Mango Zero

7 ไอเท็มใส่ของสุดจี๊ด ฮิตสุดในยุคนั้น

ของเก่าไปของใหม่มา เมื่อเวลาผันเปลี่ยนไปในแต่ละยุค หลายๆ อย่างก็มักจะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ของที่เคยใช้ ของที่เคยฮิตกันในยุคนั้น อาจจะกลายเป็นเพียงภาพจำในอดีตของวันนี้ รวมไปถึงสิ่งที่เราใช้ใส่ของกันอยู่ทุกวันนี้ก็ต่างมีวิวัฒนาการผันเปลี่ยนไปตามเวลาเช่นเดียวกัน

เราเกิดมาในยุคที่ถุงพลาสติกถูกพบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน จนกระทั่งผู้คนเริ่มหันเข้าสู่กระแสรักษ์โลก โดยการใช้ถุงผ้า ถุงกระดาษ และวัสดุทดแทนพลาสติกอีกมากมาย วันนี้ Mango Zero เลยรวบรวม 7 ไอเท็มใส่ของยอดฮิตตั้งแต่อดีตมาให้ดูกันว่าก่อนจะเป็นแบบทุกวันนี้เขาใช้ไอเท็มอะไรใส่ของกัน และแต่ละไอเท็มมีสกิลอะไรติดตัวกันบ้าง ไปดูกันเลย!

 

ไม้

ทุกคนคงเคยเห็นตามหนังสือเรียน การ์ตูน หรือภาพยนตร์กันมาบ้างกับไอเท็มที่ใช้หอบของในสมัยยุคหิน ยุคที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ อย่างปัจจุบัน ในยุคนั้นจะใช้ไม้ที่มีลักษณะเป็นแท่งยาวๆ พร้อมกับเอาเถาวัลย์มาประยุกต์เป็นเชือกเพื่อรัดอาหาร ในยามที่ออกล่าหาอาหารเพื่อแบกกลับไปที่ถ้ำ สำหรับวัสดุเหล่านี้ก็สามารถหาได้ง่ายๆ ตามป่าเขาทั่วไป

รับรองได้เลยว่าถ้ายังใช้ไม้หอบของกันอยู่ในปัจจุบัน โลกนี้คงสะอาดปราศจากขยะพลาสติกแน่นอน แต่ถ้าเอาตามความเป็นจริงนะ… เจ้าไม้ก็นับเป็นไอเท็มที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมอยู่หรอก แต่ทุกวันนี้แค่ออฟฟิศซินโดรมก็จะแย่อยู่แล้ว ถ้าให้แบกไม้หอบของกันขนาดนี้ แยกย้ายกันไปปวดหลังต่อยังดีกว่า!

ถึงไม้จะเป็นวัสดุธรรมชาติ แต่ก็นับเป็นอีกหนึ่งไอเท็มที่ใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 13 ปีเชียวล่ะ

ความทนทานต่อการใช้งานของไม้ ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะของพันธุ์ไม้เเต่ละชนิดและน้ำหนักของสิ่งของที่หิ้วมาด้วย เพราะส่วนใหญ่คนในยุคนั้นจะใช้ไม้ในการแบกสัตว์ขนาดใหญ่ จึงต้องเลือกไม้ที่ดูแข็งแรง ทนทาน และสามารถใช้ได้หลายครั้ง

เนื่องจากเป็นยุคที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น และไม้ก็เป็นวัสดุธรรมชาติที่หาได้ง่ายที่สุดในตอนนั้น ไม้จึงเปรียบเสมือนไอเท็มที่จำเป็นต้องมี ทุกคนเลยน่าจะไม่ติดขัดเวลาพกพา แต่ถ้าให้เอามาใช้ในปัจจุบัน การพกไม้ที่มีขนาดยาวขนาดนั้นคงไม่สะดวกแน่ๆ

