category 5 ตึกหน้าตาสนุกๆ ที่หาดูได้ในกรุงเทพฯ


: 3 พฤษภาคม 2562

เวลานั่งรถผ่านเข้าไปในเมือง ระหว่างนั่งเหม่อมองไปรอบตัวนั้น ไม่รู้ว่ามีใครชอบเป็นเหมือนกันกับเราไหม คือชอบมองตึกรามบ้านช่องที่ผ่านไปมาแล้วจินตนาการซ้อนทับเข้าไป ดูเป็นหุ่นยนต์บ้างเป็นสัตว์ประหลาดบ้าง คล้ายๆ ตอนนั่งเหม่อมองดูเมฆที่ลอยในท้องฟ้าตอนเด็กๆ นั่นแหละ

แต่เรารู้ไหมว่าจริงๆ แล้ว แรงบันดาลใจจากความจินตนาการเหล่านั้น สำหรับบางตึกบางอาคารแล้วมันกลับเป็นเรื่องที่ไม่ต้องพยายามไปจินตนาการนัก เพราะว่าตึกเหล่านี้ถูกออกแบบให้ดูสนุกและตอบกับจินตนาการผู้ออกแบบมาอยู่แล้ว มาดูสิว่าตึกที่หน้าตาดูสนุกๆ เหล่านี้ ในกรุงเทพฯ นั้นมีที่ไหนบ้าง

ตึกหุ่นยนต์

ไม่ต้องไปดูหุ่นกันดั้มขนาดเท่าตัวจริงที่ญี่ปุ่น ในกรุงเทพบ้านเราก็มีหุ่นยนต์ขนาดยักษ์ตั้งโชว์อยู่เช่นกันแถวบีทีเอสช่องนนทรี

ตึกหุ่นยนต์ เป็นอาคารออฟฟิศที่ถูกสร้างใน2529ออกแบบโดย ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยาศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรมโดยที่ปัจจุบันเป็นที่ทำงานสาขาใหญ่ของธนาคารยูโอบี

โดยแม้ว่าอาคารนี้จะมีความตั้งใจออกแบบระดับผนังและเล่นกับจังหวะกระจกหน้าต่าง แต่การที่มีดวงตาและเสาอากาศ รวมทั้งหัวน๊อตสกรูที่ติดบนผิวตึกนี้นั้น ช่วยทำให้ทางกายภาพของตึกเหมือนหุ่นยนต์อย่างโดดเด่นมากๆ ไม่ว่ามองจากมุมไหน

และตึกหุ่นยนต์ได้รับเลือกจากพิพิธภัณฑ์ร่วมสมัยนครลอสแอนเจลิส ให้เป็นหนึ่งใน 50 อาคารที่สมบูรณ์แห่งศตวรรษอีกด้วยนะ

ตึก Tetris

ถัดจากตึกหุ่นยนต์ไปเพียงไม่ถึง 100 เมตร เราเองก็จะพบกับตึกหน้าตาสนุกๆ โดดเด่นที่ไม่แพ้กัน ซึ่งมีเป็น Pixel หน้าตาเป็นชิ้นๆ ประกอบคล้ายๆ เกม Tetris ของเด็กยุค90โดยตึกนี้เองมีชื่อว่า ‘ตึกมหานคร’

ตึกนี้ออกแบบโดยคุณ Ole Scheerenซึ่งการที่ตั้งใจออกแบบให้ตึกนั้นจังหวะการเว้าแหว่งนั้น เกิดจากการตีความว่าเมืองกรุงเทพมหานครนั้น แม้ว่าอาจจะมีความระเกะระกะและมีความวุ่นวาย แต่นั่นก็เป็นเสน่ห์แบบไทยๆ ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ ทำให้เกิดออกแบบตึกที่ดูสร้างไม่เสร็จเป็นชิ้นๆ และดูแตกๆ พังๆ นั่นเอง

โดยตึกมหานครเพิ่งสร้างเสร็จเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2559ซึ่งได้ว่าเป็นตึกน้องใหม่ ที่หน้าตาที่ดูสนุกๆ ไม่แพ้ตึกหุ่นยนต์รุ่นพี่เสียเลย

ตึกช้าง

สำหรับชาวลาดพร้าวที่ชอบไปเที่ยวเมเจอร์รัชโยธิน คงต้องเคยเห็นตึกหน้าตาคล้ายๆ ช้างนี้ผ่านตากันบ้างแหละ

