ในช่วงที่อีเวนต์ และงานแฟร์ต่างๆ เริ่มกลับมาจัดกันมากขึ้น เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นเคยกับชื่อ “ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” กันมาบ้าง แน่นอนว่าบางคนก็เคยไปงานที่จัดที่นี่ ในทางกลับกันบางคนก็ไม่มีโอกาสได้ลองไป แต่ๆๆๆ … วันนี้โอกาสมาถึงแล้ว!
เพราะหลังจากศูนย์ปรับปรุงครั้งใหญ่เป็นเวลาถึง 3 ปีครึ่ง วันนี้ศูนย์ฯ สิริกิติ์ กลับมาเปิดให้บริการละจ้าาาา ในโฉมใหม่ที่อลังการกว่าเดิมถึง 5 เท่าเลย รวมถึงพร้อมเป็น “ที่สุดของอีเวนต์แพลตฟอร์ม” รองรับการจัดงานได้ทุกรูปแบบ และถ่ายทอดอัตลักษณ์ความเป็นไทยสู่สายตานานาชาติ
อ่ะ..ไม่รอช้า Mango Zero ไม่พลาดเสิร์ฟสิ่งดีๆ ให้กับทุกคน เราได้ไปรวบรวม 5 ที่สุดประสบการณ์ที่จะได้รับ เมื่อไปศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โฉมใหม่ ขอบอกเลยว่างานนี้จัดเต็มสุดๆ เพราะแอดได้ไปเดินสำรวจทุกซอกทุกมุมแล้ว (อลังการมากกกกกกก)
ส่วนที่สุดของประสบการณ์นั้นจะมีอะไรบ้าง เราไปดูกันเลยดีกว่าาาา ~
ที่สุดของความเป็นไทย
เป็นที่รู้กันว่าศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์คือ ตัวแทนของประเทศไทยในการถ่ายทอดอัตลักษณ์ความเป็นไทยสู่สายตานานาชาติ ซึ่งในการปรับปรุงครั้งนี้มีการเลือก “ผ้าไทย” มาต่อยอดเป็นแกนหลักในการออกแบบให้เข้ากับพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างลงตัว ที่บอกเลยว่าเมื่อเข้าไปแล้วจะเห็นความเป็นไทยที่ชัดมากกกกกกกกก และมีการปรับให้ทันสมัยเข้ากับตัวอาคารสุดๆ
ตั้งแต่ชั้น LG ที่ประกอบไปด้วยพื้นที่จัดแสดงสินค้าและนิทรรศการ รวมไปถึงเป็นศูนย์รวมร้านค้า บริการ ผลงานแสดงศิลปะชั้นครูของไทย อีกทั้งยังเป็นชั้นที่เชื่อมต่อกับทางเข้าจากรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT โดยชั้นนี้จะเป็นการออกแบบผ่านการดึงคอนเซปต์ “ชุดไทยลำลอง หรือ Casual Thai” เราจะได้เห็นเสน่ห์ของผ้าไทยอย่าง ผ้าขาวม้า ผ้าถุง การช้อนเกล็ด มาใช้ในการตกแต่งต่างๆ
ต่อมาชั้น G ชั้นนี้ยกระดับมาในคอนเซปต์ “ชุดทางการแบบไทยประยุกต์ หรือ Formal Thai” โดยโถงนิทรรศการหลักมีการตกแต่งด้วยวัสดุสีทองแดง รวมถึงประตูกัลปพฤกษ์ที่เป็นประตูลายรดน้ำ มีการปิดทองให้อารมณ์หรูหรา ซึ่งป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมไทยสมัยก่อน
ในส่วนของชั้น 1 เป็นที่ตั้งของ Ballroom , Plenary Hall และห้องประชุม
✨ ห้องบอลรูม ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “ชุดชาวเขาไทย” ที่โดดเด่นด้านลายเส้นรูปทรงเรขาคณิต จึงมีการดึงลวดลายมาออกแบบ และใช้วัสดุตกแต่งสีเงินที่อ้างอิงจากสีเครื่องประดับที่ชาวเขานิยมสวมใส่
✨ เพลนารีฮอลล์ มีการออกแบบจาก “ชุดไทยจักรี” ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในชุดไทยประจำชาติพระราชนิยม 8 ประเภท โดยเลือกลายพื้นฐานอย่าง “ลายประจำยาม” มาลดทอน และขยายสัดส่วนให้ใหญ่ขึ้น ผ่านการตกแต่งได้อย่างร่วมสมัย
ที่สุดของการเข้าถึงง่าย
สำหรับใครที่ไม่เคยมา แล้วกลัวว่าจะมางานลำบาก ตัดความคิดนี้ทิ้งไปซะ! เพราะว่า ศูนย์สิริกิติ์ ตั้งอยู่กลางเมืองบนถนนรัชดาภิเษก เชื่อมต่อแยกพระราม 4 – รัชดา สามารถเดินทางเข้าออกได้ 4 เส้นทาง
- ถนนพระราม 4
- ถนนสุขุมวิท
- ถนนรัชดาภิเษก
- ถนนดวงพิทักษ์
