นอกจากห้างสรรพสินค้า ห้างร้าน สิ่งอำนวยความสะดวก ความบันเทิงที่อัดแน่นอยู่ใจกลางเมือง กรุงเทพมหานคร ยังมีอีกสถานที่หนึ่งที่เป็นศูนย์กลางงานศิลปะ วัฒนธรรมทุกแขนง เต็มไปด้วยงานนิทรรศการดีๆ งานแสดง สินค้างานออกแบบ เป็นสถานที่แลกเปลี่ยนทางความคิด เป็นเวทีในการแสดงออกของประชาชนทุกคนที่สามารถทำได้ และคนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่ายๆ แล้วจากกรณีล่าสุด จึงไปถาม 8 บุคคล 8 ความรู้สึกที่มีต่อหอศิลป์วัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พร้อมกับคำถามในประเด็นดังกล่าว “8 คน 8 ความรู้สึกกับหอศิลป์ แลนด์มาร์คศิลปะวัฒนธรรมใจกลางเมือง”
พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน / สตอรี่ คิวเรเตอร์
“คิวเรเตอร์ มีความหมายในวงการพิพิธภัณฑ์ หรือ วงการแกลเลอรีอยู่แล้ว ในการเลือกเรื่องราวมาอยู่สถานที่นั้นๆ มันไม่ใช่แค่งานอาร์ต แต่ มันคือเรื่องราว ซึ่งหอศิลป์เป็นที่ให้สิ่งนั้นกับเราได้
หอศิลป์เป็นที่ๆ มีความหลากหลาย เป็นที่ของทุกคน เราจะแสดงงานประวัติศาสตร์ก็ได้ ไม่ใช่เพียงแค่งานศิลปะอย่างเดียว สิ่งหนึ่งที่เป็นสเน่ห์ของหอศิลป์ คือ ความหลากหลายและความเปิดกว้าง ไม่รู้ว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเกิดมาจำกัดความหลากหลายตรงนี้ ตัวสถานที่ก็ไม่มีค่าอะไรเลย”
คิดยังไงกับกรณีล่าสุดของหอศิลป์ ฯ ?
“hardware จะไม่มีค่าอะไรเลย ถ้าตัว software ไม่เป็น open software ห้ามพูดเรื่องนั้นเรื่องนี้ เราว่าที่ไหนก็เป็น buliding หมดแหละ co working space หรือที่ไหนก็เป็น ความเปิดกว้างนี่แหละคือ software มากกว่า hardware มันเลยทำให้หอศิลป์เป็นหอศิลป์อยู่ทุกวันนี้”
ชวิษฐ์ กิจการเจริญสิน / เจ้าของธุรกิจแบรนด์ paraface
“หอศิลป์กับเราเป็นที่ๆ เราคุ้นเคยมาตั้งแต่สมัยตอนเรียนมัธยม ไว้นัดเจอเพื่อน มันสะดวกและมีอะไรให้เดินดูงาน เป็นที่ที่เราเอาผลงานไปโชว์ได้ มีร้านค้าต่างๆที่เกี่ยวกับงานศิลปะ เป็นที่ๆ ให้เราเอางานออกแบบของเราไปวางขายได้ ถ้าไม่มีหอศิลป์มันก็จะยาก กลุ่มคนที่ชอบงานศิลปะก็จะไม่มีที่รวมตัวกัน คนที่ชอบงานออกแบบแวะเวียนไปที่นั้นบ่อย ก็ทำให้เราสามารถเจาะกลุ่มเป้าหมายของสินค้าเราได้ง่าย”
คิดยังไงกับกรณีล่าสุดของหอศิลป์ ฯ ?
“หอศิลป์ฯ เป็นที่ที่ทำมามานาน ผลงานของเค้าก็มีอยู่ ซึ่งมันก้น่าประทับใจแก่คนไทยและชาวต่างชาติ การที่รัฐบาลจะเข้ามาทำ ก็ควรเป็นคนที่มีความเชี่ยวชาญในสายงานนั้นมากกว่า มากกว่าที่จะเข้ามาทำเฉยๆ ซึ่งผลก็ไม่รู้ว่าจะออกมาดีหรือแย่กว่าเดิม”
ศุจินันท์ จิรวัฒนรัตน์ / นักศึกษา
“ตอนช่วงเรียนฟิล์มปี 2-3 เหมือนเราต้องไปดูงานศิลปะแล้วเอามา analyze ช่วงนั้นเลยไปหอศิลป์ฯ บ่อย นอกจากไปดูงานก็ไปเดินเล่นรอเพื่อน ก็ไปดูงานศิลปะ ดูได้อะไรมากกว่าไปเดินเล่นทั่วๆ ไป เพราะก็มีงานเปลี่ยนหมุนเวียนตลอด เป็นความทรงจำนึงคือ เอา thesis ไปฉายที่นี่ ช่วงนั้นไปบ่อยมาก ไปเตรียมงาน เลยรู้สึกว่าเป็นสถานที่หนึ่งในความทรงจำ เพราะเอางานของเราไปฉาย เป็นที่น่าจดจำของนักศึกษาคณะเรา”
คิดยังไงกับกรณีล่าสุดของหอศิลป์ ฯ ?
