เมื่อพูดถึงองค์กรที่เป็น ‘ธนาคาร’ ภาพแรกที่วิ่งเข้ามาในหัวคือ ความจริงจัง และเป็นทางการ ซึ่งภาพนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในความทรงจำของคนนอกที่มองธนาคารทั้งหลาย ทว่าในความเป็นจริงแล้วธุรกิจธนาคารนั้นก็ไม่จำเป็นต้องเคร่งเครียดเสมอไป ซึ่งสิ่งนี้ KBank พยายามที่จะสื่อสารออกไปยังคนนอก ให้รับรู้ว่าธนาคารก็เป็นงานที่สนุกได้
อย่างไรก็ตาม การจะบอกว่าองค์กรของตัวเองเป็นองค์กรที่สนุก ต้องเริ่มจาก ‘คนใน’ KBank เลยเปลี่ยนวิธีการสื่อสารภายในองค์กรใหม่เพื่อเปลี่ยนให้คนในองค์กร ที่ปัจจุบันนี้มีคนรุ่นใหม่ถึง 70% สัมผัสได้ว่าองค์กรมีความสนุกกับวิธีคิด ‘ทำไม่เหมือนเดิม’ 5 วิธีจาก ‘กฤษณ์ จิตต์แจ้ง’ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย ที่กำลังทำให้ KBank เป็นองค์กรที่สนุก สดใส และวัยรุ่นชอบ
เป็นผู้กำกับความรู้สึกของคนในองค์กร
การเปลี่ยนแปลงคนสองหมื่นคนในองค์กรให้รับรู้ และสัมผัสไปในทิศทางเดียวกัน สิ่งแรกที่ KBank ทำคือการแสดงให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงจริงๆ แล้วทำให้เห็น ไม่ใช่แค่บอกว่าจะเปลี่ยนแล้วก็ยังทำเหมือนเดิม เช่นการจัดอีเวนต์ในองค์กรเพื่อสื่อสารกันภายใน จากเดิมอีเวนต์ในองค์กรจะมีผู้บริหารออกมากล่าวบนเวที มีพนักงานนั่งฟังนิ่งๆ เมื่องานจบผู้บริหารถ่ายภาพร่วมกันพนักงานก็แยกย้าย แล้วไหนล่ะความต่าง?
แต่ KBank เปลี่ยนวิธีการจัดอีเวนต์องค์กรที่คิดไม่เหมือนเดิม เริ่มจากเปลี่ยนบรรยากาศของงานให้ดูเป็นกันเอง ง่ายๆ สบายๆ จริงๆ ไม่ใช่ง่ายๆ สบายๆ แค่ในนามแต่พองานจริงก็บรรยากาศกดดัน ส่วนผู้บริหารก็ลงมาพูดคุยส่งสารต่อพนักงานทุกระดับด้วยตัวเอง กระทั่งตอนถ่ายภาพก็ไม่ใช่ภาพถ่ายที่ดูจริงจัง แต่เปลี่ยนการถ่ายรูปหมู่ให้เหมือนการถ่ายภาพเล่นๆ นี่คือการกำกับความรู้สึกของคนในองค์กรให้รู้สึกในสิ่งเดียวกัน
การเปลี่ยนแปลงนี้แม้เป็นแค่บางส่วน แต่เมื่อรวมกับการเปลี่ยนแปลงเรื่องอื่นก็จะทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่ดี ทำให้คนในองค์กรสัมผัสได้ถึงความสนุก ความสุข ที่แท้จริง เมื่อพวกเขาเปลี่ยนตัวเองเป็นกระบอกเสียงบอกเล่าสิ่งดีๆ ส่งต่อออกไปกับคนรอบข้าง เมื่อนั้นคนนอกที่มองเข้ามาก็จะเข้าใจว่า KBank นั้นมีภาพลักษณ์ที่สนุก เป็นองค์กรที่ทำไม่เหมือนเดิม เมื่อนั้นคนนอกก็จะสัมผัสความเปลี่ยนแปลงนั้นได้จริง
หัวหน้ายุคใหม่ต้องทำให้น้องดูเป็นตัวอย่าง
การทำให้เห็นนั้นสำคัญกว่าการพูดให้ฟัง หัวหน้าทุกคนของ KBank จึงแสดงให้พนักงานเห็นว่าแม้ระดับหัวหน้าใหญ่ขององค์กรก็ยังกล้าที่จะทำไม่เหมือนเดิม ตัวอย่างของการทำไม่เหมือนเดิมเพื่อที่จะฟังว่าพนักงานคิดอะไร หรืออยากได้อะไรจากองค์กรนั้น ทางผู้บริหารของ KBank ได้ทำคลิป ‘Taxi Survey’ ด้วยการปลอมตัวเป็นคนขับแท็กซี่ ไปรับพนักงานที่หน้าตึกแล้วแอบเนียนถามถึงความรู้สึกที่ทำงานกับองค์กร
