หากเปิดประวัติศาสตร์โลกดูจะพบว่าในอดีตผู้นำที่มีชือ่เสียงของโลกล้วนแล้วแต่เป็นผู้ชาย แต่ก็มีบางประวัติศาสตร์ที่ระบุไว้ว่าผู้หญิงเองก็มีบทบาทในการบริหารประเทศเพียงแต่ว่าออกหน้าไม่ได้เช่น ‘คลีโอพัตรา’ ผู้สยบนักรบโรมัน หรือ ‘ซูสีไทเฮา’ ราชินีที่อยู่เบื้องหลังการปกครองจักรวรรดิจีน ทว่ายุคสมัยใหม่ผู้หญิงมีบทบาทและมีความสามารถในการบริหารประเทศแบบไม่ต้องอบู่เบื้องหลังอีกต่อไปแล้ว และยังใช้พลังความเป็นผู้หญิงทำงานได้อย่างดีไม่แพ้เพศใด สถานะใด
เราจะเห็นได้ว่าหลายประเทศมีผู้นำระดับหญิงแกร่งที่บริหารประเทศได้เป็นอย่างดี และจากจำนวนผู้นำประเทศที่เป็นผู้หญิงมากมาย เราได้คัดเลือกผู้นำหญิงจากประเทศต่างๆ ที่น่าสนใจมาให้ดูกัน จากนี้ไปขอบอกว่า “หลบหน่อยแม่จะเดิน…” แล้วเชิญไปอ่านเรื่องราวของพวกเธอกัน
มาร์กาเรต แทตเชอร์ – ตำนานนายกฯ หญิงเหล็กแห่งอังกฤษ
วันที่ ‘มาร์กาเรต แทตเชอร์’ เสียชีวิตเมื่อ 8 เมษายน 2013 เป็นหนึ่งในวันที่ชาวสหราชอาณาจักรรู้สึกสองแบบคือ เสียใจกับการจากไปของเธอ และดีใจที่เธอจากไป ความเห็นสองขั้วนี้เกิดขึ้นก็เพราะว่าที่ผ่านมาเธอเป็นหนึ่งในนักการเมืองที่สร้างอังกฤษความแปลงเปลี่ยนในอังกฤษอย่างสูงในฐานะนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอังกฤษ ที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 1979-1990 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้นมีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ
มาร์กาเรต แทตเชอร์ เข้าสู่การเป็นผู้นำสูงสุดของอังกฤษ พร้อมกับเดินหน้าปฏิรูปเศรษฐกิจของอังกฤษที่ย่ำแย่ในช่วงหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยการเปลี่ยนแปลงรัฐวิสาหกิจเพื่อกระจายความเจริญและสร้างการลงทุนให้เกิดขึ้นในประเทศโดยให้เอกชนมาควบรวมกิจการ นั่นทำให้เธอต้องงัดข้อกับสหภาพแรงงาน และไม่เคยสนใจข้อเรียกร้องใดๆ เลย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่เธอถูกเกลียดและเรียกว่าแม่มด และอีกสารพัดอย่างไรก็ตามการดำเนินนโยบายต่างๆ ที่ทำให้อังกฤษลืมตาอ้าปากจากภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองได้จึงทำให้เธอได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำที่ดีที่สุดคนหนึ่ง
ความที่เธอเป็นคนกล้าตัดสินใจ ไม่สนใจเสียงคัดค้านเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ความเป็นชาตินิยมสุดโต่งอาจทำให้ประเทศก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ทว่าก็ทำให้คนเกลียดเธอเช่นกันเพราะความไม่ยอมใครนี่แหละ แถมยังเคยเกือบจะโดนลอบสังหารมาแล้วเพราะกลุ่มที่ไม่พอใจ แต่แทตเชอร์ก็รอดมาได้ ท้ายที่สุดหลังจากดำรงตำแหน่งมา 3 สมัยเธอก็วางมือจากตำแหน่งผู้นำ แต่ก็ยังมีอำนาจในพรรคอนุรักษ์นิยมนิยมอยู่จนกระทั่งปี 2002 เธอป่วยด้วยโรคสมองเสื่อมก่อนจะหายหน้าไปและเสียชีวิตในอีก 11 ปีต่อมา
