หลายคนอาจจะคุ้นหน้าคุ้นตาสาวน้ำตาล พิจักขณา ในฐานะนางเอกละครทีวีมาก่อน แต่ในปีนี้น้ำตาล ได้ก้าวข้ามคอมฟอร์มโซนเดิมของตัวเอง มาปล่อยของในวงการภาพยนตร์กันบ้าง กับผลงานเรื่องแรกของเธอในชื่อ ‘ส้มป่อย’ ภาพยนตร์สุดน่าฮักฉบับล้านนาที่ฉีกคาแรคเตอร์และภาพจำของน้ำตาล จากนางเอกหน้าหวาน มาเป็นสาวเหนือตัวจี๊ด อู้คำเมืองแบบไฟแล่บ! เผยเสน่ห์และตัวตนของน้ำตาลในมุมสาวเมืองแพร่ให้แฟน ๆ ได้เห็นกันมากขึ้น ถือเป็นโอกาสดี ๆ ที่ทำให้พวกเรา Mango Zero ได้มาพูดคุยและทำความรู้จักกับน้ำตาล ผ่านบทสัทภาษณ์ม่วน ๆ ให้แฟน ๆ ได้เห็นความน่าฮักของเธอไปด้วยกันที่นี่ รวมถึงเราแอบขอให้เธอสอนอู้คำเมือง พร้อมศัพท์แซ่บ ๆ เรียนไว้ก่อนไปดูส้มป่อยกันด้วยนะ สำหรับภาพยนตร์เรื่องส้มป่อย ก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากแฟน ๆ ตั้งแต่ตัวอย่างแรกปล่อยออกมา ใครฟังสัมภาษณ์นี้จบแล้ว อยากจะไปดูส้มป่อยกันต่อ ตอนนี้ก็เข้าโรงแล้วนะ ตั้งแต่ 4 พฤศจิกายนนี้ ทุกโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศ Q: ส้มป่อยเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร ? ค่ะ สำหรับภาพยนตร์เรื่องส้มป่อย ภายในเนื้อเรื่องเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรักของหนุ่มสาว แต่ว่าเป็นวิถีชีวิตแบบล้านนา ก็คือภาคเหนือนั่นเองนะคะ แต่ว่าที่หยิบยกมาเล่า จะเป็นวัยรุ่นที่…ไม่ได้เป็นวัยรุ่นที่ทุกคนไม่คิดว่าวัยรุ่นภาคเหนือจะเป็นคนแบบนี้ ส่วนใหญ่เวลาเราพูดถึงภาคเหนือ เราก็จะจินตนาการถึงคนที่เรียบร้อย อ่อนหวาน พูดจาเป็นสำเนียงเหนือแบบน่ารัก ๆ แต่ว่าอันนี้เรียกได้ว่าเป็นตัวจี๊ดของหมู่บ้านเลยดีกว่า เหมือนกับว่าเป็นตัวจี๊ด อย่างส้มป่อยก็คือ ถ้ามีงานไหนจะไม่ได้เต้นแค่หน้าเวที แต่จะเป็นไปเต้นบนลำโพงเลยแล้วก็แบบเป็นผู้หญิงที่กินทั้งเหล้าขาว กินทั้งลาบดิบ กินแบบงูสงงูสิงห์ เป็นตัวแทนวัยรุ่นที่เป็นชาวบ้านมาก ๆ Q: คาแรคเตอร์ใกล้เคียงกับตัวจริงไหม ? ถ้าพูดถึงความใกล้เคียงกันใช่ไหมคะ สิ่งที่ใกล้เคียงกันมาก ๆ เลยก็คือ หนึ่งเป็นคนเหนือเหมือนกัน เป็นคนตรง ๆ เหมือนกัน แล้วก็มีความเป็นตัวของตัวเอง รักเพื่อนรักครอบครัว อันนี้ก็คือตรง แต่ว่าอาจจะไม่ตรงกับเขาถึงขนาดที่แบบว่าเป็นคนแบบก๋ากั้นขนาดนั้น ใจกล้าขนาดนั้น แล้วยังไม่เคยแบบว่าไปแบบสารภาพ รักบอกผู้ชายก่อน ก็ยังไม่เคยค่ะ แต่ตาลมองว่ามันเป็นความน่ารัก ที่มันมีขึ้นจริง แล้วก็มันเป็นความน่ารักของวัยรุ่นภาคเหนือ ที่หลายคนอาจจะไม่เคยรู้ว่า ‘มันมีแบบนี้จริง ๆ’ Q: คิดยังไงกับบทผู้หญิงสายรุกสไตล์ส้มป่อย ? ตาลว่าน่ารักดีนะคะ เราก็พยายามสนับสนุนให้ผู้หญิงกับผู้ชายเท่าเทียมกันอยู่แล้ว ดังนั้นในเรื่องของความรัก ถ้าผู้หญิงจะลุกมาจีบผู้ชายก่อนก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่แปลกอะไร