ปี 2021 ถือเป็นอีกหนึ่งปีที่ยาวนานในความรู้สึก เมื่อทุกอย่างในโลกบันเทิงถูกฟรีซไว้ชั่วขณะจากสถานการณ์โควิด-19 เราผ่านการล็อคดาวน์ปิดประเทศกันมาหลายครั้ง แต่ในขณะเดียวกันในขวบปีนี้ ก็มีเหตุการณ์ในโลกบันเทิงเกิดขึ้นมากมาย ทั้งเรื่องที่น่ายินดี และบทเรียนที่ทำให้สังคมได้ตระหนักถึงหลายสิ่งที่ผ่านมา Mango Zero จึงอยากจะใช้ช่วงเวลาตลอดสัปดาห์สุดท้ายของปีนี้ พาทุกคนแฟลชแบ็คย้อนเวลาไปทบทวนเหตุการณ์ตลอดทั้งปี กับ 21 โมเมนต์โลกบันเทิงที่ไม่อยากให้คุณลืม แต่อยากให้จดจำในแง่มุมของบทเรียนที่จะพาผู้คนและอุตสาหกรรมบันเทิงบ้านเราก้าวต่อไป ติดตาม Content Series พิเศษส่งท้ายปีจาก Mango Zero ใน Episode แรกได้ที่นี่ รวมถึงสามารถติดตามอ่านครบทั้ง 5 Episode ได้ที่ EP.1 / EP.2 / EP.3 / EP.4 / EP.5 #1 พส. กับปรากฏการณ์ธรรมะดิจิทัล สนั่นวงการสงฆ์ มาเริ่มต้นโมเมนต์แรกด้วยกระแสที่โด่งดัง จนคนพูดถึงกันทั้งบ้านทั้งเมืองอย่าง ‘พส.’ ที่ไม่ได้แปลว่าพี่สาวหรือเพื่อนสาว แต่แปลว่า ‘พระสงฆ์’ กับ (อดีต)พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ พระนักเทศน์เจ้าของรอยยิ้มอรุ่มเจ๊าะ จากวัดสร้อยทอง จังหวัดนนทบุรี ผู้ที่ทำให้ธรรมะเข้าถึงได้ และเข้าสู่หัวใจคนรุ่นใหม่ได้ดีกว่ากรอบการสอนแบบเดิมๆ โดยกระแสนี้เป็นที่นิยมช่วงปลายเดือนสิงหาคม หลังจากที่พระมหาไพรวัลย์ได้ไลฟ์สดธรรมะบนเฟซบุ๊ก ด้วยคารมณ์คมคายและภาษาที่เข้าถึงผู้คนสมัยนี้ ไปจนถึงกลุ่ม LGBTQ+ อย่างกลุ่มจ๊อกจ๊อกที่เข้ามาแกล้ง มาแซว ทำให้ลมกระแสนี้พัดไปยังแพลตฟอร์มสุดฮิตและติดเทรนด์ ‘Twitter’ ต่อมาในวันที่ 3 กันยายนจากลมกลายเป็นพายุ เพราะพส.ได้จัดไลฟ์สดสนทนาธรรม ปะทะคารมณ์กับอีกหนึ่ง พส.อย่าง พระมหาสมปอง พระพี่น้องร่วมวัดสร้อยทองเดียวกันในชื่อว่า ‘ดังนั้น จะมาเป็นพส.เหมือนกันไม่ได้ Feat. พระมหาสมปอง’ สร้างปรากฏการณ์ยอดผู้ชมบนเฟซบุ๊กทะลุ 2 แสนคน โดยมีทั้งคนดัง สื่อมวลชนและแบรนด์สินค้าต่างๆมาร่วมแจมในวงคอมเมนต์ ด้วยปรากฏการณ์นี้ทำให้พระมหาไพรวัลย์มียอดผู้ติดตามในเฟซบุ๊กของตัวเองถึง 1 ล้านคนในระยะเวลาอันรวดเร็ว (ปัจจุบันมี 2.5 ล้านคน) พร้อมด้วยกระแสชื่นชมจากคนรุ่นใหม่ที่นำธรรมะมาประยุกต์ใช้ ย่อยให้เข้าใจง่ายบนสื่อใหม่ ปลอบประโลมจิตใจและให้ความบันเทิงได้ในเวลาเดียวกัน พร้อมส่งมอบศัพท์ใหม่อย่าง ‘สภาพพพพ’ ให้พูดติดปากกันทั้งวันด้วย แต่ดูเหมือนว่าการนำเสนอธรรมะแบบนี้ จะไม่ใช่ทุกคนที่ชอบ เมื่อพส.สุดปังถูกตั้งคำถามขึ้นมากลางคันจาก พศ. (ที่แปลว่าสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ) และคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ถึงความสำรวมในฐานะสงฆ์กับการเผยแผ่คำสอนทางพุทธศาสนาด้วยความบันเทิง จนเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ก็เกิดประเด็นใหม่ขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่พส.