วิธีนี้ทำให้พวกเขาได้ฟังในสิ่งที่พนักงานรู้สึกจริงๆ และตอบคำถามที่อยากจะบอก มากกว่าตอบคำถามที่หัวหน้าอยากจะฟัง การปลอมตัวเป็นคนขับแท็กซี่นอกจากจะเห็นปัญหา และได้รับรู้ความต้องการบางส่วนของพนักงานจริงๆ เมื่อพนักงานเห็นว่าระดับผู้บริหารกล้าเล่นแบบไม่ห่วงภาพลักษณ์นั้นก็เหมือนซื้อใจพนักงานได้ว่าระดับหัวหน้ายังกล้าทำอะไรใหม่ และคอมเมนต์เหล่านั้นฝ่ายบริหารก็นำกลับไปแก้ไขจริงไม่ใช่ทำเล่นๆ แค่ขำๆ
(คุณกฤษณ์ จิตต์แจ้ง’ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย ที่พูดคุยกับเราวันนี้ก็ยังไปร่วมเล่นเป็นคนขับแท็กซี่กับเขาด้วยเลย ไม่เชื่อดู…)
นอกจากนี้หัวหน้ายุคใหม่ต้องมีความสามารถในการโค้ชชิ่ง สามารถพัฒนาให้ความรู้ได้ หากทำให้น้องๆ เก่งได้ หรือเป็นที่พึ่งได้ พวกเขาก็จะไม่หนีไปไหน โจทย์ของคนทำงานยุคนี้คืออยากจะเก่งขึ้น ดังนั้นหัวหน้าก็ต้องทำให้ลูกน้องเก่งกว่าตัวเอง เหมือนกับคำที่ปรมาจารย์โยดา ใน Star Wars : The Last Jedi กล่าวว่า “อาจารย์ที่ดีต้องทำให้ศิษย์ไปได้ไกลกว่าตัวเอง”
พัฒนาความสามารถพนักงานด้วยความสมัครใจ
KBank เปิดโอกาสการพัฒนาพนักงานที่หลากหลาย และทันสมัยด้วยสิ่งที่เรียกว่า Digital Academy ระบบการพัฒนาศักยภาพของคนในองค์กรที่ให้ผู้อบรมเลือกวิธีเรียน และคอร์สเรียนโดยสมัครใจ
หากเป็นเมื่อก่อนเวลามีการเทรนนิ่ง ธนาคารจะเลือกพนักงานที่คิดว่าจะได้ประโยชน์มาเข้าคอร์ส ซึ่งการจิ้มเลือกแบบนี้มีโอกาสสูงที่จะได้พนักงานที่ไม่สนใจจริงๆ สุดท้ายก็ไม่เกิดประโยชน์ทั้งองค์กรและคนที่เข้าอบรม
แต่ยุคใหม่ธนาคารเปลี่ยนวิธีการเป็นนำเสนอคอร์สการพัฒนาตัวเอง ซึ่งสามารถเลือกได้เองว่าจะเข้าอบรมคอร์สไหนผ่านระบบออนไลน์ขององค์กร หรือจะดาวน์โหลดหนังสือมาอ่านก็ได้
นอกจากนี้ยังสามารถแสดงความเห็นว่าอยากจะเรียนคอร์สไหนเพิ่มเติม หรือเรียนรู้กับพนักงานระดับซีเนียร์คนไหนในองค์กรก็ได้ ด้วยวิธีนี้จะทำให้เกิดประโยชน์จริงทั้งพนักงานที่มีความรู้เพิ่มขึ้น และองค์กรที่ได้ประโยชน์จากการพัฒนาศักยภาพพนักงาน
การจัดคอร์สเพื่ออบรมพนักงานนั้นยังเกี่ยวข้องกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การที่เขาเลือกลงคอร์สพัฒนาตัวเองเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยพนักงานคนนั้นได้มีทักษะใหม่ๆ เพิ่มขึ้นสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
เข้าใจความต้องการของพนักงานยุคใหม่
