั้น มากไปกว่านั้นตัวเรื่องยังเสียดสีความชั่วร้ายของสังคมมนุษย์ผ่านในแง่มุมต่างๆ ทั้งทานูกิเปรียบมนุษย์ดั่งพระเจ้าที่สามารถปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ จากธรรมชาติเขียวขจีให้กลายเป็นโลกใหม่ของตนเอง โดยฉากนั้นมีการสื่อสารที่ชัดเจนมากคือ การสมมติภาพมนุษย์เป็นพระพุทธเจ้า ที่มีรูปร่างสูงใหญ่โตกว่าภูเขาบ้านเรือนเสียอีก 🙏🏼 The Great Buddha Arrival (2018) เป็นผลงานการสร้างโดยหยิบเอาพระพุทธรูป “ไดบุตสึ” มาเป็นตัวเอกของเรื่องจากการสร้างของ “เอดะมาสะ โยชิโร่” ผู้ดูแลการถ่ายทำของเอจิ ซึบุราญ่า และเป็นผู้สร้างอุลตร้าแมน ก๊อดซิลล่าอีกด้วย ซึ่งเนื้อหาก็ไม่ได้ดัดแปลงอะไรมาก มีการดึงเค้าโครงจากเรื่องเก่ามาพอสมควรคือ มีประติมากรรมพระพุทธรูปองค์หนึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมือง ซึ่งตลอดระยะเวลามี่ผ่านมาก็ได้ยินเสียงสวดมนต์ และทนทุกข์ของชาวบ้านจึงลุกขึ้นเดินเพื่อไปช่วยเหลือ แน่นอนว่ามนุษย์รู้สึกตกใจคิดว่าพระพุทธรูปเป็นสัตว์ประหลาดที่จะมาทำลายโลก จึงคิดหาทางใช้กองทัพเพื่อจัดการกับพระพุทธรูปดังกล่าว อ่านกันมาถึงตรงนี้! คงอดคิดกันไม่ได้ล่ะสิว่าถ้าเรื่องนี้ถูกสร้างที่ไทย..ต้องโดนต่อว่ากันแน่ๆ 🙏🏼 The Rebirth of Buddha (2009) ผลงานอนิเมะที่เกิดจากลัทธิ Happy Science โดยมีความเชื่อว่า “พระพุทธเจ้ากลับชาติมาเกิดใหม่” ซึ่งคำแนะนำก่อนดูคือ ต้องศึกษารายละเอียดให้ดี ไม่ก็ปล่อยวางจิตใจ และคิดว่าเป็นเพียงแค่การเสพผลงานศิลปะ เพราะเนื้อหาค่อนข้างจะขัดกับความเชื่อศาสนาพุทธโดยทั่วไป เป็นเนื้อเรื่องเกี่ยวกับ Sayako Amanokawa อายุ 17 ปี นักเรียนมัธยมปลายหญิง เธอใฝ่ฝันที่จะเป็นนักข่าวเหมือนกับ Tokuzo Kanemoto เพื่อนผู้ล่วงลับของพ่อเธอที่รู้สึกอับอายกับรายงานที่ผิดพลาดเกี่ยวกับการทุจริตอื้อฉาว ส่งผลให้เขาฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดตัดหน้ารถไฟ หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ Sayako มีพลังวิเศษในการมองเห็น และโต้ตอบกับวิญญาณได้จนมีเหตุการณ์ที่ทำให้เธอเฉียดตายมาแล้ว ด้วยสัญชาติญาณการเป็นนักข่าวในตัวเธอ ปลุกไฟให้เกิดความคิดที่อยากจะทำภารกิจเพื่อค้นหาคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้นกับ Kanemoto ที่เสียชีวิตไป แต่…สิ่งที่เธอกำลังเผชิญอยู่นั้นเป็นเรื่องเกินกว่าที่เธอจินตนาการไว้ เพราะใครคนนั้นอาจจะเป็นพระพุทธเจ้าที่กลับชาติมาเกิดใหม่ได้! 