เข้าสู่ช่วงสุดท้ายของซีรีส์ #กุมภาพอร์น ซีรีส์พิเศษเนื่องในเดือนแห่งความรักที่เราอยากจะให้ทุกคนได้เดินทางบนชีวิตรักและชีวิตเซ็กซ์ได้อย่างมีสวัสดิเพศ โดยเฉพาะในช่วงเวลาแห่งความฟินของทั้งคู่ หากเราไม่ ‘Safe’ ไว้ก่อน ก็อาจทำให้เซ็กซ์ กลายเป็นเรื่อง ‘เซ็ง’ แบบไม่ทันตั้งตัวได้ จากสถิติจาก เว็บไซต์ สสส. ล่าสุด (ปี 2562) พบว่า เยาวชนไทยมีผู้ติดโรคทางเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้น สวนทางกับเคสตั้งท้องเมื่อไม่พร้อมที่มีจำนวนลดลง สิ่งเหล่านี้บอกอะไรกับเรา ? แปลว่าเยาวชนไทยมีความรู้เรื่องคุมกำเนิดไม่น้อย แต่อาจยังไม่ให้ความสำคัญกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากพอ ทั้งที่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายไม่แพ้กัน เราจึงอยากหยิบ TOP 5 โรคฮิตติดโพลในกลุ่มเยาวชนไทย ช่วงอายุ 15 – 24 ปี เป็นมากที่สุด (อ้างอิงจากเอกสารสถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 5 โรคหลักในเยาวชน ประเทศไทย ปี 2557-2561 ของเว็บไซต์กรมควบคุมโรค) ซึ่งแต่ละโรคคืออะไร มีอาการแบบไหน มาทำความรู้จักไปพร้อม ๆ กันเลยดีกว่า! อันดับที่ 1: โรคหนองในแท้ (Gonnorhea) หลาย ๆ คนอาจจะนึกว่าอันดับ 1 คงต้องเป็นโรคเอดส์แน่ ๆ เลย แต่ขอบอกว่าไม่ใช่จ้า เพราะโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อันดับ 1 กลับเป็นโรคหนองในแท้ เนื่องจากเชื้อของโรคหนองในแท้เนี่ยสามารถเจริญเติบโตได้ในเขตร้อนชื้นอย่างบ้านเราเป็นอย่างดีนั่นเอง ทางด้านอาการ คุณผู้ชายจะมีหนองสีเขียวหรือสีขาวไหลออกมาจากอวัยวะเพศ ส่วนคุณผู้หญิงจะมีอาการตกขาวผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นสีเขียวหรือสีเหลือง และมีปริมาณมากกว่าปกติ หลายคนอาจยังไม่รู้ แต่หนองในแท้ไม่ได้ติดต่อผ่านการมีเซ็กซ์ด้วยการสอดใส่ทางอวัยวะเพศอย่างเดียวเท่านั้นนะ! เพราะถ้ามีเชื้ออยู่ในร่างกาย ไม่ว่าจะมีเซ็กซ์ผ่านทางทวารหนัก ออรัลเซ็กซ์ หรือวิธีไหนก็ตามที่เยื่อบุในร่างกายสัมผัสกับสารคัดหลั่ง ก็มีโอกาสแพร่เชื้อให้คนอื่นได้เหมือนกัน! อันดับที่ 2: โรคซิฟิลิส (Syphilis) ถ้าเพื่อน ๆ เคยชมละครเรื่อง ‘ทองเนื้อเก้า’ ก็อาจจะเคยเห็นตัวละครที่ชื่อ ‘ลำยอง’ ป่วยเป็นโรคนี้อยู่ นอกจากอาการจะดูน่ากลัวแบบในละครแล้ว อาการของโรคซิฟิลิสยังมีมากกว่านั้น โดยสามารถแบ่งเป็น 4 ระยะ ซึ่งมีอาการแตกต่างกันดังนี้ ระยะที่ 1 ระยะเป็นแผล จะมีตุ่มเล็ก ๆ เกิดขึ้นในบริเวณที่เชื้อเข้า และแตกออกกลายเป็นแผลกว้างขึ้น แผลจะไม่เจ็บ ไม่คัน เราเรียกระยะนี้ว่า ‘แผลริมแข็ง’ ระยะที่ 2 ระยะเข้าออกดอก จะมีลักษณะตุ่มนูนสีแดงปรากฎขึ้น อาจพบเนื้อตายย่อม ๆ เรียกว่า ‘ระยะออกดอก’ และอาจพบอาการอื่นร่วมด้วย เช่น รู้สึกไม่สบาย มีไข้ต่ำ ๆ แม้อาการจะดูไม่หนักมาก แต่ทว่าในช่วงระยะที่ 1 – 2 ถ้าเราไปตรวจเลือดจะพบว่าผลการตรวจเชื้อจะเป็นลบ ซึ่งหมายความเราจะไม่สามารถทราบได้เลยว่าเราติดเชื้อซิฟิลิสหรือยัง ระยะแฝง เป็นระยะคาบเกี่ยวระหว่างระยะที่ 2 – 3 มักระยะที่ไม่แสดงอาการ หลอกให้เราเชื่อว่าหายป่วยแล้ว ก่อนจะพาเดินทางเข้าสู่ระยะสุดท้าย ระยะที่ 3 ระยะทำลาย มาถึงระยะสุดท้าย ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาจทำให้เชื้อเข้าสู่สมองและไขสันหลัง เป็นสาเหตุให้เป็นอัมพาต ความจำเสื่อม หรือตาบอดได้ และถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจอันตรายถึงชีวิตเลยก็ได้ นอกจากเชื้อซิฟิลิสที่ก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ อย่างที่บอกไปแล้ว เรายังอาจได้ของแถมมาเป็น HIV อีกด้วย เนื่องจากเชื้อซิฟิลิสทำให้เราเกิดบาดแผลตามร่างกาย จึงเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อ HIV สูงกว่าคนทั่วไปถึง 2 – 5 เท่าเลยทีเดียว สำหรับข้อสงสัยที่ว่า เชื้อซิฟิลิสสามารถติดต่อได้โดยไม่ต้องมีเซ็กซ์จริงหรอ ? ขอบอกว่าเป็นเรื่องจริงจ้า เพราะเชื้อสามารถติดต่อผ่านทางสารคัดหลั่ง อย่างเช่น บาดแผลหรือเยื่อบุตา ถ้ามีการสัมผัสกันก็มีโอกาสติดเชื้อได้เหมือนกัน แต่ก็อย่าเป็นกังวลไป ถ้าเราไม่ได้มีบาดแผลตามร่างกายยังสามารถจับมือถือแขนและใช้สระว่ายน้ำที่มีมาตรฐานร่วมกับผู้ป่วยเหล่านี้ได้ตามปกตินะ อันดับที่ 3: โรคหนองในเทียม (Non Gonococcal Urethritis) แค่ชื่อก็ฟังดูเป็นพี่น้องกับโรคหนองในแท้ใช่ไหมล่ะ สาเหตุก็เพราะว่าทั้ง 2 โรคมีอาการคล้าย ๆ กัน เพียงแต่หนองในเทียมจะมีอาการเบากว่าหนองในแท้ เนื่องจากเกิดมาจากเชื้อคนละชนิดกันนั่นเอง แล้วเชื้อแตกต่างกันยังไงล่ะ ? ถ้ามองในด้านรูปลักษณ์ก็จะพบว่าโรคหนองในแท้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีลักษณะเป็นทรงกลมมีหนาม ส่วนหนองในเทียมเกิดจากเชื้อแบคทีเรียทรงกลมนั่นเอง สำหรับใครที่อยากศึกษาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแบคทีเรียทั้ง 2 ชนิด สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ Chlamydia vs. gonorrhea นอกจากอาการที่คล้ายกันแล้ว เจ้าหนองในเทียมก็สามารถแพร่กระจายเชื้อได้ง่ายมาก ๆ เหมือนหนองในแท้เลยล่ะ ไม่ว่าจะผ่านการสัมผัสผ่านสารคัดหลั่งและเด็กในครรภ์ก็สามารถติดเชื้อได้อีกด้วย อันดับที่ 4: โรคแผลริมอ่อน (Chancroid) โรคแผลริมอ่อนเป็นอีกหนึ่งโรคที่พบได้บ่อยรองจาก 3 โรคข้างต้น ทั้งยังเป็นอีกหนึ่งโรคที่ติดต่อกันได้ง่ายมาก แถมเชื้อยังทำให้เกิดแผลแบบเดียวกับซิฟิลิส จนบางครั้งเราจึงเรียกโรคนี้ว่า ‘โรคซิฟิลิสเทียม’ ในส่วนของอาการ ผู้ชายจะสังเกตเห็นตุ่มแดงขนาดเล็กไม่กี่ตุ่มที่อวัยวะเพศ ส่วนผู้หญิงก็พบตุ่มแดงบริเวณอวัยวะเพศเช่นกัน แต่จะมากกว่าผู้ชาย และอาจมีอาการปวดตรงอวัยวะเพศขณะปัสสาวะ อุจจาระ หรือระหว่างมีเซ็กซ์เป็นอาการร่วม สำหรับโรคแผลริมอ่อนนั้น จะหายได้ถ้าเราได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง และถ้ายังปล่อยให้แผลลุกลามไปมากก็มีโอกาสที่อวัยวะส่วนที่ติดเชื้อของเราจนแหว่งไปได้ด้วยนะ! อันดับที่ 5: กามโรคของต่อมและท่อน้ำเหลือง (Lymphogranuloma Venereum OR Climatic Bubo) หรือที่บางคนเรียกว่า ‘ฝีมะม่วง’ ในปัจจุบัน โรคนี้จะพบได้บ่อยในแถบยุโรปและอเมริกา จึงน่าแปลกใจที่กามโรคติดอยู่ในท็อป 5 อันดับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในประเทศไทย เป็นเพราะอะไรกันนะ ? เราลองมาทำความรู้จักเพิ่มเติมกันหน่อยดีกว่า