อังเกลา แมร์เคิล – นายกฯ หญิงที่ทรงอิทธิพลที่สุดของโลก
ผู้นำคนปัจจุบันของ ‘เยอรมนี’ ที่ถูกยกให้เป็นผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลที่สุดของโลก และในแวดวงการเมืองเธอก็แข็งแกร่งไม่แพ้กันเพราะด้วยการบริหารประเทศของเธอตั้งแต่ปี 2013 ทำให้เยอรมนีกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจแข็งแกร่งที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในช่วงที่ยุโรปเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ แต่เยอรมนีกลับยืนหยัดเป็นประเทศที่เศรษฐกิจแข็งแรงเป็นอันดับ 4 และเป็นประเทศในยุโรปที่มีการส่งออกสินค้ามากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง แถมยังเป็นตัวตั้งตัวตีในการช่วยเหลือประเทศอื่นในยุโรปที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจด้วย
ในด้านคะแนนความนิยมนั้นต้องบอกว่าผู้นำหญิงคนนี้ได้รับความรักและความไว้วางใจจากประชาชนมากๆ เธอใช้ชีวิตติดดิน ซึ่งเป็นภาพที่ชาวเยอรมนีเห็นกันจนชินตา แต่ความติดดินอาจจะไม่ใช่สิ่งเดียวที่ประชาชนรักเธอ แต่เพราะความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาภายในประเทศนี่แหละที่ช่วยเสริมให้คนรักเธอมาก และยากที่ใครจะมาแทนเธอได้ อย่างไรก็ตามอังเกลา ประกาศไว้ว่าปี 2021 เธอจะยุติบทบาททางการเมือง รวมถึงการยุติบทบาทการเป็นหัวหน้าพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียนที่อยู่มานานกว่า 18 ปีด้วย
จูเลีย กิลลาร์ด – นายกฯ ที่ถูกบีบออกจากตำแหน่งเพราะเก่งไป
อดีตนายกฯ คนที่ 27 และอดีตนายกฯ หญิงคนแรกของออสเตรเลีย ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้นำของแดนจิงโจ้เมื่อปี 2010 กิลลาร์ด เป็นนายกฯ ที่ดำเนินนโยบายเรื่องการปฏิรูปหลายอย่างจนทำให้ประเทศมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีทั้งเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ของประชาชน
แต่ดูเหมือนว่าเธอจะดำรงตำแหน่งผู้นำได้เพียง 3 ปีก็อำลาจากตำแหน่งเนื่องด้วยเหตุผลทางการเมืองที่ถาโถมเนื่องจากเธอชูนโยบายจัดเก็บภาษีธุรกิจเหมืองแร่ และตัดสินใจชะลอโครงการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่เคยหาเสียงไว้ รวมถึงโดนฝ่ายค้านโจมตีในด้านต่างๆ ไปจนถึงการเหยียดเพศ (ขนาดเธอไม่แต่งงานยังถูกยกเอามาเป็นประเด็นได้…) ทั้งที่ผลงานที่เธอทำมีเยอะมาก แต่เป็นเพราะขาดการประชาสัมพันธ์ที่ทั่วถึง ผลการตกเก้าอี้ของเธอทำให้คนที่ขึ้นเป็นนายกฯ แทนคือ ‘เควิน รัดด์’ หัวหน้าพรรคแรงงานที่เธอสังกัดอยู่ และอดีตนายกฯ คนก่อน
