Mango Zero

7 คำแนะนำก่อนจะเป็น BNK48 รุ่น 2 ต้องเตรียมตัวอย่างไร จาก ‘ปัญ’ ‘เจนนิษฐ์’ และ ‘มิวสิค’

อีกไม่กี่วันการเปิดรับสมัครสมาชิกรุ่นที่ 2 ของวงไอดอล BNK48 จะปิดรับสมัครแล้ว วันสุดท้ายที่สามารถส่งใบสมัครได้คือ 2 กุมภาพันธ์นี้ แต่สำหรับคนที่ยังไม่สมัคร กำลังลังเลตัดสินใจอยู่ รวมไปถึงคนที่ส่งใบสมัครไปแล้ว มีอะไรบ้างที่ต้องเตรียมตัว มีการบ้านอะไรบ้างที่ต้องรู้ก่อนเข้าสู่ครอบครัว BNK48 บ้าง สงสัยกันไหม? 

ทีมงาน MangoZero ได้พูดคุยกับรุ่นพี่ BNK48  ‘ปัญ – ปัญสิกรณ์ ติยะกร’  ‘เจนนิษฐ์ – เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ ‘ และ ‘มิวสิค – แพรวา สุธรรมพงษ์’ มาเป็นติวเตอร์และพี่เลี้ยงแนะนำเหล่าว่าที่ BNK48 รุ่น 2 ทั้งหลายว่าต้องเตรียมตัวอย่างไรหากได้มีโอกาสเข้ามาเป็นสมาชิก BNK 48 รุ่นที่ 2 แล้ว

ต้องมีความรักใน BNK48

มิวสิค : สิคอยากให้คนที่มาออดิชั่นไม่ต้องคิดมากว่าจะต้องทำแบบคนไหน แต่อยากให้เป็นตัวของตัวเองมากกว่า ถ้าเราขยันกับการฝึกซ้อมมันจะเห็นความตั้งใจ และความพยายามของเราเอง

ถ้าเข้ามาอยู่ในครอบครัว BNK48 แล้ว ขอให้เก็บความเป็นตัวเอง ไม่ใช่ออดิชั่นเข้ามาแล้วเปลี่ยนคาแรคเตอร์เลย สิ่งนี้อาจจะทำให้ความเป็นตัวเองที่มีเสน่ห์หายไป และอย่าพยายามเลียนแบบใครหรือพยายามที่จะเป็นใคร

การที่เราถูกเลือกเข้ามาไม่ใช่เพราะเป็นเหมือนใคร แต่เพราะเราเป็นตัวของเราเอง เลยอยากจะให้รุ่นน้องมั่นใจไว้  ถ้ามี Passion อยากจะทำงานตรงนี้จริงๆ แนะนำเลยว่าเป็นตัวของตัวเอง อย่าเลือกที่จะเป็นใคร เคยมีช่วงนึงเราไขว้เขวอยากจะเป็นอย่างคนนั้น อยากจะดังอย่างคนนี้ แต่ช่วงที่หลุดจากตำแหน่งเซ็นเตอร์ เลยได้กลับมาคิดทบทวนตัวเองซึ่งมันทำให้สิคมีความสุขมาก โดยที่ไม่อยากที่จะเป็นใครอีกเลย

ปัญ : เรามองว่าตอนนี้คาแรคเตอร์ของพวกเราทั้ง 28 คนก็ไม่เหมือนกันแล้ว มันก็ยากที่จะหาคนที่คาแรคเตอร์แปลกกว่านี้ มันก็อาจจะมีแหละแต่คงไม่ทุกคน

สิ่งหนึ่งที่อยากให้น้องๆ รุ่นสองมีคือความรักในความเป็น BNK48 จริงๆ แสดงออกมาให้เห็นเลย หนูมองว่าผู้บริหารกำลังมองหาสิ่งที่มาเติมเต็มในสิ่งที่รุ่น 1 ขาดไปดังนั้นแสดงให้เห็นว่าเราคือส่วนที่เขากำลังมองหา

การได้มาทุกสิ่งมันง่ายกว่าการรักษาไว้ 

เจนนิษฐ์ : นอกจากความหนักหนาของการฝึกฝนแล้ว ก็ต้องเจอกับความกดดันอื่นๆ ที่เป็นเรื่องของสภาพจิตใจด้วยไม่ใช่แค่ร่างกายอย่างเดียวโดยเฉพาะเรื่องแฟนคลับที่สนับสนุนพวกเรามันยากมากที่จะทำให้เขาชอบจนอยากสนับสนุนเรา

