ช่วงนี้ใครหลายๆ คน คงมีความคิดที่จะอยากเรียนต่อแต่ก็ไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหนจับต้นชนปลายไม่ถูก พอเข้าไปอ่านในเว็บไซต์ของมหาลัยเกิดก็อาการงง ไม่ต้องกลัวไป เพราะวันนี้ Mango Zero เรามีบทความดีๆ เกี่ยวกับ 7 สิ่งที่คุณควรรู้ก่อนเริ่มเรียนต่อปริญญาโท เพื่อเป็นแนวทางให้เพื่อนๆ ได้เตรียมพร้อมและเตรียมตัวสำหรับการเรียนต่อได้อย่างถูกต้อง ถ้าพร้อมแล้วไปกันเลย 1.รู้เป้าหมาย สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการเรียนต่อก็คือ รู้จักเป้าหมายของตัวเองว่าเราจะเรียนต่อไปทำไม ? เพราะการเรียนต่อโดยไร้เป้าหมายจะทำให้เสียเวลาและเสียเงินไปเปล่าๆ หากเรียนไปแล้วรู้สึกไม่ใช่หรือไม่ชอบ เพราะฉะนั้นแล้วเราควรกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนสำหรับการเรียนต่อว่าเราจะเรียนไปทำไมและเพื่ออะไร เช่น เรียนต่อเพื่อใช้ในการทำงานในสายที่ตัวเองทำงาน เรียนต่อเพื่อเป็นอาจารย์ หรือเรียนต่อเพื่อหาความรู้เพิ่มเติม เพราะสิ่งเหล่านี้จะมีผลในการเลือกเรียนในหลักสูตรต่างๆ และช่วยให้เรากำหนดขอบเขตของเวลาได้อย่างชัดเจนด้วย 2.ภาคปกติ VS ภาคพิเศษเหมาะสำหรับใคร โดยปกติแล้วการเรียนต่อปริญญาโทจะมีให้เลือกเรียนได้สองแบบซึ่งก็คือภาคปกติและภาคพิเศษ โดยทั้งสองภาควิชานั้นจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันเล็กน้อย แต่โครงสร้างหลักสูตรจะเหมือนกัน สำหรับภาคปกติจะเป็นการเรียนในรูปแบบวันจันทร์-ศุกร์ การเรียนจะไม่หนักเท่าภาคพิเศษ เพราะไม่ต้องมีวิชาเรียนอัดเกินไป ทำให้มีเวลาทำงานส่งอาจารย์ในวันเสาร์อาทิตย์ด้วย การเรียนภาคปกติจึงเหมาะสำหรับคนที่มีเวลาว่างในวันปกติ ผู้ที่ยังไม่ได้ทำงานประจำ คนที่มีรายได้น้อยและคนทำงานอิสระนั้นเอง ภาคพิเศษ ภาคพิเศษจะมีความแตกต่างกับภาคปกติก็คือ มีการเรียนการสอนในวันเสาร์-อาทิตย์ ส่วนค่าหน่วยกิตจะแพงกว่าการเรียนภาคปกติถึง 3 เท่า ภาคพิเศษจะเหมาะสำหรับผู้ที่ทำงานประจำเพราะมีเวลาจำกัดในการเรียน ป.ล.บางสาขาวิชาจะเปิดให้เรียนทั้งภาคปกติและภาคพิเศษ หรือบางสาขาจะเปิดเพียงภาคปกติหรือภาคพิเศษเท่านั้นเราควรจะหาข้อมูลก่อนจะเรียนต่อนะจ๊ะ 3.โครงสร้างหลักสูตร แผน ก VS แผน ข โดยปกติแล้วหลักสูตรปริญญาโทจะมีให้เลือกด้วยกันอยู่ 3 แบบ แผน ก1, ก2, และแผน ข ซึ่งหลักสูตรเหล่านี้มีความต่างกันทั้งวิชาเรียน ความเข้มข้นและรูปแบบการเรียน แบบแผน ก1 คือหลักสูตรที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญหรืออาจารย์ในสาขาวิชานั้นๆ โดยหลักสูตรแบบ ก1 จะไม่มีการเรียนการเรียนการสอน แต่จะมุ่งเน้นให้ผู้เรียนใช้เวลาไปกับการทำวิทยานิพนธ์เท่านั้น ทำให้หลักสูตร ก1 ไม่เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้น แบบแผน ก2 จะมีความต่างจากแบบแผน ก1 ก็คือ มีการเพิ่มการเรียนการสอนให้เพื่อปรับพื้นฐานและความรู้ให้กับผู้เรียน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้เหล่านั้นไปทำวิทยานิพนธ์ได้ การเรียนแบบแผน ก1 จึงเหมาะสำหรับผู้ที่สนใจแต่ไปเป็นอาจารย์แต่ต้องการเสริมความรู้ให้มากขึ้น แบบแผน ข แบบแผน ข จะมีความคล้ายคลึงกับแบบแผน ก2 เพียงแต่จะมีความเข้มข้นน้อยของเนื้อหาน้อยกว่าการเรียนแบบ แผน ก และไม่ต้องทำวิทยานิพนธ์เพื่อจบการศึกษา แต่ต้องทำเป็นสารนิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระแทน การเรียนแบบแผน ข จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการนำความรู้ที่ได้จากการเรียนไปประยุกต์ใช้ในการทำงานประจำ 4.