คนที่ซื้อบ้านใหม่ทุกคนล้วนแล้วแต่มีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องของคุณภาพบ้านกันทั้งนั้น เพราะสิ่งที่ซื้อนั้นราคาไม่ถูกเลย ในฐานะที่เราเองก็เพิ่งซื้อบ้านมาหมาดๆ เพิ่งผ่านประสบการณ์ตรวจรับบ้านมาสดๆ โดยจ้างบริษัทตรวจรับบ้านมาช่วยดูแล เราก็อยากจะมาแชร์ประสบการณ์ ‘ตรวจรับบ้านก่อนโอน’ จากประสบการณ์จริง อย่างไรก็ตามการตรวจรับบ้านตอนสร้างเสร็จนั้นเป็นปลายเหตุ หากอยากจะได้บ้านที่มีคุณภาพจริงๆ ต้องตรวจรับบ้านตั้งแต่วันที่เริ่มก่อสร้างเพื่อดูการทำงานของช่าง การดูแลงานของผู้รับเหมา ไปจนถึงดูวัสดุ แต่บ้านจัดสรรนั้นเราไม่สามารถดูอะไรได้เลยยกเว้นวันที่ตรวจรับบ้าน ดังนั้นการตรวจรับบ้านก่อนโอน ให้ทำใจไว้เลยว่าต้องเจอตำหนิ มากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับดวง แต่มีจุดไหนบ้างที่ควรจะตรวจสอบ เรามาแชร์ ประสบการณ์ให้ดู โครงสร้างของบ้าน โครงสร้างของบ้านคือจุดที่ใหญ่ที่สุดของบ้านทั้งหลัง เริ่มตั้งแต่รั้วหน้าบ้านยันรั้วหลังบ้านการตรวจสอบโครงสร้างนั้นหาตำหนิอยู่สามส่วนหลักๆ ที่ต้องมองหาให้ดีคือ รอยร้าว : อธิบายก่อนว่ารอยร้าวนั้นมีได้เป็นเรื่องปกติ แต่รอยแตกร้าวที่ร้าวลึกจนถึงจุดสำคัญๆ ของบ้านนั้นอันนี้ไม่ปกติแล้ว ถ้าเจอรอยร้าวลักษณะนี้ แก้สถานเดียว โดยวิธีแก้ที่ถูกต้องถือต้องแซะจุดที่แตกร้าวจนถึงจุดที่ไม่ร้าวจากนั้นก็ใส่เคมีภัณฑ์เพื่อซ่อมแซมลงไปแล้วค่อยปิดผิว ถ้าช่างคนไหนถือปูนขาวมาแล้วโปะปูนขาวลงไปอย่างเดียวแล้สทาสีถือว่าลักไก่ รอยรั่ว : อีกหนึ่งปัญหาของบ้านคือรอยรั่ว วิธีการตรวจรอยรั่วนั้นสามารถทำได้จากนอกบ้านเช่นสาดน้ำเข้าไปยังกำแพงบ้านทั้งสองชั้น แล้วเข้าไปดูว่ารั่วไหม ถ้ารั่ว แก้สิครับเพราะรอยรั่วนี่แหละจะนำมาซึ่งความชื้นของบ้านก่อให้เกิดปัญหาตามมา ความชื้น : ความชื้นคือสาเหตุที่ทำให้สีหลุดร่อน หรือสีพองโป่งผิวไม่เรียบที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ถ้าเจอสี หรือกำแพงที่มีร่องรอยลักษณะดังกล่าว สั่งแก้สถานเดียว หยวนไม่ได้ การแก้ไขเรื่องโครงสร้างนั้นเจ้าของบ้าน ‘ควรจะต้อง’ ไปเฝ้าด้วยตัวเอง อย่าปล่อยให้บ้านถูกซ่อมแซมเก็บงานโดยที่เราไม่ได้อยู่ตรวจสอบด้วย หากเป็นเช่นนั้นโดนลักไก่ขึ้นมา รู้อีกทีคือบ้านเกิดตำหนิจุดเดิมแต่เราดันโอนไปแล้ว คราวนี้การแก้ไขจะยากขึ้นแน่นอนยกเว้นโครงการนั้นบริการหลังการขายประเสริฐมาก ระบบน้ำในบ้าน สิ่งที่สำคัญนอกจากโครงสร้างแล้วก็คือระบบท่อน้ำ เพราะการวางโครงสร้างท่อน้ำนั้นเป็นส่วนที่อยู่ภายในของบ้าน หรือกระทั่งอยู่ใต้บ้าน แน่นอนจะไปแหวกดูมันก็คงไม่ใช่เรื่อง