หนึ่งในภารกิจสำคัญของเหล่ามวลมนุษยชาติที่จะเติบโตมาเป็นอนาคตของชาติก็คือการฝ่าด่านที่เรียกว่าการ ‘สอบ’ ไม่ว่าจะสอบเข้าเรียนต่อ สอบกลางภาค สอบปลายภาค สอบนั่น สอบนี่ เอาเป็นว่าเราทุกคนล้วนผ่านการสอบมาแล้ว
แต่ในการสอบทุกครั้ง หลายคนจะมีท่าไม้ตายในการจดจำสิ่งที่อ่านอย่างไรให้จำได้แม่นที่สุดเท่าที่จะจำได้เพื่อให้การสอบออกมาได้ผลดีที่สุด เราเชื่อว่าทุกคนตามหาสูตรลับของการอ่านหนังสือในตำนานมานาน วันนี้เรามีสูตรลับเหล่านั้นมาแบ่งปันโดยยอดฝีมือที่เคยผ่านการ ‘สอบ’ มาแล้วทั้ง 8 คน
เขียนสรุปใหม่เป็นตำราของตัวเอง
เบนซ์ – ธนชาติ ศิริภัทราชัย
“ส่วนมากตรงที่ขีดเส้นใต้ ผมจะเขียนใหม่สรุปในแบบที่ตัวเองเข้าใจเป็นตำราเลย แบบเขียนเล่มใหม่ขึ้นมาเลย แม่งจำได้ชัวร์ เราต้องมีแอคชั่นของการเขียน มันจะจำได้ดีกว่าการกวาดสายตาอ่านเฉยๆ และต้องเผื่อเวลาไว้เหมือนกันเพราะใช้เวลาเยอะมากในการสรุป”
เล่นสเก็ตระหว่างอ่านหนังสือ
อาบัน สามัญชน (อาบัน WiTCast)
“เรามีเทคนิคในการอ่านหนังสือให้จำได้อยู่ 4 วิธี สามวิธีแรกคือ หนึ่งใช้ปากกาหลายสีมาไฮไลท์ มันจะทำให้เราจำได้มากขึ้น สอง อ่านแล้วรีไรท์ ตามความเข้าใจตัวเองใหม่เลย วาดกราฟ วาดรูปใหม่ เขียนตำราใหม่ฉบับสั้นที่เราเข้าใจ
สาม สมมุติว่ามีหนังสือเรียนที่ครูให้อ่านประจำวิชา 1 เล่ม แทนที่จะอ่านซ้ำ พี่จะไปห้องสมุดแล้วหาเรื่องเดียวกันอ่านแบบนี้สัก 3 – 4 เล่ม ไม่เบื่อ เพราะไม่ต้องอ่านเล่มเดิมที่เขียนเข้าใจยาก แล้วก็ได้มุมมองเพิ่มจากผู้แต่งตำราท่านอื่นด้วย
ข้อสุดท้ายพีคมาก จำได้ว่าเคยใส่สเก็ตในบ้าน สเก็ตไปช้าๆ ในมือก็ถือหนังสืออ่านด้วย แปลกที่อ่านได้มากขึ้น จำได้มากขึ้น เล่าให้พี่แทนฟัง (แทนไท ประเสริฐกุล) พี่แทนบอกว่า คงเพราะขณะขยับร่างกายไปด้วยทำให้อะไรสักอย่างทำงานไปได้ซึ่งไปเชื่อมกับระบบการจดจำน่ะ ซึ่งอันนี้ทำเมื่อ 4 – 5ปีที่แล้วสมัยเรียนปริญญาโท ไม่ใช่ตอนเด็กนะ (หัวเราะ)”
ปากกาหลายสีช่วยจำ
หนุงหนิง – ศิษฏา ดาราวลี (บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ Bun Books)
“โห! ถามเด็กเรียนเก่งอย่างเราซะด้วย (หัวเราะ) เราใช้ปากกาหลายๆ สีในการช่วยจดและจำ เชื่อไหมเวลาทำข้อสอบเราจะนึกได้เลยว่า เรื่องนี้เราจดด้วยปากกาสีอะไร เราไม่ชอบไฮไลท์ข้อความ แต่จะเน้นจดเองมากกว่า เราไม่ชอบอ่านหนังสือเรียนน่ะ ชอบเรียนพิเศษแล้วจด (หัวเราะ)
ในความเป็นจริงสิ่งที่จดมาเราก็ไม่ได้อ่านทวนด้วยซ้ำ เพราะพอเราจดเองมันจะเข้าใจตั้งแต่แรก เราว่าปากกามีสีมันทำให้เราจำเป็นภาพ แต่จะเวิร์คกับบางวิชาเท่านั้นนะ อย่างพวกวิชาสังคมไม่จดเลย (หัวเราะ) แต่ถ้าวิชาที่มีตัวเลขเกี่ยวกับเคมีอันนี้จำแม่น”
อ่านแล้วเล่าให้เพื่อนฟัง
ป๋องแป๋ง – อาจวรงค์ จันทมาศ (นักสื่อสารวิทยาศาสตร์)
“ผมใช้วิธีอ่านแล้วเล่า เลยไม่ค่อยลืม อ่านแล้วมาเล่าให้คนอื่นฟัง ซึ่งเป็นวิธีที่ผมทำมาตั้งแต่เด็ก สมัยเด็กๆ ผมอ่านอะไรมาแล้วชอบเล่าให้เพื่อนฟัง เล่าเป็นนิทานบ้าง สอนเพื่อนบ้าง จัดรายการบ้าง (หัวเราะ) ไม่แน่ใจว่าวิธีของเราเวิร์คไหม แต่อยากให้ลองกัน”