ไม้เป็นวัสดุจากธรรมชาติที่ไม่ได้มีพิษมีภัยต่อโลก และสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ นอกจากนี้ยังนำมาประยุกต์ใช้ต่อได้อีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น อาวุธในยุคนั้น ฟืน (แต่ถ้าเผาก็ไม่ดีกับโลกนะ!) หรือเครื่องใช้เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ในปัจจุบันเองก็มีการผลิตมาจากไม้นี่แหละ

เนื่องจากไม้เป็นแท่งยาว จึงใช้วิธีการในการขนของเหมือนใช้หาบเร่ ทำให้สะดวกต่อการขน เพราะทุ่นแรงลงไปอีก

 

ใบตอง

พันธุ์ไม้ที่อยู่คู่คนไทยมานานแสนนาน และตกทอดมาจนถึงปัจจุบันในรูปแบบของภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ ที่ห่อทั้งอาหารและขนมสไตล์ไทยๆ หากจะให้เล่าถึงประวัติความเป็นมาก็คงเริ่มมาตั้งแต่ที่คนไทยเริ่มรู้จักการนำสิ่งของจากธรรมชาติมาประยุกต์ใช้ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยนั่นแหละ ใบตองถูกใช้เพื่อถนอมอาหาร และใช้เป็นภาชนะใส่อาหารจากธรรมชาติ ที่คนส่วนใหญ่คิดว่าดีต่อสิ่งแวดล้อม จึงเริ่มใช้กันอย่างเเพร่หลาย

ทุกครั้งก่อนที่จะนำใบตองมาเก็บหรือห่ออาหารนั้น จะต้องเช็ดทำความสะอาดให้ดี เพราะในใบตองอาจมีสารเคมีปนเปื้อนจากยาฆ่าแมลงก็ได้ จำไว้เสมอว่าจะรักษ์โลก และอนุรักษ์วัฒนธรรมของไทยอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องปลอดภัยต่อสุขภาพด้วย

เมื่อถูกใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ห่ออาหารแล้ว ใบตองจะใช้เวลาในการย่อยสลายประมาณ 14 วัน ก่อนจะลาจากโลกนี้ไป

ใบตองเป็นไอเท็มที่ย่อยสลายได้ง่าย จึงมีความทนทานไม่มาก เพราะใบตองสดนั้นก็นับเป็นพืช จึงเหี่ยวและเน่าได้ง่าย และเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อราสูง เพราะไม่สามารถใส่อาหารที่มีน้ำได้

ใบตองถูกพัฒนาเพื่อใช้ในการบรรจุอาหารที่หลากหลายรูปแบบมากขึ้น เพื่อความพกพาง่าย แต่ในขณะเดียวกันก็ฉีกขาดและเลอะเทอะง่ายเช่นเดียวกัน

ถึงแม้ว่าใบตองจะย่อยสลายง่าย แต่ก็ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก ที่ส่งผลกระทบให้โลกร้อนออกมาไม่น้อย ใครที่คิดว่าใช้ใบตองดีที่สุดเพราะเป็นวัสดุจากธรรมชาติ น่าจะคิดผิดแล้วล่ะ

เป็นตัวช่วยในการถนอมและยืดอายุอาหารได้ อีกทั้งยังทนทานต่อความเย็นและความร้อนอีกด้วย

 

ชะลอม

ไอเท็มที่มีวิวัฒนาการมาหลายต่อหลายรุ่น เพื่อประโยชน์ในการใช้งานอย่างสูงสุดนั่นเอง เชื่อว่าหลายคนที่เห็นสิ่งนี้ ก็คงนึกถึงเด็กสาวสองเปียที่หิ้วชะลอมเต็มสองมือมายังคฤหาสน์บ้านทรายทองอย่างพจมาน ที่ในสมัยนี้คงเป็นภาพที่หายากในชีวิตจริงไปแล้ว ชะลอมสานมาจากไม้ไผ่ ไว้ใส่สิ่งของต่างๆ ส่วนมากใช้ใส่ผักและผลไม้ นอกจากจะมีประโยชน์ในการใช้สอยได้แล้ว ชะลอมยังนับเป็นอีกหนึ่งมรดกวัฒนธรรมของคนไทยอีกด้วย

