คนที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่มีนิสัยอย่างนึงที่เหมือนกันคือ การตัดสินใจที่รวดเร็ว คิดเร็ว ทำเร็ว และการตัดสินใจมักไม่ค่อยผิดพลาดสักเท่าไหร่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่ตัดสินใจช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไปจะผิดนะคะ เพราะการตัดสินใจที่ดีควรเริ่มต้นจากการมีข้อมูลมาเปรียบเทียบ และหาเหตุผลหลายๆ ด้านมาประกอบ ซึ่งบางทีก็ต้องใช้เวลาคิด พิจารณาสักหน่อย แต่จะดีกว่ามั้ยถ้าเราสามารถตัดสินใจได้รวดเร็วทันใจแถมยังเป็นการตัดสินใจที่ดี มีคุณภาพ ตรงใจเรามากที่สุด จะมีเทคนิคอะไรที่ช่วยเราได้บ้างไปดูกันเลย ลดตัวเลือกให้น้อยลง เราต้องรู้จักลดตัวเลือกที่เข้ามาให้เราตัดสินใจให้น้อยลง โดยใช้วิธีการตัดช้อยส์สิ่งที่ไม่ใช่แน่ๆ ออกไปก่อนแล้วค่อยพิจารณาตัวเลือกที่เหลืออยู่ที่มีคุณสมบัติพอๆ กันเพราะยิ่งตัวเลือกเรามีเยอะเท่าไหร่ก็จะทำให้เราตัดสินใจได้ช้าลง ความคิดแว๊บแรก มักเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด หลายๆ คนคงเคยเจอกับประสบการณ์นี้ที่เวลาเลือกซื้อของอะไรสักอย่าง สิ่งที่ชอบชิ้นแรกหรือหยิบขึ้นมาดูก่อนอย่างแรก มักเป็นตัวเลือกที่สุดท้ายเราก็ซื้อมันอยู่ดี แม้ว่าเราจะพยายามเลือกดูชิ้นอื่นเพื่อเปรียบเทียบก็ตาม สุดท้ายของที่หยิบมาดูชิ้นแรกมักจะตรงใจเราที่สุดเสมอ ดังนั้น ลองฟังเสียงในหัวของเรา และรู้จักสัญชาตญาณของตัวเองก็จะช่วยให้เราตัดสินใจอะไรได้เร็วขึ้น ฝึกใช้ทฤษฎี 10-10-10 ทฤษฎีนี้คือการที่เราลองถามตัวเองว่า เรายังรู้สึกพอใจกับการตัดสินใจครั้งนี้ในอีก 10 นาทีข้างหน้า อีก 10 เดือนข้างหน้า หรือในอีก 10 ปีข้างหน้ามั้ย ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เรามองเห็นผลลัพธ์ที่จะตามมาหลังจากที่ตัดสินใจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว มองเห็นผลกระทบทั้งข้อดีและข้อเสีย นอกจากจะทำให้ตัดสินใจได้เร็วแล้ว จะพบว่าถ้าใช้วิธีนี้จะยิ่งทำให้เรามั่นใจในการตัดสินใจในตัวเองมากยิ่งขึ้น ตั้งเวลาให้กับตัวเอง สมมติว่าเราต้องตัดสินใจในเรื่องงานต่างๆ การกำหนดเวลาให้ตัวเองจะช่วยให้เรากำหนดกรอบเวลาในการคิดวิเคราะห์ถึงข้อดี ข้อเสีย และทบทวนสิ่งต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีเวลาสำหรับปรึกษาคนอื่นก่อนที่จะตัดสินใจได้อีกด้วย ลองดูมั้ยล่ะ ลงมือทำเลยสิ การมัวแต่คิดว่าจะตัดสินใจยังไงดีแต่ไม่ยอมลงมือหรือตัดสินใจทำสักที นอกจากจะเสียเวลาแล้วยังไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ดังนั้นอย่ามัวแต่คิด ให้ลงมือทำเลย เนื่องจากเราไม่ควรเสียเวลาทั้งหมดไปกับการคิดทุกรายละเอียดยิบย่อยในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือกังวลกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เพราะทำให้ภาพใหญ่ที่ต้องจัดการไม่ได้ถูกทำให้สำเร็จเสียที มีแผนสำรองเสมอ นักบริหารที่ตัดสินใจได้ดีจะเตรียมรับมือกับผลลัพธ์ที่นอกเหนือความคาดหมายด้วยการมีแผนสำรองเสมอ โดยพิจารณาทางเลือกหลายทาง สามารถลองทางเลือกอื่น แล้วเริ่มกระบวนการใหม่อีกครั้ง เพราะการมีแผนสำรองทำให้เราตัดสินใจอะไรได้ง่ายขึ้น ไม่เสียเวลามานั่งวิตกกังวลและหาทางเลือกใหม่ เหนือสิ่งอื่นใด การตัดสินใจได้อย่างมั่นใจคือให้เรารู้จักเชื่อสัญชาตญาณตัวเองบ้าง เพราะในความเป็นจริงเราไม่สามารถรู้ข้อเท็จจริงทุกอย่าง แต่ก็ต้องพยายามหาข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจให้มากเข้าไว้ เมื่อเรานำความรู้ที่มีกับสัญชาตญาณของเราก็เป็นผลมาจากความรู้และประสบการณ์ที่เคยประสบหรือทดลองทำมาหลายครั้ง ก็จะทำให้การตัดสินใจของเราเป็นการตัดสินใจที่ดี มีคุณภาพและรวดเร็วค่ะ