ปัจจุบันนี้งานวิ่งในประเทศไทยมีเยอะมาก มากระดับที่ว่าสัปดาห์หนึ่งมีงานวิ่งไม่ต่ำกว่า 8 งาน บางเดือนมีงานวิ่งเฉลี่ย 30 งานทั่วประเทศ เรียกได้ว่ามีงานวิ่งให้เลือกไปไม่หวาดไม่ไหวเพราะงานวิ่งกลายเป็นหนึ่งในไลฟ์สไตล์ของคนยุคนี้ไปแล้ว ซึ่งมาตรฐานของงานวิ่งแต่ละงานก็แตกต่างกันไป บางงานก็จัดดีมากจนน่าชมเชย แต่บางงานก็จัดแล้วอยากจะสาบส่งพอกันที!
อย่างไรก็ตาม ในบรรดางานวิ่งเยอะแยะมากมายนั้นมีงานวิ่งไหนบ้างที่เรียกได้ว่าเข้าขั้นตำนานของวงการวิ่งเมืองไทย และเป็นงานที่นักวิ่งควรจะไปสักครั้งเพื่อเก็บเหรียญ เก็บระยะ เก็บประสบการณ์เป็นที่ระลึกบ้าง เราจะมาแนะนำ 7 สนามวิ่งมาราธอนทั่วประเทศไทยเหล่านั้นให้นักวิ่งทุกคนไปลองวิ่งกันนะ ไม่จำเป็นต้องระยะที่ไกลที่สุดก็สนุกกับการวิ่งได้
Chombueng Marathon
งานวิ่งระดับตำนานของประเทศที่เก่าแก่ที่สุดงานหนึ่ง และมีชื่อเสียงมากๆ งานหนึ่ง ‘จองบึงมาราธอน’ เป็นงานวิ่งที่จัดขึ้นในอำเภอเล็กๆ ของราชบุรี โดยงานจอมบึงมาราธอนนั้นจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2528 โดยอาจารย์ของวิทยาลัยครูหมู่บ้านจอมบึง (ปัจจุบันคือ ‘มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง’ ) ที่สนใจเรื่องการวิ่งนำโดย ‘อาจารย์ณรงค์ เทียมเมฆ’ และ ‘อาจารย์สมจิต สง่าพันธุ์’ สร้างงานวิ่งนี้ขึ้นมาเดิมทีมีผู้สมัครไม่ถึง 100 คน คิดค่าสมัคร 20 บาท Bib ก็เขียนด้วยมือ เสื้อที่ระลึกไม่มี เหรียญไม่มี เริ่มต้นวิ่งด้วยระยะ 10 กิโลเมตรก่อน จากถ้ำเขาบินไปถ้ำจอมพล
ก่อนที่งานวิ่งจะได้รับความนิยมจากคนในพื้นที่ และจังหวัดใกล้เคียง จนมีการขยายระยะเพิ่มเป็น Haft Marathon ในปี 2532 พร้อมกับจำนวนคนวิ่งที่มากกว่าเดิมหลายเท่าตัว สถิติที่บันทึกไว้คือ 5,000 คน ในยุคนั้นถือว่าเยอะมาก (จนถึงตอนนี้ก็ยังเยอะอยู่) และเพิ่มระยะ Full Marathon เมื่อปี 2542 พร้อมกับได้นักวิ่งจากทั่วประเทศมาร่วมงานไม่ขาดสาย
จอมบึงมาราธอนเป็นงานวิ่งประเพณีประจำของหมู่บ้านจอมบึงที่จัดขึ้นทุกสัปดาห์ที่ 3 ของมกราคมตลอดมาจนถึงวันนี้ 35 ปีแล้วที่จอมบึงมาราธอน กลายเป็นสนามวิ่งที่นักวิ่งทุกคนต้องมาพิชิตให้ได้สักครั้งหนึ่ง และได้รับคำชมที่ดีสมกับงานวิ่งที่ถูกเรียกว่า“งานประเพณีของชาวบ้านที่มีมาตรฐานสากล”
Bangkok Marathon
งานวิ่งประจำปีของกรุงเทพฯ เป็นงานวิ่งขนาดใหญ่ที่คลาสิกไม่แพ้จอมบึง มาราธอน เพราะจัดมาตั้งแต่ปี 2531 วันเวลาการจัดตรงกันมาโดยตลอดคือทุกสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายน จุดเริ่มต้นและสิ้นสุดการแข่งขัน อยู่ที่บนถนนสนามไชย ด้านหน้าพระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้วหรือหน้ากระทรวงกลาโหม หากใครจำได้ กรุงเทพมาราธอน คือฉากจำลองงานวิ่งที่อยู่ในหนังเรื่อง ‘รัก 7 ปี ดี 7 หน’ ตอน 42.195 กิโลเมตร นั่นเอง