อย่าตั้งคำถามว่า ‘ทำไมคนรุ่นใหม่อยู่กับองค์กรไม่นาน’ แค่ต้องเปลี่ยนโจทย์ใหม่เป็น ‘ทำอย่างไรให้เขาอยู่กับเรานานที่สุด’ สิ่งนั้นคือการทำให้พวกเขามองเห็นภาพกว้างว่าองค์กรที่เขาอยู่ไม่ใช่แค่ธนาคารทำหน้าที่เบิกเงิน หรือฝากเงิน แต่ธนาคารคือฟันเฟืองหนึ่งที่ช่วยปรับสร้างนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ให้ประเทศหรือมีส่วนในการทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นด้วยนวัตกรรมที่ธนาคารกสิกรไทยพัฒนาขึ้นมา
แม้วันหนึ่งเมื่อน้องๆ เติบโตขึ้น และเดินทางมาถึงทางแยก หากเขาจะเติบโตไปทางอื่นก็ต้องปล่อยไป แต่หากทางที่เขาเลือกเดิน KBank ก็มีตำแหน่งให้ หัวหน้าก็มีหน้าที่ช่วยเสนอทางเลือกเพื่อให้น้องอยู่ต่อ ตรงจุดนี้ฝ่ายทรัพยากรบุคคล มีระบบที่จะช่วยในเรื่องการย้ายแผนก หรือย้ายหน้าที่ตามที่น้องๆ หรือหัวหน้าในสังกัดร้องขอเพื่อสนับสนุนการทำงานในอนาคตที่พวกเขาต้องการ
รวมไปถึงปรับรูปแบบการทำงานก็เป็นสิ่งที่ KBank ให้ความสำคัญ คนยุคนี้ไม่ได้อยากทำงานแบบนั่งโต๊ะ หรืองานบางอย่างก็ไม่จำเป็นต้องทำในออฟฟิศ ทางธนาคารกสิกรไทยก็ยินดีที่จะเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถทำงานในพื้นที่ไหนก็ได้ของบริษัท เพราะเชื่อว่าศักยภาพของการทำงานไม่ได้อยู่ที่สถานที่ทำงานเสมอไป คนทำงานอยู่ที่ไหนก็สามารถทำงานได้ทั้งนั้น
เปิดโอกาสให้ทุกคนลองผิดลองถูกเต็มที่
หากเป็นองค์กรที่คิดแบบเก่า หรือมีหัวหน้าที่คิดแบบเก่าคือ ไม่เปิดโอกาสให้น้องๆ ได้ลองทำงาน หรือให้ลองทำ แต่ถึงเวลาก็ไม่ร่วมรับผิดชอบ ก็จะไม่มีทางเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีเกิดขึ้นแน่นอน แต่จะมีการทำงานที่เต็มไปด้วยความกังวลว่าถ้าพลาดหัวหน้าจะร่วมรับผิดชอบด้วยไหม หรือจะโบ้ยความผิดให้น้องที่ทำงานพลาด องค์กรที่มีหัวหน้าคิดแบบเดิมก็จะอยู่แต่ที่เดิม ไม่มีอะไรพัฒนาเพราะคนทำกลัวความผิดพลาด
แต่ที่ KBank เปิดโอกาสให้ทุกคนทำงานได้เต็มที่ และมีโอกาสได้ลองผิดลองถูกโดยมีหัวหน้าคอยสนับสนุน หากทำผลงานออกมาดีก็ได้รับความดีความชอบร่วมกัน หากทำผลงานออกมาพลาดหัวหน้าพร้อมที่จะร่วมรับผิดชอบ และถือว่าได้เรียนรู้ไปด้วยกัน อาจจะเริ่มทำจากสิ่งเล็กๆ ไปก่อนเพื่อลองผิดลองถูก ทำ 10 อย่างอาจจะเวิร์ค 3 อย่าง พอปรับปรุงได้ 5 อย่าง อีก 2 อย่างพลาดก็ถือว่าได้เรียนรู้ไปด้วยกัน
ส่วนหัวหน้าก็ไม่ใช่คนที่สั่งงานอย่างเดียว แต่เป็นคนที่พร้อมจะลงไปทำงานด้วย แล้วรับผิดชอบในวันที่เกิดความผิดพลาดจากการลองผิดลองถูก ไม่ตั้งคำถามที่ทำให้น้องๆ ใจเสีย แต่ช่วยสนับสนุนให้ทำงานต่ออย่างไร้กังวล ซึ่งนี่คือแนวคิดที่จะทำให้น้องๆ ได้ทำงานเต็มศักยภาพ อยู่กับหัวหน้าที่มีสปิริต และมีความสุขในการทำงานกับองค์กรจริงๆ เพราะเมื่อหัวหน้าคิดและทำไม่เหมือนเดิม น้องๆ ก็จะเปลี่ยนไปในแบบที่ไม่เหมือนเดิมเช่นกัน