เรียกได้ว่า ‘The Unicorn : สตาร์ทอัพพันล้าน’ น่าจะเป็นอีกหนึ่งรายการที่ออกอากาศได้เพียงสามสัปดาห์ก็ได้รับความสนใจจากผู้ชมทั้งคนที่ทำธุรกิจสาย Tech Startup และคนทั่วไปที่ไม่ได้ทำธุรกิจใดๆ แต่ก็สนุกและได้เรียนรู้เรื่องราวของ Startup ไปด้วย
สัปดาห์นี้ที่ผู้เข้าแข่งขันแอปที่สาม ก็มาพร้อมกับแอปที่น่าสนใจ และเป็นเรื่องใกล้ตัวมนุษย์เงินเดือนนั่นคือแอปจัดการภาษี ‘iTax’ โดยมี ‘เรือบิน – ดร. ธรรม์ธีร์ สุกโชติรัตน์’ ผู้ก่อตั้งแอป มาเล่าแนวคิดในการพัฒนาแอปให้ฟัง รายการแข่งขันดำเนินไปอย่างสนุก และเราสรุปตรงนี้เลยว่า iTax มีคะแนนนำโด่งขึ้นอันดับหนึ่งอยู่ที่ 90 คะแนน
แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือเราได้เรียนรู้อะไรจากแนวคิดของการพัฒนา iTax และไม่ใช่แค่เรื่องการทำธุรกิจสตาร์ทอัพเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของการเสียภาษีแฝงอยู่ด้วยซึ่งนี่คือสิ่งที่เราสรุปได้
1. คนพัฒนาแอปต้องเล่าเรื่องยากให้เข้าใจง่าย
- หนึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือ iTax เป็น Startup ที่เริ่มต้นแนวคิดสร้างแอปจากความคิดว่าคนไทยยังเข้าใจเรื่องของการเสียภาษีน้อยมากๆ ซึ่ง ดร.ธรรม์ธีร์ เปรียบเปรยว่าหลายคิดว่าภาษีน่ากลัวเหมือนผี ซึ่งในความเป็นจริงแล้วคนกลัวการเสียภาษีเพราะไม่เข้าใจ
- เขาจึงพยายามย่อยทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับภาษีให้คนที่ต้องเสียภาษีได้รับรู้และเข้าใจถึงกระบวนการกรอกข้อมูลเพื่อคำนวนภาษี การคำนวนระบบลดหย่อนภาษี และการวางแผนบริหารจัดการรายได้เพื่อที่จะได้เสียภาษีได้น้อยที่สุด หรืออาจจะได้ภาษีคืนกลับมาก็ได้
- นอกจากนี้หน้าตาแอปพลิเคชั่นก็เรียบง่าย สวยงาม เหมาะกับคนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง
2. คนไทยกลัวการเสียภาษีเพราะไม่เข้าใจ
- ปัจจุบันนี้มีคนไทยที่เป็นบุคคลธรรมดาเข้าระบบการเสียภาษีทั้งหมด 10 ล้านคนเท่านั้น และหลังจากหักการลดหย่อนภาษีไปแล้วจะเหลือแค่ 4 ล้านคนที่เสียภาษีทั้งที่จริงๆ แล้วคนไทยกว่า 40 ล้านคนมีงานทำ
- สาเหตุที่คนไม่เข้าสู่ระบบภาษีเพราะเขาไม่รู้ว่าจะต้องจัดการเรื่องภาษีหลังจากที่ตัวเองเป็นบุคคลที่มีเงินได้ หากถึงเกณฑ์จะต้องเสียภาษีอย่างไร ซึ่งหลายคนเลือกที่จะเมินเฉยสุดท้ายก็อาจจะโดนภาษีย้อนหลังพร้อมค่าปรับ
- การหาช่องทางเพื่อจ่ายภาษีน้อย (อย่างถูกกฎหมาย) ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะภาครัฐก็พยายามรณรงค์ให้ประชาชนลดหย่อยภาษีด้วยการซื้อกองทุน ซื้อประกัน หรือบริหารเงินเพื่อลดหย่อนภาษี สิ่งนี่คือข้อดีที่จะได้กลับคืนสู่คนที่เข้าใจ