หรือจะขุดดินดูมันยิ่งเป็นเรื่องระดับมหกรรมรื้อบ้านครั้งใหญ่โครงการคงไม่ยอม แต่ก็มีวิธีตรวจสอบซึ่งจุดหลักๆ ที่เราควรตรวจสอบระบบท่อระบายน้ำซึ่งมี 4 จุดที่ต้องตรวจสอบคือ บ่อดักกลิ่น : น้ำทิ้งจากห้องน้ำทุกห้องจะลงมาที่บ่อดักกลิ่น และที่ปลายท่อน้ำทิ้งจะต้องมีตัวดักกลิ่นหรือข้อง 90 องศาหงายขึ้นเพื่อให้น้ำหล่อเต็มท่อตลอดเวลา หรือคว่ำลงปลายปากท่อต้องจุ่มน้ำตลอดเวลาเพื่อไม่ให้ท่อน้ำทิ้งแห้งหากท่อน้ำทิ้งแห้งคราบไขมันตามขอบท่อจะเกิดการเน่าและส่งกลิ่นเหม็นย้อนเข้าไปในบ้าน บ่อดักไขมัน : น้ำทิ้งจากห้องครัวจะต้องลงมาที่บ่อดักไขมันหรือตะกร้ารับไขมันเพื่อรอนำไปทิ้ง ก่อนออกสู่บ่อสาธารณะ ต้องตรวจสอบว่าบ่อดักไขมัน มีน้ำหล่อไว้ไหม บ่อส้วม : บ่อส้วมต้องตรวจดูระดับน้ำถ้าต่ำเกินขอบท่อน้ำล้นให้สันนิฐานว่าถังแตก รั่ว หรือถ้ามากเกินท่อน้ำล้นแสดงว่าท่อระบายอุดตัน บ่อน้ำทิ้ง : น้ำจากทั้ง 3 บ่อ จะไหลออกไปที่บ่อพักหลังบ้านแล้วไหลออกบ่อพักหน้าบ้านตามแนวท่อ และลงท่อน้ำทิ้งหลักของโครงการไป ถ้าบ่อพักหลังบ้านแห้ง หน้าบ้านแห้ง แสดงว่าท่อน้ำทิ้งภายในบ้านเราอยู่สูงกว่าท่อของโครงการแต่ถ้าบ่อหน้าบ้านไม่แห้งก็ต้องรื้อกันใหม่แสดงว่าระดับผิด จุดเชื่อมต่อต่างๆ บ้านทุกหลังมีจุดเชื่อมต่อทั่วทั้งหลังและหน้าที่ของการตรวจบ้านคือดูว่าจุดเชื่อมต่อทั้งหลายนั้นแนบแน่นสนิทดีแค่ไหน ถ้าแน่นสนิทดี ปัญหาก็ไม่มีตามมา แต่ถ้าไม่แน่นสนิทโอกาสที่จะทำให้เกิดความเสียหายก็ตามมา จุดสังเกตเกี่ยวกับรอยต่อที่ควรระวังคือ วงกบประตูและหน้าต่าง : จุดนี้คือส่วนที่ละเอียดอ่อนโอกาสที่จะพังมีสูงมาก วันที่ไปตรวจรับบ้านลองปิดประตูหรือหน้าต่างแรงๆ แล้วสังเกตุที่วงกบหรือจุดเชื่อมต่อตัวบ้าน ถ้ามีร่องรอยเผยอออกมา แก้ครับ สั่งแก้เลย ซึ่งส่วนตัวบ้านของเรานั้นเจอปัญหาตรงนี้คือปิดประตูปุ๊บ!! วงกบแตกร้าว เศษปูนร่วมกราวต่อหน้า ด้านในผนังปูนมีโฟมอุดอยู่ด้วย เจอแบบนี้แก้สถานเดียวทั้งเอาโฟมออก ทำผนังใหม่ และเก็บงานให้ดี บัว : บัวคือจุดที่เอาไว้ปิดรอยต่อของส่วนต่างๆ ซึ่งเราไม่มีทางรู้แน่นอนว่าภายในบัวนั้นซุกซ่อนอะไรไว้ แต่ถ้าจะตรวจสอบก็คงจะดูแค่ความเรียบร้อยของบัวว่าเก็บงานได้ดีหรือเปล่า บัวมีร่องรอยเผยอไหมถ้ามีก็แก้เลย เอาให้เนี้ยบ นี่บ้านราคาเป็นล้านนะไม่ใช่สองสามพัน ฝ้า และพื้นบ้าน ส่วนที่กินพื้นที่เยอะที่สุดในบ้านซึ่งการตรวจนั้นหลักๆ ต้องตรวจสอบความผิดปกติสองจุดคือ ตรวจสอบความเรียบร้อยของการเก็บงาน : สามารถตรวจได้ด้วยตาเปล่า และการเดินสำรวจทีละแผ่นทีละจุด ถ้าจุดไหนมีการเผยอออกมา หรือเอาอุปกรณ์ไปเคาะแล้วมีเสียงกลวงๆ ถ้ามีสั่งแก้เลย ส่วนเพดานถ้าเห็นรอยร้าว สั่งแก้เลยเช่นกัน