เพราะเราเชื่อว่าทุกบทเพลงย่อมมีที่มา ทุกเนื้อร้องย่อมมีที่ไป หลายครั้งบทเพลงที่เราคุ้นเคย ได้ฟังมานับร้อยนับพันครั้ง แต่หากได้รู้ถึงเรื่องราวและความหมายอันลึกซึ้ง เราจะกลับมาฟังบทเพลงนั้นในความรู้สึกใหม่ที่ไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน จาก 48 บทเพลงพระราชนิพนธ์ในพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นอกจากจะแสดงถึงพระอัจฉริยภาพทางด้านดนตรีแล้ว ยังเป็นเหมือนบันทึกส่วนพระองค์ในช่วงเวลาต่างๆ กันไป รวมทั้งสะท้อนถึงสภาพบ้านเมืองไทยในแต่ละยุคสมัยได้เป็นอย่างดี วันนี้เราจะนำ 9 บทเพลงพระราชนิพนธ์ ที่นอกจากจะคุ้นหูพวกเราชาวไทยเป็นอย่างดีแล้ว ยังมีความหมาย และที่มาที่น่าสนใจ จนอยากจะนำมาเล่าสู่กันฟัง และร่วมสืบสานพระราชปณิธาน สร้างพลังความดีที่ยั่งยืนไปด้วยกัน เพลงพระราชนิพนธ์ H.M. Blues (ชะตาชีวิต) เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 5 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชนิพนธ์หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบ ๒๐ พรรษา ในพ.ศ. ๒๔๙๐ ข้าราชการ นักเรียน และคนไทยในสวิตเซอร์แลนด์ ร่วมกันจัดงานเฉลิมฉลองติดต่อกันหลายวัน โดยในวันเสาร์ที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ มีวงดนตรีมาเล่นที่พระตำหนักวิลลาวัฒนา ซึ่งบรรเลงเพลงให้ผู้ร่วมงานเต้นรำโดยไม่หยุดพักระหว่างเลี้ยงอาหารว่างตอนดึก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้เล่นทายชื่อเพลงพระราชนิพนธ์ H.M. Blues ว่า H.M. ย่อมาจากอะไร โดยผู้ที่จะทาย ต้องซื้อกระดาษสำหรับ เขียนคำทายใบละครึ่งฟรังซ์ จุดประสงค์เพื่อระดมทุนสำหรับช่วยเหลือคนจน ในงานไม่มีผู้ใดทายชื่อถูกเลยสักคนเดียว เพราะทุกคนต่างคิดว่า H.M. Blues ย่อมาจาก His Majesty ‘s Blues ซึ่งแปลว่าเพลงแนวบลูส์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่แท้ที่จริงแล้ว H.M.Blues ย่อมาจาก Hungry Men’s Blues แปลว่าเพลงแนวบลูส์ของผู้ที่หิวโหยต่างหาก คำร้องภาษาไทยใช้ชื่อเพลงว่า ชะตาชีวิต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร เป็นผู้ประพันธ์ แต่เนื่องจาก โดยเพลง H.M. Blues ในเนื้อร้องภาษาอังกฤษ และชะตาชีวิตในเนื้อร้องภาษาไทย เนื้อหาในเพลงจะไม่เหมือนกัน เนื่องจากในเวลานั้นคำร้องภาษาอังกฤษ ไม่ได้พระราชทานลงมา และเพราะต้นฉบับอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ดร.ประเสริฐ จึงใส่คำร้องภาษาไทย ที่มีความหมายออกมาคนละแบบ คำร้องภาษาอังกฤษทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงพระนิพนธ์ ซึ่งความหมายของเนื้อร้องนั้นตรงกับความหมายของชื่อเพลง Hungry Men’s Blues คำร้องภาษาฝรั่งเศส ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ น.ส.เปรมิกา สุจริตกุล ถ่ายทอดความหมายจากคำร้องภาษาไทยเป็นภาษาฝรั่งเศส โดยใช้ชื่อเพลงว่า Pauvre Destin เพลงพระราชนิพนธ์ ในดวงใจนิรันดร์ เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๓๗ ที่ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. ๒๕๐๘ เมื่อพระชนมายุได้ ๓๘ พรรษา โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ คำร้องภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เองเป็นเพลงแรก ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ประพันธ์คำร้องภาษาไทยถวาย โดยแปลจากคำร้องภาษาอังกฤษในลักษณะวรรคต่อวรรค และรักษาความหมายเดิมของคำร้องภาษาอังกฤษซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ไว้ด้วย โดยเดิมทรงตั้งชื่อเพลงพระราชนิพนธ์นี้ว่า “I Can’t Get You Out of My Mind” และต่อมาทรงเปลี่ยนเป็น “Still on My Mind” ซึ่งหากสังเกตดูแล้วจะเห็นได้ว่าทั้งสองชื่อนั้น เป็นท่อนเริ่มและท่อนจบของบทเพลงนั่นเอง เพลงพูดถึงความรักที่ได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ยังไม่สามารถลืมไปได้ ความรักที่เคยมีในอดีตยังตามแผดเผาจิตใจอยู่ทุกเวลา ถึงแม้ว่าเวลาจะสามารถเยียวยาความเศร้าได้ แต่มันก็ไม่สามารถปัดเป่าความโศกให้หายไปได้อย่างแท้จริง สัมผัสที่มือครั้งนั้นยังอบอวลอยู่ภายใน เมื่อยามค่ำคืนมาถึงและแสงสว่างได้หมดไป ก็ทำให้คิดถึงครั้งก่อนที่เคยมีกัน วันที่เธอยังอยู่เคียงฉัน บทเพลงรักนี้จะไม่มีวันจบเหมือนกับเวลาที่ไม่สามารถหยุดเดินได้ และเธอก็จะคงอยู่ในดวงใจของฉันนิรันดร์ น่าสนใจที่ถึงแม้บทเพลงจะเศร้าสร้อยและแสดงถึงความรักไม่สมหวังเพียงใด แต่ทำนองกลับรื่นเริงสนุกสนาน เปรียบเหมือนกับการทำใจยอมรับความผิดหวังนั้นได้แล้ว และมองมันเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่า ที่อย่างน้อยครั้งหนึ่งความสัมพันธ์นั้นได้เคยเกิดขึ้นและจะตราตรึงใจไปชั่วนิรันดร์ เพลงพระราชนิพนธ์ พรปีใหม่ เพลงพระราชนิพนธ์ ลำดับที่ 13 ทำนอง: พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คำร้อง: พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ แต่งครั้งแรกเมื่อเมื่อธันวาคม พ.ศ. 2494 โดยพระองค์อยากจะมอบของขวัญปีใหม่ให้คนไทย แต่ไม่รู้ว่าจะมอบอะไรให้จึงแต่งเพลงพรปีใหม่ให้ หลังจากที่ทรงแต่งทำนองเสร็จ ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิรินิพนธ์คำร้องเป็นคำอวยพรปีใหม่ ก่อนจะแต่งเนื้อ พระองค์ได้มีพระราชดำรัสว่าอยากให้ทำนองใช้คำง่ายๆ สื่อความหมายได้ชัดเจน หากสังเกตในส่วนเนื้อเพลงที่มีคำว่า ‘ข้า’ นั้นก็เป็นคำสรรพนามบุรุษที่หนึ่งมาจากคำว่า ‘ข้าพเจ้า’ ซึ่งหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นั่นเอง เพื่อให้เพลงนี้เสมือนกับพระองค์มาอวยพรให้เหล่าพสกนิกรด้วยพระองค์เองผ่านบทเพลง ส่วนคำว่า ‘ปวงท่าน’ ในที่นี้ก็หมายถึงพสกนิกร คนไทยทุกหมู่เหล่า หลังจากเพลงประพันธ์เสร็จ ได้ทรงพระราชทานแก่วงดนตรี 2 วง คือ วงดนตรีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำออกบรรเลง ณจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย และวงดนตรีสุนทราภรณ์ นำออกบรรเลง ณ ศาลาเฉลิมไทยในวันปีใหม่ วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2495 จวบจนวันนี้เพลงพรปีใหม่ ก็ยังถูกบรรเลงอยู่ทุกปี ความหมายของเพลง พรปีใหม่ เนื้อเพลงนั้นเป็นการอวยพรปีใหม่โดยเนื้อหาของคำอวยพรปีใหม่มีอยู่ว่าขอให้ชีวิตรื่นรมย์สมหวังในทุกสิ่ง โดยพระองค์ท่านยังได้ขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้อวยพรให้ทุกคนมีโชคดีเข้ามาในชีวิต ให้รุ่งเรืองสุขสมหวังทุกสิ่งตลอดปีและตลอดไป เพลงพระราชนิพนธ์ ความฝันอันสูงสุด เพลงพระราชนิพนธ์ ลำดับที่ 43 ทำนอง: พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คำร้อง: ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ทรงพระราชนิพนธ์เพลงนี้ใน พ.