ได้ออกมาลั่นวาจาถึงการสึกพร้อมน้ำตา เพราะรู้สึกไม่เป็นธรรมที่ ‘พระราชปัญญาสุธี’ รักษาการเจ้าอาวาสวัดสร้อยทอง จะไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสจากการกระทำของพส.เอง ล่วงเลยไปเกือบ 1 เดือน มาถึงวันที่ 28 พฤศจิกายน พส. ส่งสัญญาณผ่านช่องทางเฟซบุ๊กของตัวเอง ด้วยการลบคำว่า ‘พระ’ ออกจากชื่อเฟซบุ๊ก และเปลี่ยนเป็น ‘ไพรวัลย์ วรรณบุตร’ พร้อมข้อความแซ่บๆ “ใกล้จะได้สลัดปลอกคอแล้วสินะ” ทำให้ชื่อพระมหาไพรวัลย์พุ่งขึ้นติดเทรนด์ทวิตเตอร์อีกครั้ง และถูกพูดถึงกันข้ามคืน แม้แต่สื่อเองก็ไปปักหลักที่วัดสร้อยทอง เพื่อถามหาคำตอบของเรื่องนี้ ท้ายที่สุด วันที่ 3 ธันวาคม เวลา 09.40 น. พส.ขวัญใจคนรุ่นใหม่ก็ได้ลาสิกขา จบ 18 ปีในสมณเพศ โดยมีพระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศเป็นผู้ทำการสึกให้ พร้อมด้วยพระมหาสมปองร่วมเป็นพยาน ซึ่งการสึกครั้งนี้มีสาเหตุมาจาก ประเด็นความอยุติธรรมในวงการสงฆ์ และการแต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดสร้อยทอง รวมเป็นเวลากว่า 3 เดือนที่กระแสนี้ได้รับการกล่าวถึง ซึ่งสิ่งที่สะท้อนออกมานั้น มีทั้งปัญหาเชิงโครงสร้าง ไปจนถึงกรอบความคิดที่แตกต่างระหว่างผู้คนต่างวัย ที่กระเทาะออกมาเป็นคำถามได้ว่า สุดท้ายแล้ว ธรรมะหรือคำสอนทางพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ควรปรับตัวตามยุคสมัย และเผยแผ่ให้ทุกคนจับต้องได้ เข้าถึงได้ หรือเป็นสิ่งควรตั้งเอาไว้ให้เชยชม ? ที่มา BBC NEWS, Sanook #2 เคลียร์ใจปมดราม่า Silly Fool 15 ปี ที่แฟนคลับรอคอย 15 ปีที่ผ่านมา จากเหตุการณ์การแยกทางของวงร็อคในตำนานของเมืองไทยอย่าง Silly Fool จนมาถึงในปี 2021 นี้เองก็มีโมเมนต์ที่ทำให้แฟนคลับหายข้องใจกันสักที่ เรียกว่าความบาดหมางครั้งนี้สุดท้ายก็คลี่คลายลง จากเหตุการณ์การแยกทางกันระหว่าง โต (วีรชน ศรัทธายิ่ง) อตีดนักร้องนำวง Silly Fool กับ หรั่ง (เทวฤทธิ์ ศรีสุข) และ ต้น (จักรินทร์ จูประเสริฐ) หลังเกิดถึงจุดมุ่งหมายในการเล่นดนตรีและการรับงานไม่ตรงกัน จนกลายมาเป็นบทสรุปที่ใคร ๆ ต่างก็รู้กันดีว่าวงจะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป และในช่วงเวลา 15 ปีที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยได้มีการเคลียร์ใจในเรื่องนี้สักที แม้ว่าในช่วงปี 2020 ที่ผ่านมา เราจะได้เห็นโมเมนต์ที่ทั้งโต หรั่ง และต้น ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการป๋าเต็ด Talk แล้วก็ตาม แต่สุดท้ายการสัมภาษณ์ในครั้งนั้นมันก็เหมือนกับยังมีอีกฝ่ายที่คาใจ (โดยเฉพาะแฟนคลับ) ไม่ว่าจะเป็นการตอบคำถามหรือให้สัมภาษณ์ก็ตาม จนในเดือนตุลาคมในปีของ 2021 ก็มีได้การเคลียร์ใจครั้งยิ่งใหญ่ของหรั่ง มือเบสของวง Silly Fool