เนื่องจากชะลอมทำมาจากไม้ไผ่ เช่นเดียวกับไม้ที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ โดยจะใช้เวลาในการย่อยสลายประมาณ 13 ปีเช่นเดียวกัน

ชะลอมที่ทำมาจากไผ่ มีความทนทานต่อการใช้งานค่อนข้างมาก ถึงจะดูบอบบางแต่ก็ไม่ได้ขาดกันง่ายๆ นะจะบอกให้

อาจจะถือค่อนข้างยาก เพราะชะลอมไม่มีหูหิ้วจึงทำให้จับค่อนข้างลำบาก ถ้าไม่ถือดีๆ จึงอาจมีหลุดมือได้ เพราะฉะนั้นต้องมีการสานให้ถี่ขึ้น เพื่อประโยชน์ในการใช้งานที่สูงไปอีกขั้น

เป็นวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เรียกได้ว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นับเป็นงานหัตถกรรมที่มีรูปทรงสวยงาม และยังถือเป็นเอกลักษณ์ของไทยอีกด้วย

 

ปิ่นโต

เมื่อก่อนถ้าเราอยากจะห่ออาหารไปกินที่อื่น ยามเดินทางไกล หรือแม้แต่จะนำอาหารไปถวายพระที่วัด ไอเท็มที่จะช่วยให้นำอาหารไปถึงที่โดยสวัสดิภาพคงหนีไม่พ้นปิ่นโตแน่นอน ด้วยความที่ปิ่นโตถูกออกแบบแยกกล่องออกเป็นชั้นๆ ซ้อนกัน ทำให้สามารถใส่อาหารได้หลากหลายและไม่กินพื้นที่ จึงตอบโจทย์วิถีชีวิตคนไทยที่ต้องกินข้าว กับ บวกของหวานหรือผลไม้เพิ่มเข้าไปยังไหว

ในที่นี้จะพูดถึงปิ่นโตสังกะสีเคลือบในแบบโบราณ แน่นอนว่าทำมาจากสังกะสี ที่ใช้เวลาเป็นร้อยปีกว่าจะย่อยสลายได้

เนื่องจากวัสดุที่ใช้ผลิตปิ่นโตเป็นสังกะสี ที่มีความแข็งแรง ทนทานมาก จึงทำให้ปิ่นโตสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ในระยะยาว

ถ้าเปรียบกับวิถีชีวิตของคนในสังคมปัจจุบัน การพกปิ่นโตเป็นชั้นๆ ก็อาจจะไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่ เนื่องจากหนักและค่อนข้างกินพื้นที่ในการพกพา อีกทั้งเมื่อใส่อาหารมากินเสร็จแล้วจำเป็นต้องบ้างแล้วหิ้วปิ่นโตกลับอีกด้วย จึงอาจจะไม่ตอบโจทย์ได้ดีเท่าที่ควรเท่าสมัยก่อน

ในกระบวนการการผลิตปิ่นโตสังกะสีนั้นใช้พลังงานค่อนข้างเยอะ นอกจากนั้นยังทำให้เกิดมลพิษมากมาย โดยเฉพาะมลพิษทางอากาศ อย่างควันพิษ และฝุ่นละออง

ด้วยกล่องที่สามารถแยกเป็นชั้นๆ ทำให้ใส่อาหารได้หลากหลายในการพกแค่ปิ่นโตอันเดียว ตอบโจทย์สำหรับคนที่อยากกินอาหารหลากหลายเมนู

 

ถุงกระดาษ

อีกหนึ่งไอเท็มที่เปิดตัวมาด้วยการเป็นฮีโร่ผู้เป็นมิตรกับโลก ด้วยคำว่า ”กระดาษ” เพราะนอกจากถุงกระดาษจะใช้สอยโดยการใส่ของจิปาถะได้แล้ว ด้วยดีไซน์ที่เรียบง่าย และสามารถสกรีนลายถุงได้ เลยนิยมหิ้วเป็นพรอปเก๋ๆ ถ้าย้อนไปช่วง 40-50 ปีก่อน ก็คงจะเคยเห็นถุงโชคดีนี่แหละที่ฮิตสุดในยุคนั้นแล้ว

