สำหรับคอกาแฟแล้ว ในอากาศที่ร้อนอบอ้าวแบบนี้ จะมีอะไรดีไปกว่ากาแฟสกัดเย็น (Cold Brew Coffee) กาแฟที่ผ่านการสกัดอย่างช้าๆ ด้วยการใช้น้ำเย็นหรือน้ำอุณหภูมิห้อง เป็นระยะเวลาตั้งแต่ 8 – 24 ชั่วโมง หรือจนถึง 48 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับระดับการบดเมล็ดกาแฟ
เสน่ห์ของกาแฟที่ผ่านการสกัดอย่างช้าๆ นี้ จะให้รสสัมผัสที่หวาน นุ่มนวล มีไขมันและความเป็นกรดที่ต่ำ เนื่องจากน้ำเย็นหรือน้ำอุณหภูมิห้องไม่สามารถสกัดสารประกอบที่ละลายออกมาได้มากเท่ากับการสกัดกาแฟด้วยน้ำร้อนนั่นเอง
หลายคนจึงติดใจเนื่องจากดื่มง่ายและให้ความสดชื่น แถมยังดีต่อสุขภาพ เพราะ Cold Brew ก็คือกาแฟดำที่มีส่วนช่วยในการเร่งการเผาผลาญ ช่วยลดอัตราความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ และโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ได้อีกด้วย แถมวิธีการทำก็ไม่ยากอย่างที่คิด มาลงมือกันเลย!
เตรียมอุปกรณ์
- เมล็ดกาแฟ: บดหยาบประมาณเศษขนมปังป่น 50 กรัม
- น้ำชงกาแฟ: น้ำใส สะอาด ปราศจากกลิ่น ไม่มีตะกอน และไม่มีคลอรีน 600 มิลลิลิตร
- โหลแก้ว หรือ เฟรนช์เพรส (French Press)
- ผ้าขาวบาง หรือ กระดาษกรองพร้อมดริปเปอร์
- ขวดบรรจุกาแฟสกัดเย็น
- ตาชั่งเมล็ดกาแฟ สำหรับตวงเมล็ดกาแฟ และปริมาณน้ำที่ใช้ในการชงกาแฟ
- ช้อนคนกาแฟ
- ตู้เย็น
ตวงกาแฟและน้ำชงกาแฟ
เนื่องจากกาแฟสกัดเย็นที่เราจะทำนี้ เป็นแบบพร้อมดื่ม (Ready to Drink) สัดส่วนระหว่างกาแฟต่อน้ำจึงอยู่ที่ประมาณ 1:12 – 1:14 โดยในที่นี้เราจะใช้สัดส่วน 1:12 คือ กาแฟ 50 กรัม น้ำ 600 มิลลิลิตร หากต้องการทำเป็นแบบหัวเชื้อกาแฟ (Concentrated Cold Brew Coffee) สัดส่วนกาแฟต่อน้ำโดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 1:7 – 1:8
เทส่วนผสมลงโหล
เทกาแฟบดลงในโหล (ในที่นี้เลือกใช้เฟรนช์เพรส) จากนั้นเทน้ำตามลงไป อาจใช้ช้อนคนเล็กน้อยหากกาแฟโดนน้ำไม่ทั่วถึง ในกระบวนการนี้ไม่ต้องรบกวนกาแฟมาก (เช่น ใช้ช้อนคนเยอะๆ หรือเทน้ำด้วยการวนแรงๆ) เพราะการรบกวนกาแฟหมายถึงการเร่งการสกัดกาแฟ
ซึ่งกาแฟสกัดเย็นจะถูกสกัดด้วยการแช่เป็นระยะเวลาที่นานมากพออยู่แล้ว ดังนั้นการสกัดที่มากเกินไปจึงอาจนำมาซึ่งกลิ่นรสที่ไม่พึงประสงค์ได้เช่นกัน ในขั้นตอนนี้เพียงแค่ให้มั่นใจว่าน้ำโดนกาแฟทั่วถึงเท่านั้น
