การเริ่มเรียนภาษาอังกฤษหรือภาษาใหม่อาจดูเป็นเรื่องน่ากลัวสำหรับใครหลายๆ คน บางคนอาจจะท้อเพราะไม่เข้าใจสักที หรือกลัวว่าคนอื่นจะติติงเลยไม่กล้าฝึก และเราเองก็เคยเป็นหนึ่งในนั้นที่ไม่มั่นใจพอ แต่จริงๆ แล้ววิธีฝึกภาษามีอยู่รอบตัวเราเลยค่ะ การฝึกภาษาใหม่ๆ ก็ไม่พ้นจากการฝึกพูด ฟัง อ่าน เขียน เราเลยอยากนำวิธีฝึกให้ทุกคนที่ตั้งใจจะเริ่มเรียนภาษาอังกฤษได้นำไปใช้กันค่ะ ฝึกพื้นฐานไวยากรณ์ เราอาจจะเคยได้ยินว่าไวยากรณ์นั้นไม่สำคัญเท่าไหร่ แค่สื่อสารได้ก็พอแล้ว แต่รู้หรือไม่ว่าไวยากรณ์ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราสื่อสารได้ถูกต้องและชัดเจน ไวยากรณ์ก็เหมือนโครงสร้างของภาษา ถ้าใช้ได้ไม่ดี ก็ไม่สามารถสร้างประโยคที่ถูกต้องได้ เพียงแค่เราวางเครื่องหมายจุลภาคผิด เนื้อหาก็เปลี่ยนไปราวฟ้ากับเหว เราอาจจะคิดเหมือนกันว่าไวยากรณ์มันยาก ซึ่งก็ไม่ผิดเลยจริง ๆ (อ้าว) สำหรับเจ้าของภาษา ไวยากรณ์เป็นเรื่องง่ายเพราะเขาเคยชินกับระบบภาษาอยู่แล้ว แต่สำหรับเราที่เรียนเป็นภาษาที่สองหรือที่สาม ไวยากรณ์นั้นไม่พ้นกับการกัดฟันจำ จำ จำ และก็จำเท่านั้น (ร้องไห้) จำจนกว่าจะขึ้นใจ จนกว่าจะใช้ได้อย่างเป็นธรรมชาติ ให้เริ่มจากสิ่งที่เบสิคที่สุดอย่างเช่นส่วนประกอบของประโยค แล้วค่อยต่อยอดไปในสิ่งที่ยากขึ้น โดยเลือกวิธีเรียนที่เราสนุกกับมันมากที่สุด ซึ่งจะอธิบายในข้อต่อๆ ไปกัน เสพให้บ่อย หนึ่งในวิธีเรียนรู้ภาษาอังกฤษอย่างง่ายคือดูหนัง ฟังเพลง ฟังพอดแคสต์ หรือเล่นเกมที่เป็นภาษาอังกฤษก็เป็นการฝึกที่ดี เพราะในสื่อบันเทิงจะมีการใช้ประโยคในชีวิตจริง นำมาประยุกต์ใช้ได้ง่าย โดยหนังแนะนำให้เริ่มดูโดยใช้คำบรรยายภาษาอังกฤษเพื่อที่เราจะได้ฝึกอ่านไปด้วยในตัว เมื่อเรามั่นใจพอแล้ว ก็ให้ดูโดยไม่ต้องพึ่งคำบรรยาย (ถ้าอยากได้การฝึกแบบฮาร์ดคอร์ เราแนะนำให้ดูซีรีส์ Sherlock ของ BBC เพื่อการฝึกดูและฟังอย่างโชกโชนค่ะ) หรือไม่ก็ติดตามช่องยูทูบที่พูดภาษาอังกฤษเป็นหลักก็ได้ เพลงเองก็เป็นส่วนนึงในการฝึกที่ดี เนื่องจากในเพลงนั้นมีวลีและคำสแลงที่เราสามารถนำเอาไปใช้ได้ในชีวิตจริง แถมยังนั่งฟังได้เพลินๆ อีกด้วย ในตอนนี้พอดแคสต์ภาษาอังกฤษก็มีรายการดีๆ ที่ช่วยฝึกภาษาอังกฤษที่เห็นได้ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นของไทยและเทศ และถ้าหากเบื่อๆ อยากฟังที่เป็นรายการบันเทิง หรือเรื่องเล่าสนุกๆ ก็มีให้ฟังเหมือนกัน อ่านให้มาก การอ่านเป็นอีกทางที่ทำให้เราฝึกไวยากรณ์ได้ไวยิ่งขึ้น