เพราะว่าเราก็ต้องมีสิทธิ์ในการเลือกคนที่เราชอบ ทําไมเราจะต้องรอให้อีกฝ่ายหนึ่งแบบเหมือนเป็นคนเข้าหาเรา บางทีคนที่เข้ามาจีบเรา เราอาจจะไม่ชอบเขาก็ได้ แต่ถามว่าตาลกล้าไหม ตาลก็ยังไม่เคยทําอะไรแบบนั้น Q: แล้ววิธีเข้าหาคนที่ชอบสไตล์น้ำตาลเป็นยังไง ? ตาลก็จะต้องทําให้เขาเห็นว่าตาลอยู่ในสายตาเขาให้ได้ ถ้าเป็นตาลนะ คือต่อให้เราชอบเขาแต่เราอยู่ในมุมนี้ แต่ตาเขามองไปทางอื่นอ่ะ เขาก็คงไม่มีทางได้เห็นเรา เราก็คงจะต้องแบบเอาเราเข้าไปอยู่ในแบบในโฟกัสสายตาเขาให้ได้อะไรอย่างนี้ ต้องทําให้เขารู้ว่าเราชอบอ่ะ หมายถึงว่า…อาจจะต้องมีอะไรสักอย่าง อย่างในเรื่องนี้ มันก็มีเพื่อนสนิทเหมือนกัน แล้วเพื่อนสนิทเราอ่ะจะรู้กัน เหมือนตาลกับเพื่อน มองตาก็รู้ใจ ‘อ่ะ ชอบเขาใช่ไหม ได้เดี๋ยวชงให้’ ชงเข้มชงอ่อน เดี๋ยวว่ากันอีกทีอะไรประมาณนั้น อย่างผันกับแหววก็คือจะเป็นพี่ แล้วก็มีน้องดาริวค่ะ ซึ่งเขาแบบว่าอยู่ที่เชียงใหม่ สองคนนี้ก็จะเป็นตัวแทนแบบเพื่อนหญิงพลังหญิงที่แข็งแกร่งมาก แบบว่าคนหนึ่งก็จะแบบแนะนําอย่างหนึ่ง คนหนึ่งก็จะแบบแนะนําอย่างหนึ่ง ตามประสบการณ์ของแต่ละคน Q: สำเนียงเหนือแบบสาวแพร่เป็นยังไง ? คือตาลว่าจังหวัดแพร่อ่ะ มันเหมือนเป็นจุดเปลี่ยนของภาคเหนือเลย ในแง่ของคําพูดหรือว่าสําเนียงต่าง ๆ ก็จะไม่เหมือน อย่างบางคนที่เขาไม่ได้เป็นคนเหนือ เขามองมาตอนแรกเขาก็จะแบบว่า ‘เฮ้ยทําไมตาลดูพูดดุจังเลย’ หรืออย่างตาลโทรศัพท์คุยกับพ่อแม่อะไร เวลาไปกินข้าวกับเพื่อน พอคุยจบปุ๊บเพื่อนก็จะแบบว่า ‘เฮ้ยแก ทะเลาะกับพ่อแม่หรือเปล่า แบบมีปัญหาอะไรกันไหม’ ที่จริงคือไม่ได้ทะเลาะอะไรกันเลย แต่ว่ามันเป็นสําเนียงที่ห้วน ๆ กว่าจังหวัดอื่น ๆ Q: ส่วนตัวเคยมีจังหวะ Culture Shock ตอนอยู่กรุงเทพบ้างไหม ? ก็จะเป็นในเรื่องของแบบคําพูด คําศัพท์ที่เราไม่รู้ว่าแบบคนภาคกลางเขาพูดยังไง คือเวลาเราอ่านบทละคร แล้วเวลาเราเป็นตัวละครเราก็คือ เหมือนเอาบทละครมาย่อยเป็นตัวละครอีกทีหนึ่ง แต่ว่าบางทีสมองเรามันยังชินกับคําศัพท์ที่มันเป็นภาคเหนืออยู่ อย่างเมื่อก่อนตาลไม่รู้ว่าภาษากลางไม่มีคําว่า ‘แก้เสื้อ’ ในเรื่องเหมือนพระเอกจะต้องแบบถอดเสื้อออกมาใช่ไหมคะ ? หนูก็จะพูดว่าแบบ ‘คุณแก้เสื้อสิ’ แล้วทุกคนก็คือหัวเราะหมดเลย ตอนนั้นเป็นพี่เคน ธีรเดชด้วยตาลจําได้ พี่เคนก็บอก ‘เฮ้ย มันพูดอะไรของมันว่ะ แก้เสื้ออะไร’ ก็เลยบอกว่า อ๋อที่จริงแบบ ถอดเสื้อออกมา ตาลไปอยู่กรุงเทพใหม่ ๆ ตาลพูด ‘เลี้ยวขวา’ ไม่ได้เลย ‘ไม้กวาด’ ก็พูดไม่ได้ ละครเรื่องแรกตาลอ่ะ ผู้กํากับเคยเปลี่ยนคําศัพท์จากคำว่า ‘เลี้ยวขวา’ ไปเป็นแบบ ‘เลี้ยวไปทางนู้นซิคะ’ พอตาลจะแบบว่าเลี้ยวขวา ๆ ตลอด มันจะแบบขึ้นจมูก หรือว่าแบบไม้กวาด มันจะไม่เป็นไม้กวาด Q: จากนางเอกจอแก้วสู่นางเอกจอเงิน