เพราะความที่เป็นงานมาราธอนเก่าแก่ของกรุงเทพฯ จึงเป็นหนึ่งในรายการที่มีนักวิ่งอยากจะเข้าร่วมมากที่สุดงานหนึ่ง รวมถึงมีนักวิ่งต่างชาติเข้าร่วมงานด้วยตลอด ดังนั้นถ้าอยากจะเก็บมาราธอนสนามสำคัญของประเทศให้ครบทุกสนาม ก็ต้องห้ามพลาดรายการนี้ สำหรับระยะการวิ่งนั้นมีให้เลือก 4 ระยะมาตรฐานเช่นเดียวกับมาราธอนสนามอื่นๆ
อย่างไรก็ตามสนามนี้เคยมีดราม่าเกิดขึ้นเมื่อปี 2015 ปีนั้นมีปัญหาเรื่องระยะทาง โดยระยะฮาล์ฟมาราธอน โดนเพิ่มระยะไปราว 6 กิโลเมตร เนื่องจากจุดกลับตัววางไว้ผิดพลาดบริเวณทางยกระดับบรมราชชนนี ทางผู้จัดเลยทำเสื้อพิเศษ Finisher 27.600 มาให้เพื่อชดเชยความผิดพลาดที่เกิดขึ้น
Phuket Marathon
งานมาราธอนระดับตำนานอีกหนึ่งรายการของภาคใต้ที่จัดมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549 โดย โก แอดเวนเจอร์ เอเชีย ซึ่งได้สร้างสนามวิ่งที่เป็นมาตรฐานขึ้นมาตั้งแต่ครั้งแรกที่จัดได้รับรองมาตรฐานโดย สมาคมวิ่งมาราธอนนานาชาติและการแข่งขันทางเรียบ หรือ The Association of International Marathons and Distance Races: AIMS ปัจจุบันนี้จัดมาอย่างต่อเนื่อง 14 ปี
ไฮไลท์ของภูเก็ตมาราธอนวิวที่สวยมากหลายช่วงจะได้เห็นทะเลภูเก็ต ความสวยของภูเก็ต รวมถึงเป็นสนามที่อากาศค่อนข้างจะร้อน และมีความชันในบางช่วง จึงเป็นสนามที่ท้าทายนักวิ่งเลยทีเดียว สำหรับภูเก็ตมาราธอน นั้นจัดช่วงมิถุนายนของทุกปี ปีนี้ใครอยากจะไปยังทันนะ เพราะเขาเปิดรับสมัครกุมภาพันธ์นี้ อ้อ…ทีเด็ดทีนี่คือมีน้ำมะพร้าวเป็นลูกๆ ให้กินด้วยนะ
Chiang Mai Marathon
รายการวิ่งขนาดใหญ่ที่สุดของแดนเหนือที่จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2009 มาอย่างต่อเนื่องกว่า 9 ปี แม้ปีล่าสุดจะมีดราม่าเรื่องการเปลี่ยนเวลาวิ่งกระทันหัน จากเดิมที่เคยแจ้งไว้ว่าระยะมาราธอนเริ่มสตาร์ทตี 4 กลายเป็นสตาร์ทตอนตี 1 รวมไปถึงระยะอื่นๆ ก็มีการขยับเวลามาเร็วขึ้นด้วย เนื่องจากจำนวนผู้สมัครที่เยอะกว่าปีก่อนทำให้ต้องปรับเปลี่ยนเวลาเพื่อความปลอดภัยของนักวิ่ง และความสะดวกของคนในพื้นที่ในการเดินทางช่วงเช้า
หากไม่พูดถึงดราม่าครั้งล่าสุด เชียงใหม่มาราธอน จัดว่าเป็นอีกหนึ่งสนามที่คึกคัก เพราะไม่ใช่แค่ชาวไทยเท่านั้นที่รวมวิ่ง แต่ยังมีนักวิ่งจากนานาชาติ มาร่วมวิ่งด้วย เอกลักษณ์ของสนามนี้คือบรรยากาศของเมืองเชียงใหม่ที่ได้เห็นทั้งตัวเมือง ดอยสุเทพ รวมถึงได้สัมผัสอากาศหนาวๆ ของเชียงใหม่ด้วย ผมเอง (อันหมายถึงคนเขียนนี่แหละ) ไปเปิดมาราธอนแรก ให้ตัวเองเมื่อปี 2017 ที่สนามนี้ ยอมรับเลยว่าประทับใจในบรรยากาศจริงๆ
Buriram Marathon
งานวิ่งที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2017 ซึ่งจัดมาได้แค่เพียง 3 ปี (รวมสนามล่าสุดในปี 2019 ด้วย) แต่ได้รับการยอมรับจากนักวิ่งที่ไปร่วมงานว่า นี่มันงานระดับมาตรฐานโลกชัดๆ เพราะผู้จัดหลักของงานนี้ ‘เนวิน ชิดชอบ’ มีวิศัยทัศน์ว่าอยากจะปั้นให้บุรีรัมย์เป็นเมืองแห่งกีฬาหลังจากที่ทำให้ทีมฟุตบอล และกีฬามอเตอร์สปอร์ตเป็นที่รู้จักแล้ว ก็มาถึงคิวของการวิ่งนี่แหละ และเมื่อจัดงานวิ่งแล้วก็ต้องเอาให้ใหญ่ ให้ได้มาตรฐานโลกทุกระยะ เป็นสนามที่นักวิ่งทั่วโลกควรมา
