ไม่บ่อยนักที่ไทยจะมีเวทีแข่งขันความสามารถทาง Technology และการออกแบบให้มาฟาดฟันกันด้วยความสามารถเพื่อหาคนที่เยี่ยมยุทธ์และมีความสุดยอดในด้าน Coding, Data Science และ Design มาช่วยเอาความสามารถที่มีไปพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศ
ยิ่งการแข่งขันที่เปิดโอกาสให้ ‘คนทั่วประเทศ’ มาวัดความสามารถด้วยนั้นยิ่งไม่ค่อยมี ทั้งที่บุคคลากรในเมืองไทยเก่งๆ ก็เยอะมาก เพียงแต่ว่ายังไม่เจอเวทีที่ให้ทุกคนมีโอกาสอวดของ แต่ KBTG (KASIKORN Business-Technology Group) ซึ่งเป็นบริษัทที่พัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ของธนาคารกสิกรไทย ได้จัดงานที่ชื่อว่า TechJam ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 2 แล้ว เพื่อเปิดเวทีและมอบโอกาสนั้นให้ทุกคน
TechJam เกิดขึ้นมาเพื่อตามหาคนที่มีความสามารถด้านการเขียนโปรแกรม การวิเคราะห์ข้อมูลและการดีไซด์เพื่อแก้ปัญหา และทำให้ชีวิตของมนุษย์สะดวกขึ้นมาแข่งกัน และรับความรู้ไปจากเหล่ากรรมการไปพัฒนาตัวเอง สำหรับคนที่ลังเล ไม่แน่ใจว่าจะฟอร์มทีมลงแข่ง TechJam ดีไหม มาดูกันเหตุผลที่จะบอกว่าทำไมคุณไม่ควรพลาด ถ้าคุณมีความสามารถอยู่กับตัว
เปิดกว้างให้คนทั่วประเทศไม่จำกัดเพศ การศึกษา หรือสัญชาติ
เพื่อการเปิดกว้างแบบถึงที่สุดกันไปเลย ปีนี้ TechJam เลยประกาศรับสมัครทีมเข้าแข่งขันไม่ว่าจะเป็นแข่ง Code Squad, Data Squad และ Design Squad ทุกคนสามารถสมัครเข้าแข่งขันได้ในเงื่อนไขคือต้องมีอายุระหว่าง 15 – 60 ปี ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา รวมไปถึงสัญชาติ (หากเป็นชาวต่างชาติต้องเข้าใจภาษาไทยหรือมีเพื่อนคนไทยในทีม) จะมาแข่งแบบเดี่ยวคนเดียว หรือจะมาแข่งเป็นคู่ก็ได้ แต่โดยรวมทั้งทีมไม่เกิน 2 คน
การเปิดรับสมัครนั้นจะเปิดรับสมัครทางออนไลน์ตั้งแต่วันนี้ – 10 สิงหาคมทาง techjam.tech ผู้สมัครจะต้องระบุภูมิภาคที่ตัวเองอยู่ และเลือกรูปแบบการออดิชั่นที่ต้องการ เช่นจะทำโจทย์ทางออนไลน์ หรือจะออดิชั่นในงานอีเวนต์ก็ได้ เอาที่สะดวก (แต่คนที่สมัครแข่งขัน Data Squad จะออดิชั่นทางออนไลน์อย่างเดียว) ดังนั้นไม่ว่าคุณจะอยู่มุมไหนของประเทศไทย การแข่งขันนี้เปิดกว้างสุดๆ คนเก่งที่อยู่ตามจังหวัดรองก็ออกมาโชว์ของได้
มีผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้แบบเอ็กซ์คลูซีฟ
ในการแข่งขัน TechJam 2018 นั้นผู้เข้าแข่งขันทุกทีมต้องผ่านการออดิชั่นเพื่อเข้าชิงแชมป์ระดับภูมิภาค และหลังจากนั้นทีมชนะเลิศระดับภูมิภาคของแต่ละ Squad และทีมที่มีคะแนนสูงสุดจากทั่วประเทศอีก 16 ทีม จึงจะมาวัดกันเพื่อหาแชมป์ระดับประเทศที่ KBTG โดยระหว่างการแข่งขันจะมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านต่างๆ มาให้ความรู้ ช่วยวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของไอเดียต่างๆ ที่กำลังจะทำอยู่ให้เกิดขึ้นมาจริงๆ
นำโดยกลุ่มหัวกะทิของ KBTG ทั้ง
- สมคิด จิรานันตรัตน์ Chairman ของ KBTG
- จิรัฏฐ์ ศรีสวัสดิ์ Advance Visionary Architect KASIKORN Labs
- ดร. ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล Principal Visionary Architect KASIKORN Labs
- อภิรัตน์ หวานชะเอม’ Principal Visionary Architect KASIKORN Labs และ Managing Director, Beacon Interface