ถึงแม้จะมีกระแสลบอยู่บ้างในแง่ของกระบวนการผลิต แต่ในปัจจุบันก็มีแนวโน้มว่าถุงกระดาษจะได้กลับมาเฉิดฉายอีกครั้ง เนื่องจากมาตรการงดแจกถุงพลาสติกที่ปลุกกระแสรักษ์โลกให้ตื่นตัวมากขึ้น

การย่อยสลายของถุงกระดาษนั้นง่ายกว่าถุงพลาสติกก็จริง แต่ทางสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency หรือ EPA) ก็ได้ออกมาบอกว่าถุงกระดาษไม่ได้ใช้ระยะเวลาย่อยสลายเร็วกว่าถุงพลาสติกมากเท่าไหร่

ถุงกระดาษสามารถนำมาใช้ซ้ำได้ แต่ข้อเสียคือ เมื่อโดนน้ำแล้วก็จะขาดง่าย ทำให้นำกลับมาใช้งานไม่ได้อีก

เนื่องจากน้ำหนักที่เบา เพียงแค่พับ ก็พกถุงกระดาษไปได้ทุกที่

เพราะการผลิตกระดาษที่ต้องใช้น้ำมากกว่าการผลิตถุงพลาสติกถึง 4 เท่า แถมยังต้องใช้สารเคมีต่างๆ ในช่วงขั้นตอนปลูกต้นไม้อีก นี่ยังไม่นับปริมาณก๊าซเรือนกระจกหรือ Carbon Footprint ที่ถูกปล่อยออกมาตลอดช่วงอายุของถุงกระดาษนะเน่ี่ย บอกเลยว่าเยอะกว่าที่คิด

สามารถนำมารีไซเคิลได้ ย่อยสลายเร็วกว่าถุงพลาสติก และถือเป็นพรอปได้

 

ถุงพลาสติก

มีฮีโร่แล้วก็ต้องมีวายร้าย ถุงพลาสติกได้ถูกตราหน้าว่าเป็นตัวปัญหา ถึงแม้จุดประสงค์จริงๆ จะถูกส่งมาช่วยโลกก็เถอะ แต่ด้วยปริมาณขยะพลาสติกที่ล้นโลก และประสิทธิภาพในการรอดชีวิตอยู่ยงคงกระพันขนาดนี้ เลยทำให้ทุกคนเข้าใจว่ามีน้ำหนักเบาเหมาะแก่การใช้ใส่ของทั่วไป ข้อเสียทำลายยากแต่ถ้ามีการจัดการที่ดีก็ทำลายได้ ปัจจุบันคนก็เริ่มหันมารนรงณ์ให้เลิกใช้พลาสติก

ขึ้นชื่อในเรื่องอยู่ยงคงกระพันอันดับหนึ่ง เพราะใช้เวลาย่อยสลายปาเข้าไป 400 กว่าปี

ถุงพลาสติกถูกออกแบบให้มีความแข็งแรง ทนทาน และมีความยืดหยุ่นค่อนข้างมาก เพื่อให้ใช้งานซ้ำได้หลายครั้ง แต่ก็ขึ้นอยู่กับการใช้งานแต่ละครั้งอีกนั่นแหละ

นอกจากจะมีน้ำหนักเบาที่พร้อมปลิวไปกับสายลมแล้ว ถุงพลาสติกยังสามารถพับเก็บเพื่อพกพาได้อย่างสะดวกสบาย พับใส่กระเป๋ากางเกงยังได้เลย