รู้จักวิธีการหาทุน ทุนเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้เรียนต่อไม่ว่าจะเป็นระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอก เพราะจะทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนและทำงานวิจัยได้โดยไม่ต้องกังวลถึงเรื่องค่าใช้จ่าย โดยปกติแล้วการหาทุนเรียนต่อมีอยู่สองแบบคือ ทุนภายในและทุนภายนอก ทุนภายในคือทุนที่ทางมหาวิทยาลัยหรือภาควิชาที่เราศึกษาต่อออกให้โดยตรง เช่น ทุนผู้ช่วยอาจารย์ ทุนผู้ช่วยวิจัย ทุนสำหรับนักเรียนต่างชาติ ทุนสนับสนุนการวิจัย โดยทุนภายในแต่ละประเภทจะมีความรายละเอียดที่แตกต่างกัน โดยเราสามารถดูทุนภายในได้ที่เว็บไซต์ของมหาลัยหรือว่าจะดูได้ที่หน้าห้องภาควิชาโดยตรงได้เลย ทุนภายนอกคือทุนที่ได้รับจากแหล่งเงินทุนภายนอกที่ไม่ใช่จากทางมหาลัยโดยตรง เช่น ได้รับเงินทุนจากบริษัทที่ทำงาน ทุนสำหรับการตีพิมพ์ในวารสาร หรือได้รับเงินทุนจากกระทรวงหรือหน่วยเงินต่าง ๆ โดยทุนภายในและภายนอกนี้ เราสามารถหาได้ตั้งแต่ตอนสอบเข้าเพื่อให้ได้ทุนไปเรียน หรือระหว่างเรียนโดยสอบถามจากทางภาควิชาหรืออาจารย์ที่ปรึกษาก็ได้ เพราะทุนแต่ละแบบก็มีข้อกำหนดและรายละเอียดที่แตกต่างกันไป ต้องไปอ่านดีๆ นะจ๊ะ บางทุนอาจจะมีข้อกำหนด 5.รู้จักวิธีการสอบเข้า ปกติแล้วการสอบเข้าเรียนต่อจะมีอยู่ด้วยกัน 2 รอบคือการสอบข้อเขียนและการสอบสัมภาษณ์ การสอบรอบแรกจะเป็นการสอบข้อเขียนเพื่อวัดความรู้พื้นฐานของผู้เข้าสอบ โดยทางภาควิชาจะเป็นคนกำหนดหัวข้อหรือหนังสือที่ให้ผู้เข้าสอบให้ได้อ่านเป็นการเตรียมตัว และอาจจะมีการสอบวัดระดับภาษาอีกด้วยด้วย โดยการสอบวัดระดับภาษาจะสามารถสอบได้ที่มหาวัยโดยตรงเช่น CU-TEP, TU-GET, KU-EPT เป็นต้น และสามารถนำผลคะแนนสอบจาก Toeic, IELTS ก็สามารถยื่นคะแนนแทนการสอบวัดระดับภาษาได้เช่นเดียวกัน (หากใครอยากเรียนต่อด้วยภาษาที่สามต้องไปสอบวัดผลกับทางสถาบันที่เกี่ยวข้องนะจ๊ะ) การสอบสัมภาษณ์จะเป็นการสอบปากเปล่ากับอาจารย์ประจำสาขานั้นๆ จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่เคยเรียนต่อในระดับปริญญาโท หัวข้อที่ใช้สอบสัมภาษณ์จะเป็นหัวข้อเกี่ยวกับวิทยานิพนธ์หรือหัวข้อวิจัยที่เคยทำมาและหัวข้อที่จะทำต่อในระดับปริญาโทของผู้เข้าสอบ ป.ล.บางสาขาวิชาอาจจะไม่มีการสอบข้อเขียนแต่เป็นการที่ให้ผู้เข้าสอบส่งผลงานเข้ามาแทน 6.รู้จักความต้องการของตลาด ในอนาคตบางสาขาวิชาอาจถูกยุบหรืออาจจะมีสาขาวิชาใหม่ๆ เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด เพราะฉะนั้นแล้วสิ่งนึกที่เราควรคำนึงก็คือความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคตอีก 2-5 ปี ว่ามีแนวโน้มหรือขาดแคลนแรงงานในด้านใด เพราะคงไม่มีใครที่จะเรียนจบมาแล้วไม่มีงานทำ และมีการคาดการณ์ในอนาคตว่าสาขาที่จะมาแรงจะเป็นสาขาที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม และสาขาที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ 7.รู้จักเตรียมตัว รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้งเพราะเรารู้ว่าฆ่าศึกเป็นใคร การเรียนต่อก็เช่นกัน หากเราเตรียมตัวมาเป็นอย่างดีการเรียนต่อจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพราะฉะนั้นแล้วสิ่งที่ต้องเตรียมตัวก็คือ เตรียมตัวเรื่องภาษาอังกฤษเพราะหนังสือและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องส่วนมากเป็นภาษาอังกฤษแทบทั้งหมด เตรียมคิดหัวข้อวิทยานิพนธ์ไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะเวลาในการเรียนปริญญาโทนั้นสั้นกว่าที่คิด และหากไม่ได้คิดหัวข้อที่อยากจะทำไว้ก่อนจะทำให้การเรียนจบใช้เวลาและแรงกายมากกว่าเดิม เตรียมตัวรับมือกับความท้อแท้ พบครั้งที่ผู้เรียนต่อในระดับปริญญาโท(ตัวผู้เขียนเองก็เช่นกัน)ต้องเผชิญหน้ากับความท้อแท้ แต่ก็อย่าได้กลัวไป เพราะความท้อแท้นี้แหละจะเป็นเชื้อไฟที่ทำให้เราแข็งแกร่งขึ้นได้ในอนาคต เตรียมตัวเรื่องเวลา การเรียนต่อในระดับปริญญาโทขึ้นไป อาจารย์ในมหาวิทยาลัยจะถือว่าเราเป็นผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยจะไม่จ้ำจี้จ้ำไชเรา ทำให้เราต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น