ซึ่งใครที่ไม่มีรถยนต์ส่วนตัวก็ไม่ต้องห่วง เพราะสามารถเดินทางรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ลงที่สถานีศูนย์สิริกิติ์ได้เลย พร้อมมีทางเชื่อมเดินตรงเข้าพื้นที่การจัดงาน เพื่อความสะดวกสบายมากขึ้นสำหรับทุกคน
ที่สุดของแอคทีฟไลฟ์สไตล์
นอกจากจะมีการยกระดับพื้นที่รีเทลให้กว้างขวางขึ้นแล้ว ยังมีการเปิดตัว BALM หรือ Bangkok Active Lifestyle Mall แหล่งรวมแอคทีฟไลฟ์สไตล์ครั้งแรกของกรุงเทพฯ ที่พร้อมตอบโจทย์นักท่องเที่ยว คนรักสุขภาพ ครอบครัว คนทำงาน และผู้ใช้บริการ MRT ด้วยร้านค้ามากมาย อาทิ
ร้านอาหาร > ชวนทุกคนอิ่มอร่อยกับแบรนด์ดังขวัญใจมหาชน ไม่ว่าจะเป็น Food Street , KFC , Zen , Man Fu Yan , Tim Hortons หรือ Red Lobster ภัตตาคารอาหารทะเลใหญ่ที่สุดในโลก ที่มาเปิดสาขาแรกที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
เครื่องดื่มและของหวาน > ชาร์จพลังเติมความสดชื่น กับหลากหลายแบรนด์เครื่องดื่มที่คุ้นเคย เช่น Starbucks , TRUE COFFEE , Cafe Amazon , Bake A Wish , After You และ Krispy Kreme เป็นต้น
แอคทีฟไลฟ์สไตล์ > ตอบโจทย์สายสุขภาพ และออกกำลังกาย กับร้านสายแอคทีฟไลฟ์สไตล์ชั้นนำ เช่น Warrix , For U Pharma เป็นต้น
ร้านสะดวกซื้อ และค้าปลีก > เติมเต็มความสะดวกสบาย กับหมวดหมู่สินค้าที่ครบครันจากร้านสะดวกซื้อ และค้าปลีกชั้นนำ ได้แก่ Lawson Station , 7-11 , Mini Big C , Lemon Telecom , Asia Book X Wawee อีกด้วย
ไม่เพียงเท่านี้ภายในศูนย์ยังมีพื้นที่ให้เรานั่งชิว พบปะพูดคุยกับเพื่อน หรือจะเปลี่ยนบรรยากาศทำงาน พร้อมกับวิวสวยๆ ก็ย่อมได้ เรียกได้ว่าการปรับโฉมใหม่ของศูนย์สิริกิติ์ไม่ได้ปรับเปลี่ยนแค่รูปลักษณ์ภายนอก แต่ยังมีการทำพื้นที่ภายในให้เข้ากับไลฟ์สไตล์คนในยุคปัจจุบันมากขึ้น โดยที่เราสามารถมาเมื่อไหร่ก็ได้ไม่จำเป็นต้องมาเฉพาะแค่ตอนมีงานอีเวนต์
ที่สุดแห่งความรักษ์โลก
เมื่อเราเข้าไปในพื้นที่ของศูนย์สิริกิติ์แล้ว เราจะได้เห็นต้นไม้และพื้นที่สีเขียวเยอะมาก โดยมีการปรับปรุงภูมิสถาปัตยกรรมให้เข้ากับอัตลักษณ์ที่เปลี่ยนไปเช่นกัน รวมถึงยังคงรักษาพื้นที่สีเขียว และการเชื่อมต่อกับพื้นที่โดยรอบ ซึ่งมีการใช้ต้นไม้เก่าจากเดิมในบริเวณด้านหน้าศูนย์ 20% และข้างหลังศูนย์ถึง 70%
ยังมีการเลือกใช้ต้นไม้ที่ต้องการน้ำน้อยบริเวณโดยรอบ เพื่อลดการใช้พลังงานน้ำในการดูแลต้นไม้ในแต่ละวัน ซึ่งหลังจากมีการคำนวณออกมาแล้ว มีการลดใช้น้ำในการรดต้นไม้ถึง 75%
ซึ่งภายในตัวอาคารยังมีการก่อสร้างตามมาตรฐานอาคารสีเขียว LEED ระดับ Silver คือ มีการเน้นใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า 25% และสามารถนำไปรีไซเคิลได้มากกว่า 75% นอกจากนั้นยังมีแผนติดตั้งโซลาร์เซลล์บนตัวอาคาร เพื่อนำพลังงานไฟฟ้าบางส่วนมาใช้ในอาคาร
ที่สุดของเทคโนโลยีขั้นสูง
ภายในศูนย์จะมีการรองรับใช้งานอินเทอร์เน็ต 5G ที่พร้อมสนับสนุนการจัดอีเวนต์ทั้งรูปแบบออนไลน์ และไฮบริด รวมถึงการเข้าใช้งานภายในพื้นที่แบบไร้สัมผัส
อีกทั้งมีการใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างขั้นสูง ไม่มีเสาค้ำยัน เพื่อให้สะดวกต่อการขนย้ายสินค้าจัดแสดงเข้าในพื้นที่ ช่วงก่อนและหลังการจัดงาน ผ่านระบบบริหารอาคารอัจฉริยะที่ช่วยในการรองรับการจัดงานหลากหลายรูปแบบได้พร้อม ๆ กัน