รู้สึกอย่างไรบ้าง ? กดดันมาก ด้วยชื่อเรื่องก็กดดันแล้วเพราะว่าแบบมันเหมือนบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของเราด้วย ตอนแรกก็หวั่นใจว่าเราจะทําได้ไหม เพราะเราก็ไม่เคยเล่นภาพยนตร์มาก่อนเลย เคยแต่ทําเบื้องหลังเพราะว่าตาลเรียนภาพยนตร์มาใช่ไหมค่ะ ตาลก็จะเลือกเรียนสายเขียนบทกํากับส่วนใหญ่ ตั้งแต่ปีหนึ่งถึงปีสี่ที่เราทํามาก็คือเขียนบทกํากับมาตลอด เราแบบคลุกคลีอยู่ในวงการเบื้องหลังของภาพยนตร์มา แต่ว่าก็ยังไม่ได้เป็นแบบใหญ่ ที่มันเป็นชีวิตจริงขนาดนี้ มันก็ยังอยู่ในช่วงชีวิตของนักศึกษา แล้วพอเราต้องมาเล่นหนังจริง ๆ สิ่งที่ตาลกลัวเลยก็คือ ชอบมีคนแบบว่า มันเหมือนเป็นคําพูดที่พูดต่อ ๆ กันมาว่า ศาสตร์ของละครมันไม่เหมือนกับหนัง หนังมันต้องมีความเรียลมากกว่าละคร หนูก็กลัวมาก ๆ ว่าเราจะติดความเป็นละครไปเล่นในหนังรึเปล่า ? แต่ว่าโชคดีที่เรามีการเรียนการแสดงร่วมกันก่อน มีการละลายพฤติกรรมก่อน แล้วตัวละครอ่ะ มันดันแบบคล้าย ๆ กับ เรา อย่างตัวส้มป่อย ความที่พอมันเป็นสาวเหนือเป็นอะไรหลาย ๆ อย่างคือมันเหมือนกับว่า เหมือนเราสามารถเป็นตัวละครนั้นได้เร็ว แล้วพอเราเล่นไปเรื่อย ๆ เราก็เลยไม่ได้รู้สึกว่ามันยากขนาดนั้น โชคดีของพวกเราตรงที่ผู้กํากับ รวมถึงพี่ ๆ ที่มาดูแล ไม่ว่าจะเป็นพี่มะเดี่ยวหรือว่าพี่โขมเขาให้เราใส่ในความเป็นส้มป่อยลงไปได้ ใส่ความเป็นแบบเจ๊แหวว ผัน ในฐานะที่เราเป็นคนเหนือ แล้วถ้าเราเป็นตัวละครตัวนี้ เราคิดยังไง Q: เสน่ห์ของส้มป่อยที่อยากให้ทุกคนได้เห็น ? ด้วยความที่เป็นภาพยนตร์เหนือแล้วเป็นเหนือแบบมาก ๆ ค่ะ สําหรับตาล ตาลไม่รู้ว่า ก่อนหน้านี้มีภาพยนตร์ที่แบบเหนือกี่เรื่อง แต่ว่าสําหรับตาลมีความรู้สึกว่ายังไม่เคยเห็นอะไรที่มัน เป็นเนื้อเหนือขนาดนี้ ไม่ว่าจะเป็นทั้งผู้กํากับ ทั้งคนเขียนบท ทีมงาน นักแสดง แทบจะเป็น 90% เป็นคนเหนือหมดเลย แล้วมันเป็นหนังเหนือที่เข้าใจง่าย บางคนอาจจะมีความรู้สึกว่า ‘เฮ้ย เป็นหนังเหนือฉันจะฟังรู้เรื่องเหรอ’ ‘ฉันไม่ได้เป็นคนเหนือนี่ จะฟังรู้เรื่องรึเปล่า’ ตาลเชื่อว่าทุกคนเข้าใจง่ายแน่นอน เพราะว่ามันเป็นเรื่องราว ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกภาค มีความรัก มีครอบครัว มีบ้านเกิด ดูหนังเรื่องนี้ มันไม่ได้มีแค่ความรักของหนุ่มสาวเท่านั้น แต่มันมีในเรื่องของครอบครัวด้วย มีวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ประเพณีของภาคเหนือ ที่เป็นมุมที่น่ารัก ๆ อบอุ่น ตาลเชื่อว่า ทุกคนจะต้องกลับบ้านไปพร้อมกับรอยยิ้ม แล้วก็ความสุขแล้วก็ต้องคิดถึงบ้านตัวเอง แล้วก็ต้องอยากไปเที่ยวภาคเหนือแน่นอนค่ะ ชวน ‘น้ำตาล พิจักขณา’ มาสอนอู้คำเมือง ก่อนดูภาพยนตร์ส้มป่อยกันหน่อยดีกว่า ใครอยากเรียนกับครูน้ำตาล ดูต่อได้ในคลิปเลย ชมตัวอย่างภาพยนตร์