Mango Zero

จำแล้วดีกว่าจด? 5 เทคนิคใกล้ตัว จดยังไงให้จำ!

หลายครั้งที่เรามักบอกกับตัวเองว่าไม่เป็นไรหรอก เรื่องแค่นี้ไม่ต้องจดก็ได้ จำได้อยู่แล้ว สรุปสุดท้ายก็ลืมอยู่ดี แต่บางทีที่เราจดไว้ กลับมาอ่านอีกรอบก็ไม่น่าอ่านเอาซะเลย  ที่เขียนไปก็ไม่มีเลยที่จะจำได้สักประโยค วันนี้เราจะมาแนะนำวิธีจดยังไงให้จำได้กันไปยาวๆ เผื่อให้ไว้ใช้กัน เผื่อว่าจะทำให้การจดเลคเชอร์เป็นเรื่องที่สนุกขึ้นก็ได้นะ

จำได้ไม่ได้แปลว่าจะจำได้ตลอดไป

เพราะการจำมันยาก หลังจากที่เราได้เรียนรู้อะไรสักอย่างเพียง 20 นาทีเราก็แทบจะลืมเนื้อหาทั้งหมดเกือบ 50% ซะแล้ว! ทฤษฎีนี้ได้ถูกคิดค้นโดย Hermann Ebbinghaus นักจิตวิทยาชาวเยอรมันที่ต้องการจะศึกษาเกี่ยวกับความจำของคน และเราลืมไปได้เยอะแค่ไหนหลังจากรับข้อมูลนั้นๆ และแน่นอนว่าเราสามารถลืมมันได้อย่ารวดเร็ว ไม่แปลกเลยที่การยัดเลคเชอร์เข้าหัวคืนก่อนวันสอบจะทำให้เราจำได้เพียงนิดเดียวเท่านั้น โดยวิธีที่จะช่วยให้เราลืมได้ช้าลง ก็คือการทบทวนบ่อยๆ แต่ก่อนจะทบทวนได้ เราก็ต้องมีบันทึกที่มีประสิทธิภาพเสียก่อน เพื่อการอ่านและจำที่ง่ายขึ้น

เขียนให้เป็นระบบ

การจดสะเปะสะปะทำให้เรากลับมาทบทวนอีกครั้งลำบาก เพราะฉะนั้นเราควรจัดวางหน้ากระดาษให้เหมาะสมต่อการกลับมาอ่านอีกรอบ ในปัจจุบันมีวิธีจดบันทึกหลายประเภทที่พัฒนามาเพื่อการเรียนรู้โดยเฉพาะ หนึ่งในนั้นที่เป็นที่รู้จักคือการจดบันทึกของมหาวิทยาลัย Cornell ซึ่งแบ่งหน้ากระดาษออกเป็นสามส่วน ส่วนที่ใหญ่ที่สุดไว้จดบันทึก ส่วนที่เล็กกว่าตรงซ้ายมือไว้จดคำศัพท์หรือความเห็นต่างๆ ที่มีต่อข้อมูลนั้นๆ และส่วนล่างที่เว้นไว้ประมาณห้าถึงเจ็ดบรรทัดไว้เขียนสรุปข้อความทั้งหมดหลังจากจดเสร็จหรือหมดคาบเลคเชอร์ ด้วยเนื้อหาที่เรียงกันอยู่เป็นกลุ่มก้อนทำให้อ่านทบทวนอีกครั้งเป็นเรื่องง่าย

จดแค่ใจความสำคัญ

เราอาจจะคุ้นชินกับการที่จดตามคำพูดของคุณครูหรือที่คุณครูเขียนไว้เป๊ะๆ แต่วิธีจดให้จำคือเปลี่ยนให้เป็นสำนวนที่เราคุ้นเคยแทน ตัดทอนประโยคได้หากจำเป็น และถ้าเขียนเป็นข้อได้ยิ่งดีใหญ่ การเขียนโน้ตที่ดีไม่จำเป็นต้องเป็นประโยค เพียงข้อความสั้นๆ ให้จับใจความได้ก็พอแล้ว การตัดทอนและแก้ไขสำนวนนอกจากจะทำให้อ่านง่ายขึ้นแล้ว ยังช่วยทำให้เราเข้าใจเนื้อหาได้ดีขึ้นระหว่างจดลงกระดาษอีกด้วย การที่เราเขียนเป็นภาษาที่เราเข้าใจ กลับมาอ่านอีกครั้งจะได้ไม่เหนื่อย

ใช้สีอย่างพอเหมาะ

เลคเชอร์ที่ไม่มีสีสันเลยก็น่าเบื่อ แต่กลับกัน เลคเชอร์ที่เต็มไปด้วยไฮไลท์หลากสีก็ละลานตาจนทำให้จดจ่อได้ลำบาก การใช้สีเป็นเรื่องที่ดี แต่ควรใช้อย่างพอเหมาะ ให้สีเป็นตัวดึงความสนใจและเน้นข้อความสำคัญ ไม่ใช่ให้สีเป็นตัวทำให้เราว่อกแว่ก จำกัดการใช้สีต่อหน้ากระดาษไว้สักสามสีก็พอแล้ว โดยส่วนมากจะจำกัดไว้ที่ดำและสีน้ำเงินสำหรับเขียน ส่วนสีแดงไว้เน้นข้อความหรือตรวจทานหรือใช้สีอื่นมาเป็นตัวเน้นข้อความ แต่ถ้าเราเบื่อ จะเปลี่ยนสีแต่ละหน้าหรือหมวดหมู่เพื่อกระตุ้นความสนใจของเราก็ได้นะ

สร้างระบบคำย่อและสัญลักษณ์

การจดที่มีประสิทธิภาพคือการจดที่ว่องไวและชัดเจน บางครั้งการเขียนคำเต็มๆ อาจเสียเวลาและทำให้ตามข้อมูลไม่ทัน เราสามารถแก้ปัญหานี้ได้ด้วยการสร้างระบบคำย่อของตัวเองขึ้นมาเพื่อใช้จดบันทึกอย่างรวดเร็ว ในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นคำย่อที่มีอยู่จริง เราสามารถสร้างขึ้นมาใหม่ได้โดยเฉพาะกับคำที่ต้องใช้บ่อย แล้วค่อยเขียนคำอธิบายตัวย่อและสัญลักษณ์ไว้สักหน้าหนึ่งไว้เปิดดู หรือเขียนลงโพสอิทไว้เผื่อย้ายไปแปะหน้าอื่นก็ดีเหมือนกัน

มีรูปประกอบบ้าง

ตัวหนังสืออย่างเดียวอาจจะไม่ดึงดูดความสนใจพอ ซึ่งบางครั้งการใช้ภาพมาเป็นตัวเชื่อมข้อมูล หากหัวข้อนั้นมีรูปประกอบหรือกราฟที่ต้องใช้อธิบาย ก็ให้วาดรูปหรือปรินท์ภาพแปะลงไปเลย แต่เราแนะนำให้วาดเองจะดีที่สุด โดยรูปภาพต่างๆ จะทำให้เราจดจำข้อมูลได้เร็วขึ้นแล้ว ยังทำให้หน้ากระดาษของเราน่าสนใจขึ้น

สามารถซื้อเครื่องเขียนออนไลน์ได้ ที่นี่

ที่มา: phys.sc.chula.ac.th