Mango Zero

7 เรื่องเกี่ยวกับความปลอดภัยของถังแก๊สที่คุณไม่เคยรู้มาก่อน

หากคุณอยู่ในบ้านที่ทำอาหารกินเอง ‘ถังแก๊ส’ น่าจะเป็นหนึ่งในอุปกรณ์สามัญประจำบ้านที่ต้องมีติดไว้ กระนั้นแม้ถังแก๊สจะอยู่คู่กับบ้านเรามาตั้งแต่เด็กยันโต แต่ก็เหมือนคนไม่สนิทเท่าไหร่ เพราะเรามักจะคิดว่าถังแก๊ส คืออันตรายระดับระเบิดเวลาสามัญประจำบ้านนี่เอง 

แต่! จริงๆ แล้วถังแก๊สนั้นไม่ได้อันตรายอย่างที่คิด ถังแก๊สไม่ได้บอบบางเหมือนใจคน ถังแก๊สคือสิ่งที่ถูกคิดค้นมาแล้วว่ามีความปลอดภัยในระดับสากลที่เชื่อถือได้ เพราะด้านในบรรจุก๊าซ LPG ที่ติดไฟง่าย จึงต้องมีขั้นตอนควบคุมดูแลอย่างดีก่อนจะปล่อยออกสู่ครัวเรือน

ที่เราคิดว่าถังแก๊สอันตรายนั้นอาจเกิดจากความไม่เข้าใจล้วนๆ เพื่อความเข้าใจต่อน้องถังแก๊ส ที่ถูกต้อง เราจะพาไปทำความรู้จักกับความปลอดภัยที่แท้ทรู จะได้รู้ว่าถ้าใช้งานถูกประเภท รู้จักวิธีการดูแล ถังแก๊สจะไม่อันตรายเลย

ถังแก๊สไม่ระเบิดง่ายๆ

จริงๆ แล้วถังแก๊สไม่ใช่ระเบิดนิวเคลียร์สามัญประจำบ้านอย่างที่หลายคนเข้าใจ จริงอยู่ที่ด้านในมีก๊าซ LPG อัดแน่น แต่อย่าลืมว่าถังแก๊สนี่มันทนทานแข็งแรง เพราะผลิตจากเหล็กแผ่นรีดร้อนคุณภาพตามมาตรฐานยุโรป (EN10120), มาตรฐานนานาชาติ (ISO4978) หรือ มาตรฐานญี่ปุ่น (JIS G3116)

ซึ่งเป็นมาตรฐานที่สากลยอมรับ ดังนั้นแล้วการคิดว่าถังแก๊สนี่ช่างเปราะบางเหลือเกิน อย่าไปกระแทก อย่าไปเฉียด อย่าไปโดนนะ เดี๋ยวแก๊สระเบิดใส่นั่น ไม่จริงเลย ถังแก๊สแข็งแรงมากนะคุณ คิดว่าน่าจะแข็งแรงมากที่สุดในบ้านแล้วด้วยมั้ง

อย่าเอาถังแก๊สไปตากแดด

ถึงจะบอกว่าถังแก๊สททานแข็งแรงก็เถอะนะ แต่ก็ไม่ควรเอาถังแก๊สไปยืนตากแดดเล่นๆ เพราะการเก็บถังแก๊สไว้ในอุณหภูมิที่สูงไปก็เหมือนเดินไปกดระเบิดเวลาให้ทำงานนั่นแหละ

เนื่องจากความร้อนมีผลทำให้ก๊าซ LPG ที่อยู่ภายในทำปฏิกริยากับอุณหภูมิจนอาจจะก่อให้เกิดแรงระเบิดจากภายในออกมาได้ ดังนั้นอย่าเลย อย่าเอาถังแก๊สไปตากแดดเลยนะ ขอร้องมันร้อนน 

เก็บถังแก๊สในจุดที่อากาศถ่ายเทสะดวก

การเก็บถังแก๊สไว้ในจุดที่อากาศถ่ายเทได้สะดวกนอกจากจะช่วยรักษาถังแก๊สให้อยู่กับเราไปนานๆ จนแก๊สหมดแล้วถึงค่อยแล้วเปลี่ยนแล้ว กรณีที่เกิดมีก๊าซรั่วออกมาจากสาย หรือรั่วออกมาจากถังจริงๆ เราจะรอด

เพราะลมจะพัดแก๊สออกไปจนหมด ลองคิดดูสิ หากเก็บถังแก๊สไว้ในจุดที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวกแล้วก๊าซรั่วนะคุณเอ้ย! มีประกายไฟขึ้นมานะ ดังเลย…ดังตูมมมมม!!