ปัญ : อย่างรุ่นหนึ่งแฟนคลับเขาก็เลือกแล้วเขาไม่มีใครมาก่อนมาถึงก็เลือกเลย แต่ตอนนี้เขามีใครสักคนที่โอชิอยู่แล้วมันก็ยากที่จะมีการเปลี่ยนไปเลือกใคร ความกดดันคือต้องทำอย่างไรให้เขาประทับใจมากถึงขั้นเปลี่ยนมาโอชิเราได้นี่แหละ

เจนนิษฐ์ : จริงๆ มันก็อาจจะง่ายนะ (หัวเราะ) อีกอย่างที่เป็นความกดดันคือตอนนี้แฟนคลับคาดหวังแล้วว่า BNK48 รุ่น 2 จะทำได้ดีกว่ารุ่นหนึ่งหรือเปล่า ต้องแบกรับความกดดันตรงนี้ รุ่นหนึ่งก็กดดันเรื่องที่จะรักษาตำแหน่งเช่นกันนะ (หัวเราะ) ก็อยากให้คิดไว้เสมอว่าการได้มาทุกสิ่งมันง่ายกว่าการรักษาไว้บอกตัวเองด้วย (หัวเราะ)

ปัญ : แต่เราก็ต้องช่วยรุ่นสอง เพราะยังไงก็เป็น BNK48 เหมือนกันอยู่ในครอบครัวเดียวกัน ถึงจะมีการแข่งขัน สุดท้ายก็คือครอบครัวเดียวกันอยู่ดี อยากให้ทุกคนได้ดีเหมือนกัน แต่ขณะเดียวกันเราก็อยากจะได้เหมือนกัน (หัวเราะ) การแข่งขันไม่ใช่แค่การแข่งขันภายใน แต่มันเป็นการแข่งขันเรื่องการทำผลงานด้วยว่า ณ จุดที่คุณไปยืนบนเวที คุณทำได้ดีแค่ไหน แต่พอหลังเวทีเราก็ช่วยรุ่นสองในการซ้อมอยู่แล้ว

มิวสิค : จริงๆ ตอนนี้เรากดดันตัวเองมากกว่า เราก็ไม่รู้ว่าพอมีรุ่นสองเข้ามา การเป็นตัวตนของเราจะทำให้แฟนคลับชอบอยู่ไหม นี่ไม่ใช่ความอิจฉา แต่เป็นความพยายามของตัวเองที่ต้องทำมากกว่าเดิม ความรู้สึกของเราคือรุ่นพี่จะช่วยซัพพอร์ทคนที่เข้ามาใหม่ แต่ตัวเราเองก็ต้องรักษาตำแหน่งด้วย

ก็อาจจะมีความรู้สึกว่าถ้าน้องเข้ามาใหม่แล้วได้เป็นเซ็นบัตสึเลย เราคงจะตำหนิตัวเองว่าทำไมพยายามไม่พอ ไม่อยากเกิดความรู้สึกแบบนี้ แต่ว่าเราก็ช่วยรุ่นน้องต่อไป และก็ไม่ยอมแพ้เหมือนกัน (หัวเราะ)

มีความพยายามอย่างเดียวไม่พอต้องสร้างพัฒนาการให้เกิดขึ้นด้วย 

ปัญ : การเป็น BNK48 มีความเหนื่อยแน่นอนนั่นคือสิ่งที่น้องๆ ต้องเจอ สำหรับหนูความเหนื่อยที่เจอคือเหนื่อยเพราะต้องพยายามเป็นที่รักของทุกคน แต่ก็ห้ามทำตามใจทุกคนจนสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง ต้องหาความพอดีนั้นให้เจอ และต้องแข่งขันกับตัวเองรวมถึงคนอื่นด้วย พร้อมกับต้องทำให้ผู้บริหารเห็นว่าเราพัฒนา