แช่ตู้เย็น
ปิดฝาให้สนิท ยังไม่ต้องกดก้านชงเฟรนช์เพรสลงไป จากนั้นแช่ในตู้เย็นเพื่อเป็นการรักษาอุณหภูมิ ระยะเวลาประมาณ 8 – 24 ชั่วโมง แล้วแต่ระดับการบดเมล็ดกาแฟ และรสชาติที่ต้องการ ถ้าบดหยาบมาก ก็อาจจะต้องแช่นานขึ้น
นอกจากนี้ในเรื่องของการเลือกระดับการคั่วเมล็ดกาแฟ ส่วนใหญ่นิยมระดับคั่วกลาง (Medium Roast) ถึงคั่วเอสเปรสโซ (Espresso Roast) ทั้งนี้ให้ลองปรับระดับการบดเมล็ดกาแฟ รวมถึงระยะเวลาในการแช่ตามความเหมาะสมของกาแฟนั้นๆ เพื่อค้นหารสชาติที่ชอบ
หมายเหตุ: เมื่อแช่กาแฟสกัดเย็นในตู้เย็น พึงระลึกไว้ว่าไม่ควรแช่ของที่มีกลิ่นแรงไว้ในตู้เย็น เพราะอาจเสี่ยงที่กาแฟจะดูดซับกลิ่นเหล่านั้นเข้าไปด้วย ดังนั้นนอกจากการใช้เฟรนช์เพรส การใช้โหลแก้วที่มีฝาปิดมิดชิดจึงอาจเป็นตัวเลือกที่ค่อนข้างมั่นใจกว่า
กรองกากกาแฟ
เมื่อแช่ครบถึงเวลาที่กำหนด ก็ให้กรองเอาผงกาแฟออก อาจกรองผ่านผ้าขาวบาง หรือผ่านกระดาษกรองกับดริปเปอร์ก็ได้ หากใช้เครื่องเฟรนช์เพรสแบบนี้ ก็ให้กดก้านชงลงจนสุด แล้วรินน้ำกาแฟออกมาดื่มได้ทันที
แต่ถ้าใช้เฟรนช์เพรสเพื่อต้องการทำแช่เก็บไว้กินวันต่อๆ ไป แนะนำให้กรองออกอีกครั้ง เพราะเฟรนช์เพรสโดยทั่วไปอาจมีผงกาแฟเล็ดลอดออกมาด้วย จนอาจทำให้เกิดการสกัดที่มากเกินไป และกลิ่นรสที่ไม่พึงประสงค์ได้
ดื่มตามแบบที่ชอบ
ถ้าทำแบบหัวเชื้อกาแฟ (Concentrated Cold Brew Coffee) ก็เพียงเติมน้ำก่อนดื่ม ทั่วไปมักใช้สัดส่วน 1:1 เช่น หัวเชื้อกาแฟ 100 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 100 มิลลิลิตร หรือทำเป็นกาแฟใส่นม (White Cold Brew Coffee) เช่น หัวเชื้อกาแฟ 100 มิลลิลิตร ต่อนมสด 100 มิลลิลิตร เป็นต้น
ทั้งนี้ให้ลองปรับสัดส่วนตามรสชาติที่ต้องการ เมื่อทำเสร็จแล้วสามารถแช่ไว้ได้นานถึงสองอาทิตย์ เท่านี้คุณก็มีสต็อกกาแฟสกัดเย็นไว้ดื่มสบายๆ แล้ว ใครเลือกใช้เมล็ดกาแฟแบบไหน ในสัดส่วนเท่าไหร่ ได้กลิ่นรสอย่างไรกันบ้าง มาแนะนำชาว Mango Zero กันบ้างนะคะ
ที่มา: Brew better coffee at home by Brian W. Jones (2016), How to make coffee: The science behind the bean by Lani Kingston (2015), (doctor.ndtv.com), (healthline.com)