ความรู้จากบุคคลระดับนี้หาไม่ได้ง่ายๆ แน่ถ้าไม่ได้ลงแข่งคงไม่ได้เจอ เพราะทุกคนก็เป็นระดับหัวกะทิของ KBTG ที่พร้อมจะบอกทุกอย่างที่เป็นประโยชน์แก่ผู้เข้าแข่งขันได้นำสิ่งนั้นไปต่อยอดความสามารถของตัวเองต่อ
โจทย์ท้าทายและใช้สถานการณ์จริงฝึกคิดวิธีแก้ปัญหา
สำหรับโจทย์ในการแข่งขันปีนี้นั้น คือการให้ทุกคนที่ลงแข่งขันไม่ว่าจะด้าน Code Squad, Data Squad และ Design Squad จะได้รับโจทย์ไปแก้ไขในรูปแบบการแข่งขันที่แก้โจทย์ตามที่มอบหมายเพื่อให้ได้ Solution ที่เหมาะสมที่สุดมาแก้ไขปัญหาเหล่านั้น
ซึ่งโจทย์ที่ได้รับมอบหมายนั้น เป็นกรณีศึกษาจริงที่ KBTG เคยประสบจากการทำโครงการจริงและแก้ไขมาแล้ว และโจทย์เหล่านั้นจะถูกมอบให้ผู้เข้าแข่งขันแก้ไข แน่นอนว่าการที่ผู้เข้าแข่งขันจะได้เจอโจทย์ของจริง และหาวิธีแก้ปัญหาจริงนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะได้เจอกันง่ายๆ และการเจอโจทย์ของจริงก็เป็นอีกหนทางที่ทำให้ผู้เข้าแข่งขันได้ค้นพบศักยภาพที่หลบซ่อนอยู่ในตัวเอง มีเท่าไหร่งัดมันออกมา! ปล่อยพลังแฝงก้าวข้ามโจทย์โคตรหินไปให้ได้
ผู้ที่ผ่านด่านเหล่านี้ไปได้ ไม่ว่าจะได้เป็นผู้ชนะหรือเปล่า แต่ปลายทางคือทุกคนจะมีโอกาสเติบโตเป็นขุนพลแห่งอนาคต ที่นำพาประเทศไทยก้าวหน้าด้วยเทคโนโลยีที่พวกเขาสามารถสร้างได้เองกับมือ
มีถ่ายทอดการแข่งขันบนออนไลน์เพื่อแสดงความเก่งให้โลกให้
ปีที่แล้วการแข่งขัน TechJam ไม่ได้มีการถ่ายทอด หรือทำเป็นคอนเทนต์วิดีโอให้คนที่สนใจได้เข้ามาดู แต่ปีนี้ทาง KBTG มีความคิดว่าการแข่งขันนี้ต้องถูกส่งต่อไปยังคนอื่นๆ ที่สนใจในเรื่องของเทคโนโลยี และจะมีการนำเสนอเรื่องราวของการแข่งขัน TechJam 2018 ตลอดทั้ง 3 เดือนในรูปแบบ Online Content หลากรูปแบบ
ซึ่งผู้เข้าแข่งขันที่ได้เข้ารอบมาเรื่อยๆ จะยิ่งได้มีโอกาสแสดงศักยภาพให้ผู้ชมทางบ้านได้เห็นทั้ง ตัวตน วิธีคิด และการทำงานของคนๆ นั้น ไม่ได้เป็นการแข่งขันแบบปิดเหมือนในปีแรกที่มีการจัด
ถ้าใครมีอะไรบางอย่างเข้าตาก็อาจจะมีโอกาสอื่นๆ เปิดประตูต้อนรับก็ได้ สำหรับช่องทางที่จะถ่ายทอดการแข่งขันทางออนไลน์ได้แก่ Techjam.tech , รวมไปถึง Youtube, Facebook และ Twiter ด้วย
ได้ไปซิลิคอน วัลเลย์และเปิดโอกาสชีวิตให้กว้างขึ้น
รายการนี้ถือเป็นรายการที่มีเงินรางวัลสูงมาก และเปิดโอกาสให้กับผู้เข้าแข่งขันได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์อย่างเต็มที่ โดยตั้งแต่รอบชิงชนะเลิศระดับภูมิภาคนั้น โดยในแต่ละ Squad ทีมชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท, รองชนะเลิศ 20,000 บาท และรองชนะเลิศอันดับสอง 10,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัลและประกาศนียบัตร
หลังจากนั้น ทีมชนะเลิศระดับภูมิภาค พร้อมทีมที่มีคะแนนสูงสุดอีก 16 ทีมจากทั่วประเทศในแต่ละ Squad จะได้รับเลือกให้เข้าแข่งขันชิงแชมป์ระดับประเทศที่ KBTG โดยทีมชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท พร้อมบินไปเปิดประสบการณ์ด้านนวัตกรรมที่ซิลิคอน วัลเลย์, รองชนะเลิศ 50,000 บาท และรองชนะเลิศอันดับสอง 30,000 บาท
พร้อมถ้วยรางวัลและประกาศนียบัตร ส่วนผู้เข้าแข่งขันทีมอื่น ที่อาจไม่ถึงชัยชนะ แต่ประสบการณ์ที่ได้ และโอกาสที่มีก็อาจจะเป็นประตูบานใหม่ที่อาจทำให้คุณได้ทำงานที่ KBTG ก็ได้ แม้อาจจะไม่ได้รับชัยชนะ