ในยุคนี้ที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ มีบทบาทและเคลื่อนไหวด้านสิทธิทางสังคมมากขึ้น จนหลายคนเข้าใจแล้วว่าตัวตนของความรักที่หลากหลายนี้ ไม่ใช่เรื่องประหลาดหรือน่ากลัวแต่อย่างใด ถึงอย่างนั้นหลายคนก็ยังคิดว่าอยากจะเข้าใจเรื่องราวความรักที่หลากหลายนี้ให้มากขึ้น ครั้นจะไปถามเพื่อนที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศก็อาจจะดูเป็นการระรานเรื่องส่วนตัวมากเกินไป เราเลยอยากจะแนะนำมังงะที่คนอ่านสามารถเข้าใจว่าการใช้ชีวิตและความรักของผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้นมีลักษณะอย่างไร วันนี้เลยรวบรวมมาทั้งหมด 5 เรื่อง 5 สไตล์ จะมีอะไรบ้าง ไปดูเลยจ้า L – สุดท้ายก็คือเธอ การ์ตูนแนวหญิงรักหญิง จริงๆ มีอยู่หลายเรื่องที่เล่าเรื่องให้คนอ่านเข้าใจความรักของพวกเธอ ที่เราหยิบยกเรื่อง ‘สุดท้ายก็คือเธอ’ ให้ทุกคนได้ลองหาอ่านกันก็เพราะว่าเรื่องนี้เล่าเรื่องแนวรักแรกพบของ โคอิโต ยู เด็ก ม.ปลายปี 1 ที่ถูกรุ่นพี่ที่ทั้งเท่และมีความรับผิดชอบสูงอย่าง นานามิ โทโกะ มาสารภาพรัก ความรักของทั้งสองคนแม้ในตอนเริ่มจะดูบังเอิญไปหน่อย แต่เรื่องราวหลังจากนั้นที่ตัวเอกสองคนต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนฝูงและคนในสังคมนั้นสมจริงสมจัง จนทำให้คนอ่านเข้าใจได้ไม่ยากว่าชีวิตของเลสเบียนมีความหวานขมอย่างไรบ้าง G – My Brother’s Husband ด้วยสายใยรัก มังงะที่เขียนโดยอาจารย์เก็งโกโร่ ทากาเมะ ที่ขึ้นชื่อในการเขียนการ์ตูนเกย์ ที่เรื่องนี้พลิกมาเล่าเรื่องความเข้าใจในครอบครัวแทน เรื่องเล่าเกี่ยวกับ ยาอิจิ พ่อบ้านที่อาศัยอยู่กับ คานะ ผู้เป็นลูกสาววัยประถมเพียงสองคน วันหนึ่งพวกเขาต้องต้อนรับ ไมค์ ฝรั่งจากแคนาดาที่เป็น ที่มาเยี่ยมบ้านของ เรียวจิ สามีผู้ล่วงลับและเป็นฝาแฝดของยาอิจิ การมาถึงของแขกผู้มาเยือนที่นอกจากจะมาจากต่างประเทศแล้วยังเป็นเกย์อีกด้วย เรื่องราวค่อยๆ เล่าความสัมพันธ์ที่ยากหน่อยของเกย์ให้คนที่ไม่เป็นเกย์เข้าใจได้ง่ายๆ ผ่านคำถามแบบเด็กๆ ของคานะ และใช้เวลาไม่นานมากนักที่ทำให้คนอ่านเข้าใจว่า จะเป็นเพศไหนก็รู้สึกรักและเจ็บปวดต่อการจากไปของผู้เป็นที่รักทั้งนั้น B – Blue การ์ตูนที่เล่าเรื่องของไบเซ็กชวลนั้นมีน้อยกว่าที่คิด ที่เราพอจะหาการ์ตูนที่ใกล้เคียงบรรยากาศได้หนึ่งเรื่องก็คือ Blue เรื่องสั้นของอาจารย์ซากิซากะ อิโอะ ที่เล่าเรื่องของ อันนะ เด็ก ม.