แน่นอนว่าเขาพูดกันหนาหูหมดแล้วว่าถุงพลาสติกน่ะเป็นวายร้ายทำลายโลก! เพราะตลอดกระบวนการการผลิตถุงพลาสติกออกมา ต้องสูญเสียทรัพยากร ปล่อยก๊าซ อีกทั้งเมื่อคนใช้ถุงพลาสติกอย่างสิ้นเปลือง การจัดการกับถุงพลาสติกไม่มีประสิทธิภาพ จึงทำให้ไม่สามารถกำจัดถุงพลาสติกได้ เกิดปัญหาขยะพลาสกติกที่ลงสู่ทะเล และสิ่งแวดล้อมเหล่าสัตว์น้ำก็กินเข้าไป หรือเข้าไปติดอยู่ในถุงพลาสติก ซึ่งทำลายระบบนิเวศ

ถุงพลาสติกมีน้ำหนักเบา พกพาง่าย และสามารถใช้งานได้สะดวกสบายกว่า เพราะใส่ได้ตั้งแต่สากกระเบือยันเรือรบ (แค่เปรียบเปรยเฉยๆ นะ)

 

ถุงผ้า

และฮีโร่ที่ช่วยโลกในตอนนี้จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากถุงผ้า ที่ถูกนำมาเป็นสิ่งทดแทนถุงพลาสติก ที่กำลังโดนสังคมแบนอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากถุงผ้ามีอายุการใช้งานที่นานกว่า ใช้ซ้ำได้หลายครั้ง แถมยังมีการออกแบบลวดลาย และรูปทรงมากมายให้เลือกใช้ จึงทำให้ถุงผ้าได้รับคะแนนนิยมชมชอบเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

 ถุงผ้าทำมาจากฝ้าย ใช้เวลาในการย่อยสลายประมาณ 6 เดือน

แน่นอนว่า เพราะถุงผ้าทำมาจากฝ้าย ผ่านกระบวนการทอมาอย่างดี ทำให้มีความทนทานและใช้ซ้ำได้หลายครั้งมากกว่าถุงกระดาษและถุงพลาสติก โดยใช้ซ้ำได้ถึงประมาณ 131 ครั้งเลยทีเดียว

ถ้าในสมัยก่อนฮิตหิ้วถุงโชคดี สมัยนี้ก็ฮิตการสะพายถุงผ้าเช่นเดียวกัน เพราะนอกจากจะเป็นตัวแทนไอเท็มรักษ์โลกแล้ว ยังมีดีไซน์ที่สวยงามออกมามากมาย ให้สะพายเป็นกระเป๋าใส่ของได้เลย หรือจะพับเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วเก็บใส่กระเป๋าอีกทีไว้ใช้ใส่ของยามช้อปปิ้งก็ได้

เช่นเดียวกันกับถุงกระดาษ ถุงผ้าก็ต้องปลูกฝ้ายและต้องใช้น้ำในกระบวนการผลิตค่อนข้างมาก ระหว่างกระบวนการยังปล่อยก๊าซคาร์บอนและสารเคมีต่างๆ ออกมามากมาย

เป็นวัสดุที่แลดูจะแข็งแรงทนทาน และใช้ซ้ำได้หลายครั้งที่สุด อีกทั้งยังเป็นไอเท็มที่เป็นพรอปติดตัวแทนกระเป๋าใบนึงไปเลยก็ย่อมได้

 

สุดท้ายแล้ว เราก็ไม่สามารถบอกได้ว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุด เพราะทุกไอเท็มก็ไม่มีอะไรที่ดีไปทั้งหมดและแย่ไปทั้งหมด วัสดุทุกชนิดถูกผลิตขึ้นมาเพื่อตอบสนองการใช้สอย และความสะดวกสบายให้กับมนุษย์เราทั้งนั้น และปัญหาหลักๆ ที่เราควรโฟกัส ก็อาจจะอยู่ที่การใช้งานและการจัดการกับมันมากกว่า หากใช้ไม่ถูกวิธี ทุกไอเท็มก็อาจกลายเป็นวายร้ายที่กลายเป็นปัญหาในอนาคตได้อยู่ดี