🙏🏼 Namu Amida Butsu! : Rendai Utena (2019) โครงของอนิเมะเรื่องนี้มีการดัดแปลงมาจากเกมมือถือแนวผจญภัยการ์ดเกม Namu Amida Butsu! (~ นะโมอมิตาพุทธ) เมื่อปี 2016 ซึ่งหลังจากเกมถูกปล่อยออกไป 3 ปีก็มีการทำเป็นอนิเมะเกิดขึ้น เล่าเรื่องราวของกลุ่มบุดด้า 13 องค์ที่จุติในโลกปัจจุบันเพื่อช่วยเหลือผู้คนจากกิเลศทางโลกทั้งเกิด แก่ เจ็บ ตาย ซึ่งกิเลศเหล่านั้นปรากฎขึ้นมาในรูปแบบมารผจญ ทำให้เหล่าบุดด้าต้องออกบู๊เพื่อคอยปราบมารศัตรูที่กวนใจคนทั้งหลาย โดยได้รับความช่วยเหลือจากเทพอีก 2 องค์คือ Taishakuten (ท้าวสักกะ, พระอินทร์) และ Bonten (พระพรหม) ผ่านมุมมองการนำเสนอความขัดแย้ง ตลอดจนหลักธรรม และแนวคิดทางพุทธศาสนาก็สามารถถ่ายทอดออกมาได้เป็นอย่างดี จึงเป็นอนิเมะที่ได้รับการพูดถึงอยู่บ่อยๆ หากใครต้องการดูแนวพระพุทธเจ้า และพระเยซู 🙏🏼 Fate/Extra Last Encore (2018) แรกเริ่มเดิมทีอนิเมะเรื่องนี้เคยเป็นเกมแนว Visual Novel หรือเกมที่มีเนื้อหาให้อ่านยาวๆ แบบนิยาย ซึ่งคนเล่นสามารถเลือกคำตอบเพื่อกำหนดผลลัพธ์ของเรื่องราวได้ และตัวเกมก็มีเนื้อเรื่องให้ติดตามทั้งหมดสามแบบ เรียกได้ว่าพอทำเป็นอนิเมะก็เลยต้องมีหลายภาคนั่นเอง บุดด้าในเรื่องนี้ชื่อว่า Saver โดดเด่นดีไซน์สุดเท่กับลุคผมสีเขียว มีความสามารถที่น่ามหัศจรรย์คือ ปกครองระบบสุริยะได้ง่ายๆ พร้อมปลดปล่อยผู้คนผ่านการทำให้ตระหนักรู้ได้ด้วยตัวเองบนเส้นทางที่สอนชื่อว่า “หนทางสู่พุทธะ” ซึ่งมีอยู่หนึ่งสกิลสุดเทพของเขาที่หลายคนต่างให้ความนับถือชื่อว่า โมเนจู โนซาโตริ แปลว่าต้นศรีมหาโพธิ์ที่ไว้ปกป้องผู้สร้างสัจจะแห่งโลก นอกจากนี้ยังมีสกิลที่อ้างอิงมาจากพระไตรปิฎกอีกด้วย เช่น สมาธิ ทุกกะ สมุทัย มัชฌิมาปฏิปทานแปลว่าทางสายกลาง อันเป็นแก่นแท้ของพุทธศาสนา มีข้อสังเกตอีกอย่างพระพุทธเจ้าในเรื่องนี้จะมีกายาที่ผอมบาง ซึ่งบ่งชี้ไปถึงช่วงที่ท่าน “บําเพ็ญทุกรกิริยา” เรียกได้ว่าท่านเต็มไปด้วยสกิลที่พร้อมช่วยเหลือทุกคนสมกับชื่อ Saver จริงๆ ขอบคุณข้อมูล : Wikipedia