อย่ามาบอกว่าหยวนๆ น่า ไม่ได้ นี่บ้านมือหนึ่ง ไม่ใช่บ้านมือสาม เพราะราคาเราก็จ่ายเต็ม ตรวจสอบความเอียงของพื้น : หาอุปกรณ์ไปวางใจจุดต่างๆ ของพื้นบ้านเพื่อดูระดับความเอียงของพื้นบ้านถ้าเอียงก็แก้เลย แต่หากเป็นชั้นสองส่วนใหญ่ปูพื้นบ้านด้วยพื้นไม้ลามิเนต จะเป็นไม้ที่กลัวน้ำมาก หากเอียงหรือบวมออกแปลว่ามีความชื้น ต้องแก้เช่นกัน ระบบไฟภายในบ้าน ระบบไฟ คือจุดที่ค่อนข้างอันตรายเพราะถ้ามีการต่อวงจรผิด หรือต่อเซอร์กิตผิดโอกาสที่ไฟจะช็อตมีสูงมาก โดยการตรวจระบบไฟในบ้านนั้นมีอยู่สามเรื่องที่ต้องระวังคือ สายดิน : บ้านทุกหลังมีกฎหมายต้องตอกสายดินลงดินขั้นต่ำ 2.4 เมตร บ้านสร้างเสร็จแล้วตรวจสอบไม่ได้ แต่ก็มีวิธีตรวจสอบได้ซึ่งต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญมาดู สายไฟเก็บงานดีไหม : สายไฟที่อยู่บนฝ้าหรือเพดานถ้าเก็บไม่เรียบร้อยโอกาสที่จะโดนหนูกัดมีสูงมาก ดังนั้นต้องเก็บงานให้ดี เบรคเกอร์ : เบรคเตอร์ที่อยู่ในบ้านซึ่งทำหน้าที่ควบคุมระบบไฟนั้นสำคัญ ต้องตรวจสอบการต่อวงจรให้ถูกต้อง ซึ่งเรื่องนี้ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบไฟเข้ามาดูแลว่าวงจรไฟต่อถูกไหม สายไฟใช้ถูกขนาดหรือเปล่า ไม่เชี่ยวชาญจริงๆ ดูไม่ออก พื้นดินทรุดตรวจสอบไม่ได้ สิ่งที่ตรวจสอบไม่ได้เลยไม่ว่าจะกรณีใดก็ตามคือพื้นหน้าบ้านและหลังบ้านว่าจะทรุดหรือไม่ ถือเป็นหนึ่งในปัญหาหลักที่ต้องทำใจรอรับเพราะว่าพื้นของกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทรุดอยู่ทุกปีเฉลี่ย 1 – 10 เซนติเมตร ขึ้นยู่กับปัจจัยหลายอย่างเช่นการลักลอบใช้น้ำบาดาล หรือทรุดตามธรรมชาติ สำหรับตัวบ้านนั้นปลอดภัยเนื่องจากมีการตอกเสาเข็มลงไปค่อนข้างลึก แต่ที่น่ากังวลคือหน้าบ้านที่เป็นโรงจอดรถ และหลังบ้านที่เป็นโซนซักล้าง ดังนั้นต้องตรวจสอบกับทางโครงการว่าหมู่บ้านที่เราซื้อนั้นมีการตอกเสาเข็มบริเวณลานจอดรถและพื้นที่หลังบ้านด้วยหรือไม่ ถ้าไม่มี ตอนที่จะต่อเติมก็ใช้วิธีตอกเสาเข็มลงไปเลย แต่ต้องขออนุญาตทางโครงการก่อน โดยสรุปคือคนซื้อบ้านทุกคนก่อนโอน คุณมีสิทธิ์ที่จะตรวจบ้านของตัวเอง และสั่งให้โครงการแก้จนกว่าจะพอใจ ซึ่งในสัญญาซื้อขายมีบอกไว้อยู่แล้ว ว่า ‘ผู้ซื้อ’ ตรวจได้ และสามารถให้โครงการแก่ไขได้จนกว่าจะพอใจในคุณภาพของบ้านที่คุณต้องจ่ายเงินหลักล้านบาทเพื่อซื้อ อย่างไรก็ตามการแก้เยอะยิ่งทำให้บ้านช้ำ ดังนั้นแก้มันให้จในครั้งเดียวจะดีมาก แต่ถ้าไม่สบายใจกับคุณภาพของสินค้าเรามีสิทธิ์ที่จะยกเลิกทุกกรณี ดังนั้นเงินอยู่ที่เราอย่าเพิ่งใจร้อนจ่ายออกไป หรือติดกับดักโปรโมทชั่นโอนบ้านจากเซล ใครบอกว่าโอนก่อนค่อยแก้ก็ได้ อย่าเชื่อ