จากผลงานวิจัยในปี 2559 ที่ผ่านมา พบว่าเด็กปริญญาตรีจบใหม่ตกงานเกือบ 1.8 แสนคน (มติชนออนไลน์, www, 2560) จึงสร้างความสงสัยว่าทำไมทั้งที่ค่านิยมบอกเราว่าการจบปริญญาตรีจะช่วยสร้างโอกาสให้มีงานทำมากขึ้น แต่ทำไมสถิติออกมาว่ามีเด็กจบใหม่ยังตกงานกันมากมายขนาดนี้ ? เป็นเพราะเราเลือกงานกันมากขึ้น เป็นที่ระบบการศึกษาของมหาวิทยาลัยไทย หรือว่าที่ตัวพวกเราเองที่ยังเติบโตไม่ทันโลกยุคดิจิทัล ? ไม่รู้ว่าตัวเอง “ชอบ” หรือ “ถนัด” อะไร เมื่อทุกคนเรียนจบ ม.ปลาย ตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัย โชคดีที่หลายคนได้เจอสิ่งที่ชอบและเลือกเรียนอย่างที่ใจอยาก แต่ก็มีอีกหลายคนที่เลือกเรียนสาขาตามเพื่อน, เลือกเรียนที่จบได้ง่าย, เลือกเพราะค่านิยมในช่วงนั้น เป็นต้น ซึ่งที่กล่าวมาไม่ได้ตอบโจทย์งานในยุคปัจจุบันเท่าใดนัก จากการสำรวจของ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) พบว่าบัณฑิตที่จบมาได้งานทำน้อย เพราะนักศึกษาก่อนเป็นบัณฑิต ไม่ค้นพบตนเอง ไม่มีทักษะพื้นฐานติดตัว ไม่รู้ว่าอยากเรียนอะไร และไม่มีเป้าหมายในอนาคต เมื่อไปสมัครงานก็เลยเป็นการหว่านใบสมัครแบบไม่รู้จุดหมายเช่นกัน นอกจากนี้การที่เด็กจบใหม่ไม่เข้าใจความต้องการของตัวเอง ความชอบและความถนัด ก็ส่งผลให้ได้ทำงานที่ไม่ตรงกับความสามารถด้วย ทำให้อาจพลาดโอกาสการเติบโตในหน้าที่การงาน ขาดทักษะด้านภาษา ปฏิเสธไม่ได้ว่าทักษะภาษาที่ 2 นั้นสำคัญอย่างยิ่งในทุกยุคทุกสมัย ยิ่งปัจจุบันเป็น “ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล” ที่การสื่อสารเป็นจุดเชื่อมโยงทุกอย่าง แต่การเรียนภาษาที่ 2 โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ซึ่งใช้เป็นภาษากลางไปทั่วโลกนั้น เด็กไทยยังมีทักษะไม่ค่อยดี ทำให้หลายๆ บริษัท ทั้งบริษัทส่วนใหญ่ที่ต้องร่วมงานกับชาวต่างชาติ และบริษัททั่วไปที่ต้องใช้ในการประสานงานหรือการนำเสนอ มองว่าเด็กไทยยังไม่มีทักษะที่พร้อมพอจะเข้าทำงาน ในปัจจุบันการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษในประเทศไทยยังเป็นแบบ Lecture Method หรือก็คือให้นักเรียนจดตามที่ครูสอนทำให้เด็กบางกลุ่มอาจไม่ได้มีความเข้าใจจริงๆ และยังเขินอายกับการใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งการเรียนการสอนแบบนี้อาจต้องมีการเพิ่ม Discussion Method เข้ามาเพื่อให้เด็กไทยกล้าใช้ภาษาต่างประเทศมากขึ้น เป็น “น้ำเต็มแก้ว” บริษัทส่วนใหญ่เมื่อรับเด็กจบใหม่มาทำงานคงไม่ต้องการคนเป็น น้ำเต็มแก้ว ที่ไม่เปิดรับอะไรใหม่ๆ และไม่กระตือรือร้นในการเรียนรู้ ยากที่จะทำงานร่วมกับผู้อื่น เช่นกันกับ น้ำเกลี้ยงแก้ว ซึ่งก็คือทำอะไรไม่เป็นเลยต้องมาสอนงานใหม่แต่ต้น ซึ่งการเป็น “น้ำครึ่งแก้ว” ก็คือลักษณะคนที่พร้อมเปิดรับอะไรใหม่ๆ และพัฒนาตนเองได้และมีทักษะในการทำงานพร้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองหาคนในลักษณะนี้ ไม่เรียนรู้อะไรด้วยตนเอง เชื่อว่าหลายคนส่วนใหญ่คงผ่านการศึกษาระบบที่ ครูสอนหน้าชั้นเรียน เปิดสไลด์ บอกว่าอาทิตย์หน้าสอบบทไหนถึงบทไหน และจบลงที่การสอบ ซึ่งการเรียนการสอนแบบนี้คือ การเรียนการสอนแบบครูเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเป็นระบบการศึกษาที่ไทยใช้เป็นส่วนใหญ่ คือ การให้ครูเป็นผู้เตรียมการเรียนการสอน เรียกได้ว่าเป็นการสื่อสารทางเดียว ทำให้นักเรียนไทยมีบทบาทน้อยในการให้ข้อเสนอแนะ หรือค้นคว้าความรู้ด้วยตนเอง จากความเคยชินดังกล่าวทำให้เด็กไทย ไม่ค่อยได้เรียนรู้ด้วยตนเองหรือการเรียนจากการกระทำ (Learning by doing) เท่าใดนัก ประกอบกับยุคปัจจุบันความต้องการของตลาดงานต้องการบุคลากรที่มีทักษะ การเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ, การแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ เป็นต้น ทำให้ เด็กไทยจะขาดทักษะนี้กันไป รวมทั้งยังขาด Creativity / ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และความกล้าที่จะค้นหาหรือทดลองสิ่งใหม่ๆ อีกด้วย ขาดประสบการณ์ สิ่งที่ HR ส่วนใหญ่จะมองหาจากนักศึกษาจบใหม่ ไม่ใช่แค่เกรดที่ดีเลิศ หรือชื่อของมหาลัยดังเท่านั้น สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือ “ประสบการณ์” เพราะนอกจากจะเห็นว่าเด็กคนนั้นเคยผ่านระบบการทำงานมาแล้ว และเคยทำงานร่วมกับผู้อื่นมาก่อน ซึ่งบัณฑิตจบใหม่มักจะขาดข้อนี้กันไป ซึ่งประสบการณ์ที่กล่าวมาไม่ใช่เพียงประสบการณ์การฝึกงานเท่านั้น ยังรวมไปถึงการทำงานนอกเวลา หรือ การทำกิจกรรมนอกหลักสูตรด้วย เพิ่อเพิ่มความโดดเด่นให้ตนเองและเป็นการเพิ่มประสบการณ์ชีวิตที่หลากหลายให้ตัวเราเองด้วย ซึ่งปัจจุบันมีโครงการของทางมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีโครงการ Cooperative and Work-Integrated Education: CWIE หรือที่เรียกในภาษาไทย คือ สหกิจศึกษา คือการร่วมมือกับบริษัทหรือสถานประกอบการต่างๆ แล้วให้นักศึกษาไปทดลองทำงานจริงๆ เมื่อเรียนจบและไปสมัครงานจะได้รู้จักตนเองมากขึ้นและได้ประสบการณ์การที่จะช่วยลดปัญหาเมื่อทำงานจริงด้วย จากผลการสอบถามผู้ประกอบการของ เว็บไซต์ jobsdb.com (จากบทความ “ผู้ประกอบการ (HR) มองหาอะไร จากเด็กจบใหม่ , 2560) ความสามารถไม่ตอบโจทย์งานในยุคปัจจุบัน ตลาดงานในปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงเพราะกำลังเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล เด็กจบใหม่ควรจะมีทักษะความรู้เพิ่มเติมคือต้องเข้าใจเทคโนโลยีและเรื่องไอทีมากขึ้น เพราะโลกสมัยนี้ไม่ว่าจะจบมาทำงานอาชีพอะไรก็มีเรื่องดิจิทัลเข้ามาเกี่ยว ไม่ว่าคุณจะเป็นอาชีพใดๆ ก็ตามที่แต่ก่อนอาจไม่ต้องใช้เทคโนโลยีมาก แต่มาวันนี้โลกมันเปลี่ยนแปลงแล้ว เราต้องมีทักษะความรู้ด้านนี้ติดตัวเอาไว้ ตัวอย่างของคณะ/สาขาที่เป็นที่ต้องการในปัจจุบันและอนาคต 1. คณะวิทยาการการคอมพิวเตอร์ – Data Scientist 2. คณะการตลาด – Digital Marketing 3. คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม – Information Technology and Innovation ไม่มีทักษะหรือความชำนาญที่เกี่ยวข้องกับคน (Soft Skill) Soft Skill เป็นทักษะที่กลายมาเป็นสิ่งจำเป็นในตลาดงานปัจจุบันซะยิ่งกว่า Hard Skill หรือทักษะพื้นฐานของงานนั้นๆ เสียอีก เพราะการทำงานในยุคใหม่มีความเชื่อมโยงและใช้การสื่อสารเข้ามามากขึ้น ทักษะ Soft Skill คือความชำนาญที่เกี่ยวข้องกับคน เช่น การสื่อสารภาษาที่ 2, การทำงานเป็นทีม, การมีความคิดริเริ่ม เป็นต้น ซึ่งผู้ที่มี Soft Skill จะสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ง่ายกว่าและมีพัฒนาการทางการทำงานที่มากกว่าด้วย ซึ่งแต่ก่อนเราจะเน้นแค่ทักษะเฉพาะของแต่ละอาชีพเท่านั้นทำให้เด็กไทยไม่ได้พยามขวนขวายความรู้ทักษะอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น โปรแกรมคอมพิวเตอร์พื้นฐาน, ความรู้ด้านโซเชียลมีเดีย หรือเทรนด์ต่างๆ ซึ่งถ้าหากมีการเพิ่มพูนทักษะในส่วนนี้และรู้จักปรับกระบวนการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ๆ เสมอ ก็จะเป็นคนที่มี Soft Skill ตามที่ตลาดงานกำลังต้องการแน่นอน ระบบมหาลัยแบบเดิมๆ ตอบโจทย์แล้วหรือยัง ?? จากที่กล่าวมาทั้ง 7 ข้อ นอกจากตัวของเด็กเองแล้วที่ต้องปรับตัวเองให้ทันกับโลกตลาดงานยุคใหม่และมีความกระตือรือร้นในการหาความรู้เพิ่มขึ้น เราก็ต้องมองย้อนกลับมาว่า แล้วมหาวิทยาลัยของไทยนั้นได้มีส่วนช่วยให้เด็กมีความพร้อมสำหรับความต้องการของภาคธุรกิจแล้วหรือยัง ? มหาวิทยาลัยอาจต้องลองตั้งคำถามว่ากำลังเผชิญกับ 4 สภาวะนี้ ซึ่งอาจทำให้เด็กจบใหม่ไม่ตอบโจทย์ตลาดงานยุคใหม่นี้ เนื้อหาการเรียนการสอนที่ล้าสมัย (Outdated/Old Program) ไม่ได้ปรับเนื้อหาการเรียนให้ทันกับยุคที่เปลี่ยนไป ยิ่งในยุคนี้ที่ข้อมูลต่างๆ มีความรวดเร็วอย่างมาก หากเนื้อหาล้าสมัยอาจจะทำให้นำไปปรับใช้จริงไม่ได้ อาจทำให้เด็กไม่มีความสนใจในการเรียนด้วย ครูเป็นศูนย์กลาง (Teacher Centric) ระบบครูเป็นศูนย์กลางนั้นอาจทำให้เด็กไม่ได้ออกความคิดเห็น หรือเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ด้วยตัวเอง ซึ่งอาจทำให้เด็กไทยไม่มีพื้นฐานใน Soft Skill ที่ดีเท่าที่ควร เครื่องมือ/อุปกรณ์การเรียนการสอนไม่ทันสมัย/ไม่เพียงพอ (Less pragmatic/ limited learning facilities) นอกจากเนื้อหาที่ตามทันโลกการมีอุปกรณ์เครื่องมือช่วยส่งเสริม ให้เด็กได้มีการเรียนรู้ครบถ้วนมากขึ้นก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน การใช้อุปกรณ์การเรียนที่ทันสมัยและครบตามที่เด็กต้องการ ช่วยสร้างความกระตือรือร้นในการเรียน และมีความพร้อมมากขึ้นเมื่อออกไปทำงานจริงอีกด้วย ขาดความร่วมมือระหว่างสถาบันองค์กรภาคธุรกิจที่จะช่วยตอบโจทย์การทำงานในอนาคต (Lack of Eco-System and Partners) การร่วมมือกับสถาบันองค์กรภาคธุรกิจอย่างโครงการต่างๆ ที่ให้เด็กได้ดูงานและทดลองทำงานจริง เป็นการช่วยเพิ่มประสบการณ์นอกห้องเรียน และเรียนรู้ระบบการทำงานแบบปฏิบัติจริงจึงลดปัญหาในการทำงานต่อไปในอนาคต จึงจำเป็นอย่างมากที่ทางมหาลัยจะต้องร่วมมือกับองค์กรเหล่านี้เพื่อให้เด็กๆ มีทักษะและคุณลักษณะพร้อมที่สุดเมื่อเรียนจบ วันนี้การเลือกเรียนในระดับมหาวิทยาลัยนั้น เราคงไม่สามารถยึดกรอบความคิด หรือค่านิยมเดิม ๆ ได้อีกต่อไป แต่ต้องมองเทรนด์ในอนาคตให้ออกว่า โลกจะเปลี่ยนแปลงในทิศทางไหน เพื่อที่จะเลือกเรียนหลักสูตรได้ถูกใจตัวเองและตอบโจทย์โลกยุคใหม่ได้จริง ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณธีรศักดิ์ สงวนมานะศักดิ์ ผู้จัดการฝ่ายมหาวิทยาลัยสัมพันธ์และสรรหาว่าจ้าง ประจำภูมิภาคเอเชีย บริษัท เวสเทิร์นดิจิตอล (ประเทศไทย) จำกัด คุณอันธิกา ลิมปิอนันต์ชัย ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด มหาวิทยาลัยกรุงเทพ