Mango Zero

6 สิ่งที่พูดจนชินปาก สุดท้ายเข้าใจผิดกันมาตลอด

เคยมั้ยเวลาที่เราเรียกสิ่งๆ หนึ่งตามความเข้าใจของเราจนชิน แล้วเพิ่งมารู้ทีหลังว่าเรียกผิดมาตลอด! โดยเฉพาะสิ่งที่อยู่รอบตัวที่เราเรียกกันอยู่ทุกวันนี่แหละ บางอย่างก็เข้าใจผิดเพี้ยนไปจากความหมายเดิมอย่างสิ้นเชิง กว่าจะรู้ก็แก้แสนยาก เพราะปากมันชินกับคำๆ นั้นไปแล้ว แต่เชื่อเถอะว่ารู้ไว้ยังไงก็ดีกว่า เพราะในยามที่คนรอบตัวไม่รู้ เราจะได้มีออร่าแห่งความเป็นผู้หยั่งรู้ทันที ตามไปดูกันดีกว่าว่ามีคำว่าอะไรบ้าง

ลูก หลาน เหลน โหลน

เมื่อได้ยินคำว่า ลูก หลาน เหลน แน่นอนว่าหลายคนต้องพูดต่อว่า ”โหลน” แบบอัตโนมัติเหมือนลงโปรแกรมไว้แน่นอน หากใครที่เคยได้ยินในเพลงปลุกใจอย่างเพลงเราสู้ ที่มีท่อนร้องว่า “ลูก หลาน เหลน โหลน ภายหน้าจะได้มีพสุธาอาศัย” ยิ่งทำให้พูดใส่ทำนองไปอย่างมั่นใจเข้าไปอีก แต่รู้มั้ยว่ามันผิด! เพราะในลำดับการนับญาตินั้น นอกจากคำที่ต่อจาก เหลน จะเป็นคำว่า “ลื่อ” แล้ว คำว่าโหลนยังไม่มีความหมาย และไม่อยู่ในสารบบการนับญาติอีกด้วย

หมู เห็ด เป็ด ไก่

“อย่ากินแต่ข้าวสิ กินหมูเห็ดเป็ดไก่เข้าไปบ้าง” เรามักจะได้ยินประโยคนี้เมื่อผู้ใหญ่พูดเวลาที่เรากินข้าว ซึ่งก็หมายถึงเหล่าเนื้อสัตว์ต่างๆ แต่อันที่จริงแล้วในสี่คำนี้ไม่มีอะไรที่เป็นสัตว์เลยซักอย่าง เห็ดก็ไม่ใช่เห็ด อึ้งไปเลยใช่มั้ยล่ะ จริงๆ แล้ว หมู เห็ด เป็ด ไก่ เป็นคำย่อของหญ้าสมุนไพร 4 ชนิด ที่เมื่อนำมาต้มรวมพลังกันจะได้เป็นยาสมุนไพรรักษาโรคกษัยนั่นเอง โดยมีที่มาของชื่อสมุนไพรแต่ละชนิด ดังนี้

จังหวัดกรุงเทพฯ

มาถึงตรงนี้ทุกคนคงมีเครื่องหมายคำถามลอยอยู่ในหัวเต็มไปหมดใช่มั้ยล่ะ กรุงเทพฯ ก็เป็นจังหวัดไม่ใช่หรอ..? แต่ความจริงไม่ใช่แบบนั้น! เพราะถ้านับตามรูปแบบการปกครองแล้ว กรุงเทพไม่ใช่จังหวัด แต่เป็นเขตปกครองพิเศษที่เทียบเท่าจังหวัดต่างหาก เพราะฉะนั้นเวลาต้องเขียนเอกสารราชการสำคัญต่างๆ เราจะไม่เขียนว่าจังหวัดกรุงเทพฯ

ตามความเป็นจริงถ้าจะพูดโดยทั่วไปว่าประเทศไทยมี 77 จังหวัดก็คงจะพอเข้าใจได้ แต่จะพูดให้ถูกและเข้าใจง่ายก็คือ ประเทศไทยมีทั้งหมด 76 จังหวัด กับอีก 1 เขตการปกครองพิเศษนั่นเอง

ต้นโพธิ์

ต้นไม้ที่มีลักษณะใบเป็นรูปหัวใจ ที่รู้จักกันในนามของต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าทรงนั่งตรัสรู้ หลายคนอาจเคยเห็นทั้งคำว่า “ต้นโพ” และ “ต้นโพธิ์” ซึ่งทั้งสองคำก็เป็นการเขียนที่ถูกต้อง แต่มันก็มีความต่างกันอยู่ คือ ต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าไปนั่งตรัสรู้ ไม่ว่าจะเป็นต้นอะไรก็ตาม ต้นนั้นก็จะถูกเรียกว่าต้นโพธิ์ ส่วนต้นโพก็คือต้นโพปกติทั่วไปอย่างที่เข้าใจนั่นแหละ

กงกำกงเกวียน

สำนวนไทยคุ้นหู ที่มักจะถูกอ่านผิดอยู่บ่อยๆ เพราะการออกเสียงแต่ละพยางค์นั้นช่างน่าสับสน นึกว่าเป็นแบบทดสอบประโยคลิ้นพันซะอีก เลยไม่แปลกถ้าสำนวนนี้จะเพี้ยนจาก “กงเกวียนกำเกวียน” มาเป็น “กงกำกงเกวียน”

หลักการจำง่ายๆ ให้จำไว้ว่าทั้ง กงเกวียนและกำเกวียน คือ ส่วนประกอบของล้อเกวียน เมื่อกงเกวียนหมุนไปทางไหน กำเกวียนก็หมุนตามไปทางนั้นด้วย จึงเป็นที่มาของความหมายว่า กรรมสนองกรรม หรือการที่ใครทำสิ่งใด ก็จะได้สิ่งนั้นตอบแทนนั่นเอง

เอแคลร์

เจ้าก้อนขนมกลมๆ ที่สอดไส้ครีมข้างใน หาเจอได้ทั่วไปทั้งในร้านเบเกอรี่ หรือแม้แต่ในเซเว่น ที่ถูกแปะป้ายชื่อไว้เด่นหราว่า “เอแคลร์” ถึงแม้น้องจะเป็นขนมจากกรุงปารีส และชื่อเรียกเองก็ไม่ใช่ภาษาไทยก็เถอะ แต่น้องก็ถูกคนไทยเรียกกันมาแบบผิดๆ จนเจ้าเอแคลร์ตัวจริงคงน้อยใจงอนตุ๊บป่องไปแล้วแน่ๆ เพราะเอแคลร์ที่แท้จริง จะมีลักษณะยาวๆ รีๆ ที่สำคัญคือไม่มีไส้เหมือนกับเอแคลร์ที่เราเข้าใจ

ส่วนเจ้าก้อนกลมก้อนนี้ ชื่อว่า “ชูครีม” ต่างหากล่ะ จำให้ขึ้นใจ โดยเฉพาะยามอยู่ต่างแดนหากเรียกผิดชีวิตก็เปลี่ยนได้เหมือนกันนะ เรื่องกินนี่เรื่องใหญ่นะ อย่าให้พลาดเชียวล่ะ!

ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งในเหล่าคำที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิด และใช้ผิดกันอยู่บ่อยๆ คำไหนเปลี่ยนได้ก็ลองเปลี่ยนดู (แม้จะชินไปแล้วก็ตาม) แต่ถ้าใช้แล้วไม่ชิน ถือซะว่ารู้ไว้เสริมความเข้าใจแทนเอาก็ได้ ไม่ว่ากัน