สัปดาห์ที่ผ่านรายการ ‘The Unicorn สตาร์ทอัพพันล้าน’ ออกอากาศไปตอนแรก และทาง Mango Zero รีวิวไปแล้วในบทความ รีวิว ‘The Unicorn : สตาร์ทอัพพันล้าน’ รายการเพื่อสตาร์ทอัพไทย และเชื่อว่าคนที่สนใจจะทำสตาร์ทอัพสาย Tech Startup ก็น่าจะได้ความรู้ผ่านกรณีศึกษาของผู้เข้าแข่งขันรายแรก รวมถึงอีก 11 แอปที่เหลือ สำหรับ EP 2 เป็นเรื่องราวของแอปพลิเคชั่น ‘Health at Home’ ของ ‘นายแพทย์คณพล ภูมิรัตนประพิณ’ ซึ่งถือเป็นแอปที่ให้บริการทางการแพทย์ของไทยที่ดูแลคนป่วย รายงานข้อมูลต่างๆ ที่สำคัญสำหรับวิเคราะห์อาการผู้ป่วยแบบรายวันที่สามารถตรวจสอบได้ตลอดผ่านแอปไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ตาม และยังเป็นช่องทางสื่อสารกันระหว่างผู้ดูแล ทีมพยาบาล และผู้จ้างเพื่อแนะนำการรักษาด้วย จากนี้ไปคือข้อคิด และแนวคิดในการพัฒนาแอปพลิเคชั่นของ ‘Health at Home’ จากรายการในตอนที่ผ่านมา 1. เห็นปัญหาจึงเริ่มต้นสร้างแอปพลิเคชั่นส์ แอปนี้เริ่มต้นจากการมองเห็นปัญหาว่ามีกลุ่มคนที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน และในอนาคตประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจึงมีโอกาสที่แอปนี้จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหา หมอคณพล มองเห็นช่องว่างสำคัญตรงที่ความไว้วางใจในตัวคนที่เข้ามาดูแลผู้ป่วย ซึ่งคนที่มาดูแลคนป่วยที่บ้านอาจจะไม่เชี่ยวชาญ หนีงาน หรือรายงานผลการดูแลไม่ได้ แอปนี้จึงเข้ามาเป็นตัวกลางหาบุคลากรคุณภาพที่จะเข้ามาดูแลผู้ป่วย ที่น่าสนใจกว่านั้นคือการรายงานผลของผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญ ปกติผู้ใช้บริการไม่สามารถทราบผลต่างๆ ของผู้ป่วยได้ แต่แอปนี้จะเป็นช่องทางคอยดูแลอาการของผู้ป่วย โดยผู้ดูแลจะรายงานผลผ่านแอปตลอดซึ่งจะมีพยาบาลคอยช่วยตรวจหาความผิดปกติร่วมกับผู้ดูแล ส่วนผู้จ้างก็สามารถดูผลตรวจในแต่ละวันได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งไม่มีบริการไหนที่ทำได้ หากมีอาการผิดปกติจะเห็นการแจ้งเตือนได้ทันทีผ่านแอป จึงสามารถไปพบแพทย์ได้ทันท่วงที จากปกติเราไม่สามารถติดตามอาการของคนป่วยได้เมื่อผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว 2. ปัญหาคือราคา ดังนั้นจึงต้องทำให้บริการมีความพรีเมียม ปัญหาใหญ่ที่คนมีโอกาสตัดสินใจไม่ใช้งานแอปนี้ราคา เนื่องจากราคาเริ่มต้นอยู่ที่วันล่ะ 1,000 บาท การบริการจึงต้องสมราคาโดยมีทั้งทดสอบความสามารถผู้ดูแลก่อนจะเข้าร่วมงานกับ Health at Home เพื่อการันตี มีการคัดเลือกคนมาดูแลอย่างละเอียด และต้องไม่มีประวัติอาชญากรด้วย รวมถึงมีทีมพยาบาลช่วยดูแลทั้งไปดูแลที่บ้าน และดูแลอยู่ที่สำนักงานเพื่อวิเคราะห์ผลการตรวจในแต่ละวัน 3. ความง่ายต้องเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาแอป แอปมีแนวคิดในการออกแบบคือต้องใช้ง่าย อ่านผลการรายงานไม่ยุ่งยาก และไม่ใช้ศัพท์ทางการแพทย์เลยเนื่องจากผู้ใช้งานแอปอาจจะไม่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี มีรายละเอียดในการรายงานอาการที่เป็นระเบียบ ละเอียด และแบ่งหมวดหมู่ง่ายเพื่อการตรวจสอบ ไอคอน ต้องน่ารักร่วมสมัย ชวนใช้งาน 4. ไม่หยุดพัฒนาแค่การให้บริการเพื่อหาผู้ดูแล คุณหมอบอกว่าการดูแลผู้ป่วยนั้นเป็นโซลูชั่นหลักก็จริง แต่ยังมีความต้องการอีกมากมาย และเกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยในธุรกิจ Home Care ซึ่งกำลังอยู่ในการพัฒนาบริการใหม่อยู่สิ่งที่ทำอยู่เป็นแค่จิ๊กซอร์แรกเท่านั้น โดยเงื่อนไขในการพัฒนานั้นนอกจากจะ Hi-Tech แล้ว ต้อง Hi-Touch เพื่อให้ผู้ใช้งานประทับใจ และตอบโจทย์ 5. ต้องสร้างความน่าเชื่อถือ และปรับกลยุทธ์เพื่อไปได้ไกล คุณไผท บอกว่าทั่วโลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงเป็นโอกาสสำคัญในการทำธุรกิจ ที่น่าสนใจคือ Health at Home เป็นแอปที่สร้างโดยคนที่เข้าใจปัญหาจริงๆ แต่ยังมีการบ้านที่ต้องทำคือสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแอปต่อผู้บริโภค คุณพัชร แสดงความคิดเห็นว่าแม้เขาจะไม่ได้โหลดแอปมาใช้ แต่รู้สึกว่านี่คือแอปที่จะต้องจำเป็นกับคนทุกคนในอนาคต วัยรุ่นอาจไม่โหลด แต่คนทำงานที่มีผู้สูงอายุต้องดูแลควรโหลดซึ่งเขามาถูกทางแล้วในการเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม คุณทิวา ชื่นชมความตั้งใจที่อยากจะแก้ไขปัญหาของคนที่มีผู้สูงอายุต้องดูแล แต่มีข้อแนะนำว่ากลยุทธ์ของ Health at Home ยังไม่ชัดเจน แต่มีเจตนาที่ดี หากอยากไปไกลกว่านี้ควรมีบิซิเนสโมเดล ที่ชัดเจนแล้วจะไปได้ไกลกว่านี้ สำหรับคนที่อยากชมรายการเต็มๆ รับชมได้ตรงนี้เลย ส่วนใครอยากจะที่จะชมตอนต่อไปก็สามารถรับชมได้ทุกคืนวันเสาร์เวลา 21.00 น. โดย EP 3 จะเป็นแอปพลิเคชั่นส์ iTax แอปจัดการภาษีแบบง่ายๆ