ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องน้ำมันนั้นเป็นหนึ่งในเรื่องที่เราถกเถียงกันมาตลอดทุกครั้งที่มีข่าวน้ำมันขึ้นราคา ซึ่งเวลาที่มีการถกเถียงกันบางคนที่อยู่วงนอกก็อยากจะไปรวมแจมคอมเมนต์ด้วย แต่กลัวพลาดเลยไม่กล้า ขณะที่บางคนก็อยากจะรู้ว่าแท้ที่จริงแล้วมีเรื่องอะไรที่เข้าใจผิดเกี่ยวกับน้ำมันในไทยแต่ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วคืออะไร วันนี้เราจะพาคุณไปรู้จักกับ 5 ข้อเท็จจริงต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องน้ำมันที่ควรรู้ จะได้เป็นข้อมูลเอาไว้พิจารณความถูกต้องของข้อมูลที่เคยรับมาผิดๆ หรืออย่างน้อยรู้เอาไว้จะได้เอาไปคุยกับคนอื่นๆ ต่อได้รู้เรื่อง ไทยไม่ได้ใช้น้ำมันแพงที่สุดในอาเซียน อาจเคยได้ยินคำพูดเวอร์ๆ มาว่าไทยใช้น้ำมันแพงที่สุดในอาเซียน แต่ความเป็นจริงแล้วราคาน้ำมันของไทยหน้าปั้มอยู่ที่อันดับ 3 ซึ่งถ้าเรียงลำดับประเทศที่ใช้น้ำมันแพงที่สุดไปจนถึงถูกที่สุดจะออกมาเป็น สิงคโปร์ 52.31 บาท ลาว 39.26 บาท ไทย 37.02 บาท กัมพูชา 35.20 บาท ฟิลิปปินส์ 34.23 บาท เวียดนาม 30.03 บาท อินโดนีเซีย 21.31 บาท มาเลเซีย 17.55 บาท **อิงจากราคาน้ำมันวันที่ 28 พ.ค. 2561 สาเหตุที่สิงคโปร์ขายน้ำมันแพง ทั้งที่เป็นแหล่งอ้างอิงราคากลางน้ำมันก็เพราะสิงคโปร์มีความจำเป็นที่จะควบคุมการใช้รถ ดังนั้นภาษีที่บวกเข้าไปในค่าน้ำมันจึงสูง คำถามที่ตามมาแล้วทำไมไทยถึงขายน้ำมันแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน อย่างมาเลเซียที่ขายราคาถูกที่สุดในอาเซียน ก็ต้องบอกว่ามาเลเซียมีศักยภาพในการผลิตน้ำมันได้สูงกว่าไทย เลยเก็บภาษีค่าน้ำมันถูกนั่นเอง อ้างอิงราคาน้ำมันปัจจุบันจาก globalpetrolprices ราคาขายปลีกน้ำมันไทยบวกภาษีไปด้วย 30 – 40% ราคาน้ำมันที่ขายในประเทศไทยนั้นไม่ใช่ว่าอยากจะขายเท่าไหร่ก็ได้ ทุกอย่างมีกระบวนการควบคุมราคามาตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง โดยโครงสร้างราคาน้ำมันในไทยนั้นกว่าจะถึงหน้าปั้มต่อ 1 ลิตรมีวิธีการคิดราคาดังนี้ ราคาหน้าโรงกลั่น ซึ่งหมายถึงเป็นราคาตั้งต้นที่ออกมาจากโรงกลั่นปัจจุบันอยู่ที่ 19.29 บาท ภาษีสรรพาสามิตร อธิบายง่ายๆ เป็นการเก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยจำพวกเดียวกับสุรา หรือรถยนต์ ปัจจุบันอยู่ที่ 5.85 บาท ภาษีมหาดไทย เป็นภาษีที่เก็บเพื่อเอาเงินไปบำรุงท้องที่ ณ ที่โรงกลั่นตั้งอยู่ ปัจจุบันอยู่ที่ 0.58 บาท เงินอุดหนุนกองทุนน้ำมัน เป็นเงินที่เรียกเก็บเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมัน ปัจจุบันอยู่ที่ 0.0100 บาท เงินอุดหนุนเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อสนับสนุนทดแทนพลังงานรูปแบบอื่น ปัจจุบันอยู่ที่ 0.10 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มของราคาขายส่ง หรือ Vat7% อย่างที่เรารู้จักกัน ปัจจุบันอยู่ที่ 1.8089 บาท ค่าการตลาดของผู้ขาย ไม่ใช่หมายถึงกำไร แต่หมายถึงเงินที่จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายส่วนต่างๆ ของผู้ค้าน้ำมัน ปัจจุบันอยู่ที่ 2 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มของค่าการตลาด คิดเป็น 7% ของค่าการตลาด ปัจจุบันอยู่ที่ 0.14 บาท ทั้งหมดเมื่อรวมกันแล้วจะเป็นราคาน้ำมัน ณ วันที่ 27 พฤษภาคม 2018 ซึ่งจะเห็นภาพชัดเจนว่าน้ำมันนั้นมีต้นทุนสูงกว่า 60 – 65% ส่วนภาษีต่างๆ ที่ถูกบวกเพิ่มนั้นรัฐจะทำการจัดสรรและแบ่งออกไปตามหน่วยงานที่เรียกเก็บ อยู่ที่ 30 – 