3. การพรีเซ็นต์โปรดัคน่าสนใจได้ใจไปเกินครึ่ง
- สิ่งที่น่าสนใจคือเราได้เห็นการพรีเซ็นต์โปรดัค ‘iTax’ อย่างมั่นใจของ ดร.ธรรม์ธีร์ ซึ่งเป็นการอธิบายโปรดัคของตัวเองด้วยน้ำเสียงที่ชวนฟัง ไม่ตื่นเวที และทำได้เข้าใจง่ายนั้นแม้จะเปิดหัวมาด้วยคำว่าการจัดการภาษี ซึ่งเป็นคำที่คนเบ้ปากมองบนใส่ แต่คนก็ให้ความสนใจฟังอย่างตั้งใจ
- การพรีเซ็นต์อย่างเข้าใจง่ายนี่เองที่ทำให้คนในสตูดิโอโหลดแอปมาลองเกือบหมด มีแค่ 2 คนที่ไม่โหลด
- การคุมสติระหว่างตอบคำถามโต้ตอบกับคณะกรรมการก็สะท้อนให้เห็นว่า ดร.ธรรม์ธีร์ ทำการบ้านมาอย่างดี ทุกข้อมูลที่นำเสนอ ทุกข้อสงสัยที่โดนตั้งคำถามเขาสามารถเคลียร์ได้
- บุคลิกและวิธีการพรีเซ็นต์ของดร.ธรรม์ธีร์ สะท้อนให้เห็นว่าคนทำ Sratup ไม่ใช่แค่เก่งในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างเดียว แต่ต้องเก่งในการอธิบายได้ไม่งั้นคงไม่มีใครซื้อ
4. แอปทำมาด้วยเจตนาที่ดี แต่ในเชิงธุรกิจต้องชัดเจนกว่านี้
- แอป iTax ได้รับความชื่นชมจากคณะกรรมการอย่างมากเป็นเทปแรกที่กรรมการทั้งสามคนยอมโหลดทั้งหมด แต่จะมีติติงบ้างตรงเรื่องความละเอียดของแอป และความชัดเจนในการทำธุรกิจในแอป ผู้พัฒนาธุรกิจแอพนี้จึงต้องไปทำการบ้านต่อ
- มีคน 12 คนที่โหลดแอปแล้วเลือกลบทิ้ง ขณะที่กรรมการ 2 คนที่โหลดแอปมาในตอนแรกก็เลือกลบทิ้งเหมือนกันเพราะไม่ตอบโจทย์การใช้งานยาก ไม่ควรพัฒนาแค่แอปแต่ควรไปทำเว็บด้วย ซึ่งจริงๆ iTax ก็มีเว็บเช่นกัน แต่อาจไม่สะดวกเท่าแอป คุณธรรม์ธีร์ จึงจะเอาคำแนะนำไปปรับพัฒนาโปรดัคต่อ
- อีกหนึ่งสิ่งที่โดนกรรมการติงคือโมเดลการทำธุรกิจไม่ชัดเจนหน้าที่แอปคือการลดหย่อนภาษี แต่รายได้กลับมาจากการขายกองทุน
5. คนรุ่นใหม่ตื่นตัวเรื่องภาษีขึ้น
- คนไทยดูตื่นตัวภาษีมากขึ้น สังเกตได้จากกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นผู้ร่วมรายการเกือบทั้งหมดโหลดแอป iTax มาใช้มีแค่คนเดียวที่ไม่โหลดมาลองก่อน ทั้งที่พวกเขายังไม่ถึงวัยที่จะต้องเสียภาษีแต่ก็อยากลอง ในอนาคตอาจที่มีส่วนให้เขาตระหนักถึงหน้าที่พลเมืองซึ่งก็คือการเสียภาษี
- ดังนั้นจึงต้องมีการให้ความรู้บุคคลที่มีเงินได้เรื่องการเสียภาษีอย่างถูกต้อง แล้วประเทศไทยจะได้รายได้จากภาษีมากกว่าเดิม 2 – 3 เท่า
- คนไทยต้องเรียนรู้เรื่องการเสียภาษีตั้งแต่ก่อนเรียนจบ และรู้เรื่องการลดหย่อนภาษีด้วยวิธีต่างๆ แต่กลับไม่มีหน่วยงานที่กี่ยวข้องมาให้ความรู้อย่างจริงจัง การมาถึงของแอปนี้น่าจะช่วยให้คนเข้าใจคำว่าการเสียภาษีมากขึ้น
สำหรับคนที่อยากจะดูรายการเต็มๆ รับชมตรงนี้ได้เลย