จดในแบบภาษาของตัวเอง
นิดนก – พนิตชนก ดำเนินธรรม (นักเขียน)
“โห! เป็นเคล็ดลับที่แสนธรรมดาเลย คือเราจด (หัวเราะ) ก่อนจดเราจะอ่านหนังสือให้จบรอบหนึ่งก่อน แล้วย้อนมาจดที่สำคัญๆ ธรรมดามากเนอะ (หัวเราะ) พอเข้ามหาวิทยาลัย เราไม่ได้ทำแบบเป็นระบบเหมือนตอนมัธยม แต่มันเหมือนเราจะจำได้ ถ้าเราได้เขียน เลยถ้าอ่านเจออะไรก็จะเขียนไว้ส่งๆ แล้วมันจะจำได้เอง สำหรับเราการเขียนก็คือการสรุปคีย์เวิร์ดที่เราจำได้ในภาษาของตัวเอง”
พูดกับกำแพง
กัน – กันดิศ ป้านทอง (บรรณาธิการเว็บ fungjai.com)
“ผมใช้วิธีอ่านแล้วพูดให้กำแพงฟังจะช่วยให้เราจำได้ (หัวเราะ) เคล็ดลับของผมคือเราจะคิดว่ากำแพงเป็นคนฟัง แล้วเราพูดสิ่งที่เราอ่านไปแบบอธิบายให้กำแพงฟัง แต่จริงๆ เราอธิบายให้ตัวเองฟัง แต่พอเราได้พูดออกเสียงไปกับกำแพงมันจะเหมือนว่ามีคนกำลังตั้งใจฟังเราอยู่ เป็นวิถีคนบ้าครับ (หัวเราะ)
จำเป็นแผนภาพ
ครูทอม – จักรกฤต โยมพยอม (นักเขียน และติวเตอร์)
“เราจำเป็นแผนภาพ จากประเด็นหลักแล้วต่อยอดขยายเรื่องไปทีละกลุ่มๆ หมายถึงพอพูดหัวข้อสักอันปุ๊บ ผมจะเกิดนิมิตในหัวเลยว่าหัวข้อนี้ มันมีหัวข้อย่อยอะไรบ้าง แต่ถ้าจะเน้นเพื่อไปสอบ ต้องให้อ่านแล้วเข้าใจทีละเรื่องไปนะ เอาเรื่องนี้ให้เข้าใจแจ่มแจ้ง แล้วค่อยไปอ่านเรื่องอื่น
บางคนอ่านทีเดียวจนจบจบทั้งหมด แล้วมาอ่านซ้ำสำหรับผมไม่เวิร์ก มันจำไม่ค่อยได้ เอาทีละเรื่องให้จำได้เน้นๆ ดีกว่า แล้วก็อย่าอ่านแล้วจำอย่างเดียว ต้องฝึกถ่ายทอดด้วย เล่าให้เพื่อนฟัง ให้เพื่อนถามแล้วเราตอบ มันช่วยได้มาก เพราะมันทำให้เรารู้เลยว่าเราเข้าใจเรื่องนั้นจริงหรือเปล่า เราจะไม่รู้ตัวว่าเราเข้าใจผิด จนกว่าจะมีคนมาจุดประเด็น ถ้ามีคนจุดประเด็น เราก็ไปเช็คหาข้อมูลเพิ่มเอา”
อ่านทบทวนทุกวันอย่างเป็นระบบ
หมอแมว – พิรัตน์ โลกาพัฒนา
เทคนิคการอ่านวันละหนึ่งชั่วโมงเพื่อทบทวนเนื้อหาที่จะสอบคือ ‘อยากเรียนเก่ง ต้องหมั่นทบทวน’ บางคนบอกว่าทบทวนอย่างไรก็ไม่รู้เรื่องสักที แต่ความจริงแล้วถ้าทบทวนบทเรียนทุกวันอย่างเป็นระบบ สิ่งที่เรียนไปก็จะไม่ลืมหายไป
หมอแมวเขียนเทคนิคไว้ในเพจ ‘ความรู้สนุกๆ แบบหมอแมว’ ว่า คนเราถ้าเรียนรู้อะไรบางอย่างไปแล้วหากไม่มีการทบทวนเมื่อเวลาผ่านไปนานๆ เราจะเหลือความทรงจำในสิ่งนั้นเพียง 10 – 20% อ้างอิงจากองค์ความรู้เรื่อง Forgetting Curve ของ ‘เฮอร์แมน เอบบิงเฮาส์’
วิธีที่หมอแมวนำมาใช้จริงก็คือ เมื่อเรียนจบในแต่ละวันแล้ว ควรทบทวนบทเรียนที่เรียนไปทั้งวันในเวลาหนึ่งชั่วโมง หลังจากเรียนไปแล้วหนึ่งสัปดาห์ก็ควรอ่านสรุปทบทวนสิ่งที่อ่านมาอย่างย่อหนึ่งชั่วโมง และเมื่อครบหนึ่งเดือนก็ควรทบทวนทั้งหมดที่เรียนมาอย่างย่ออีกหนึ่งชั่วโมง ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ช่วงใกล้สอบเราอ่านทบทวนได้อย่างเข้าใจ
ยิ่งหากมีแผนการในการเตรียมตัวก่อนจะยิ่งง่าย โดยเฉพาะหากใช้วิธีจดแบบ Cornell (Cornell Note-taking) ก็เป็นวิธีการทวนความจำทีไ่ด้รับการยอมรับว่าช่วยได้เยอะ หรือจะเป็นการย่อ และการใช้สีประกอบ เพื่อช่วยในการจำก็จำเป็น