โดยเส้นทางวิ่งได้รับการออกแบบการแข่งขันให้เป็นมาราธอนมีมาตรฐานสูงสุดจากสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (AAT) สหพันธ์กรีฑาเอเซีย(AAA) และ สหพันธ์กรีฑานานาชาติ (IAAF) การกีฬาแห่งประเทศไทย ในการออกแบบการแข่งขัน ส่วนระยะมาราธอน ฮาล์ฟมาราธอน และมินิมาราธอน ได้รับการวัดอย่างเป็นทางการจากผู้เชี่ยวชาญ IAAF-AIMS Grade A
สำหรับไฮไลต์ของงานบุรีรัมย์มาราธอนคืองานวิ่งที่เริ่มวิ่งจากสนามช้าง อินเตอร์เนชั่นเนลเซอร์กิจ และวิ่งไปตามสถานที่ต่างๆ ของบุรีรัมย์ ที่ถูกสร้างบรรยากาศให้คึกคักโดยเจ้าบ้าน จึงไม่แปลกที่นักวิ่งจะประทับใจ จนปีถัดมาก็เกิดปรากฎการณ์เปิดรับสมัครปุ๊บเต็มปั๊บแทบจะในทันที งานนี้ของเขาดีจริงๆ ใครไม่เคยไปลอง อยากให้ไปลองสักครั้ง บุรีรัมย์มาราธอนของเขาดีจริง
BANGSAEN 42
อีกหนึ่งงานวิ่งน้องใหม่แต่จัดงานอย่างเล่นใหญ่ จริงจัง และได้มาตรฐานระดับที่ว่าสามารถเอาสถิติงานวิ่งสนามนี้ไปสมัครวิ่งในรายการ ‘บอสตันมาราธอน’ ได้ด้วย โดยสนามนี้จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อพฤศจิกายนปี 2017 จุดเด่นของสนามนี้คือมีระยะวิ่งแค่ระยะเดียวเท่านั้นคือมาราธอน และเส้นทางการวิ่งก็สวยงาม ไฮไลท์คือการวิ่งเรียบชายทะเลบางแสนไปเรื่อยๆ เกือบตลอดเส้นทาง
ในเรื่องความปลอดภัยของนักวิ่งก็ดูแลเป็นอย่างดี จนกลายเป็นอีกหนึ่งงานที่นักวิ่งสายมาราธอนควรปักหมุดไว้เลยว่า…จะมา ส่วนเอกลักษณ์ของสนามวิ่งบางแสน 42 นั้นก็คือจะมีการแจก ‘คิงคอง บางแสน’ ให้กับนักวิ่งชาย 100 คน และนักวิ่งหญิง 100 คนที่เข้าเส้นชัย 100 อันดับแรก ใครได้คิงคองจากงานนี้ไปบอกเลยว่าโคตรเท่!
Amazing Thailand Marathon
งานวิ่งระดับประเทศน้องใหม่ล่าสุด ที่มีการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเป็นผู้สนับสนุน เราจึงได้เห็นการจัดงานที่มีความมืออาชีพมาก ครั้งแรกที่จัดงานนี้คือเมื่อปี 2018 แต่กลับได้รับคำชมว่าเป็นงานวิ่งที่จัดได้อย่างดีมากๆ เพราะผู้จัดตั้งเป้าว่าภายใน 3 ปีอยากจะผลักดันให้สนามนี้เป็น 1 ใน 10 รายการมาราธอนของโลกให้ได้ ระยะวิ่งมีให้เลือกทั้ง มาราธอน, ฮาล์ฟมาราธอน, มินิมาราธอน และแฟมิลี่รัน
สำหรับเส้นทางวิ่งนั้นจะผ่านจุดสำคัญของกรุงเทพฯ เช่นระยะมาราธอนจุดสตาร์ทจะอยู่ที่ราชมังคลากีฬาสถาน แล้วผ่านไปยังถนนสายสำคัญของกรุงเทพฯ ไปจนถึงฝั่งธนบุรีก่อนจะกลับมาเข้าเส้นชัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สำหรับระยะมาราธอน แต่ระยะอื่นๆ จะมีจุดสตาร์ทที่แตกต่างกัน แต่จะได้ผ่านสถานที่สำคัญของประเทศทุกระยะ และสิ้นสุดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเหมือนกัน ถึงจะเป็นงานวิ่งน้องใหม่ แต่ความน่าสนใจ และความมืออาชีพต้องชมว่าทำได้ดีมากจริงๆ