ตึกช้าง เป็นตึกสูงคอนกรีตขนาดใหญ่ที่สร้างเมื่อปี2540 มีลักษณะเป็นอาคาร3หลัง ที่วางตัวขึ้นไปชนกับอาคารที่วางนอนด้านบน ออกแบบโดยคุณองอาจ สาตรพันธุ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมร่วมสมัย)

ความพิเศษของตึกนี้นั้นอยู่ที่ การออกแบบกระจกวงกลมที่เหมือนลูกกระตาและที่กันแดดที่เหมือนงา รวมทั้งช่องกระจกที่เหมือนใบหูบนหน้าอาคาร ซึ่งนั่นทำให้อาคารนี้เลยมีลักษณะเหมือนช้างจริงๆ ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน

โดยที่จริงๆ แล้ว เบื้องหลังของการออกแบบตึกช้างนั้นเกิดจากข้อบังคับของที่ดินที่จำต้องแบ่งออกเป็น 3 อาคารจึงทำให้เชื่อมอาคารเป็นสะพานแต่ด้วยระหว่างการออกแบบนั้นได้เห็นว่าอาคารมีลักษณะคล้ายช้างจึงทำให้ออกแบบเหมือนช้างจริงๆ เสียเลย

ซึ่งตึกช้างเองก็เคยได้รับรางวัลอันดับ4สำหรับตึกระฟ้าที่มีเอกลักษณ์ของโลกจาก20 อันดับ โดย CNNgo ในปี2554 ที่ผ่านมาอีกด้วย

ตึกสิงโต..แฮ่

ถ้าเราแวะแถวหัวลำโพงก็คงจะเคยเห็นตึกหน้าตาประหลาดๆ สีเทาอย่างตึกสิงโตผ่านตากันอย่างแน่นอน ซึ่งตั้งเด่นอยู่ตรงข้ามกับสถานีรถไฟหัวลำโพงแบบตรงกันสุดๆ ออกแบบโดยคุณเกียรติ จิวะกุล ในปี 2514

ถ้าเรามองผ่านๆ ก็คงมองไม่ออกว่าหน้าตามันสิงโตอย่างไร แต่ถ้าตั้งใจมองดีๆ เราก็จะเห็นหน้าสิงโต มีจมูก ตาสองข้าง กำลังแยกเขี้ยวอยู่และยกกรงเล็บขวาขึ้น มีเรื่องสนุกๆ กล่าวไว้ว่าเป็นการออกแบบพื่อต้านยันพลังงานบางอย่างจากสถานีรถไฟ

ปัจจุบันคือตึก DOB Hualamphong Gallery เป็นหอศิลป์สาขาที่ 3 ของ ARDEL Gallery of Modern Art หอศิลป์ร่วมสมัยอาร์เดล ซึ่งมีชั้นล่างเป็นร้านกาแฟเอาไว้หลบร้อนได้ด้วย

ตึกไดโนเสาร์

            สำหรับตึกสุดท้ายที่หน้าตาดูสนุกสนาน สำหรับเราที่อยู่ในความทรงจำในวัยเด็กของเราเสมอๆ ก็คือตึกที่มีหน้าตาคล้ายไดโนเสาร์ ที่ยืนอ้าปากคำรามอยู่ในย่านบ้านหม้อถัดจากห้างดิโอลด์สยาม

แม้ว่าตึกไดโนเสาร์นี้เราจะไม่รู้ประวัติของมันอย่างละเอียดนัก แต่ด้วยการเว้นจังหวะให้ดูมีปากที่อ้า รวมทั้งการเจาะช่องวงกลมให้ดูเหมือนตึกมีลูกกะตา เราเชื่อว่าผู้ออกแบบนั้นมีความตั้งใจและมีอารมณ์ขันให้การออกแบบตึกออกแบบแล้วดูเป็นไดโนเสาร์แน่ๆ ฟันธง ! ซึ่งปัจจุบันตึกนี้เป็นที่ตั้งของร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า พิเชษฐ์ชัย อิเล็กทรอนิกส์ นั่นเอง ถ้ามีธุระผ่านไปนั้นก็อย่าลืมแวะดูไดโนเสาร์กันนะ

 

Writer Profile : Chatchavan Suwansawat
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post

Bingo โมเม้นต์ที่คนรักไอดอลเคยทำ


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save