การอำลาจากตำแหน่งของเธอมีเสียงวิพากวิจารณ์ว่าเธอโดนโจมตีแบบไม่เป็นธรรมและมีการเหยียดเพศ รวมไปถึงในพรรคเองความไว้วางใจของเธอก็ต่ำจนเกรงว่าเลือกตั้งครั้งต่อไปพรรคแรงงาน อาจจะแพ้ เลยต้องลงมติเพื่อบีบให้เธอลงจากตำแหน่ง แต่นักวิเคราะห์ก็มองว่ากิลลาร์ด นั้นเป็นผู้นำที่ดีกว่ารัดด์ ส่วนในฝั่งประชาชนเธอก็ได้รับความนิยมมากกว่ารัดด์ ด้วยแต่น่าเสียดายที่เกมการเมืองนั้นบีบเธอจนต้องยอมถอย
โจฮันนา ซิกูร์ดาร์ดอททีร์ – นายกฯ คนแรกของโลกที่เป็นเลสเบี้ยน
โจฮันนา ซิกูร์ดาร์ดอททีร์ คือนายกฯ อดีตหญิงคนแรกของไอซ์แลนด์ ที่ก่อนหน้าจะลงเล่นการเมืองเธอเป็นนักกิจกรรมที่เดินขบวนเคลื่อนไหวกับสหภาพการค้าและสหภาพแรงงาน ส่วนเส้นทางทางการเมือง เธอก็ได้รับเลือกให้เป็นนายกฯ หญิงคนแรกของไอซ์แลนด์เมื่อปี 2009 จากการเดิมที่เธอรับตำแหน่ง รัฐมนตรีความมั่นคงและกิจการสังคม จากพรรคสังคมประชาธิปไตย อยู่หลายปี
ส่วนการเข้ามาเป็นนายกฯ ของเธอนั้นช่วยลดกระแสความไม่พอใจต่อสภาพเศรษฐกิจที่ล้มเหลวของไอซ์แลนด์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2008 เนื่องจากเธออยู่ในวงการการเมืองมานานและเข้าใจสภาพปัญหา นอกจากเรื่องการเมืองแล้วที่น่าสนใจก็คือเธอเป็นผู้นำหญิงคนแรกของโลกที่ประกาศว่าตัวเองเป็นเลสเบี้ยน โดยเธอประกาศแต่งงานในปี 2010 หลังจากที่ไอซ์แลนด์ผ่านกฎหมายรับรองการแต่งงานกับเพศเดียวกัน
เทเรซา เมย์ – นายกฯ ผู้เดินหน้าแผน ‘Brexit’ แยกอังกฤษออกจากยุโรป
สองปีที่ผ่านมานี้เราน่าจะได้ยินคำว่า ‘เบร็กซิท’ ซึ่งมีความหมายโดยนัยคือการแยกตัวสหราชอาณาจักรออกจากยุโรป ซึ่งนโยบายนี้เป็นแนวคิดที่ถูกเสนอขึ้นมาว่าสหราชอาณาจกรควรจะแยกตัวจากกลุ่มยุโรปไหม และปรากฎว่าเสียงส่วนใหญ่อยากให้เกิดการแยกตัว
นั่นทำให้ อดีตนายกฯ ‘โทนี แบลร์’ ที่ไม่สนับสนุนให้อังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปลาออก และ ‘เทเรซ่า เมย์’ ก็ขึ้นเถลิงอำนาจเป็นนายกฯ อังกฤษแทน และเดินหน้าที่จะทำตามเสียงข้างมากนั่นคือแยกอังกฤษออกจากยุโรป พร้อมกับบริหารประเทศไปด้วยกัน
การตัดสินใจเดินหน้าเบร็กซิท ของเทเรซ่า เมย์ เป็นการตัดสินใจที่ยิ่งใหญ่มากๆ เพราะมันจะเปลี่ยนโฉมหน้าของอังกฤษและทวีปยุโรปไปตลอดกาล ซึ่งเธอเป็นหญิงเหล็กที่เดินหน้าสุดตัวในฐานะผู้นำ และคนที่พยายามจะผลักดันการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่นี้ให้เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตามตอนนี้เทเรซ่า เมย์ค่อนข้างที่จะตกอยู่ในที่นั่งลำบาก เพราะเริ่มมีเสียงที่คัดค้านการตัดสินใจของเธอในการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในสภา กระนั้นเธอก็ยังยืดหยัดสู้อยู่แบบไม่ถอย! ต้องมาดูกันว่าผลจะเป็นอย่างไร