อาการของกามโรคของต่อมและท่อน้ำเหลืองสามารถแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ระยะแผล จะมีตุ่มนูนใส และมีแผลขนาดเล็ก ๆ ขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ และจะหายไปได้เองใน 2 – 3 วัน ส่วนมากผู้ป่วยหลาย ๆ คนมักไม่สังเกตเห็น ระยะที่ 2 ระยะฝี ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบจะบวมโตจนติดกันเป็นก้อนฝีขนาดใหญ่ และเจ็บมากจนอาจจะเดินไม่ได้ แต่จะสามารถยุบหายได้เองภายใน 2 – 3 สัปดาห์ ในบางรายฝีอาจแตกเป็นหลายรูและมีหนองไหลเยิ้มจนกลายเป็นแผลเรื้อรัง ระยะที่ 3 ระยะสุดท้าย เกิดขึ้นหลังได้รับเชื้อมายาวนานถึง 20 ปี นอกจากอาการข้างต้นแล้ว อาจมีอาการลำไส้อักเสบ คันบริเวณก้น รวมถึงมีหนองและเลือดออกจากทวารหนัก โรคนี้สามารถติดต่อผ่านแผลหรือเยื่อบุมีการสัมผัสสารคัดหลั่ง ถึงแม้เราติดเชื้อดังกล่าวแล้ว ต่อให้ไม่ไปหาหมอร่างกายของเราก็สามารถรักษาตัวเองจนหายขาด เว้นแต่ว่าเราเป็นคนที่มีภูมิต้านทานที่ไม่ค่อยดีอาจจะต้องไปพบแพทย์สักหน่อย เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี จะได้ป้องกันไม่ให้เชื้อลุกลาม เราจะมี Sex ให้ Safe และปลอดโรคได้อย่างไร ? 1) สวมถุงยางขณะมีเซ็กซ์เสมอ นอกจากถุงยางจะป้องกันการตั้งท้องแล้ว ยังป้องกันการติดเชื้อระหว่างมีเซ็กซ์ได้อีกด้วย และหากใช้อย่างถูกวิธีจะมีประสิทธิภาพป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ถึง 90% เลยทีเดียว หากใครยังไม่รู้วิธีการใช้ถุงยางที่ถูกต้อง สามารถเข้าไปอ่านบาทความถุงยางจากซีรีส์ #กุมภาพอร์น ได้ที่ #HaveASafeSex เช็คให้ชัวร์ก่อนใช้ถุงยางอนามัยได้เลยจ้า @mangozero #HaveASafeSex เช็คให้ชัวร์ก่อนใช้ถุงยางอนามัย ไอเท็มที่จะช่วยให้ภารกิจในคืนนั้นของคุณลื่นปื้ด ลื่นปื้ด #กุมภาพอร์น #TheZeroJunior8 #tiktokuni ♬ Warm and comical songs – East Valley Music 2) หมั่นตรวจภายในเป็นประจำทุกปี การตรวจภายใน นอกจากจะ Safe ตัวเองได้แล้ว ยังสามารถ Safe คนรักได้อีกด้วย เพราะถ้าเรารู้เร็ว รักษาเร็ว ก็หายเร็วได้! โดยเราสามารถเริ่มตรวจภายในได้ตั้งแต่อายุ 21 ปี หรือภายใน 3 ปีหลังการมีเพศสัมพันธ์ก็ได้นะ! 3) อย่าลืมที่จะไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพราะโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ไม่ได้ติดจากการมีเซ็กซ์เท่านั้นนะ! บางทีแค่เราไปสัมผัสเลือดหรือสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อเราก็มีโอกาสติดได้เหมือนกัน การพบแพทย์นอกจากจะเป็นการตรวจหาโรคแล้ว ก็ยังทำให้เราได้รู้อีกด้วยนะว่าสุขภาพของเราเป็นยังไงบ้าง สุดท้ายแล้วก็อยากให้มองเรื่องเซ็กซ์ไม่ใช่เรื่องไกลตัวดังนั้นโรคติดต่อเองก็เช่นกัน เพราะการไม่มีเซ็กซ์ไม่ใช่ทางออกในการหลีกเลี่ยงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เราอาจจะต้องทำความเข้าใจและป้องกันอย่างถูกวิธีต่างหากที่จะช่วยลดปัญหาเรื่องโรคติดต่อเหล่านี้ให้หมดไป นี่จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่เราต้องศึกษา เรียนรู้ และส่งต่อความเข้าใจเรื่องเซ็กซ์ให้คนรอบข้าง เพื่อให้ทุกคนได้ Have a Safe Sex ยังไงล่ะ!