นอกจากนี้คืออยู่เฉยไม่ได้  ถ้าอยู่เฉยๆ เราจะตกลงเรื่อยๆ แล้วคนที่เขาพยายามก็จะดีขึ้นมาเรื่อยๆ อีกอย่างแค่ความพยายามอย่างเดียวก็ไม่พอ ต้องพยายามแล้วสร้างพัฒนาการให้เกิดขึ้นด้วย ไม่อย่างนั้นก็ไม่เห็นความแตกต่าง นอกจากที่ต้องร้องเต้นให้ดีแล้ว พัฒนาการด้านในก็ต้องทำให้ดีขึ้นไปตลอด นี่คือจุดที่ทำให้เหนื่อย แต่ต้องฝ่าไปให้ได้

ทุกคนล้วนต้องเจอความเหนื่อย 

มิวสิค : ทุกคนต้องเจอความเหนื่อยที่หนัก ไม่ได้เหนื่อยกายอย่างเดียว บางทีเหนื่อยใจด้วย เราเคยผ่านช่วงที่เหนื่อยใจจนสูญเสียความเป็นตัวเองไปเหมือนกันเพราะว่าตอนนั้นเราได้เป็นเซ็นเตอร์ และเป็นซิงเกิ้ลแรกของวง มีคนต้องการที่จะให้เราเป็นแบบนั้น แบบนี้หลายอย่างมากๆ ที่ถูกคาดหวังว่าจะให้เราเป็น เราสูญเสียความเป็นตัวเองไปโดยที่เราก็ไม่รู้ตัว

เจนนิษฐ์ : ช่วงแรกๆ ที่เข้ามาจะเหนื่อยมากๆ เราเองก็เหนื่อยมากเพราะต้องปรับตัว เนื่องจากหลังจากออดิชั่นเราเรียนหนังสืออยู่ ต้องตื่นตี 5 ทุกวัน เลิกเรียนก็ไปซ้อมถึงประมาณ 3 – 4 ทุ่ม กว่าจะถึงบ้านก็ 5 ทุ่มแล้ว ยังไม่ได้อาบน้ำต้องจัดการการบ้าน อ่านหนังสือพราะต้องสอบเทียบ เวลาน้อยมาก

สิ่งที่เราต้องเจอมีมากมายทั้งเหนื่อย นอนไม่พอ ฝึกหนัก ร่างกายล้าเพลีย โทรมเหมือนซอมบี้ (หัวเราะ) ขอบตาดำ ดูก็รู้ว่าไม่ได้พักผ่อน ขนาดเราออกกำลังกายมาเยอะยังเกือบจะถึงขีดสุดแล้ว เสาร์ – อาทิตย์ก็ซ้อม 8 – 9 ชั่วโมง กล้ามเนื้อไม่มีแรงจะยืนแล้ว เราผ่านมาได้เพราะเจ็บจนชิน (หัวเราะ) ซ้อมแบบย้ำไปเรื่อยๆ เตรียมกายและใจให้ดีเลยค่ะ

ทุกคนท้อได้แต่ต้องรีบกลับมาเร็วที่สุด 

เจนนิษฐ์ : บางครั้งการหลุดจากตำแหน่งก็ดีเหมือนกันนะคือทำให้ได้ทบทวนตัวเอง ทำให้เราขยันมากยิ่งขึ้นว่า เฮ้ย! เขาไม่ได้เลือกเรา เราก็อยากทำให้เขาเสียดายที่ไม่เลือกเรา ขณะเดียวกันก็ต้องฝึกให้ดีมากขึ้นแฟนคลับก็จะเห็นเราพัฒนา เราก็มีกำลังใจมากขึ้นไปอีก แล้วคนอื่นก็จะมองว่าเราเหมาะสมไหมเมื่อโอกาสมาถึง มันไม่มีเวลาให้ถอยหลัง ท้อได้แต่ต้องรีบกลับมาให้เร็วที่สุด

ปัญ : สมมติวันหนึ่งหนูเป็นเซ็นบัตสึ แล้วต้องตกไปเป็นอันเดอร์เกิร์ล เราต้องเสียใจนิดนึง แต่คงไม่ได้เสียใจแบบฮือๆๆ (หัวเราะ) หนูจะแบบเสียใจแล้วมองในแง่ดีว่าเราได้มาอยู่อีกจุดที่ไม่เคยอยู่นะ ได้มาเรียนรู้ว่าอันเดอร์เกิร์ลเป็นอย่างไร จะได้เรียนรู้ว่าทำยังไงให้เรากลับไปเป็นเซ็มบัตสึอีกครั้ง เราจะมีความสุขมากๆ เมื่อถึงเวลาก็สามารถปลอบคนที่เป็นอันเดอร์เกิร์ลได้ ถ้าอยู่แต่จุดเดิมเราจะไม่มีทางเข้าใจเลย