40% ส่วน 5% ที่เหลือนั้นแบ่งเป็นกำไรละค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ผู้ขายน้ำมันได้ รับสรุปง่ายๆ น้ำมันไม่ได้ขายตามต้นทุนเท่านั้นแต่มีการบวกภาษีต่างๆ เข้าไปด้วย ไทยกำหนดราคาน้ำมันเองไม่ได้ ต้องอิงราคากลางจากสิงคโปร์ ไทยต้องอ้างอิงราคาน้ำมันกลางจากสิงคโปร์ไม่สามารถตั้งราคาได้เองตามใจชอบ สาเหตุที่สิงคโปร์เป็นที่อ้างอิงราคาน้ำมันกลางในเอเซียเพราะ สิงคโปร์มีบริษัทตัวแทนน้ำมันรายใหญ่จากทั่วโลกตั้งอยู่ 325 บริษัท มีปริมาณการซื้อขายสูงเช่นเดียวกับตลาดในยุโรปและสหรัฐฯ จึงปั่นราคายาก ทุกประเทศในเอเชียเลยต้องอ้างอิงราคาขายของสิงคโปร์เป็นราคากลาง ซึ่งก็คือต้นทุนของราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น หากตั้งราคาน้ำมันเองให้ถูกกว่าสิงคโปร์ น้ำมันในประเทศจะถูกซื้อไปขายยังสิงคโปร์เพราะราคาขายสูงกว่า หรือถ้าขายแพงกว่าสิงคโปร์ นายทุนก็จะซื้อน้ำมันจากสิงคโปร์มาขายแข่งในประเทศไทย ดังนั้นจึงต้องมีราคากลางให้ยึด แล้วกำหนดราคาที่ไม่โดดจนเกินไป โดยสรุปคือราคาขายในประเทศ ภาครัฐกำหนดเองโดยอิงจากราคากลางที่สิงคโปร์และบวกภาษีต่างๆ ลงไป ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ และการแข่งขัน ไทยต้องนำเข้าน้ำมันดิบ 85% มาเพื่อกลั่นน้ำมันเอง ไทยถึงจะมีอุตสาหกรรมขุดเจาะน้ำมัน แต่ยังต้องนำเข้าน้ำมันดิบมาเพื่อกลั่นน้ำมันใช้เองเนื่องจากน้ำมันดิบที่ผลิตได้นั้นมีโลหะหนักเยอะเกินไม่สามารถกลั่นได้เองในประเทศ ส่วนที่กลั่นไม่ได้จึงถูกส่งออกในรูปแบบน้ำมันดิบ อีกส่วนหนึ่งที่สามารถกลั่นเป็นน้ำมันได้จะถูกส่งเข้าโรงกลั่นในประเทศแค่ 15% เท่านั้นนอกนั้น 85% ต้องนำเข้าน้ำมันดิบมาเพื่อกลั่นเป็นน้ำมันใช้เอง เมื่อคิดตามกระบวนการสินค้าที่เราไม่สามารถผลิตได้เอง และต้องนำเข้ามาในราคาตลาดโลก ราคาน้ำมันจึงมีความผันผวนตามตลาดโลก อีกทั้งกระบวนการสั่งน้ำมันดิบนั้นไม่ใช่สั่งแล้วได้เลย แต่ต้องคำนวนล่วงหน้าและใช้เวลาสั่งราวสองเดือนถึงจะได้ ส่วนราคาที่ต้องจ่ายถือราคาตามจริงวันที่มาส่ง ไม่ใช่ราคาวันที่สั่ง บุคคลทั่วไปสามารถถือหุ้น ปตท. ได้ อีกหนึ่งความเข้าใจผิดคือหุ้นของ ปตท. (ข้อยกที่กรณี ปตท. เพราะเป็นผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในประเทศและภาครัฐถือหุ้นมากที่สุด) คือคนทั่วไปไม่สามารถถือหุ้นได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วสัดส่วนของการถือครองหุ้น ปตท. นั้นได้จัดสรรออกมาโดยคำนึงถึงประชาชนทั่วไปที่อยากจะเป็นเจ้าของหุ้น ปตท. ด้วย ดังนั้นสัดส่วนของการแบ่งอัตราส่วนของผู้ถือหุ้น ปตท. แบ่งออกเป็น กระทรวงการคลัง เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 51.11% กลุ่มคนทั่วไป 23.68% บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 7.86% กองทุนรวมวายุภักษ์ (โดย บลจ. เอ็มเอฟซี) 6.18% กองทุนรวมวายุภักษ์ (โดย บลจ. กรุงไทย) 6.18% State Street Europe Limited 2.35% Chase Nominees Limited 1.42% สำนักงาปนระกันสังคม 1.22% The Bank of New York (Nominees) Limited 1.16% The Bank of New York Mellon 0.91% Gic Private Limited 0.86% HSBC (SINGAPORE) Nominees PTE LTD 0.85% East Fourteen Limited-Dimensional Emer Mkts Value FD 0.52% ดังนั้นหากใครที่ประสงค์อยากจะถือหุ้น ปตท. สามารถซื้อได้เลยที่ตลาดหลักทรัพย์ ปัจจุบันราคาอยู่ที่ 50.50 บาทต่อหุ้น (อัปเดท 28 พฤษภาคม2018) อ้างอิง Posttoday , ตลาดหลักทรัพย์, globalpetrolprices, ราคากลางน้ำมันของไทย