ศ. 2514 ซึ่งเป็นช่วงที่บ้านเมืองมีปัญหารอบด้าน ทั้งการปกครองโดยรัฐบาลทหาร การประท้วงบ่อยครั้ง จนเกิดเหตุการณ์นองเลือดในประเทศขึ้น (เหตุการณ์ 14 ตุลาคม เกิดในปี 2516) เนื้อเพลงที่กล่าวถึงการลุกขึ้นสู้อย่างไม่ท้อถอย และมุ่งมั่นทำความดี เพื่อประเทศชาติ อันเป็นความฝันอันสูงสุด สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถโปรดให้พิมพ์บทกลอนนี้ลงในกระดาษการ์ดแผ่นเล็ก ๆ พระราชทานแก่ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พลเรือน และผู้ทำงานเพื่อประเทศชาติ เพื่อเตือนสติมิให้ท้อถอยในการทำความดี เพลงพระราชนิพนธ์ ใกล้รุ่ง เพลงพระราชนิพนธ์ ลำดับที่ 4 ทำนอง: พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คำร้อง: ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร (คำร้องภาษาไทย), ท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา (คำร้องภาษาอังกฤษ) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงพระราชทานทำนองเพลงใกล้รุ่งให้ดร.ประเสริฐ ณ นคร เพื่อแต่งเนื้อร้องในภาษาไทย โดยที่มาของเนื้อร้องเกิดจากการที่ได้ฟังเสียงไก่ขันในยามเช้า เนื้อเพลงใกล้รุ่งเป็นการบรรยายบรรยากาศช่วงเช้า และด้วยเหตุที่มาของเพลงเกิดจากเสียงไก่ขัน จึงเกิดเนื้อร้องในท่อน “เพลิดเพลินฤทัยฟังไก่ประสานเสียงกัน” ความแปลกใหม่ของเพลงคือมีการใส่เสียงไมเนอร์ครึ่งเสียง คือคำว่า “แต่” ในวรรคที่ร้องว่า “ได้ยินเสียงแว่วดังแผ่วมาแต่ไกลไกล” ซึ่งในสมัยนั้นคนไทยยังไม่เคยชิน แต่ในที่สุดก็ยอมรับและเป็นที่นิยม เพลงใกล้รุ่งได้เป็นเพลงที่ชาวไทยใช้เป็นเป็นเพลงเต้นรำ ด้วยทำนองและจังหวะที่สนุกสนาน เพลงพระราชนิพนธ์ ลมหนาว ลมหนาวเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 19 ทำนอง: พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คำร้อง: ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2497 พื่อพระราชทานเพลงนี้แก่สมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษในพระบรมราชูปถัมภ์ ไปบรรเลงในงานประจำปีโดยแต่งทำนองเอง หลังจากที่พระองค์ทรงแต่งทำนองเพลงเสร็จ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องเป็นภาษาอังกฤษ เพลงลมหนาวในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษชื่อว่า ‘Love in Spring’ เพลงนี้ออกถูกเล่นครั้งแรกในงานประจำปีของสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษ ในพระบรมราชูปถัมภ์ บนเวทีลีลาศสวนลุมพินี เมื่อวันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2497 ส่วนเพลง ‘ลมหนาว’ เวอรร์ชั่น ภาษาไทย พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา แต่งคำร้องภาษาไทย เวอร์ชั่นไทย กับเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ เนื้อหาต่างกันนิดเดียว ตรงที่เวอร์ชั่นภาษาไทยจะเพิ่มความรู้สึกของรักที่ผิดหวังเข้าไปด้วย โดยเปรียบเสมือนฤดูฝนที่พัดพาพายุเข้ามาทำลายความสวยงามของดอกไม้ ความหมายของเพลง ลมหนาว เพลงลมหนาว เปรียบเปรยถึงความรักของคนที่ในยามสุขสมดังใจปราถนาทุกสิ่งรอบตัวก็ดูสวยงามไปเสียหมดคล้ายกับยามฤดูหนาวที่ลมพัดโบกโบยมาเอื่อยๆ เย็นๆ นกก็บินล้อเล่นกับสายลมอบย่างสดใส ดอกไม้ที่บานสะพรั่งในฤดูหนาวก็เรียกหมู่มวลผึ้งมาดอมดมเกสร แต่ในวันที่ความรักผิดหวังทุกอย่างก็พังทลาย คล้ายกับยามเข้าสู่ฤดูฝนที่พายุโหมกระหน่ำนกและผึ้งที่เคยร่าเริ่งต่างก็เสร้าสลดหดหู่กับบรรยากาศที่เปลี่ยนไปดอกไม้ที่เคยสวยงามก็โดนลมพัดจนกระจายร่วงหล่นเต็มพื้นเหมือนความรักที่ผิดหวัง เพลงพระราชนิพนธ์ สายฝน เพลงพระราชนิพนธ์ ลำดับที่ 3 ทำนอง: พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คำร้องภาษาไทย : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์ คำร้องภาษาอังกฤษ : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงแต่งร่วมกับท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา เพลงพระราชนิพนธ์สายฝนนี้บรรเลงครั้งแรกที่เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ในงานรื่นเริงของ สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย บรรเลงโดยวงสุนทราภรณ์ ขับร้องโดย เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ในเวลาต่อมาเพลงนี้นำมาขับร้องใหม่โดย รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส , นภา หวังในธรรม, สวลี ผกาพันธ์ ความหมายของเพลง สายฝน ความชุ่มฉ่ำ อุดมสมบูรณ์ที่มาจากน้ำพระราชหฤทัย ความห่วงใย ความเสียสละของพระองค์ท่านที่ทำเพื่อประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ จนพวกเรามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เปรียบสายฝนจากฟากฟ้าที่นำพาความชุ่มฉ่ำ อุดมสมบูรณ์ สู่ผืนแผ่นดิน เพลงพระราชนิพนธ์ ยามเย็น เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 2โแต่เป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกที่นำบรรเลงสู่ประชาชน โดยเป็นเพลงทดลองของพระองค์ท่านในจังหวะ “ฟ็อกทร็อต” เปิดตัวครั้งแรกในงานของสมาคมป้องกันวัณโรค ด้วยทำนองสนุกสนานทำให้เป็นที่นิยมในทันทีเพราะเหมาะกับการเต้นรำในสมัยนั้น เพลงยามเย็นกล่าวถึงการที่คนรักจากไปไกล มีความคิดถึงและความรู้สึกดีๆ ต่อกันแม้ยามต้องห่างไกล โดยย้ำเตือนให้รับความเป็นจริงและปรับตัวให้ได้กับความเปลี่ยนแปลง โดยเปรียบเปรยคนรักเป็นดังดวงอาทิตย์ที่กำลังลับจากฟ้าไป โดยเนื้อร้องทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษเปรียบเปรยและมีความหมายแทบจะเหมือนกัน ทำนองเพลง ยามเย็น มีทำนองสนุกสนานฟังแล้วรู้สึกผ่อนคลายฟังสบายใจ ประกอบกับเนื้อร้องที่จำง่าย ติดหูจนได้เป็นหนึ่งในเพลงประกอบหลักของหนังเรื่อง “พรจากฟ้า” ที่พึ่งเข้าฉายไปเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และเป็นหนึ่งในเพลงพระราชนิพนธ์ที่มีคนนำไป Cover มากที่สุด เพลงพระราชนิพนธ์ แสงเดือน เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๒๗ ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๐๑ เมื่อพระชนมายุได้ ๓๑ พรรษาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย บทเพลงนี้มีคำร้อง 2 ภาษา ในคำร้องภาษาไทยนั้น เป็นการเปรียบเทียบความสวยของหญิงสาวกับแสงจันทร์ ซึ่งดูเผินๆ อาจจะคิดว่าพูดถึงพระจันทร์อย่างเดียว เพราะทุกประโยคล้วนกล่าวถึงความสวยงามอันน่าหลงใหลของแสงเดือน ที่ชวนให้เราเฝ้ามองแสงของมันที่สาดส่องลงมาโดยเฉพาะในคืนวันเพ็ญ แสงจันทร์ที่ไม่สามารถเปรียบกับสิ่งใดได้ เว้นก็แต่ ’โฉมงาม’ ที่สวยดั่งแสงของพระจันทร์ในวันเพ็ญ ในคำร้องภาษาอังกฤษ พูดถึงความคิดถึงคนรัก ท่ามกลางแสงที่ส่องมาจากพระจันทร์เบื้องบน ฉันรู้สึกสิ้นหวังและโดดเดี่ยว ถึงเรือจะแล่นอย่างอ่อนโยนภายใต้ดวงจันทร์ แต่ฉันกลับถอดถอนหายใจและทำเพียงคิดถึงเธอ กลับมาหาฉันเถิดที่รัก กลับมาเถิดได้โปรดค่ำคืนอันเหน็บหนาวได้ผ่านพ้นไปแล้ว รักเอยด้วยแสงจันทร์พิเศษนี้ ช่วยทำให้ฝันของฉันเป็นจริง ให้เธอกลับมาและให้ฉันได้มีเธอไว้อย่างเช่นเดิม เมื่อได้ทราบถึงที่มาที่ไปและความหมายของ 9 บทเพลงพระราชนิพนธ์นี้แล้ว เราเชื่อเหลือเกินว่าครั้งต่อไปที่ได้รับฟังบทเพลงเหล่านี้จะมีความซาบซึ้งและมุมมองที่เปลี่ยนไปไม่มากก็น้อย นอกจากบทเพลงพระราชนิพนธ์แล้ว เราอยากขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไปด้วยกัน ด้วยการร่วมแชร์ปณิธานการทำความดีเพื่อรัชกาลที่ 9 โดยท่านสามารถเข้ามาเขียนปณิธานได้ที่ www.ทำดีตามพ่อ.com พร้อมรับของที่ระลึก โปสการ์ดพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 1 เซ็ท (จำนวนจำกัด) เรียบเรียงโดย ทีมงาน MangoZero