สังเกตจุดรั่วเสมอ

กรณีที่บังเอิญว่าเกิดถังแก๊สรั่วเราสามารถตรวจได้ง่ายๆ ด้วยตาคือหากมีคราบขาวๆ เหมือนเกร็ดน้ำแข็งเกาะอยู่บริเวณถังให้เอาฟองน้ำผสมน้ำยาล้างจานมาถู ถ้ามีฟองให้รีบปิดวาลล์ทันที และหาทางเคลื่อนย้ายออกจากจุดเสี่ยงที่จะเกิดประกายไฟ อย่างน้อย 18 เมตร  แล้วแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที

ในส่วนของสายส่งก๊าซที่ต่อจากถังก็ควรตรวจสอบเป็นประจำด้วยการเอาฟองน้ำจุ่มกับน้ำผสมน้ำยาล้างจานหรือสบู่ แล้วลูบไปตามสายส่งก๊าซ จากนั้นสังเกตดูฟองอากาศ ถ้าไม่เจอฟองอากาศก็ปลอดภัย แต่ถ้าเจอเมื่อไหร่เปลี่ยนสายทันที อย่าพยายามไปหาเทปใสมาติดเพราะไม่ช่วยอะไรเลย

อย่าตั้งถังเอียง

บางคนเชื่อว่าแก๊สใกล้หมดให้ตั้งถังเอียงๆ บางทีเจอตั้งแบบถังแทบจะนอนอยู่แล้วเอาหมอน เอาผ้าห่มไปหนุนให้ถังเลยไหมล่ะ ด้วยความเชื่อว่าเดี๋ยวก๊าซ LPG จะไหลสะดวกหน่อยไง ซึ่งคุณครับถ้าก๊าซใกล้หมด จะคว่ำ จะเอียงถัง หรือจะตั้งตรง มันก็ไหลมาเท่าเดิมอยู่ดี

การตั้งถังให้เอียงเนี้ยนะเสี่ยงที่ถังจะล้ม และเกิดแรงกระแทกได้ ลำพังถังน่ะไม่เป็นอะไรหรอก แต่หัวต่อถังนี่แหละอันตราย ถ้าล้มในระหว่างที่กำลังใช้งานอยู่แล้วเกิดหัวจ่าย หรือสายส่งก๊าซหลุดนี่หนังแอคชั่นเลยนะ

อย่าตั้งถังใกล้กับสารกัดกร่อนโลหะ

เหล็กต่อให้ทนแค่ไหนก็ยังแพ้สารกัดกร่อนโลหะ เหมือนใจคนที่แข็งแค่ไหนก็แพ้คำหวานที่หยอดให้ทุกวัน (เดี๋ยวนะ…) และถังแก๊สก็เป็นเหล็กล้วนๆ ทั้งดุ้นใช่ไหม

ดังนั้นจะตั้งถังแก๊สก็ดูดีๆ แล้วกันว่าตรงที่ตั้งถังนั้นน่ะ มีสารเคมีประเภทที่กัดกร่อนละลายโลหะได้หรือเปล่า ไม่อย่างนั้นถังแก๊สจะได้รับความเสียหายเสี่ยงก๊าซรั่วเอาได้ในอนาคตนะ

อย่างกลิ้งถัง

การคลื่อนย้ายถังแก๊สด้วยการกลิ้งไปเรื่อยๆ กับพื้นด้วยความเชื่อที่ว่าถังแข็งแรงกลิ้งนิด กลิ้งหน่อยจะเป็นไรไปนั้นเป็นความเสี่ยงระดับเดียวกับที่คุณเดินตัวเปล่าเข้าไปกลางดงกับระเบิดเพลิงดีๆ นี่เอง

ที่ห้ามกลิ้งก็เพราะเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายสูงมากๆ จนนำไปสู่ถังแก๊สรั่วได้ บางคนบอกว่าไม่กลิ้ง แต่ใช้วิธีลากถังแก๊สไปมา หรือโยนลงจากรถกระบะสู่พื้นได้ไหม ฮ่าๆๆๆ ได้…ได้ที่ไหนกันเล่า! ไม่ได้เว้ยยยย