มิวสิค : เรารู้สึกว่าตำแหน่งเซ็นเตอร์มันกดดัน พอเป็นเซ็นเตอร์แล้วก็บอกตัวเองว่าไม่เอาแล้ว (หัวเราะ) มันกดดันมาก ตอนที่หลุดเราก็มีความคาดหวังแหละว่าอยากจะเป็นเซ็นเตอร์ต่ออีก แต่พอหลุดมาเราสบายใจนะเพราะได้คิดทบทวนหลายอย่างถึงสาเหตุที่เราไม่ติด นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เรากลับมาเป็นตัวของตัวเองได้

เหมือนถูกตบให้เข้าที่ การหลุดจากตำแหน่งตัวจริงไม่ใช่สิ่งสุดท้าย ไม่อยากให้เอามาคิดว่าทำไมถึงหลุด จริงๆ มันคือสิ่งที่ควรผลัดเปลี่ยนกันไป จะมายึดตำแหน่งนี้ตลอดมันไม่ใช่ เลยคิดว่าเปิดโอกาสให้หลายคนได้ลองเพื่อจะได้ทบทวนบทเรียนใหม่ๆ ที่ทำให้เราได้พัฒนาตัวเองขึ้นไปอีก

การไม่ติดเซ็นบัตสึ ไม่ใช่ที่สุดของชีวิต 

มิวสิค : น้องที่เข้ามาใหม่ไม่แปลกที่เข้ามาแล้วหวังว่าอยากที่จะติดเซ็นบัตสึเลย แต่เขาก็มองข้ามเรื่องการฝึกซ้อมไปเลย ต้องมีคำถามมาแน่ๆ ว่าพี่ทำยังไงให้ติดเซ็นบัตสึ เราเองก็ตอบไม่ได้มันเป็นเรื่องของเซ้นส์จริงๆ ว่าน้องจะทำยังไงให้ผ่านไปได้

ปัญ : เอาจริงๆ รุ่นหนึ่งเข้ามาใครๆ ก็อยากจะติดเซ็นบัตสึ แต่การติดเซ็นบัตสึมันไม่ใช่คำตอบสุดท้าย คนที่ไม่ติดเซ็นบัตสึอาจจะเก่งกว่าคนอื่นก็ได้ มีงานเยอะกว่าก็ได้มันอยู่ที่ตัวคุณเอง คาแรคเตอร์ของเราหรืออะไรต่างๆ ไม่อยากให้เสียใจว่าทำไมเราไม่ติดเซ็นบัตสึ สักทีอยากให้ทุ่มเทเพื่อพัฒนาตัวเองต่อไป

มิวสิค : เซ็นบัตสึมันเป็นสิ่งพื้นฐาน แต่ก็ไม่ใช่สิ่งสุดท้ายที่คุณจะทำอย่าคิดหวังว่าสิ่งนี้คือสิ่งสุดท้าย ไม่ติดเซ็นบัตสึ แล้วไม่อยากทำต่อมันไม่ใช่ การไม่ติดเซ็มบัตสึ ไม่ใช่ที่สุดของชีวิต บางทีคาแรคเตอร์ของเราไปได้มากกว่านั้น เช่นสมมติว่าการเป็น MC มันเหมาะกับเรานะ เราก็อาจจะที่จะไปฝึกฝนทักษะตรงจุดนี้ของตัวเองเพิ่มด้วย แต่ก็ไม่อยากให้ลืมการฝึกฝนเพื่อมีโอกาสได้ติดเซ็นบัตสึ เรายังอยากให้พยายามที่จะทำเพื่อให้ติดตัวจริง

เจนนิษฐ์ : ถ้าไม่ติดเซ็นบัตสึ คุณก็ต้องพยายามทำให้คนอื่นได้เห็นว่าคุณเก่งอย่างไรในด้านอื่น เขาจะได้รู้ว่าคุณสามารถทำงานสายไหนได้บ้าง อีกนัยนึงนี้คือการเพิ่มโอกาสให้ตัวเอง จริงๆ นี่คือการบอกทั้งตัวเอง และบอกรุ่นน้องด้วยนะ (หัวเราะ)