“หอศิลป์ฯ เป็นพื้นที่ที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย ไปได้ง่าย เป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างให้ใครก็แล้วแต่มาแสดงผลงานที่นี่ได้ แล้วก็คิดว่าถ้าต่อไปไม่มีพื้นที่แสดงออก ก็น่าเสียดาย เหมือนที่ที่จะโชว์งานก็หายไปที่นึง”
Lousina / นักท่องเที่ยวต่างชาติ
“ฉันมาที่นี่มาชมงาน สถานที่นี้มันพิเศษ เป็นที่ๆ น่าสนใจ เต็มไปด้วยงานอาร์ต งานแฮนด์เมด ซึ่งมันทำให้น่าสนใจมากๆ นี่ก็คิดว่าจะซื้อของกลับไปฝากคนที่บ้าน เป็นงานแฮนด์เมดของไทย”
กนต์ธร เตโชฬาร / นักแสดง และ ศิลปิน
“เราเคยดูถูกหอศิลป์กรุงเทพฯ มากเลยตอนแรก ด้วยการออกแบบดีไซน์ที่ดูโบราณ และ การใช้พื้นที่ที่เปลืองมาก แต่พอเห็นมันเติบโตมาเรื่อยๆ ก็เริ่มมีผลงานมาแสดงมากขึ้น เริ่มมีงานดีๆ มาแสดง มันค่อยๆ สมเป็นหอศิลป์กทมมากขึ้น แล้วก็มีงานแสดงที่นอกจากงานศิลปะมาแสดง เช่น เทศกาลละครเวที ก็จัดที่หอศิลป์ฯ ตอนนี้เลยกลายเป็นที่ใหม่ที่เค้ามาแสดงกัน ไม่เคยคิดว่าหอศิลป์จะมาได้ไกลขนาดนี้
ตอนแรกดูไม่มีชีวิตีวา ตอนนี้ก้มีชีวิตขึ้นเรื่อยๆ คนก็มาเยอะทุกๆวัน เราประทับใจกับที่นี่นะ เวลามีเทศกาลอะไรคนก็เริ่มแชร์กัน มันเลยสมกับเป็นหอศิลป์กรุงเทพขึ้นมา
เราเคยไปร่วมแสดงงานศิลปะต่างๆ แต่ส่วนใหญ่จะไปเดินดูงานมากกว่า รู้สึก space มันน่ารักมากขึ้น มีเด็กมานั่งวาดรูป มีคนมานั่งกินกาแฟ มีเด็กเล็กๆ มาดูงาน มีการประกวดต่างๆ มันกลายเป็นสถานที่สาธารณะที่ถูกใช้งานจริงๆ”
คิดยังไงกับกรณีล่าสุดของหอศิลป์ ฯ ?
“เราไม่แน่ใจว่าเค้าเข้ามาด้วยเหตุผลอะไร ศิลปะอาจจะเป็นช่องแคบกว่าเดิม เป็นไปด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม ซึ่งศิลปะไม่ควรมีระเบียบ เพราะไม่งั้นความหลากหลายจะหายไป ศิลปะต้องการความแตกต่าง มันควรเป็นที่ๆ ทุกคนเข้าไปใช้ได้ และมีอิสระในการเข้าไปใช้”
กรวัฒน์ วิศวชีวินอนันต์ / ช่างภาพ
“ก่อนที่จะเป็นนักข่าว คือชอบถ่ายรูป แล้วเคยประกวดถ่ายภาพของหอศิลป์ครั้งนึง ตอนเรียนมหาวิทยาลัย แล้วรูปก็ได้ติดที่หอศิลป์ครั้งแรกในชีวิต ใครเดินผ่านมาก็เห็นรูปเรา ก็รู้สึกดีใจมาก พอมาทำงาน งานนักข่าวก็ทำสายศิลปะ วัฒนธรรม หนึ่งในนั้นก็คือหอศิลป์นี่แหละที่ชอบไปทำข่าว งานนิทรรศการ ภาพวาดต่างๆ เพราะเรารู้สึกอินต่อสถานที่นี้ ก็จะเลือกทำข่าวงานที่หอศิลป์ อีกอย่างทำให้นึกถึงความหลัง
สำหรับหอศิลป์ฯ มันเป็นที่แสดงผลงาน เราเป็นช่างภาพ no name แต่ครั้งนึงภาพเราเข้าไปแสดงในนั้น ใครผ่านไปผ่านมาก็มาเห็น ได้มาติ มาชม มันเป็นพื้นที่แสดงผลงานของเรา ซึ่งมันอาจจะธรรมดาในมุมของคนอื่นนะ แต่ในมุมมองของเรามันคือดีแล้ว ความรู้สึกของเราต่อหอศิลป์มันมีมากมาย”
คิดยังไงกับกรณีล่าสุดของหอศิลป์ ฯ ?
“สถานที่นั้นเป็นสาธารณะ ใครก็สามารถเข้าไปได้ มันเป็น free space ถ้ามันเกิดการเปลี่ยนแปลงไป คนอาจจะไม่สามารถเข้าถึงได้แล้ว รึปล่าว”
สุขุม เกษรสิทธิ์ / ครูสอนวาดรูป
“สถานที่นี้ก็ให้ประกอบอาชีพงานศิลปิน เป็นสถานที่ที่เปิดโอกาสให้คนมาแสดงศิลปะทุกแขนง จากทั่วประเทศ ใครที่อยากจะแสดงผลงานก็สามารถมาแสดงได้ เป็นเวทีที่เปิดกว้าง”
คิดยังไงกับกรณีล่าสุดของหอศิลป์ ฯ ?
“ผู้บริการที่นี่มีความรู้อยู่ในแวดวงงานศิลปะอยู่แล้ว แต่กทม. ก็ไม่แน่ใจ น่าจะจำกัดอยู่แค่ที่การตรวจสอบหรือการจัดเสริม อยากจะให้มีอะไรหรือมาให้คำปรึกษาหารือกัน น่าจะร่วมมือกันปรับปรุงกันดีกว่า เป็นที่ๆ เปิดโอกาสให้คนในวงกว้างได้มีพื้นที่ในการแสดงออก โดยไม่ได้มุ่งหวังผลกำไร”
พลสัน นกน่วม / คอนเทนต์ครีเอเตอร์
“ผมรู้จักกับหอศิลป์ฯ ครั้งแรกช่วงที่ทำงานอยู่นิตยสารฉบับหนึ่งซึ่งเราต้องเข้าไปทำข่าวเกี่ยวกับงานศิลปะที่มาแสดงในหอศิลป์ฯ หลังๆ ก็มีโอกาสได้ไปบ่อยขึ้น ได้ไปดูงานศิลปะ ดูโชว์ ดูงานเสวนา ดูนิทรรศการก็เพลินดี เราชอบตรงที่โลเคชั่นมันไปมาง่าย
ที่สำคัญหอศิลป์ฯ จอดมอเตอร์ไซค์ฟรี และพื้นที่กว้าง ผมขี่บิ๊กไบค์ก็ต้องการพื้นที่จอดรถที่กว้างหน่อยหอศิลป์ตอบโจทย์เราในเรื่องนี้ด้วย
แม้ว่าผมจะไม่ได้มีโอกาสได้ร่วมงานใดๆ กับหอศิลป์ แต่เพื่อนๆ ผมบางคนก็จัดงานเสวนา งานโชว์ที่นั่น และเรามีโอกาสได้ไปดู ผมรู้สึกว่าเขาเปิดโอกาสให้คนอื่นๆ ได้ใช้พื้นที่ดีนะ แม้ว่าจะขอยาก หรือเงื่อนไขยุบยับก็ตามที”
คิดยังไงกับกรณีล่าสุดของหอศิลป์ ฯ ?
“ถ้าหอศิลป์ฯ ต้องเปลี่ยนมือผู้ดูแล ผมยอมรับเลยว่าไม่มั่นใจว่าภาครัฐจะทำได้ดีกว่าเดิมหรือเปล่า และผมเชื่อว่านี่คือสิ่งที่คนทั่วไปที่ผูกพันธ์กับหอศิลป์ตั้งคำถามเหมือนกัน ไม่ต้องมองอะไรมากลองเทียบกับสิ่งที่ภาครัฐทำ กับภาคประชาชนหรือองค์กรเอกชนทำเองมันต่างกันแค่ไหน ผมคงไม่ต้องบอกเนอะ ตัดสินกันเองได้”