เพราะการอ่านจะทำให้เราเห็นรูปประโยคได้อย่างชัดเจน ทำให้เราซึมซับแล้วนำไปใช้เองได้ในต่อไป ถ้าตอนแรกยังไม่ถนัด แนะนำให้อ่านพ็อคเก็ตบุ๊คง่ายๆ หรือการ์ตูนแปลอังกฤษสักเล่มเพื่อสร้างความคุ้นเคย แล้วค่อยพัฒนาเป็นนิยาย หรือหนังสือ non-fiction สักเล่ม ถ้าเพิ่งเริ่มฝึกอ่านนิยายอังกฤษ เราแนะนำให้เริ่มที่นิยายหมวด Young Adult เพราะเนื้อหาตื่นเต้นและอ่านไม่ยากไม่ง่ายจนเกินไปค่ะ หรือให้เลือกอ่านในหมวดหมู่หรือเนื้อเรื่องที่สนใจ เพราะจะทำให้เรามีความสนใจต่อหนังสือเล่มๆ นั้นมากขึ้นค่ะ รู้ตัวอีกทีเราอาจจะอ่านจบเล่มภายในคืนเดียวก็ได้ พูดให้เยอะ ข้อนี้ค่อนข้างตรงตัว ถ้าเรายิ่งพูดเยอะเราก็จะยิ่งพูดเก่ง แต่เราคงฝึกพูดกับคลิปยูทูบไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราอาจจะฝึกพูดกับเพื่อน การได้พูดกับเพื่อนนั้นสนุกและเราอาจจะเกร็งน้อยกว่าถ้าต้องคุยกับเจ้าของภาษาหรือคุณครูไปเลย ทำให้เรากล้าที่จะใช้คำศัพท์ ใช้แสลงได้มากขึ้น (ขอรับประกันว่าวิธีนี้พัฒนาไวมากๆ ค่ะ คุยน้ำไหลไฟดับเลย) แต่ในปัจจุบันก็มีแอปพลิเคชันต่างๆ ที่สร้างมาเพื่อรองรับผู้ฝึกภาษาให้ได้พูดคุยกับเจ้าของภาษา หรือคนอื่นๆ ที่ต้องการจะฝึกภาษาอังกฤษเช่นเดียวกับเรา โดยไม่ต้องวิ่งหาคุณครูหรือเพื่อนคุยเลย เขียนให้เพียบ ข้อนี้ก็หนีไม่พ้นจากการเขียนให้บ่อย เราอาจจะไม่ต้องเริ่มเขียนเป็นเรียงความ แต่เริ่มจากอะไรเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่นไดอารี่หรือ to-do list แล้วค่อยพัฒนาไปเป็นสเตตัสบนเฟซบุ๊คหรือทวีตอะไรสักอย่าง หรือถ้าต้องการฝึกเขียนอย่างจริงจัง เราสามารถสร้างเพจหรือบล็อกไว้เพื่อเขียนเป็นภาษาอังกฤษโดยเฉพาะเลยก็ได้ เขียนลงบ่อยๆ ให้เป็นวินัย และจะดียิ่งขึ้นถ้ามีคนช่วยตรวจที่เราเขียนให้ เพื่อเห็นข้อผิดพลาดที่ควรแก้ในอนาคต แต่ถ้าเกิดไม่มีคนตรวจให้ ก็ยังมีระบบแก้คำในโปรแกรมเขียนต่างๆ ที่พอชี้จุดบอดได้บ้าง ในตอนนี้ก็มี extensions ใน browser ดีๆ อย่างเช่น Grammarly หรือ Ginger Grammar ที่ช่วยแก้คำและไวยากรณ์ให้เราได้อย่างเรียลไทม์ โหลดไว้ติดเครื่องคอยช่วยตรวจภาษาก็เป็นเรื่องที่ดีค่ะ เขาว่ากันว่าถ้าอยากใช้ภาษาให้เก่งต้องไปอยู่กับกลุ่มคนที่ใช้แต่ภาษานั้น การเข้าไปเล่นในกลุ่มโซเชียลที่มีชาวต่างชาติ หรือคนที่ต้องการจะฝึกภาษาแล้วพิมพ์พูดคุยตอบกันไปมาเป็นภาษาอังกฤษ ก็เป็นอีกวิธีที่ทำกระตุ้นให้เราอยากพัฒนาสกิลการเขียนของเราได้อีกด้วย เลือกซื้อสมุดจดลายน่ารักๆ ได้ ที่นี่