กับการออกมาไลฟ์สดพูดขอโทษและอโหสิกรรมถึงเรื่องราวการขัดแย้งตลอด 15 ที่ผ่านมานี้ “ไอ้โต คือทุกวันที่ผ่านมาที่ไม่มีมึงเนี่ย พวกกูเป็นหัวหมาที่โดนตัด เดินกุกกักๆ ไม่รู้ทิศรู้ทางมาจนถึงทุกวันนี้ ล้มบ้างลุกบ้าง วันนี้ กูมีความอิสระแล้ว กูจะไม่จองเวรจองกรรมกับมึงแล้ว ขอให้มึงมีความสุขกับชีวิตมึงนะ กูก็จะเดินในทางใหม่ของพวกกูทั้งหมด… สิ่งที่มึงทำกับกู หรือกูทำกับมึง กูจะอโหสิกรรมให้มึงหมด กูจะไม่จองล้างจองผลาญมึงเหมือนที่กูบอกกับอากู๋ว่ากูจะจองล้างจองผลาญมึงทุกชาติ กูขอถอนคำพูด ขอเลิกคำนี้ มีชีวิตที่ดีเพื่อน” ซึ่งการออกมาพูดครั้งนี้ถือว่าเป็นการก้าวข้ามความขัดแย้งอันยาวนานของวง Silly Fool ที่แฟนคลับต่างก็ดีใจว่าในที่สุดทั้ง โต ต้น หรั่ง และสมาชิกคนอื่น ๆ ของวงต่างก็สามารถเดินหน้าไปในเส้นทางของตนเองโดยดี #3 พลอย-ชิดจันทร์ กับเทรนด์ละค๊อนละครคุณธรรม “ความจริงแล้วฉันเป็นประธานบริษัท” วลีฮิตของชาวโซเชียลในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ใครต่อใครก็นำเอามาหยอกล้อกันในรูปแบบต่าง ๆ มีที่มาจากการทำเป็นละครสั้นของนักแสดงสาวสวย ‘พลอย-ชิดจันทร์’ ในตอน “สายลับ รปภ.” ที่พูดถึงการปลอมตัวเป็น รปภ. ของประธานบริษัทที่เข้าไปสอดส่องและจัดการกับพนักงานที่เอาแต่ดูถูกคนอื่น ด้วยเนื้อหาของคลิป รวมไปถึงทักษะการแสดงของตัวละคร พร้อมกับซาวด์ประกอบที่ดูยังไงก็ละค๊อนละครซะเหลือเกิน ทำให้คอนเทนต์ของ พลอย-ชิดจันทร์ โด่งดันกลายเป็นไวรัล และถูกจดจำในฐานะ TikToker ละครคุณธรรม เจ้าของเพลย์ลิสต์ ‘ข้อคิดชิดจันทร์’ ที่ยังคงได้รับการสนับสนุน ทั้งยอดไลค์และยอดรับชมอย่างถล่มทลาย หากจะพูดถึงที่มาของเทรนด์ละครคุณธรรมลักษณะนี้ ก็คงหนีไม่พ้นดินแดนมังกรอย่างประเทศจีน ที่ทางรัฐบาลเองก็พยายามผลักดัน Soft Power นี้ เพื่อสร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนในประเทศ และคอนเทนต์รูปแบบนี้ยังได้รับความนิยมใน TikTok ของจีนอีกด้วย ฝั่งติกตอกเกอร์ไทยเอง ก็ได้หยิบยกวิธีการเล่าเรื่องแบบนี้มาใช้บ้าง เช่น ดรีมบาร์โค้ด ที่เรียกได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกคอนเทนต์นี้ จนบรรดาติกตอกเกอร์ไทยเริ่มหันมาทำคลิปรูปแบบนี้เพิ่มมากขึ้น จากสถานการณ์ตลอดทั้งปี 2021 ที่ผ่านมาอาจทำให้ใครหลายคนเครียด เศร้า หรือเหงาหงอย ละครคุณธรรมนี้ก็อาจเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่มอบความบันเทิงให้กับคุณผ่านช่วงเวลาเหล่านั้น และยังมอบข้อคิดดี ๆ ให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เช่นกัน ถ้าใครอยากรู้ว่าเธอจะนำเสนอละครสั้นนี้ออกมาในรูปแบบใด และจะมีตอนใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมาอีกหรือไม่ ก็สามารถไปติดตามเธอได้ทาง TikTok @Ploychidjun ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ #4 ปีแห่งความหวังของวงการ T-Pop แม้ว่าในรอบปีที่ผ่านมา ฝั่งวงการไอดอลจะค่อนข้างซบเซา จากผลกระทบสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้แทบจะไม่สามารถจัดอีเวนท์ให้ได้พบปะแฟน ๆ ได้เลย สมาชิกวงไอดอลหลายวง ก็ได้มีการประกาศจบการศึกษา ไปจนถึงตัดสินใจยุบวงแยกย้ายกันไปเติบโตในเส้นทางอื่น ๆ ทว่าหากมองในภาพรวมของวงการเพลงบ้านเรา โดยเฉพาะกระแส T-Pop เลือดใหม่ที่แม้จะมีเวทีให้ขึ้นโชว์ไม่มากนัก แต่ก็เป็นอีกปีที่คึกคักไม่น้อย เพราะเป็นปีที่เกิดค่ายเพลงคุณภาพและศิลปินกลุ่ม T-Pop เกิดขึ้นใหม่ในแนวทางที่หลากหลาย แฟนเพลงเองก็ให้การตอบรับที่ดี ไม่ว่าจะเป็นวง 4EVE และ ATLAS ศิลปินกลุ่มคุณภาพจาก XOXO Entertainment, PiXXiE และ bamm จากค่าย LIT Entertainment ที่แม้ว่าจะเดบิวท์ในยุคโควิด แต่ก็มีเพลงฮิตให้เต้นตามมากมาย หรือจะเป็นวง 4MIX ศิลปินกลุ่ม LGBTQ+ จากค่าย KS GANG ในเครือ Khaosan Entertainment ที่นำเสนอภาพลักษณ์ที่แตกต่าง ประสบความสำเร็จข้ามไปถึงแถบละตินอเมริกา ล่าสุดเพิ่งถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล People’s Choice Awards บนเวทีดังอย่าง Golden Dise Awards ประเทศเกาหลีใต้อีกด้วย ฝั่งศิลปินเดี่ยวเอง ปีนี้ก็มีงานคอลแลปปัง ๆ ระดับนานาชาติให้ได้ฟังกันมากมาย แถมยังปังจนไปเยี่ยมชาร์ตBillboard มาแล้วหลายเพลง ทั้งปรากฏการณ์เพลงไทยเพลงแรกที่ได้ขึ้นอันดับ 89 บนชาร์ต Billboard Global สำหรับเพลง ทน ของ Sprite และGuygeegee และยังมีโปรเจกต์พิเศษจากค่าย Highcloud Entertainment ที่ชวนศิลปิน K-Pop มาร่วมแจมด้วย อย่างเพลง‘Mirror Mirror’ ของ F.HERO x Milli Feat. Changbin วง Stray Kids ที่สุดปังไม่ไหว ไต่ขึ้นชาร์ต Billboard World Digital Song Sales อันดับที่ 7 กันไปเลย รวมไปถึงหนุ่มมิว–ศุภศิษฏ์ ที่นอกจากงานแสดงแล้ว ในปีนี้ก็ย้ายมาลุยงานเพลง ดึงศิลปินดังระดับมาร่วมโปรดิวซ์งานให้ ส่งงานเพลงขึ้นชาร์ต Billboard World Digital Song Sales ถึง 5 เพลงด้วยกัน นอกจากนี้ก็ยังเป็นปีที่มีวงการทีวี หันมาผลิตรายการซัพพอร์ตวงการ T-Pop ให้ครึกครื้นยิ่งขึ้น อย่าง T-Pop Stage ที่เปิดพื้นที่ให้ศิลปินได้สร้างโชว์ปัง ๆ ปล่อยของกันอย่างเต็มที่ หรือแม้แต่รายการเซอร์ไววัลอย่างรายการ The Star Idol, LAZ iCON ไอคอนป็อป ตัวท็อปเดบิวต์ รวมไปถึงเซอร์ไววัลแฟรนไชน์จากญี่ปุ่นอย่าง Last Idol Thailand ก็เกิดขึ้นในปีนี้ และได้รับความนิยมจากแฟน ๆเพิ่มมากขึ้น นับเป็นสัญญาณและความหวังที่ดีสำหรับวงการ T-Pop บ้านเรา ที่น่าติดตามและสนับสนุนมาก ๆ หวังว่าหากสถานการณ์ดีขึ้น คงจะได้เห็นวงการเพลงบ้านเราเติบโตไปได้อย่างหลากหลายมากขึ้นไปอีก ที่มา : XOXO Entertainment, LIT Entertainment, MSuppasitstudio, High Cloud Entertainment, Tpop Stage, The Star Idol, LAZiCon, Last Idol Thailand