ในชีวิตการทำงานไม่มีอะไรง่าย หนทางความเป็นผู้ใหญ่ไม่เคยโรยด้วยกลีบกุหลาบ และนั่นอาจทำให้หลายคนที่เพิ่งเข้าสู่วัยทำงาน หรือทำงานไปได้สักพัก เกิดอาการทางใจที่ส่งผลให้แรงจูงใจและประสิทธิภาพในการทำงานลดลง วันนี้ Mango Zero จะพาทุกคนไปส่อง 6 ภาวะทางใจสุดฮิตติดชาร์ตที่เกิดบ่อยๆ กับคนวัยทำงาน ใครที่กำลังเข้าข่ายข้อไหน มาสำรวจตัวเองและรับมือไปพร้อมๆ กัน Stress : ภาวะเครียด ผลวิจัยจากคนวัยทำงานในเขตกทม. ของกรมสุขภาพจิตเมื่อเดือนกันยายน 2561 ระบุว่ามีคนวัยทำงานถึง 34% ถูก “ความเครียด” ที่ระดับมากกว่าปกติแย่งความสุขในชีวิตไป โดยเรื่องที่ทำให้คนเครียด 3 อันดับแรก อันดับ 1 คือเศรษฐกิจ 30.82% สังคม 20.29% และครอบครัว 14.52% โดยเมื่ออยู่ในภาวะเครียดอาจตามมาด้วยโรคต่างๆ เช่น โรคทางเดินอาหาร โรคปวดศีรษะไมเกรน โรคปวดหลัง โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ ติดสุรา โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด ภูมิคุ้มกันต่ำลง อาการ คนที่กำลังอยู่ในภาวะความเครียดผิดปกติ อาจมีอาการมึนงง ปวดตามกล้ามเนื้อ กัดฟัน ปวดศีรษะ แน่นท้อง เบื่ออาหาร นอนหลับยาก หัวใจเต้นเร็ว หูอื้อ มือเย็น อ่อนเพลีย ท้องร่วง ท้องผูก จุกท้อง มึนงง คลื่นไส้อาเจียน หายใจไม่อิ่ม ปวดท้อง วิตกกังวล ตัดสินใจไม่ดี ขี้ลืม สมาธิสั้น ไม่มีความคิดริเริ่ม ความจำไม่ดี ไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้เท่าที่ควร โกรธง่าย ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ การรับมือเบื้องต้น สังเกตตัวเองก่อนว่าเข้าข่ายอย่างที่กล่าวไปข้างต้นหรือไม่ ถ้าเข้าข่ายให้รับมือเบื้อต้นด้วยตัวเองก่อน เช่น งดการดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ ลองจัดลำดับความสำคัญสิ่งต่างๆ ในชีวิต รู้จักปล่อยวางบางอย่างไปบ้างมองหากำลังใจจากคนรอบข้าง ดูแลสุขภาพให้ดีไม่ว่าจะอาหารการกิน การนอนหลับพักผ่อน การออกกำลังกาย หากิจกรรมที่ช่วยให้ใจได้พักผ่อน เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ดูคอนเสิร์ต และหากเริ่มรู้สึกว่ารับมือไม่ไหวควรรีบไปปรึกษาจิตแพทย์ Depression : โรคซึมเศร้า เรียกได้ว่าเป็นอีกปัญหายอดฮิตที่ในช่วงไม่นานมานี้มีการรณรงค์ให้เห็นความสำคัญอย่างจริงจัง “ภาวะซึมเศร้า” หรืออาจเรียกว่า “โรคซึมเศร้า” สามารถเกิดขึ้นได้ในคนทกวัย โดยเฉพาะวัยรุ่นและวัยทำงาน โดยเกิดจากสารเคมีในสมองทำงานผิดปกติ ทำให้รู้สึกเศร้ากับชีวิตมากกว่าปกติ ความผิดปกติทางร่างกาย และสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่ที่มีผลให้เกิดเหตุการณ์เลวร้ายและน่าสิ้นหวัง อาการ อาการคนที่อยู่ในภาวะซึมเศร้าสามารถสังเกตตัวเองได้เบื้องต้นคือ เก็บตัว แยกตัวออกจากสังคม รู้สึกเศร้า ท้อแท้ สิ้นหวัง ไร้ค่า รู้สึกผิดและโทษตนเองตลอดเวลา ขาดความสนใจหรือความเพลิดเพลินในการทำกิจกรรมต่างๆ เคลื่อนไหวช้าลงหรือกระสับกระส่าย เหนื่อยและอ่อนเพลียตลอดเวลา ขาดสมาธิ ความสามารถในการคิดและการตัดสินใจน้อยลง เบื่ออาหารหรืออยากอาหารมากขึ้น นอนมากหรือน้อยกว่าปกติ มีปัญหาในการทำงานและการใช้ชีวิตในสังคม หรือถ้าร้ายแรงที่สุดคือมีความคิดหรือพยายามฆ่าตัวตาย โดยหากเกิดอาการเหล่านี้มาเป็นเวลามากกว่า 2 สัปดาห์ ก็เป็นสัญญาณว่าภาวะซึมเศร้ากำลังทำงานอยู่ในร่างกายซะแล้ว การรับมือเบื้องต้น โดยปกติแล้วโรคซึมเศร้าต้องใช้การรักษาโดยจิตบำบัดควบคู่ไปกับการให้ยา ดังนั้นหากสำรวจตัวเองแล้วพบว่าเข้าข่ายเป็นซึมเศร้า ลองโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 และไปพบแพทย์จะดีที่สุด Burnout Syndrome : ภาวะหมดไฟ เป็นภาวะทางใจที่เกิดจากการทำงานโดยตรงและถูกองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุให้เป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษา ภาวะหมดไฟเป็นความเหนื่อยล้าในการทำงาน ซึ่งอาจมาจากปริมาณงานที่มากเกินไปจนทำให้ไม่สามารถทำได้สำเร็จ อาการ รู้สึกไม่อยากทำงาน เหนื่อยล้า มีทัศนคติต่องานเป็นลบ หลุดโฟกัส ทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ไม่มีแรงบันดาลใจในการทำงาน ซึ่งอาจมีผลพวงจากความเครียดและสามารถลุกลามจนกลายเป็นภาวะซึมเศร้าได้ การรับมือเบื้องต้น ปล่อยวาง แยกเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวให้เหมาะสม ดูแลสุขภาพตั้งแต่อาหารการกิน การพักผ่อน การออกกำลังกาย พบเจอ พูดคุยกับคนรอบข้าง พักสายตาระหว่างการทำงานบ้าง หรือถ้ายังไม่หายก็ควรรีบไปพบแพทย์ Brownout Syndrome : ภาวะหมดใจ เป็นภาวะที่ยังไม่ถูกนับเป็นโรคอย่างเป็นทางการ แต่ก็เป็นปัญหาที่พบได้ในแวดวงมนุษย์ออฟฟิศมากกว่า Burnout Syndrome ซะอีก! ภาวะหมดใจในการทำงานไม่ได้มาจากปริมาณงานเหมือนอย่างภาวะหมดไฟ แต่มาจากความคิด ทัศนคติที่ไม่ตรงกับองค์กรที่ทำงานอยู่ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างองค์กร วิสัยทัศน์ กฎระเบียบ สิทธิในด้านต่างๆ ทิศทางการพัฒนาขององค์กร หรือเงื่อนไขบางประการ ซึ่งพอไม่ตรงใจแล้วก็กลายเป็นส่งผลให้เกิดความเบื่อหน่ายตามมา อาการ ยังสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แต่รู้สึกเหมือนโดนบังคับ เบื่อหน่าย และอึดอัดกับสภาพความเป็นอยู่ในที่ทำงาน รวมทั้งไม่รู้สึกสนุกกับงานที่ทำอยู่ การรับมือเบื้องต้น โดยปกติแล้วเมื่อมีภาวะ Brownout เกิดขึ้น สิ่งที่คนมักจะทำกันก็คือเลือกเดินออกไปหาองค์กรใหม่ๆ ที่คิดว่าเหมาะกับตัวเองมากขึ้น แต่สำหรับคนที่กำลังประสบปัญหานี้ในระยะเริ่มต้นอาจรับมือด้วยคัมภีร์ครอบจักรวาลอย่าง “การคิดบวก”มองหาความสนุกที่ได้จากการทำงานนั้นให้เจอ รวมทั้งมองหาสิ่งอื่นๆ ที่สามารถเติมเต็มชีวิตได้นอกเหนือจากการทำงานให้ได้! Anxiety Disorder : โรควิตกกังวล อีกหนึ่งปัญหาทางใจที่ไม่ควรมองข้าม สถิติจากกรมสุขภาพจิตเมื่อปี 2561 ระบุว่าคนไทยป่วยด้วยโรควิตกกังวลมากถึง 1.4 แสนราย ซึ่งเกิดมาจากความกังวลหลายรูปแบบ เช่น การเริ่มงานใหม่ ซึ่งคนที่เป็นโรควิตกกังวลมันกจะมีความกังวลมากกว่าคนปกติ อาการ คิดฟุ้งซ่าน กลัวและกังวลเกินกว่าเหตุ ในหลายๆ เรื่องในเวลาเดียวกัน การรับมือเบื้องต้น โดยปกติต้องใช้การรักษาโดยจิตบำบัดควบคู่ไปกับการให้ยา ดังนั้นหากสำรวจตัวเองแล้วพบว่าเข้าข่ายเป็นวิตกกังวล ลองโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 และไปพบแพทย์ต่อไป Low Self Esteem : ภาวะพึงพอใจในตนเองต่ำ ไม่อาจเรียกว่าเป็นโรคได้ แต่เราเชื่อว่านี่เป็นอีกภาวะที่อาจเคยสร้างปัญหาให้ชาววัยทำงานกันอยู่บ่อยๆ ภาวะพึงพอใจในตนเองต่ำคือการขาดความมั่นใจ อ่อนไหวต่อคำวิพากษ์วิจารณ์จนทำให้ไม่กล้าลงมือทำสิ่งต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าจะยิ่งทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มความสามารถเพราะมัวแต่กลัวและไม่มั่นใจในตัวเองอยู่นี่แหละ อาการ มักจะทนไม่ได้เมื่อมีคนมาวิพากษ์วิจารณ์ตน จนเกิดการแสดงออกทางอารมณ์ จิตตกง่าย กลัวการเข้าสังคม คอยเช็กเรตติ้งอยู่ตลอดเวลา วิตกกังวล ไม่กล้าทำสิ่งต่างๆ วางอำนาจ พยายามหาข้อแก้ตัวเมื่อทำบางอย่างผิดพลาด การรับมือเบื้องต้น อาการข้างต้นสามารถเกิดได้ในคนทั่วไปอย่างไม่นับว่าผิดปกติ แต่เมื่อไหร่ที่เราเริ่มรู้สึกว่าอาการเหล่านี้นักขึ้นเรื่อยๆ จนรบกวนชีวิต ลองปรับเปลี่ยนมุมมอง วิธีคิดให้มองเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น ยอมรับข้อผิดพลาดของตัวเอง หากิจกรรมเสริมทักษะทำอยู่เรื่อยๆ ก็ช่วยให้เรามี Self Esteem มากขึ้นได้นะ ที่มา : https://www.vibhavadi.com/health316 https://www.bangkokhospital.com/th/disease-treatment/depression https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=28235 https://med.mahidol.ac.th/ramachannel