ความจริงใจสำคัญมากๆ และอย่าสร้างกำแพง 

เจนนิษฐ์ : สิ่งสำคัญที่สุดของการอยู่เป็นครอบครัว BNK48 คือความจริงใจสำคัญมากๆ และอย่าสร้างกำแพง แม้จะไม่ชอบหน้าคนนี้แต่ต้องอยู่ร่วมกันไปอีกนานเลยนะ บางทีอาจมีจุดที่เราไม่ชอบเขา แต่มันก็แค่คิดไปเองว่าเราไม่ชอบเขาทั้งที่ยังไม่ได้เปิดใจให้กันเลย

มิวสิค : หลังจากที่เข้ามาเป็นสมาชิกของ BNK48 น้องๆ ต้องอยู่ และทำความรู้จักกันเองก่อนที่จะมารวมกับรุ่นพี่ แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวช่วงแรกๆ เราก็จะอยู่แบบกลุ่มใครกลุ่มมันก่อน ยังไม่ค่อยกล้าจะเปิดใจต่อกัน คนเราจะตัดสินกันตั้งแต่ตอนที่เจอหน้ากัน 3 วินาทีแรกแล้ว อย่างเราเจอปัญครั้งแรกยังคิดเลยว่าน่าจะเป็นคนดุๆ โหดๆ โฉดๆ (หัวเราะ) เราเลยไม่กล้าเข้าไปคุยกับปัญ

แต่ภายหลังเราได้ทำงานร่วมกันก็รู้ว่าคนนี้ดีมากๆ (หัวเราะ)  เลยคิดว่าการปรับตัวมันเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ที่จะเปิดใจให้คนในวง สิคเองตอนแรกก็มีเรื่องเถียง ทะเลาะกับพี่เฌอปราง (เฌอปราง อารีย์กุล) เรื่องร้องเพลง เรื่องเต้นบ่อยมาก แต่เราไม่ได้ทะเลาะกันรุนแรงนะ แค่เถียงกันแบบ พี่เฌอไม่ได้เต้นตรงไลน์นี้นี่ พี่เฌอก็จะบอกว่าไม่ๆ พี่เต้นตรงไลน์นี้ถูกแล้ว

ปัญ : แต่สุดท้ายสองคนก็จะเดินมาถามเราว่า “…ปัญ พี่เฌอเต้นไลน์ตรงไหนตอบหน่อย” (หัวเราะ) ถ้าเราชี้ปุ๊บไม่ว่าใครถูกหรือผิดจะหยุดเลย

มิวสิค : เรากับพี่เฌอขี้เถียงกันทั้งคู่ (หัวเราะ) พอคนขี้เถียงมาเจอกันก็ต้องให้คนหัวเย็นที่สุดอย่างปัญ มาอธิบายเพราะเขามีเหตุผลรองรับเราทั้งคู่ก็จะเชื่อคำตอบของปัญ

เจนนิษฐ์ : บางคนก็เข้ามาหัวร้อนเลยนะ ก็ต้องบอกว่า “ใจเย็นๆ” (หัวเราะ) มาถึงก็บอกเราว่า “ไม่ไหวแล้วช่วยหน่อยเถอะ…” แต่บางทีมันผิดใจกันเล็กๆ น้อยๆ อีกคนหนึ่งเขาไม่เจตนา เราก็ต้องคอยบอกว่าใจเย็นๆ คุยกันดีๆ ก่อน

มิวสิค : มันก็ปกติแหละผู้หญิงอยู่ด้วยกัน ต้องมีอารมณ์ผิดใจกัน สิคก็มีคนที่ไม่ค่อยสนิทนะ ผิดใจกันก็มีแต่ คิดว่าเขาก็คือเพื่อนทั้งหมดมันอยู่ที่ใจเขาด้วยแหละว่ายอมรับที่จะเปิดรับคนอื่นเข้ามาหรือเปล่า บางอย่างที่รู้สึกว่าคนนี้ไม่ค่อยโอเค เราก็อย่าไปมองเขาที่ข้อเสียเปิดใจรับฟังข้อดีของเขา แล้วฟังคนอื่นให้มากๆ และถ้ารู้ว่าตัวเองผิดต้องขอโทษทันที สิคก็เคยเดินไปขอโทษตรงๆ เลย

เรียบเรียงโดย
ทีมงาน MangoZero