ปลาย ที่ตกหลุมรัก เรย์จิ นักเรียนชายสุดหล่อ ปัญหาก็คือเขาคนนั้นเป็นญาติของเจ้าหล่อน เมื่อเข้าเรียนไปได้ไม่นาน อันนะ ก็ได้รู้จัก รูมิ เด็กหญิงตัวเล็กหน้าตาน่ารัก ที่ภายหลังมาบอกว่า ตัวเธอนั้นหลงรักอันนะอยู่ เมื่อเจอแบบนี้ อันนะ เลยเกิดอาการสับสนว่าเธอควรจะทำตัวอย่างไรต่อดี แม้ว่าเรื่องจะชงความสัมพันธ์ที่ชวนลุ้นว่า อันนะ จะเลือกใครกันแน่ แต่เรื่องกลับโดนขมวดปมอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจจะเป็นผลพวงว่าเรื่องราวแบบนี้อาจจจะยังไม่ฮิตในหมู่นักอ่าน แต่ก็ถือว่าเป็นความพยายามที่น่าชื่นชมของผู้เขียนที่อยากนำเสนอมุมมองที่ต่างไปจากเดิมสักครั้งบ้าง และงานปัจจุบันของอาจารย์ซากิซากะอย่าง บันทึกใสจากวัยฝัน Ao Haru Ride ก็ไปได้ดีอยู่ด้วย T – The Bride Was A Boy / Hanayome Wa Motodanshi ถึงตอนนี้ยังไม่มีสำนักพิมพ์ไหนในไทยทำมังงะเกี่ยวกับคนข้ามเพศ หรือ Transgender แต่ถ้าข้ามไปดูในฝั่งญี่ปุ่น ก็พบว่ามีมังงะแนวนี้อยู่บ้าง และมีบางเรื่องที่ถูกจัดทำเป็นภาษาอังกฤษแล้วด้วย ซึ่งนั่นทำให้เราพบกับเรื่อง The Bride Was A Boy มังงะที่เล่าเรื่องของ Chii ผู้เขียนมังงะ และเป็นหญิงสาวที่เกิดมาในฐานะผู้ชาย นับตั้งแต่ที่เธอจะค้นพบตัวเองว่าเธอเป็นผู้หญิงและเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองนับตั้งแต่วิถีการใช้ชีวิต, ผ่าตัดเปลี่ยนเพศ, ดำเนินการทางด้านเอกสารราชการเพื่อระบุว่าตัวเธอเป็นผู้หญิง และการเป็นเจ้าสาวให้กับสามีของเธอ ความจริงเรื่องราวออกจะดูยากเย็น แต่ด้วยลายเส้นน่ารักและการเล่าเรื่องแบบเข้าใจง่ายทำให้เรารู้สึกอิ่มเอมหลังจากอ่านมังงะเล่มนี้จบลง Q – เพียงพบบรรจบฝัน มังงะเรื่องนี้เล่าเรื่องของคนที่มารวมตัวกันใน ‘ห้องนั่งเล่น’ อาคารเก่าที่ถูกดัดแปลงมาเป็นสถานรวมตัว ซึ่งบังเอิญหลายคนมีประเด็นเกี่ยวกับเพศสภาพตัวเอง ทั้งการเป็นเกย์ เลสเบี้ยน ชอบแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าของเพศตรงข้ามแต่ไม่ได้ชอบคนเพศเดียวกัน ฯลฯ และการพบพานกัน ณ สถานที่แห่งนี้ ก็ทำให้คนที่ยังไม่แน่ใจในตัวเอง ได้เข้าใจมากขึ้นว่าแท้จริงแล้วใจจริงของพวกเขาคิดอะไร ก่อนที่จะยอมรับตัวตนที่แท้จริงของตัวเองในที่สุด เราเชื่อว่า LGBT แทบทุกคน ก่อนที่จะระบุตัวเองว่าเป็นอะไรกันแน่ มักจะอยู่ในภาวะสับสน คือเริ่มรู้ตัวแล้วว่าไม่ได้นิยมแค่เพศตรงข้าม แต่ยังไม่รู้จะเปิดใจให้กับเพศใดกันแน่ หรือที่เรียกกันว่า Queer และเราก็พบว่ามังงะ เพียงพบบรรจบฝัน เล่าจังหวะความสับสนชีวิตของคนที่ยังมองว่าตัวเองจะอยู่ในเพศสภาพและเพศวิถีได้อย่างดี เพราะบางคนเราก็แค่อยากจะเล่าเรื่องที่ค้างคาในใจให้ใครสักคนได้ฟังก็เพียงเท่านั้น